เหตุไฉนเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกอันห่างไกล จึงดึงดูด ฉลามเสือ ตัวใหญ่ยักษ์

เหตุไฉนเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกอันห่างไกล จึงดึงดูด ฉลามเสือ ตัวใหญ่ยักษ์

เหตุใด ฉลามเสือ ที่อยู่รอบเกาะนอร์ฟอล์กจึงมีความยาวมากกว่าฉลามเสือที่พบที่อื่น นักวิทย์พยายามไขข้อสงสัยนี้

นักวิทยาศาสตร์พบว่า ฉลามเสือที่อยู่รอบเกาะนอร์ฟอล์ก ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก มีความยาวลำตัวโดยเฉลี่ยมากกว่าฉลามเสือที่พบได้ตามแนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟอยู่ราว ๆ 0.6 เมตร บรรดานักวิทย์จึงกระตือรือร้นที่จะค้นคว้าหาสาเหตุเบื้องหลังที่ทำให้ฉลามเหล่านี้มีขนาดใหญ่กว่าปกติ

การติดตามการเดินทางหลายร้อยกิโลเมตรจากเกาะนอร์ฟอล์กไปยังเกาะนิวแคลิโดเนียของฉลามเสือขนาดใหญ่ทำให้นักวิทยาศาตร์ทราบว่า ฉลามเหล่านี้จะอพยพย้ายถิ่นในช่วงฤดูใบไม้ร่วง | ภาพถ่ายโดย SOPHY CRANE/NATIONAL GEOGRAPHIC

น้ำทะเลสาดกระจายเป็นวงกว้างเมื่อฉลามเสือ 2 ตัวรุมฉีกทึ้งซากวัวอย่างรุนแรง ไม่นานนัก เหล่านักล่าขนาดใหญ่ตัวอื่น ๆ ก็ทยอยว่ายตามกลิ่นเลือดมา จนมีฉลามเสือนับ 20 ตัวว่ายวนอยู่รอบชาร์ลี ฮูเวเนียส์ (Charlie Huveneers) ที่คอยสังเกตเหตุการณ์จากในกรง

ฉลามเสือซึ่งถูกตั้งชื่อตามลายพาดกลอนตามลำตัวนั้น เป็นฉลามสายพันธุ์ที่มีความเกี่ยวข้องกับฉลามขาว โดยปกติแล้วพวกมันจะมีขนาดประมาณ 2.7 เมตร แต่ในแถบเกาะเล็ก ๆ อันห่างไกลแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก ฉลามเสือกลับมีขนาดใหญ่ถึง 4.5 เมตรได้อย่างน่าพิศวง

ในวันนั้น ทั้งฮูเวเนียส์และลอเรน เมเยอร์ (Lauren Meyer) ซึ่งเป็นนักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยฟลินเดอร์ส และอดัม บาร์เน็ตต์ (Adam Barnett) จากมหาวิทยาลัยเจมส์ คุก ต่างก็ทึ่งกับขนาดของเหล่าฉลามที่พวกเขาพบ

“นี่คือฉลามเสือจำนวนมากที่สุดที่เราเคยจับได้ในหนึ่งวัน และพวกมันยังเป็นฉลามเสือตัวผู้และตัวเมียที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เราเคยพบเจอค่ะ” เมเยอร์กล่าวไว้ในสารคดีชุด SharkFest ตอน Supersized Sharks ของทางเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก

ไม่กี่วันต่อมา ทีมสำรวจก็จับฉลามเสือได้อีก 20 ตัว พวกเขาจึงทำการศึกษาและวัดขนาดของฉลามเหล่านั้น “การพบฉลามในครั้งนี้เกินความคาดหมายของพวกเราทุกคนมากค่ะ” เธอกล่าว

