“ยาเค” หรือ เคตามีน (Ketamine) ใช้รักษา “โรคซึมเศร้า” ได้ดี

“ยาเค” หรือ เคตามีน (Ketamine) ใช้รักษา “โรคซึมเศร้า” ได้ดี

เคตามีน (Ketamine) รักษาอาการซึมเศร้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่มันมีความเสี่ยงมากกว่าผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นหรือไม่?

การบำบัดผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวลอย่างรุนแรงด้วย เคตามีน หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อ ยาเค สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญเน้นย้ำว่าจะต้องดำเนินการภายใต้การดูแลในสถานที่ที่มีอุปกรณ์ครบครัน เพื่อรองรับเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์ที่ไม่คาดฝัน
.
คำรับรองจากผู้ป่วยและการศึกษาวิจัยขนาดเล็กหลายร้อยชิ้นชี้ว่า ยาชาเคตามีน (anesthetic ketamine) ที่ต้องสั่งโดยแพทย์ อาจเป็นประโยชน์ในการรักษาภาวะด้านสุขภาพจิตเช่น อาการซึมเศร้าที่รุนแรง และการคิดฆ่าตัวตาย กระนั้นผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพต่างกังวลเนื่องจากปัจจุบันมีคนใช้มันเพิ่มมากขึ้นอย่างแพร่หลาย แต่ในสภาวะความปลอดภัยที่หละหลวม
.
เมื่อเดือนที่แล้ว สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้เผยแพร่ประกาศถึงผู้ป่วยและผู้ให้บริการ โดยสรุปถึงอันตรายร้ายแรงทางร่างกายและจิตใจจากเคตามีน ซึ่งมักให้ยาในสถานที่ของผู้ปฏิบัติงานโดยการฉีดยาหรือฉีดเข้าเส้นเลือดดำ เพื่อกระตุ้นให้เกิดสภาวะคล้ายประสาทหลอนที่เต็มไปด้วยความแปลกประหลาด ความคิด และจินตภาพ
.
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ เน้นย้ำว่าเนื่องจากเพิ่งมีการอนุมัติการใช้ยานี้ในระหว่างการผ่าตัด จึงขาดข้อมูลการทดลองทางคลินิกเกี่ยวกับคุณสมบัติในการรักษาความเจ็บปวด รวมถึงสภาวะสุขภาพจิตที่หลากหลาย
.
“เรายังไม่ทราบรายละเอียดโดยรวมของผลประโยชน์และความเสี่ยงของเคตามีนในการรักษาโรคทางจิตเวช” FDA ระบุ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญคนให้ความเห็นอีกด้าน “เคตามีนใช้งานได้กับคนจำนวนมาก ฉันเห็นมันเปลี่ยนชีวิตผู้คน” โซฟี โฮล์มส์ (Sophie Holmes) นักวิจัยด้านจิตเวชและประสาทวิทยาจากโรงเรียนการแพทย์เยล (Yale School of Medicine) กล่าว แต่แน่นอนว่าผู้ใช้งานควรระมัดระวัง เธอเน้นย้ำ
.
เอมิลี วินกิน (Emily Whinkin) แพทย์ด้านธรรมชาติบำบัดในเมืองซีแอตเทิลกล่าวว่า “เคตามีนมีลักษณะเฉพาะที่ตอบสนองอย่างรวดเร็ว” เธอกล่าวถึงข้อมูลที่แสดงออกมาในผู้ป่วยที่มีความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า 18 รายหลังจากได้รับการบำบัดด้วยเคตามีน 1-6 ครั้ง

