ถ้าโลกนี้ไม่มี “ 29 กุมภาพันธ์ ” หรือ ปีอธิกสุรทิน จะปั่นป่วนซักแค่ไหน?

ถ้าโลกนี้ไม่มี “ 29 กุมภาพันธ์ ” หรือ ปีอธิกสุรทิน จะปั่นป่วนซักแค่ไหน?

ถ้าไม่มี ‘ปีอธิกสุรทิน’ ( 29 กุมภาพันธ์ ) โลกจะเป็นอย่างไร?

ปฏิทินที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันนั้นเกิดขึ้นอย่างสอดคล้องกันกับการที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ครบ 1 รอบเท่ากับ 1 ปี แต่ทำไมเราต้องมี 29 กุมภาพันธ์ ในทุก ๆ 4 ปี?

เราอาจต้องเริ่มจากเวลาในการโคจรรอบดวงอาทิตย์ที่แท้จริงของโลกกันก่อน เราทุกคนต่างรู้ว่า 1 ปี หรือการโคจรรอบดวงอาทิตย์ครบหนึ่งรอบนั้นเท่ากับ 365 วัน และในทุก ๆ 4 ปีที่เดือนกุมภาพันธ์มี 29 วันนั้นจะมีหนึ่งปีเท่ากับ 366 วัน

แต่อันที่จริงแล้วแทนที่จะเป็น ‘วัน’ แบบเต็ม ๆ แต่โลกใช้เวลา 365 วันกับอีก ¼ ของวันในการโคจรรอบดวงอาทิตย์

ดังนั้น เมื่อเราคิดต่อไปว่าหากเราใช้ 1 ปีเท่ากับ 365 วัน เวลาบนโลกจะเริ่มไม่ตรงกับฤดูกาลที่เกิดขึ้น

ดังนั้นการที่เราเอา ¼ ของวันมารวมกัน 4 ครั้งซึ่งก็เท่ากับ 4 ปี เราจะมีวันเพิ่มมาหนึ่งวันเต็ม ๆ ทำให้เดือนกุมภาพันธ์มี 29 วันในปีนั้น 

เพื่อให้วันเวลาบนโลกที่มนุษย์รับรู้สอดคล้องกับฤดูกาลที่เกิดขึ้นในการโคจร การเพิ่มวันในปีอธิกสุรทินจึงมีขึ้นเพื่อชดเชยเวลานั้นเสียไป 

“เมื่อครบ 4 ปี ชั่วโมงที่เหลือจะรวมกันเป็นหนึ่งวัน ในปีอธิกสุรทิน เราจะเพิ่มวันพิเศษนี้เข้ากับเดือนกุมภาพันธ์ทำให้มี 29 วันแทนที่จะเป็น 28 วันตามปกติ” บากยา สุบรายาน (Bhaga Subrayan) นักฟิสิกส์และดาราศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเพอร์ดูย์ กล่าว

เนื่องจากปฏิทินมีมาอย่างยาวนานแล้ว มันจึงทำให้เกิดคำถามที่ว่า ‘มนุษย์ในสมัยโบราณรู้ได้อย่างไรว่าต้องเพิ่มวันเข้าไปในทุก ๆ 4 ปี?’

แนวคิดเรื่องการจัดทำวันที่นั้นอาจย้อนกลับไปได้มากกว่า 5,000 ปีที่แล้ว ชาวอียิปต์โบราณยุคแรกช่วงก่อนคริสตศักราช 3100 และสังคมอื่น ๆ อย่างเช่นโรมัน ได้เคยใช้ปฏิทินแบบจันทรคติซึ่งดูจากดวงจันทร์เป็นหลังเพื่อรับรู้วันเวลา 

แต่คาบโคจรของดวงจันทร์นั้นเฉลี่ยอยู่ที่ 29.5 วัน ทำให้หนึ่งปีมีเพียงประมาณ 354 วันเท่านั้น ดังนั้นมันจึงไม่สอดคล้องกับฤดูกาลที่เกิดขึ้นบนโลกอย่างรวดเร็ว (คุณอาจจินตนาการได้ง่าย ๆ ว่าประเทศไทยต้องเล่นสงกรานต์ในช่วงเดือนมีนาคมหรือเร็วกว่านั้น แทนเดือนเมษายนตามปกติเพื่อเห็นภาพง่าย ๆ) ซึ่งมันทำให้ทุกอย่างสับสนวุ่นวายกันไปทั้งหมด โดยเฉพาะกับการเพาะปลูกที่ต้องเป็นไปตามฤดูกาล

ดังนั้นจึงต้องมีการปรับวันในปฏิทินใหม่ โดยหันไปหาอารยธรรมของชาวสุเมเรียนที่แบ่งปีออกเป็น 12 เดือน เดือนละ 30 วันด้วยการสังเกตดวงดาวแทนดวงจันทร์ ชาวสุเมเรียนจึงมีวันที่ใกล้เคียงกับปัจจุบัน ทว่าก็ยังไม่เพียงพอเนื่องจากท้ายที่สุดแล้ว พวกเขาจะมีปีที่สั้นกว่าเราเกือบ 1 สัปดาห์ 