ทีมนักวิทยาศาสตร์เดินทางไปยังเกาะนอร์ฟอล์ก (Norfolk Island) เพื่อศึกษาว่า เพราะเหตุใดเกาะอันห่างไกลแห่งนี้จึงดึงดูดฉลามเสือจำนวนมาก จนเป็นที่รู้กันว่าเป็นแหล่งที่มีฉลามสายพันธุ์นี้อยู่หนาแน่นที่สุดในโลก ภารกิจของบรรดานักวิทยาศาสตร์มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์พันธุ์ฉลาม เพราะฉลามเสือซึ่งเป็นแมมมอธแห่งท้องทะเลนั้นกำลังตกอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์จากการทำประมงเกินขนาด 

เกาะนอร์ฟอล์กเป็นดินแดนของออสเตรเลีย ซึ่งในอดีตถูกใช้เป็นทัณฑนิคมหรือแดนเนรเทศนักโทษ เกาะแห่งนี้มีประวัติการเลี้ยงวัวมาอย่างยาวนาน ทว่าบรรดาเจ้าของฟาร์มกลับไม่มีวิธีการกำจัดซากสัตว์ดี ๆ ที่จะไม่ทำให้น้ำใต้ดินเกิดการปนเปื้อน พวกเขาจึงมักจะทิ้งซากต่าง ๆ ลงสู่ทะเลโดยตรง

ฉลามเสือที่กินซากวัวอยู่นอกชายฝั่งเกาะนอร์ฟอล์กในประเทศออสเตรเลีย เป็นฉลามเสือที่มีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ บรรดานักวิทยาศาสตร์ต่างสงสัยว่าอาหารแปลก ๆ ที่พวกมันกินเป็นสาเหตุที่ทำให้ฉลามเหล่านั้นมีขนาดใหญ่กว่าปกติหรือไม่ | ภาพถ่ายโดย NATIONAL GEOGRAPHIC

“ในตอนแรก ทีมสำรวจคิดว่าฉลามเสือขนาดใหญ่อาจจะวนเวียนอยู่รอบ ๆ เกาะนอร์ฟอล์ก เพื่อใช้ ‘ร้านแฮมเบอร์เกอร์แบบไดร์ฟทรู’ ของฟาร์มบนเกาะเป็นแหล่งอาหารค่ะ” เมเยอร์กล่าว

ทว่า สิ่งที่ทีมนักวิทยาศาตร์ค้นพบเกี่ยวกับเหล่าฉลามเสือรอบเกาะนอร์ฟอล์กกลับซับซ้อนกว่านั้นมาก

แหล่งอาหารฟาสต์ฟู้ดแห่งท้องทะเล

ทีมนักวิทยาศาสตร์เริ่มทำการวิจัยโดยตรวจสอบอาหารที่ฉลามเสือกินอย่างละเอียด เพื่อดูว่าซากวัวเป็นสาเหตุที่ทำให้พวกมันวนเวียนอยู่รอบเกาะนอร์ฟอล์กหรือไม่ “การปรากฏตัวของฉลามขนาดใหญ่จำนวนมากแสดงให้เห็นว่าบริเวณเกาะนี้มีแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์เป็นพิเศษอยู่ครับ” ฮูเวเนียส์อธิบาย

ผลการวิเคราะห์ไอโซโทปเสถียร (Stable isotope analysis) หรือการวิเคราะห์อะตอมในร่างกายเพื่อสรุปข้อมูลการกินของฉลามเสือ ทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องแปลกใจไปตาม ๆ กัน เนื่องจากซากวัวคิดเป็นเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ของอาหารที่ฉลามกิน “ผลลัพธ์ที่ออกมาถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับสิ่งที่เราคาดการณ์ไว้ครับ” ฮูเวเนียส์กล่าว

การวิเคราะห์ชี้ชัดว่า ฉลามเหล่านั้นมีแหล่งอาหารที่สำคัญอยู่อีกหนึ่งแห่ง “ยังไงฉลามเสือขนาดใหญ่จำนวนมหาศาลเช่นนี้ก็ต้องการอาหารที่มากกว่าชิ้นส่วนเล็ก ๆ น้อย ๆ ของวัวซึ่งถูกทิ้งลงทะเลเป็นครั้งคราวค่ะ” เมเยอร์กล่าว

