“Transcension Hypothesis” อธิบายว่าทำไมเรายังไม่เจอ “เอเลี่ยน”

“Transcension Hypothesis” อธิบายว่าทำไมเรายังไม่เจอ “เอเลี่ยน”

เอเลี่ยนกลายเป็นหลุมดำ : หนึ่งในปฏิทรรศน์ของเฟอร์มี หรือเรียกง่าย ๆ ว่า ‘ข้อขัดแย้งของเฟอร์มี’ (Fermi Paradox) บางครั้งเมื่อสิ่งมีชีวิตที่ทรงภูมิปัญญาก้าวถึงจุดสูงสุด ‘พวกเขา’ อาจปล่อยวางทุกอย่างแล้วเข้าไปอยู่อาศัยในหลุมดำ

“หลุมดำอาจเป็นโชคชะตาแห่งการพัฒนาและดึงดูดมาตรฐานสำหรับสติปัญญาระดับสูงทั้งหมด” จอห์น เอ็ม. สมาร์ท (John M. Smart) นักอนาคตนิยม ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยฟอร์ไซท์ (Foresight University) และผู้ก่อตั้งมูลนิธิที่ชื่อว่า ‘Acceleration Studies Foundation’ กล่าว

เขากำลังพูดถึงสมมติฐานที่มีชื่อว่า ‘ทรานเซนชั่นไฮโพเทซิส’ (Transcension Hypothesis) ที่อธิบายว่าเมื่อสิ่งมีชีวิตขั้นสูง ‘อยู่เหนือ’ จักรวาลทางกายได้ในที่สุด พวกเขาจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นอีกสิ่งหนึ่ง จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไม เราถึงไม่เห็นสัญญาณทางฟิสิกส์ใด ๆ ของสิ่งมีชีวิตในจักรวาล

จุดเริ่มต้นของแนวคิดนี้สามารถย้อยกลับไปถึงช่วงปี 1958 ที่ทางจอห์น ฟอน นอยมันน์ (John von Neumann) ได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีของสิ่งมีชีวิต ซึ่งดูเหมือนว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องและเร่งขึ้นอย่างรวดเร็ว สิ่งนี้ดูเหมือนจะเป็นความจริงอย่างน่าประหลาด หากเราลองมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์เทคโนโลยีของเรา

มนุษย์ใช้ชีวิตแบบ ‘ดึกดำบรรพ์’ มาอย่างยาวนาน แต่เมื่อเริ่มสร้างอุปกรณ์ โฮโมเซเปียส์ก็ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว โดยใช้เวลาเพียงไม่กี่ร้อยปีนับจากยุคก่อนไอแซค นิวตัน ที่ยังไม่รู้จัก ‘แรงโน้มถ่วง’ เลย แต่ในตอนนี้เราสามารถสำรวจอวกาศที่อยู่ไกลนับหมื่นล้านปีแสงได้ภายในเวลา 300 ปี ไม่เพียงเท่านั้นเรายังคงก้าวหน้าต่อไปอย่างรวดเร็ว

ทว่า ฟอน นอยมันน์ กลับชี้ให้เห็นว่าความเจริญรุ่งเรืองทางเทคโนโลยีนี้อาจต้องถึงขีดจำกัดในสักวันหนึ่ง อาจด้วยข้อจำกัดด้านพลังงาน หรือแม้อาจเป็นด้านความคิด “ซึ่งกิจการของมนุษย์อย่างที่เรารู้จักไม่สามารถดำเนินต่อไปได้” ฟอน นอยมันน์ เขียน

ด้วยแนวคิดนี้ทำให้นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์บางคนแต่งเติมจินตนาการเข้าไปเช่น ศาสตราจารย์ เวอร์เนอร์ วินจ์ (Vernor Vinge) ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ได้เสนอบทความไว้ในปี 1993 ว่า

ปัจจุบันมนุษยชาติตั้งอยู่ “ริมขอบของการเปลี่ยนแปลง และการสร้างสรรค์ด้วยเทคโนโลยีของเอนทิตีที่ยิ่งใหญ่กว่า” หรือกล่าวอีกนัยว่า มนุษย์กำลังอยู่ในจุดดูเหมือนจะถูกหยุดอยู่ตรงนั้น แต่หากสามารถก้าวผ่านไปได้ ก็จะ ‘หลุดพ้น’ ไปเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า

