ปลูกถ่ายไตหมู ชายวัย 62 สำเร็จครั้งแรกในโลก! ความหวัง “ปลูกถ่ายอวัยวะ”

ปลูกถ่ายไตหมู ชายวัย 62 สำเร็จครั้งแรกในโลก! ความหวัง “ปลูกถ่ายอวัยวะ”

ปลูกถ่ายไตหมู  เพื่อ “ยื้อชีวิต” ชายวัย 62 สำเร็จครั้งแรกของโลก! ความหวังใหม่ปลูกอวัยวะ.

การผ่าตัด ปลูกถ่ายไตหมู นี้ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมงในโรงพยาบาลแมสซาชูเซตส์เจนเนอรัล สหรัฐอเมริกา โดยผู้ป่วยกำลังฟื้นตัวได้ดี และคาดว่าจะออกจากโรงพยาบาลได้ในเร็ว ๆ นี้

ในการแถลงการณ์ที่เป็นลายลักษณ์อักษรของโรงพยาบาลระบุว่า ริก สเลย์แมน (Rick Slayman) ชายอายุ 62 ปี ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น “โรคไตระยะสุดท้าย” โดยเขาเป็นผู้ป่วยในโครงการปลูกถ่ายอวัยวะของโรงพยาบาลมาเป็นเวลา 11 ปีแล้ว ก่อนหน้านี้เขาได้รับไตจากผู้บริจาคที่เป็นมนุษย์มาก่อนในปี 2018 หลังจากป่วยด้วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงมานานหลายปี

ทว่าไตนั้นก็ได้เริ่มแสดงสัญญาณถึงการทำงานที่ล้มเหลวในเวลา 5 ปีต่อมา ทำให้เขาต้องกลับมาเริ่มฟอกไตอีกครั้งตั้งแต่ปี 2023 ท้ายที่สุดโรงพยาบาลได้ระบุว่าไตเข้าสู่ระยะสุดท้ายแล้ว แพทย์จึงแนะนำให้เขาลองใช้ไตหมู

“ผมเห็นว่ามันไม่เพียงแต่จะเป็นวิธีที่ช่วยผมได้เท่านั้น แต่ยังเป็นหนทางในการสร้างความหวังให้กับผู้คนอีกหลายพันคนที่ต้องการปลูกถ่ายเพื่อความอยู่รอด” สเลย์แมน กล่าว ด้านแพทย์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการผ่าตัดให้ความเห็นว่า นี่ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญทางการแพทย์

“ในที่สุด สิ่งนี้บรรลุผลหลังจากทำงานร่วมกันมานานหลายปี นี่ถือเป็นก้าวสำคัญและเป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับการปลูกถ่าย” ดร. พาร์เซีย วาเกไฟ (Dr. Parsia Vagefi) หัวหน้าฝ่ายศัลยกรรมปลูกถ่ายที่มหาวิทยาลัยศูนย์การแพทย์เซาท์เวสเทิร์น ในเมืองดัลลัส สหรัฐอเมริกา กล่าว

นี่เป็นการปลูกถ่ายไตหมูครั้งแรกจริง ๆ หรือไม่?
การผ่าตัดครั้งนี้ถือเป็นการปลูกถ่าย ‘ไตหมู’ ลงไปใน ‘คนที่ยังมีชีวิตอยู่จริง ๆ’ เป็นครั้งแรก แต่ในช่วงที่ผ่านมามีการผ่าตัดอวัยวะจากหมูสู่คนหลายครั้ง โดยเกิดขึ้น 5 ครั้งแล้วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ทั้งหมดเกิดขึ้นในบุคคลที่ถูกประกาศว่า ‘สมองตาย’ แล้ว ซึ่งเกิดครั้งล่าสุดในเดือนกรกฏาคม 2023

นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่อาจทำให้สับสนได้ โดยไม่นานที่ผ่านมามีชายคนหนึ่งที่ยังมีชีวิตอยู่เข้ารับการปลูกถ่าย ‘หัวใจหมู’ เป็นครั้งแรกของโลก แต่หลังจากนั้นไม่นานเขาก็เสียชีวิต แต่ยังไงก็ตาม การปลูกถ่าย ‘ไตหมู’ ในคนที่มีชีวิตครั้งนี้ แพทย์กล่าวว่าไตน่าจะทำงานได้ดีไปอีกหลายปีข้างหน้า

ดร.ทัตสึโอะ คาวาอิ (Tatsuo Kawai) ผู้อำนวยการของศูนย์คลินิกเพื่อการปลูกถ่ายเลกอร์เรตา และศัลยแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดกล่าวว่า ไตของหมูชิ้นนี้มีขนาดเท่ากับไตของมนุษย์ทุกประการ เมื่อพวกเขาเย็บมันเข้าไปให้เชื่อมต่อกับหลอดเลือดของผู้ป่วย มันก็เปลี่ยน “เป็นสีชมพู” ทันที และทีมงานปลูกถ่ายทั้ง 15 คนต่างปรบมือด้วยความยินดี

“มันเป็นไตที่สวยที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นมาจริง ๆ” คาวาอิ กล่าว พร้อมกับชื่นชมแพทย์หรือผู้เกี่ยวข้องทุกคนที่มีส่วนร่วมในการผ่าตัดครั้งนี้ โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญบางคนที่ทำงานวิจัยด้านนี้มาตลอดช่วงชีวิต การปลูกถ่ายอวัยวะสัตว์จากมนุษย์มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการแก้ปัญหาการขาดแคลนอวัยวะทั่วโลก

ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า แค่ในสหรัฐอเมริกาประเทศเดียวก็มีผู้เสียชีวิต 17 รายในทุก ๆ วันขณะที่รอการบริจาคอวัยวะอยู่ โดยไตเป็นอวัยวะที่ขาดแคลนมากที่สุดจากข้อมูลของเครือข่ายการจัดหาและปลูกถ่ายอวัยวะ ซึ่งในปี 2023 ที่ผ่านมีคนกว่า 89,000 คนที่อยู่ในรายชื่อขอรอรับอวัยวะ

ดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อแก้ปัญหา
ไตหมูที่ใช้ในการปลูกถ่ายนี้มาจากหมูที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมโดยบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพชื่อ ‘eGenesis’ ซึ่งได้ทำการผสมพันธุ์หมูและดัดแปลงพันธุกรรมของมันกว่า 69 ครั้งด้วยวิธี ‘CRISPR-Cas9’ เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายมนุษย์มองไตหมูว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมและปฏิเสธมัน

eGenesis ได้จัดการกับยีนสามตัวที่ผลิตน้ำตาลออกมาบนพื้นผิวของเซลล์ ซึ่งสิ่งนี้ทำให้แอนติบอดี (Anti-body) ของมนุษย์โจมตีได้ ไม่เพียงเท่านั้น พวกเขายังปิดการทำงานของรีโทรไวรัส (retroviruses) ในหมู ซึ่งอาจสร้างการติดเชื้อในมนุษย์ได้ รวมถึงใส่แอนติบอดีชนิดพิเศษที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันการปฏิเสธอวัยวะหมูโดยเฉพาะ

“เรารู้สึกขอบคุณสำหรับความกล้าหาญของผู้ป่วยและความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ด้านการปลูกถ่าย” ไมค์ เคอร์ติส (Mike Curtis) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ eGenesis กล่าว “สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงขอบเขตใหม่ของการแพทย์ และแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของวิศวกรรมจีโนมในการเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้ป่วยหลายล้านคน”

ข้อกังวลที่สำคัญ
อย่างที่กล่าวได้กล่าวไปข้างต้น ความกังวลสองประการที่สำคัญในการปลูกถ่ายอวัยวะสัตว์เข้าสู่คนคือ ‘การแพร่กระจายไวรัสจากสัตว์สู่มนุษย์ซึ่งสร้างการติดเชื้อ และอีกข้อหนึ่งคือ การฆ่าสัตว์จำนวนมากเพื่อเก็บเกี่ยวอวัยวะของพวกมัน ทั้งสองข้อนี้เป็นความกังวลในผู้เชี่ยวชาญหลายคน

“ระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์มีปฏิกิริยาอย่างรุนแรงต่ออวัยวะของสุกร มากกว่าอวัยวะของมนุษย์มาก” ดร. โจเรน แมดเซน (Joren Madsen) ผู้อำนวยการศูนย์ปลูกถ่ายทั่วไปกล่าว เขาตั้งข้อสังเกตว่าหากใช้ยาแบบเดียวกับที่ใช้ในการป้องกันการปฏิเสธอวัยวะอื่น ๆ (จากมนุษย์สู่มนุษย์) “การปลูกถ่ายนั้นจะถูกปฏิเสธเปลี่ยนมันเป็นสีดำภายในไม่กี่นาที”

อีกอย่าง แอล. ซิด เอ็ม. จอห์นสัน (L. Syd M. Johnson) นักชีวจริยธรรมจากมหาวิทยาลัยการแพทย์ซันนี่อัปสเตจ ในรัฐนิวยอร์ก กล่าวว่า “ยังมีความกังวลมากมายเกี่ยวกับการรักษาที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์อย่างมาก”

ด้วยเหตุนี้ จึงต้องมีการควบคุมการทดลองอย่างเข้มงวดในทุกขั้นตอนเพื่อกำจัดความเสี่ยงด้านการติดเชื้อและอื่น ๆ อีกจำนวนมาก ซึ่งจะเป็นเรื่องยาก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่เป็นความก้าวหน้าที่สำคัญจริง ๆ

“ขั้นตอนที่ประสบความสำเร็จนี้เป็นการเปิดศักราชใหม่ของวงการการแพทย์ ที่มีศักยภาพในการกำจัดปัญหาด้านการจัดหาจัดหาอวัยวะ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการปลูกถ่าย และตระหนักถืงวิสัยทัศน์ของเราที่ว่า จะไม่มีผู้ป่วยคนใดต้องเสียชีวิตขณะรออวัยวะ” เคอร์ติส กล่าว
.

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา
.
https://edition.cnn.com/2024/03/21/health/pig-kidney-transplant-living-person/index.html
.
https://www.npr.org/sections/health-shots/2024/03/21/1239790816/first-pig-kidney-human-transplant
.
https://www.pbs.org/newshour/health/doctors-perform-1st-transplant-of-of-genetically-modified-pig-kidney-to-human-patient
.
https://www.livescience.com/health/surgery/pig-kidney-transplanted-into-human-patient-for-1st-time-ever


อ่านเพิ่มเติม นักวิจัยเปลี่ยนกรุ๊ปเลือดของไตได้สำเร็จ ความหวังใหม่ในการปลูกถ่ายอวัยวะ

Recommend