ผลข้างเคียงที่ต้องระมัดระวัง

โฮล์ม กล่าวว่าการให้เคตามีนต้องอยู่ในสถานที่ที่มีอุปกรณ์รองรับเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์เท่านั้น ซึ่งโดยทั่วไปแล้วคลิกนิกสุขภาพและผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่อยู่ห่างไกลเมืองมักไม่เป็นเช่นนั้น โฮล์มเสริมว่าจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจให้ดีขึ้นว่าใครจะได้รับผลประโยชน์บ้างจากการบำบัดด้วยเคตามีน
.
เนื่องจากการใช้สารตัวนี้ในด้านสุขภาพจิตกำลังขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยามูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะเติบโตขึ้นร้อยละ 10 ต่อปีจนสิ้นทศวรรษนี้ ซึ่งคิดเป็นเงินมูลค่ามหาศาล นอกจากนี้ต้องศึกษาเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติที่เหมาะสม และที่สำคัญที่สุดคือมัน (เคตามีน) ทำงานอย่างไร
.
ปกติ เคตามีนจะสร้างผลข้างเคียงให้กับบางคนเช่น อาการคลื่นไส้ ปวดศีรษะ หรือปวดท้องเล็กน้อยชั่วขณะหนึ่งตอนรับประทานยา ขณะที่คนอื่น ๆ อาจหายใจช้าลงหรือมีความดันโลหิตเพิ่มขึ้น “หากใครมีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจอยู่แล้ว สิ่งนี้อาจเป็นอันตรายได้” โฮล์มส์บอก ผู้ป่วยทุกคนจะต้องได้รับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจและชีพจรก่อนการใช้งาน
.
ที่สำคัญไม่แพ้กันคือต้องมีการดูแลและสนับสนุนนด้านจิตใจที่เพียงพอ เนื่องจากผู้ป่วยอาจรู้สึกหวาดกลัวในระหว่างที่ใช้ยาจากอาการประสาทหลอน วินกิน กล่าว ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะเกิดขึ้นไม่เกิน 1 ชั่วโมงซึ่งสั้นกว่ายาประสาทหลอนชนิดอื่น
.
อีกทั้งยังต้องมีการ ‘บูรณาการ’ หลังการรักษาซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการใช้งาน “เป็นโอกาสในการสำรวจทางจิตวิทยาที่เกิดขึ้นระหว่างการใช้งาน และหากมีความสับสนหรือการเผชิญหน้ากับความเชื่อที่ (ผู้ป่วย) มีอยู่ก่อนเกี่ยวกับตัวเองหรือโลก ก็ควรได้รับดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ”
.
ความน่ากังวลใจที่ใหญ่ที่สุดตอนนี้ก็คือ มีการใช้เคตามีนตามบ้านเพิ่มมากขึ้น (ในสหรัฐฯ) โดยใช้ผ่านทางแคปซูลหรือยาอมใต้ลิ้น ซึ่งเกิดจากระบบจ่ายยาที่เริ่มในปี 2020 หลังการระบาดของโควิด-19 ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าต้องมีการไปพบแพทย์จริง ๆ ก่อนที่สั่งเคตามีนไปที่บ้าน
.
“การกำหนดให้ใช้ที่บ้านนั้นขาดความรับผิดชอบ เนื่องจาก (การใช้) จะต้องได้รับการดูแลภายใต้ผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรบ” โฮล์มส์เน้นย้ำ การใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้โดยไม่มีการตรวจสอบจากผู้ให้บริการด้านการแพทย์ “อาจทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรง” ตามประกาศของ FDA
.
การใช้ที่บ้านยังเพิ่มโอกาสนำไปใช้แบบผิด ๆ เนื่องจากมีการขายเคตามีนอย่างผิดกฎหมายในชื่อยา ‘Special K’ ซึ่งเป็นเรื่องน่าหนักใจอย่างยิ่ง เพราะคลินิกบางแห่งใช้ยาตัวนี้เพื่อรักษาอาการเสพติด
.
“ผมเคยเห็นคนไข้ที่มีอาการปวดของผมที่ต้องพึ่งฝิ่น ได้รับเคตามีนทางจมูก และพวกเขาก็กลับบ้านไปใช้ยานี้ในทางที่ผิด” โดยการตุนไว้แล้วใช้อย่างเต็มที่ ไมเคิล สชาท์แมน (Michael Schatman) ผู้เชี่ยวชาญด้านยาแก้ปวดและจริยธรรมทางการแพทย์ จากคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยยอร์ก กล่าว