ต่อมาในปี 1998 จอห์น ดี. บาร์โรว์ (John D. Barrow) นักจักรวาลวิทยาและนักฟิสิกส์เชิงทฤษฎี ได้เสนอบทความเรื่อง ‘Impossibility: Limits of Science and the Science of Limits’ (หรือความเป็นไปได้ : ขีดจำกัดของวิทยาศาสตร์และศาสตร์ของขีดจำกัด) โดยเสนอว่ามนุษย์จะได้รับประโยชน์มากมายหากขยายความรู้ไปสู่ระดับที่เล็กลงไปเรื่อย ๆ แทนที่จะเพิ่มความสามารถให้ใหญ่ขึ้น

ตัวอย่างที่ดีในกรณีนี้ที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันคือชิปคอมพิวเตอร์ที่เล็กลงเรื่อย ๆ แต่มีพลังงานการประมวลผลเพิ่มขึ้น โดยบาร์โรว์เสนอระดับไว้ในชื่อ ‘บาร์โรว์สเกล’ (Barrow Scale) ดังนี้

Type I-minus : สามารถจัดการกับวัตถุที่เล็กกว่าขนาดของตัวเองได้
Type II-minus : สามารถอ่านและสร้างรหัสพันธุกรรมได้
Type III-minus : สามารถจัดการสสารในระดับโมเลกุลได้
Type IV-minus : สามารถจัดการสสารในระดับอะตอม (เช่น นาโนเทคโนโลยี)
Type V-minus : สามารถจัดการสสารในระดับย่อยของอะตอม (นิวเคลียสและนิวคลีออน)
Type VI-minus : สามารถจัดการอนุภาคมูลฐานของสสารได้ (ควาร์กและเลปตัน)
Type Omega-minus : สามารถจัดการโครงสร้างพื้นฐานของอวกาศและเวลาได้

ซึ่งมันได้กลายเป็นจุดกำเนิดของแนวคิด ‘ทรานเซนชั่นไฮโพเทซิส’ ได้เสนอไว้ในตอนต้น เขากล่าวว่าอารยธรรมที่ก้าวหน้าอย่างเพียงจะ “ละทิ้งจักรวาลที่ยิ่งใหญ่ด้านนอก เข้าสู่การจัดการด้านใน”

“สมมติฐานทรานเซนชั่นเสนอว่า กระบวนการสากลของการพัฒนาเชิงวิวัฒนาการจะนำอารยธรรมที่ก้าวหน้าทั้งหมดไปสู่สิ่งที่อาจเรียกได้ว่า ‘อวกาศภายใน’ ซึ่งเป็นขอบเขตที่เหมาะสมที่สุดในการคำนวณขนาดพื้นที่ เวลา พลังงาน และความหนาแน่นที่เพิ่มขึ้น อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในขนาดที่ย่อส่วนลง และในที่สุดก็ไปสู่จุดหมายปลายทางที่เหมือนกับหลุมดำ” สมาร์ท กล่าว

หลุมดำนั้นเป็นสิ่งที่มนุษยชาติยังไม่เข้าใจมันอย่างชัดเจน เราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นภายในหลุมดำ ทั้งหมดที่พอจะคาดเดาได้คือทุกสิ่งที่ตกลงสู่หลุมดำจะถูกบดขยี้อย่างย่อยยับด้วยแรงโน้มถ่วงมหาศาล แต่ในขณะเดียวกันงานวิจัยหลายชิ้นชี้ว่า หากเราจัดการอย่างถูกต้อง หลุมดำจะให้พลังงานยิ่งยวดต่ออารยธรรม เป็นพลังงานในอุดมคติสำหรับการประมวลผลต่าง ๆ และสร้างสถานะสุดขั้วทุกประเภท