แล้วพวกมันกินอะไรเป็นอาหารกันแน่ ผลการวิเคราะห์เผยว่า เกาะแห่งนี้มีร้านขายไก่มากกว่าร้านขายเบอร์เกอร์ เพราะอาหาร 52 เปอร์เซ็นต์ที่ฉลามกินมาจากนกทะเล “กลายเป็นว่า ซากวัวเป็นแค่ของหวานชิ้นเล็ก ๆ สำหรับพวกฉลามค่ะ” เธอเสริม

ถึงแม้ว่าทีมนักวิทยาศาสตร์จะทราบกันแล้วว่า ฉลามเสือกินนกทะเลเป็นอาหาร แต่พวกเขาก็ยังคงตกใจกับสัดส่วนของนกจากผลการวิเคราะห์จนต้องกลับไปตรวจสอบข้อมูลที่มีอีกครั้ง

นกทะเลที่ลอยรวมกันเป็นแพ

นกจมูกหลอดหางพลั่วจำนวนหลายหมื่นตัวแห่ไปยังเกาะนอร์ฟอล์กเพื่อทำรัง ในช่วงพลบค่ำ นกเหล่านี้มักจะลอยรวมกันเป็นแพขนาดใหญ่อยู่บนผิวน้ำ พวกมันจึงตกเป็นเหยื่อจากการล่าได้อย่างง่ายดาย “นกทะเลจะตรวจจับผู้ล่าที่พุ่งขึ้นจากใต้น้ำได้ยากมากค่ะ โดยเฉพาะในช่วงที่ไม่ค่อยมีแสงแบบนี้” เมเยอร์กล่าว

อดัม บาร์เน็ตต์และเพื่อนร่วมทีมซ่อนกล้องไว้ในหุ่นรูปนกที่ถูกเรียกว่า ชาซา เพื่อตรวจสอบว่าฉลามเสือที่อยู่รอบ ๆ เกาะนอร์ฟอล์กกินนกทะเลเป็นอาหารหรือไม่ | ภาพถ่ายโดย SOPHY CRANE/NATIONAL GEOGRAPHIC

ฉลามเสือขนาดใหญ่เป็นนักล่าที่ว่ายน้ำได้ค่อนข้างช้า จึงมักเลือกล่าเหยื่อที่จับได้ง่ายโดยใช้วิธีลอบโจมตี “พฤติกรรมการลอยน้ำรวมกันเป็นฝูงในช่วงพลบค่ำของนกทะเลเป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่ฉลามเสือจะพุ่งขึ้นจากผืนน้ำแล้วใช้จมูกแบน ๆ ขนาดใหญ่ของมันดูดนกจำนวนมากเข้าปาก”

โซเฟีย เอ็มมอนส์ (Sophia Emmons) นักศึกษาดุษฎีบัณฑิตจากจากมหาวิทยาลัยเจมส์คุกและมหาวิทยาลัยเซาท์ฟลอริดาเองก็เห็นด้วยว่า นกทะเลเป็นอาหารชั้นยอดของเหล่าฉลามเสือ

“ถึงแม้ว่าฉลามเสือจะเกิดมาเป็นนักล่าสูงสุดบนห่วงโซ่อาหาร ที่มีรูปร่างปราดเปรียวและมีกรามที่แข็งแรงอย่างไม่น่าเชื่อ จนสามารถกัดกระดองเต่าให้แตกได้ แต่จริง ๆ แล้วพวกมันเป็นสัตว์ที่ขี้เกียจมากค่ะ” เอ็มมอนส์ ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานวิจัยกล่าว