แต่สำหรับบางคน “ยาเค” เป็นความช่วยเหลือ

ชิรา เรเนย์ โทมัส (Shira Renee Thomas) ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์วัย 45 ปีของบริษัทศิลปะการแสดงในแคลิฟอร์เนียตอนใต้เชื่อว่า เธออาจจะไม่มีชีวิตอยู่หากไม่ใช้เคตามีน เป็นเวลากว่า 25 ปีที่โธมัสประสบกับภาวะซึมเศร้าอย่างรุนแรงจนคิดฆ่าตัวตายเป็นประจำ โรคนี้ทำให้เธอไม่สามารถลุกจากเตียงได้เป็นเวลาหลายเดือน
.
ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อคุณภาพชีวิตของเธอ และทำให้อาชีพร้องเพลงโอเปร่าต้องหยุดชะงัก ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเธอต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหลายครั้ง และใช้ยาที่แตกต่างกันถึง 20 ชนิด รวมถึงรับการบำบัดด้วยไฟฟ้าซึ่งต้องหยุดลงหลังจากสูญเสียความทรงจำไปจำนวนมาก แม้กระทั่งการลืมวิธีการขับรถหรือวิธีเซ็นชื่อ
.
เมื่อ 4 ปีก่อน โทมัสพบคลินิกแห่งหนึ่งที่จ่ายยาเคตามีน “การฉีดยาครั้งแรกของฉันก็เหมือนกับเวทมนตร์” เธอเล่า ขณะต้องมนตร์ เธอเฝ้าดูเทพธิดาปัดเป่าคำพูดดูหมิ่นที่เธอตะโกนใส่ตัวเองในขณะที่หดหู่ออกไป เช่น เธอมันโง่หรือเธอมันไร้ประโยชน์ พฤติกรรมว่าร้ายตัวเองก็ยุติลงในเวลาต่อมา
.
ส่วนอาการอื่น ๆ ต้องใช้เวลาอีกหลายปีจนกว่าหาย แต่หลังจากให้เคตามีนไปเกือบ 100 ครั้งและยังคงรักษาอย่างต่อเนื่อง โทมัสไม่มีอาการซึมเศร้ามาเกือบปีแล้ว เมื่อพิจารณาถึงศักยภาพและความเสี่ยงแล้ว สชาท์แมน ต้องการให้ผู้คนได้รับถึงข้อมูลทั้งหมดไม่ว่าจะข้อดีหรือข้อเสียของการบำบัดด้วยเคตามีน ก่อนจะได้รับยาจริง ๆ
.
“ผมมีคนไข้ที่เข้าคลิกนิกมาฉีดยาโดยได้ยินว่าสิ่งนี้จะช่วยพวกเขาได้ เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอาจทำให้เกิดอาการประสาทหลอน” สชาท์แมน เล่า ผู้คนควรรู้ด้วยความยังไม่มีระเบียบปฏิบัติที่ได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ ดังนั้นผู้ให้บริการแต่ละรายจึงกำหนดกฎของตนเองขึ้นมาได้ว่าจะได้เงินมากน้อยเท่าไหร่ หรือบ่อยแค่ไหน
.
“ผู้คนจำเป็นต้องเข้าใจว่าพวกเขากำลังทดลอง” สชาท์แมน บอก บางคนเจ็บปวดมาก (จากการอาการซึมเศร้า) จนยอมเสี่ยง หากพวกเขาทำเช่นนั้น ผู้ป่วยควรพาตัวเองไปพบแพทย์ที่มีความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับยาที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยอย่างจริงจัง
.
“ซึ่งตรงกันข้ามกับคลินิกในพื้นที่หรือผู้ให้บริการด้านสุขภาพทางไกลบางแห่ง” สชาท์แมน กล่าว
.

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

Photo by Sasun Bughdaryan on Unsplash

ที่มา
.
https://www.nationalgeographic.com/science/article/ketamine-depression-anxiety-treatment

 


อ่านเพิ่มเติม “ไทย” อาจเป็นเมืองหลวงใหม่ “ท่องเที่ยวกัญชา” ร่วมสหรัฐฯ, แอฟริกาใต้

ท่องเที่ยวกัญชา
ท่องเที่ยวกัญชา

Recommend