‘ใบหน้า’ ของเราเปลี่ยนแปลงไปตามชื่อเมื่อเราโตขึ้น ผลกระทบที่ไม่มีใครเคยคาดคิดมาก่อนว่ามนุษย์มีความสามารถในการทาย ‘ชื่อ’ คนคนหนึ่งโดยอาศัยเพียงลักษณะใบหน้าของบุคคลดังกล่าว
คุณคงเคยได้ยินคำประมาณว่า ‘คนนั้นน่าจะชื่อ…นะ’ หรือไม่ก็ ‘คนคนนั้นดูไม่เข้ากับชื่อ…เลยนะ’ แต่เมื่อนักวิทยาศาสตร์ตรวจสอบความจริงของประโยคที่ดูเหมือนพูดลอย ๆ กลับพบว่ามันสามารถวัดผลได้ และเป็นไปได้อย่างยิ่งที่เราจะทำนาย ‘ชื่อ’ ของใครบางคนด้วยการเพียงแค่ดูจากลักษณะภายนอกของพวกเขา
งานวิจัยใหม่ที่เผยแพร่ในวารสาร PNAS ระบุว่า รูปลักษณ์ของเรามักจะเปลี่ยนแปลงไปตามชื่อเมื่ออายุมากขึ้น เพื่อให้เหมาะกับชื่อนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นทั้งการแต่งหน้า ทรงผม การแสดงสีหน้า หรือแม้แต่เครื่องประดับ โดยเฉพาะในวัยผู้ใหญ่ที่มีอัตราการถูกต้องระดับที่น่าประหลาดใจ
“เราได้แสดงให้เห็นแล้วว่าโครงสร้างทางสังคมหรือการจัดโครงสร้างนั้นมีอยู่จริง ซึ่งจนถึงตอนนี้แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทดสอบด้วยประสบการณ์จริง” โยนาท ซีเว็บเนอร์ (Yonat Zwebner) หนึ่งในผู้เขียนงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยไรช์มัน ในอิสราเอลกล่าว พร้อมกับเสริมว่า “โครงสร้างทางสังคมนั้นแข็งแกร่งมาก มากจนถึงจุดที่ว่าสามารถส่งผลต่อรูปลักษณ์ของบุคคลได้ ผลการวิจัยนี้อาจบ่งชี้ว่าปัจจัยส่วนบุคคลอื่น ๆ ที่สำคัญยิ่งกว่าชื่อ เช่น เพศหรือชาติพันธุ์ อาจหล่อหลอมให้บุคคลให้บุคคลเติบโตขึ้นมาเป็นคนแบบใดก็ได้”
ในอดีตที่ผ่านมา มีการพบหลักฐานบางประการที่บ่งชี้ว่ารูปลักษณ์บนใบหน้าของบุคคลนั้น สามารถบ่งบอกชื่อที่เขาได้รับ แต่ทว่าก็ยังไม่มีความชัดเจนเพียงพอ เพราะผู้คนได้รับชื่อที่ตรงกับลักษณะใบหน้าโดยกำเนิดตั้งแต่เป็นทารก หรือเป็นเพราะรูปลักษณ์ของพวกเขาพัฒนาขึ้นตามเวลาเพื่อให้เข้ากับชื่อเกิดของพวกเขามากขึ้น
ด้วยเหตุนี้นักวิทยาศาสตร์จึงต้องการตรวจสอบให้ลึกยิ่งขึ้นด้วยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยไรช์มัน และมหาวิทยาลัยฮีบรูแห่งเยรูซาเล็ม ทีมวิจัยได้เริ่มต้นการทดสอบในเด็กที่มีอายุระหว่าง 8 ถึง 12 ปี และบุคคลที่มีอายุ 18 ปีขึ้น จากนั้นผู้เข้าร่วมการทดลองจะได้ตอบแบบสอบถามเพื่อระบุชื่อที่เป็นไปได้ของทั้งในผู้ใหญ่และในเด็ก
ผลลัพธ์นั้นน่าประหลาดใจ ผู้ใหญ่และเด็กสามารถจับคู่ใบหน้ากับชื่อของบุคคลที่เกิน 18 ปีขึ้นไปได้อย่างแม่นยำและมีนัยสำคัญ กลับกัน ทั้งผู้ใหญ่และเด็กกลับไม่สามารถทำนายชื่อของเด็กที่อายุ 9-10 ขวบได้โดยมีระดับต่ำจนไม่มีความเป็นไปได้