ในบางครั้งฉลามเสือก็ถูกเรียกว่า “ถังขยะแห่งท้องทะเล” เพราะปลากินซากสายพันธุ์นี้กลืนทุกอย่างที่พบลงท้อง ไม่ว่าจะเป็นซากสัตว์จากฟาร์ม แผ่นป้ายทะเบียนรถ หรือชุดเกราะ

การที่บนเกาะนี้มีนกทะเลมากมายให้ฉลามได้กินเล่น ทำให้เอ็มมอนส์เข้าใจได้ว่า เพราะเหตุใดฉลามเสือที่อาศัยอยู่รอบเกาะนอร์ฟอล์กจึงมีขนาดใหญ่กว่าเพื่อนร่วมสายพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในบริเวณอื่น ๆ เป็นพิเศษ

“เมื่อฉลามเสือมีแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์จากทั้งซากวัวและนกทะเล พวกมันจะมีพลังงานในการทำสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น และมีพลังงานพิเศษเหลือพอที่จะเจริญเติบโตจนมีขนาดใหญ่กว่าปกติค่ะ” เธอกล่าว

เอ็มมอนส์ยังคงสงสัยว่า ระหว่างวัวและฉลามนั้น มีความสัมพันธ์ทางอ้อมต่อกันหรือไม่ “วัวดึงดูดปลาเข้ามาที่เกาะ ปลาดึงดูดนกให้บินมาทำรัง แล้วนกดึงดูดให้ฉลามว่ายมาหาอาหารที่เกาะแห่งนี้หรือเปล่าคะ” เธอตั้งคำถามขึ้น

ฮูเวเนียส์และทีมวิจัยมีความเห็นตรงกันว่า แนวคิดนั้นไม่น่าจะเป็นไปได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะฉลามเสือไม่ได้อาศัยอยู่รอบเกาะนอร์ฟอล์กตลอดทั้งปี

แหล่งพักพิงยามยากของฉลาม

อีกหนึ่งการค้นพบที่ทีมนักวิทยาศาสตร์คาดไม่ถึงคือ ฉลามเสือจะอาศัยอยู่ในบริเวณใกล้กับเกาะนอร์ฟอล์กเป็นเวลา 5 เดือนในช่วงฤดูใบไม้ผลิจนถึงฤดูร้อนเท่านั้น “การที่ฉลามวนเวียนอยู่บริเวณเกาะนี้เพียง 5 เดือนเป็นอะไรที่น่าประหลาดใจมากครับ เพราะที่นี่อาจจะมีอาหารเพียงพอสำหรับพวกมันตลอดทั้งปีเลยด้วยซ้ำ” ฮูเวเนียส์กล่าว

ลอเรน เมเยอร์และชาร์ลี ฮูเวเนียส์กำลังวิเคราะห์จำนวนประชากรฉลามเสือที่อยู่รอบเกาะนอร์ฟอล์ก | ภาพถ่ายโดย SOPHY CRANE/NATIONAL GEOGRAPHIC

ฉลามที่ถูกติดแท็กชี้ให้ทางทีมเห็นว่า ฉลามเสือจำนวนมากที่อยู่บริเวณเกาะนอร์ฟอล์กจะอพยพเป็นระยะทางกว่า 965 กิโลเมตร ไปยังหมู่เกาะนิวแคลิโดเนีย (New Caledonia) ซึ่งเป็นดินแดนโพ้นทะเลของฝรั่งเศสในช่วงฤดูใบไม้ร่วง อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าฉลามเสือจะอพยพจากเกาะนอร์ฟอล์กไปยังเกาะนิวแคลิโดเนียเป็นประจำ แต่เส้นทางที่พวกมันใช้กลับมีความแตกต่างหลากหลายมาก

“ฉลามบางตัวว่ายผ่านออสเตรเลีย ฟิจิ วานูอาตู ไปจนเกือบจะถึงนิวซีแลนด์และปาปัวนิวกินีครับ” ฮูเวเนียส์เสริม

