ไขปริศนา ” พีระมิดสร้างขึ้นได้อย่างไร ” นักวิทย์เริ่มเจอสาเหตุแล้ว

ไขปริศนา ” พีระมิดสร้างขึ้นได้อย่างไร ” นักวิทย์เริ่มเจอสาเหตุแล้ว

59065

พีระมิด แห่งกิซา กับแม่น้ำที่สูญหาย นักวิทยาศาสตร์พบกิ่งก้านสาขาของแม่น้ำไนล์ที่แห้งเหือดรอบ ๆ พีระมิดกว่า 31 แห่งในอียิปต์ ที่อาจช่วยตอบคำถามว่า พีระมิดสร้างขึ้นได้อย่างไร  

พีระมิดสร้างขึ้นได้อย่างไร? การสร้าง มหาพีระมิด แห่งกีซา และ พีระมิด อื่น ๆ ในอียิปต์นั้นเป็นคำถามที่นักวิทยาศาสตร์และผู้คนทั่วไปพยายามค้นหาคำตอบมาอย่างยาวนาน เนื่องจากพีระมิดแต่ละแห่งถูกจัดวางโดยก้อนหินสี่เหลี่ยมจตุรัสขนาดมหึมา จนบางคนเชื่อว่าชาวอียิปต์โบราณไม่น่าจะมีเทคโนโลยีในการเคลื่อนย้ายสิ่งของน้ำหนักมากเช่นนี้ โดยเฉพาะกับพื้นที่ที่เป็นทะเลทรายแห้งแล้วตามมุมมองปัจจุบัน

ทำให้บางคนเสนอความคิดที่โดดเด่นออกมาว่า พีระมิด แต่ละแห่งถูกสร้างโดย สิ่งมีชีวิตต่างดาว ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ที่ลงพื้นที่ศึกษากลับเชื่อว่าชาวอียิปต์โบราณอาจใช้ ‘ทางน้ำ’ ในการเคลื่อนย้ายก้อนหินมากกว่าจะเป็นเอเลี่ยน ทว่าก็ยังคงเป็นเรื่องลึกลับอยู่พอสมควร

“แต่ไม่มีใครมั่นใจเกี่ยวกับสถานที่ รูปร่าง ขนาด หรือระยะห่างของทางน้ำขนาดใหญ่นี้กับแหล่งพีระมิดจริง ๆ” เอมาน โกนีม (Eman Ghoneim) ผู้เขียนรายงานวิจัย จากมหาวิทยาลัยนอร์ธแคโรไลนา วิลมิงตัน ในสหรัฐอเมริกา กล่าว 

แต่ดูเหมือนว่า ตอนนี้พวกเขากำลังพบเบาะแสบางอย่าง ด้วยการใช้ภาพถ่ายดาวเทียมเรดาห์ การเจาะและวิเคราะห์ดิน รวมถึงการทดสอบทางธรณีฟิสิกส์ เพื่อดูภาพรวมและทำแผนที่โครงสร้างของพีระมิดกว่า 31 แห่งซึ่งรวมถึงพีระมิดแห่งกีซาด้วยเช่นกัน

จากข้อมูลระบุว่าแม่น้ำไนล์ที่ยาวกว่า 6,650 กิโลเมตรนั้นมีกิ่งก้านสาขาแม่น้ำอยู่หลายแห่งซึ่งรวมความยาวแล้วยาวกว่า 64 กิโลเมตร ทอดผ่านกลุ่มพีระมิด 31 แห่งดังกล่าวตามแนวที่เป็นทะเลทรายในปัจจุบัน แต่หลักฐานชี้ให้เห็นว่าในช่วง 4,700 ปีถึง 3,700 ปี มีสายน้ำไหลอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ และกลายเป็นสถานที่เพาะปลูกมานานนับพันปี

นักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่าเมื่อราว 4,200 ปีก่อน แม่น้ำที่ยิ่งใหญ่นี้ค่อย ๆ เริ่มถูกปกคลุมด้วยทรายมากขึ้นจนกลายเป็นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน สำหรับพีระมิดแห่งกีซานั้นตั้งอยู่บนที่ราบสูงโดยห่างจากริมฝั่งแม่น้ำเดิมเพียงประมาณ 1 กิโลเมตรเท่านั้น