ไม่เพียงเท่านั้นทีมวิจัยยังตรวจสอบสมมติฐานเพิ่มเติม โดยนำใบหน้าของเด็ก ๆ เข้าสู่อัลกอริธึมเพื่อสร้างใบหน้าดิจิทัลที่ดูจะเป็นไปได้ในวัยผู้ใหญ่ กระนั้น ผู้เข้าร่วมก็ไม่สามารถคาดเดาชื่อของบุคคลดังกล่าวได้เช่นเดิม สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่า ลักษณะใบหน้าของเราเปลี่ยนไปจากวัยเด็กเพื่อให้เข้ากับชื่อมากขึ้น ไม่ใช่การตั้งชื่อให้เข้ากับรูปลักษณ์ตั้งแต่เกิด
นอกจากนี้เมื่อทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ทดลองให้อัลกอริธึมเรียนรู้ใบหน้าที่เป็นไปได้ในวัยผู้ใหญ่กับชื่อที่มีจำนวนมากขึ้นแล้ว ระบบก็สามารถทำนายชื่อได้อย่างที่มนุษย์ทำได้ โดยชี้ให้เห็นว่าผู้ใหญ่ที่มีชื่อเดียวกัน มีแนวโน้มที่จะดูคล้ายกันมากกว่าผู้ใหญ่ที่มีชื่ออื่น ๆ แต่ไม่เป็นจริงในวัยเด็กที่มีชื่อเดียวกัน
“เมื่อพิจารณาร่วมกันแล้ว การค้นพบเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าแม้แต่ลักษณะใบหน้าของเรา ก็อาจได้รับอิทธิพลจากปัจจัยทางสังคมเช่น ชื่อของเรา ซึ่งยืนยันถึงผลกระทบอันทรงพลังของความคาดหวังทางสังคม” ซีเว็บเนอร์ กล่าว
โดยพื้นฐานแล้วทีมวิจัยสรุปว่า ชื่อที่ถูกกำหนดเมื่อแรกเกิดคือ ‘ป้ายบอกทางสังคม’ ที่สามารถส่งผลต่อรูปลักษณ์ของบุคคลผ่านการทำนายที่เป็นจริงได้ พวกเขาอธิบายเพิ่มเติมว่า เมื่อเวลาผ่านไป บุคคลนั้นอาจซึมซับลักษณะเฉพาะและความคาดหวังที่เกี่ยวกับของกับชื่อตนเอง
พร้อมกับ “ยอมรับมันโดยทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว ในตัวตนและทางเลือกของตน” ทีมวิจัยระบุ กล่าวอีกนัย สิ่งที่เรา ‘ควร’ มีหน้าตาตามความคาดหวังของสังคม ดูเหมือนจะส่งผลกระทบต่อรูปลักษณ์ของผู้ใหญ่ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้ดำเนินในสองภาษาคือฮีบรูสำหรับคนอิสราเอล และภาษาอังกฤษที่อิงตามข้อมูลของคนในสหรัฐอเมริกา ดังนั้นจึงไม่ชัดเจนว่าจะเป็นเช่นเดียวในประเทศอื่น ๆ หรือไม่ แต่มันก็แสดงให้เห็นแนวโน้มบางอย่างเกิดขึ้นจริง ๆ
“ผลลัพธ์เหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าผู้คนมีพัฒนาการตามแบบแผนได้รับมาตั้งแต่เกิด” ทีมวิจัยสรุป “เราเป็นสัตว์สังคมที่ได้รับผลกระทบจากการเลี้ยงดู ส่วนประกอบทางกายภาพที่เป็นเอกลักษณ์และเฉพาะตัวที่สุดอย่างหนึ่งของเรา ซึ่งก็คือรูปลักษณ์ใบหน้านั้นอาจได้รับการหล่อหลอมจากปัจจัยทางสังคม ซึ่งก็คือชื่อของเราเอง”
บางทีอาจถูกอย่างที่ จอร์จ ออร์เวล (George Orwell) นักเขียนชื่อดังเช่นหนังสือเรื่อง 1984 ว่าไว้ว่า “เมื่ออายุ 50 ปี ทุกคนต่างก็มีหน้าตาที่สมควรได้รับ”
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
Photo by Sataem Supapol on Pixabay
ที่มา
www.pnas.org
https://www.afhu.org
https://www.eurekalert.org
https://www.sciencealert.com
https://phys.org/