ขณะนี้ นักวิทยาศาสตร์ทราบแล้วว่าฉลามขนาดใหญ่เหล่านี้กำลังจะเดินทางไปที่ไหน แต่พวกเขายังคงสงสัยถึงสาเหตุที่ทำให้พวกมันต้องอพยพ ทฤษฎีหนึ่งสันนิษฐานไว้ว่า ฉลามเสือจับคู่ผสมพันธุ์ในน่านน้ำใกล้กับเกาะนอร์ฟอล์กและว่ายไปออกลูกในน่านน้ำของเกาะนิวแคลิโดเนียซึ่งเป็นทะเลเปิดที่อยู่ห่างไกลจากบรรดานักล่า

“ลูกฉลามเสือแรกเกิดค่อนข้างที่จะอ่อนแอค่ะ” เมเยอร์กล่าว พร้อมอธิบายต่อว่า “ดังนั้นแม่ฉลามจึงต้องว่ายไปออกลูกในสถานที่ที่เหมาะสมที่สุด เพื่อเพิ่มโอกาสรอดชีวิตของลูกฉลามให้ได้มากเท่าที่จะทำได้”

การตามหาแหล่งอนุบาลฉลาม

หากเกาะนอร์ฟอล์กเป็นพื้นที่ขยายพันธุ์ของฉลามเสือ ฉลามตัวเมียจะสามารถบำรุงร่างกายให้อ้วนท้วนสมบูรณ์ได้ด้วยนกทะเล ก่อนจะว่ายไปออกลูกในน่านน้ำเขตร้อนอันอบอุ่นของเกาะนิวแคลิโดเนีย

อย่างไรก็ตาม ผลการอัลตราซาวด์จากทีมสำรวจกลับตรวจไม่พบตัวอ่อนใด ๆ ในท้องของฉลามเสือตัวเมียที่อยู่บริเวณเกาะนอร์ฟอล์ก เช่นเดียวกับร่องรอยที่บ่งบอกว่าฉลามตัวเมียเหล่านั้นผ่านการผสมพันธุ์มาแล้ว

ทีมนักวิทยาศาสตร์สามารถระบุได้ว่า ฉลามตัวหนึ่งที่พบในบริเวณเกาะนิวแคลิโดเนียกำลังตั้งท้อง “พวกเราสัมผัสได้ถึงลูกในท้องของฉลามตัวนั้นจริง ๆ ค่ะ” เมเยอร์ยืนยัน แต่ถึงกระนั้นทฤษฎีเกี่ยวกับการหาแหล่งอนุบาลลูกฉลามก็ยังเป็นเรื่องยากที่จะอธิบาย

อย่างไรก็ดี หากการวิจัยที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต สามารถระบุแหล่งอนุบาลฉลามที่แน่ชัดได้ พื้นที่เหล่านั้นจะได้รับการคุ้มครองเพื่ออนุรักษ์พันธุ์ฉลามเสือที่กำลังอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

ในขณะนี้ สาเหตุที่ทำให้ฉลามขนาดใหญ่เหล่านั้นถูกดึงดูดไปยังเกาะนอร์ฟอล์กและเกาะนิวแคลิโดเนียยังคงเป็นปริศนาอยู่ “เรากำลังเข้าใกล้คำตอบขึ้นเรื่อย ๆ ครับ แม้ว่าสิ่งนั้นจะยังไม่ใช่คำตอบที่ชัดเจนก็ตาม” ฮูเวเนียส์กล่าว

 

เรื่อง เมลิสซา ฮอบสัน

ภาพ โซฟี เครน

แปล พรรณทิพา พรหมเกตุ

ภาพโดย Sophy Crane/National Geographic


อ่านเพิ่มเติม

พบ ‘โคเคน’ ในฉลามที่บราซิล สัญญาณมลพิษแบบใหม่ที่ปนเปื้อนมากับสายน้ำ

Recommend