และดูเหมือนว่าการเข้าไปอยู่ในหลุมดำหรือแม้แต่กลายเป็นส่วนหนึ่งของหลุมดำจะให้ผลดีต่ออารยธรรมขั้นสูงที่ต้องการพลังงาน นอกจากนี้ศาสตราจารย์ ฮับราฮัม โลบ (Abraham Loeb) จากศูนย์ฟิสิกส์ดาราศาสตร์ฮาร์วาร์ด-สมิธโซเนียนเองก็ได้ให้ความเห็นไว้ว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอาจทำให้สิ่งมีชีวิตทรงปัญญาเลือกที่จะ ‘เก็บตัว’ น้อยลง

“อารยธรรมที่ก้าวหน้าจะสร้างแหล่งที่อยู่อาศัยที่สนับสนุนการมีอายุยืนยาวของตัวเอง ซึ่งภายนอกอาจดูเหมือนรังไหม แต่ภายในกลับเป็นระบบบำรุงที่ซับซ้อน” ศาสตราจารย์โลบ กล่าว และนั่นทำให้เอเลี่ยนทั้งหลายตรวจจับไม่ได้ เพราะพวกเขาเลือกที่จะอยู่ตัวคนเดียว

“อารยธรรมที่ก้าวหน้าที่สุดจะเลือกไม่มีส่วนร่วมในการเจรจากับโลกภายนอก เนื่องจากพวกเขาจะสนับสนุนตนเอง ดังนั้นเราจะไม่ตรวจพบสัญญาณการสื่อสารจากพวกเขาเลย นี่อธิบายว่าทำไมเราไม่ได้ยินจากพวกเขา” ศาสตราจารย์โลบ เสริม

โดยสรุปแล้ว สมมติฐานทรานเซนชั่น ได้เสนอไว้ว่าสิ่งมีชีวิตในจักรวาลของเราจะมีรูปแบบคล้าย ๆ กันคือ วิวัฒนาการขึ้นไปเรื่อย ๆ และเมื่อสิ่งมีชีวิตนั้นเริ่มฉลาดมากขึ้น พวกเขาก็จะเริ่มสนใจสิ่งเล็ก ๆ แล้วค่อย ๆ พาตัวเองไปสู่พื้นที่ เวลา พลังงาน และสสารที่มีขนาดเล็กลงเรื่อย ๆ ซึ่งได้รับการปรับปรุงให้เหมาะสมกับการอยู่อาศัย จนถึงขั้นที่เรียกว่า ‘ภาวะเอกฐาน’ แบบเดียวกับที่เกิดในหลุมดำ และหากเป็นเช่นนั้นจริง พวกเขาก็จะไม่มีวันกลับมาอีกเลย

ทั้งหมดนี้ยังคงเป็นสมมติฐานที่ต้องมีการพิสูจน์ตรวจสอบอีกต่อไป แต่การสำรวจแนวคิดเหล่านี้ทำให้เราได้มุมองใหม่ ๆ ในการค้นหาอะไรก็ตามที่อยู่ข้างนอกนั่นในทุก ๆ ทางที่เราจะคิดออก ซึ่งยังส่งผลต่อจินตนาการของมนุษย์ที่จะกลายเป็นแรงผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าใหม่ ๆ ต่อไป

จนกว่าเราจะได้นั่งจับเข่าคุยกับสิ่งมีชีวิตนอกโลก เราถึงจะตอบคำถามที่ว่า ‘เราอยู่คนเดียวในจักรวาลนี้จริง ๆ หรือ?’ได้ สิ่งที่เราทำได้ในตอนนี้มีแค่เพียงค้นหาต่อไป

ที่มา
.
https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0094576511003304
.
https://www.iflscience.com/the-transcension-hypothesis-could-explain-why-we-havent-yet-found-aliens-72740
.
https://www.universetoday.com/147546/beyond-fermis-paradox-xi-the-transcension-hypothesis/


อ่านเพิ่มเติม ระวัง! นักวิทยาศาสตร์เตือน การติดต่อครั้งแรกของโลกกับ มนุษย์ต่างดาว อาจนำไปสู่ ‘การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ ของทั้งสองฝ่าย

มนุษย์ต่างดาว
มนุษย์ต่างดาว

Recommend