“นอกเหนือไปจากข้อเท็จจริงที่ว่าทางหลวงของพีระมิดสิ้นสุดลงที่ริมฝั่งแม่น้ำแล้ว ความใหญ่โตของแม่น้ำสาขานี้และความใกล้ชิดกับกลุ่มพีระมิด ทั้งหมดต่างบ่งบอกว่าสาขาแม่น้ำนี้เคยไหลรินและช่วยดำเนินการในระหว่างขั้นตอนการก่อสร้างของพีระมิดเหล่านี้” โกนีมและเพื่อนร่วมงาน เขียนในงานวิจัย

พวกเขาเรียกสาขาแม่น้ำเหล่านี้ว่า ‘อาห์รามัด’ (Ahramat ภาษาอาหรับแปลว่า ‘พีระมิด’) ตั้งอยู๋ไม่ไกลจากออกไปจากทางตะวันตกของที่ตั้งอาณาจักรเก่า แต่ในที่สุดก็แห้งหายไปโดยที่ “ไม่รู้แน่ชัดว่าสาขาจะสิ้นสุดเมื่อใด” โกนีม กล่าว เมื่อภัยแล้งรุนแรงมากขึ้นในภูมิภาคแห่งนี้ ระดับน้ำสาขาอาห์รามัดก็ลดลง 

อีกสิ่งหนึ่งที่สนับสนุนหลักฐานนี้คือนักวิจัยพบว่าพีระมิดหลายแห่งมี ‘ทางเดินเรียบยกสูง’ ซึ่งทอดยาวไปตามแม่น้ำก่อนจะสิ้นสุดที่หุบเขาซึ่งเชื่อกันว่าทำหน้าที่เป็นท่าเรือ มันบ่งชี้เพิ่มเติมว่าแม่น้ำแห่งนี้มีบทบาทสำคัญในการขนส่งวัสดุก่อสร้างจำนวนมหาศาล

วัสดุหนักเหล่านี้ซึ่งส่วนใหญ่มาจากทางใต้ “จะลอยไปตามแม่น้ำได้ง่ายกว่าการขนส่งทางบกมาก” ซูซาน ออนสไตน์ (Suzanne Onstine) ผู้ร่วมงานวิจัย จากมหาวิทยาลัยเมมฟิส กล่าว ริมน้ำฝั่งแม่น้ำอาจบ่งบอกว่าทำไมพีระมิดถึงถูกสร้างขึ้นในจุดต่าง ๆ 

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนให้ความเห็นว่าการศึกษานี้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญด้านภูมิศาสตร์ในการก่อสร้างโครงสร้างขนาดใหญ่สมัยโบราณ ที่ไม่สามารถนำเอาภาพปัจจุบันไปตัดสินสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตได้ 

“การค้นพบเหล่านี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เมื่อมีการสร้างพีระมิด ภูมิศาสตร์ของแม่น้ำรวมถึงพื้นที่ราบที่น้ำท่วมถึงของแม่น้ำไนล์นั้น มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญกับปัจจุบัน” นิค มาร์ริเนอร์ (Nick Marriner) ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติฝรั่งเศส ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานวิจัย กล่าว 

“การสร้างภาพขึ้นมาใหม่ว่าอดีตช่องแคบแม่น้ำไนล์เกิดขึ้นอย่างไร เมื่อไหร่ และที่ไหน สามารถช่วยให้เราเข้าใจว่าชาวอียิปต์โบราณสามารถควบคุมสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และวงจรน้ำท่วมของแม่น้ำไนล์ เพื่อขนส่งวัสดุก่อสร้างไปยังสถานที่สำหรับการก่อสร้างพีระมิดได้อย่างไร” เขากล่าวเสริม

เมื่อเส้นทางน้ำและปริมาณน้ำได้เปลี่ยนแปลงไปตามเวลา ฟาโรห์องค์ต่อมาจึงตัดสินใจเลือกสร้างในสถานที่ที่แตกต่างออกไปจากฟาโรห์องค์ก่อนหน้าได้เลือกไว้ การค้นพบนี้จึงแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดระหว่างภูมิศาสตร์ ภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม และพฤติกรรมของมนุษย์

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://www.nature.com/articles/s43247-024-01379-7

https://www.sciencealert.com/great-mystery-of-how-ancient-egyptians-built-the-pyramids-finally-appears-solved

https://www.theguardian.com/world/article/2024/may/16/scientists-find-buried-branch-of-the-nile-that-may-have-carried-pyramids-stones

https://www.livescience.com/archaeology/ancient-egyptians/long-lost-branch-of-the-nile-was-indispensable-for-building-the-pyramids-research-shows


อ่านเพิ่มเติม เอกสาร 4,500 ปี ไขชีวิตคนงาน สวัสดิการ เบื้องหลัง “พีระมิดอียิปต์”

Recommend