“เมื่อชาวอียิปต์ใช้ปฏิทินนี้ (ตามชาวสุเมเรียน) พวกเขาก็รู้ว่ามีปัญหาเกิดขึ้น” จอห์น โลว์ (John Lowe) จากแผนกเวลาและความถี่ของสถาบันมาตราฐานและเทคโนโลยีแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (NIST) กล่าว “เพราะพวกเขาต้องมีเทศกาลและการฉลองเพิ่มขึ้นอีก 5 วันในช่วงปลายปี” 

ด้วยเหตุนี้จึงต้องเปลี่ยนอีกครั้ง จักรพรรดิโรมัน จูเลียส ซีซาร์ ผู้ที่มีความสัมพันธ์กับคลีโอพัตรา ได้มองไปยังปฏิทินที่ชาวอียิปต์ใช้ ซึ่งเขาคิดได้ว่ามันไม่ตรงกับเวลาจริง แต่ไม่รู้ว่าซีซาร์คิดอะไรอยู่ในตอนแรก เขาออกกีฏาว่า 1 ปีปกติจะมี 365 วัน แต่ทุก ๆ 4 ปีที่เป็นปีอธิกสุรทินจะมีความยาวนาน 445 วัน เพื่อแก้ไขความสับสนที่มีมาอย่างยาวนานตั้งแต่อดีต

ทว่ามันก็ยัง ‘เยอะ’ มากเกินไปสำหรับอนาคต ซีซาร์จึงเปลี่ยนกฎใหม่โดยให้หนึ่งปีมี 365.25 วัน และเพิ่มวันอธิกสุรทินทุก ๆ 4 ปีแทน เพื่อเป็นเกียรติแก่เขา เราจึงยังเรียกปฏิทินระบบนี้ว่า ‘ปฏิทินจูเลียน’ แต่ความวุ่นวายก็ยังไม่จบลง

“นั่นไม่ใช่การปรับแต่งครั้งสุดท้าย เมื่อเวลาผ่านไป ผู้คนตระหนักได้ว่าการเดินทางของโลกไม่ใช่ 365.25 วันพอดี แต่จริง ๆ แล้วใช้เวลา 365.24219 วัน” สุบรายาน บอก “ซึ่งน้อยกว่าประมาณ 11 นาที ดังนั้นการเพิ่มวันเต็มในทุก ๆ 4 ปีจึงเป็นการแก้ไขที่มากกว่าความจำเป็นเล็กน้อย” 

ดังนั้นเราจึงเดินทางมาสู่การแก้ไขปฏิทินของมนุษชาติครั้งสุดท้ายในปี 1582 เมื่อสมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 13 ได้ลงนามให้มีคำสั่งใหม่เพื่อปรับเปลี่ยนปฏิทินเล็กน้อย แต่คงปีอธิกสุรทินไว้ ‘ยกเว้น’ ศตวรรษที่หารด้วย 100 ลงตัวเช่น 1700 หรือ 2100 พร้อมเงื่อนไขว่าหากเลขปีนั้นหารด้วย 400 ลงไม่จำเป็นต้อง ‘ยกเว้น’ ปีอธิกสุรทิน 

กลายเป็นปฏิทินที่เราใช้อยู่ในทุกวันนี้ โดยมีเชื่อเรียกเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้สร้างว่า ‘ปฏิทินเกรกอรี’ สำหรับคนทั่วไป นี่อาจฟังดูวุ่นวายค่อนข้างมากกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่หากไม่มีความเล็กน้อยเหล่านี้ ปฏิทินก็จะค่อย ๆ ไม่สอดคล้องกับฤดูกาล ซึ่งทำให้เกิดความวุ่นวายเฉกเช่นเมื่อหลายพันปีก่อนอย่างที่ได้กล่างไปข้างต้น

ระบบปฏิทินเกรกอเรียนในปัจจุบัน ทำให้วันที่เป็นเศษส่วนของปีสุริยคติและปฏิทินปีอธิกสุรทินเกือบจะเท่ากันด้วยการข้ามวันอธิกสุรทินเป็นครั้งคราว ระบบนี้ได้สร้างความยาวปีเฉลี่ย 365.2425 วัน ซึ่งนานกว่าปีสุริยคติเพียงครึ่งนาที 

ในอัตราความแตกต่างดังกล่าวนี้จะใช้เวลา 3,300 ปีก่อนที่ปฏิทินเกรกอเรียนจะเคลื่อนไปจากวัฏจักรฤดูกาลของเราหนึ่งวัน นั่นหมายความว่าคนรุ่นหลังอีก 3,300 ปีไม่จำเป็นต้องมีปฏิทินใหม่

“ในอีก 3,000 ปีต่อจากนี้ผู้คนอาจตัดสินใจที่จะปรับแต่งมัน” โลว์ กล่าว “เราคงต้องรอดูกันต่อไป” 

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

Photo by Selvan B on Unsplash

ที่มา

https://www.sciencealert.com/what-would-happen-if-the-world-didnt-have-leap-years

https://theconversation.com/why-does-a-leap-year-have-366-days-218330

https://www.nationalgeographic.com/science/article/160226-leap-year-science-time-world-cultures-february


อ่านเพิ่มเติม จูเลียส ซีซาร์ กับที่มาที่ไปของ ปฏิทินจูเลียน และจุดเริ่มต้นของการขึ้นปีใหม่สากล

จูเลียส ซีซาร์ กับที่มาที่ไปของ ปฏิทินจูเลียน

Recommend