โครโมโซม XY ในวงการมวยหญิง ความท้าทายของ ‘ชีววิทยา’ และ ‘กติกากีฬา’

โครโมโซม XY ในวงการมวยหญิง ความท้าทายของ ‘ชีววิทยา’ และ ‘กติกากีฬา’

อิมาน เคลิฟ ไม่ใช่คนแรกและคนสุดท้ายที่ถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับเพศ ท่ามกลางคำครหาจากทั่วโลกที่กล่าวว่าเธอไม่ใช่ ‘ผู้หญิงที่แท้จริง’ แล้ววิทยาศาสตร์บอกอะไรเกี่ยวข้อกล่าวหานี้บ้าง? 

อิมาน เคลิฟ (Imane Khelif) ชาวแอลจีเรียและ หลิน อวี้ถิง (Lin Yu Ting) นักมวยจากไต้หวันได้ขึ้นชกในการแข่งขันโอลิมปิก 2024 ที่ปารีส ซึ่งสร้างการถกเถียงกันขึ้นมาในทันทีว่านักกีฬาทั้งสองคนนี้เป็นผู้หญิงจริงหรือไม่? ทำให้กฎระเบียบเรื่องเพศถูกตั้งคำถามขึ้นมาอีกครั้งในประวัติศาสตร์อันยาวนานของการแข่งขันกีฬา

แม้ว่าสมาคมมวยสากลนานาชาติ (International Boxing Association) หรือ IBA จะประกาศเมื่อปี 2023 ว่านักกีฬาทั้งสองคนถูกตัดสิทธิ์จากการแข่งขันชิงแชมป์โลก เนื่องจากไม่ผ่านการทดสอบคุณสมบัติในประเภท ‘มวยหญิง’ แต่คณะกรรมการโอลิมปิก (IOC) กลับให้ทั้งคู่ลงแข่งได้โดยไม่มีปัญหา

นี่ไม่ใช่ข้อถกเถียงแรกและครั้งสุดท้ายเกี่ยวเรื่องเพศผู้เข้าแข่งขัน “เรื่องราวทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในโอลิมปิกปารีส” ดร. พาโยชนี มิตรรา (Payoshni Mitra) กรรมการบริหารของศูนย์กีฬาและสิทธิ์มนุษยชน ซึ่งสนับสนุนนักกีฬาที่มีความหลากหลายทางเพศ กล่าว

แล้ววิทยาศาสตร์บอกอะไรบ้าง?

ประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน

ประเด็นเกี่ยวกับเพศนักกีฬาเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในการแข่งขันกรีฑาเมื่อประมาณ 100 ปีที่แล้ว นักกีฬาจะต้องผ่านการทดสอบความเหมาะสมทางเพศจำนวนมาก ทั้งตรวจร่างกาย ตรวจฮอร์โมน รวมไปถึงตรวจโครโมโซม

“ผู้หญิงที่มาจากประเทศกำลังพัฒนามักตกเป็นเป้าหมายเสมอ” ดร.มิตรรา กล่าว ในปี 1928 ผู้หญิงที่เข้าแข่งขันกรีฑาโอลิมปิกเป็นครั้งแรกจะถูกสงสัยว่าเป็นผู้ชายมากเกินไปแทบจะเป็นอัตโนมัติ อย่างไรก็ตามในขณะนั้นยังไม่มีองค์กรใดตรวจสอบอย่างจริงจัง

จนกระทั่งในปี 1948 องค์กรที่ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ ‘กรีฑาโลก’ (World Athletics) ได้กำหนดกฎเกณฑ์ให้ผู้ที่ต้องการเข้าแข่งขันในฐานะนักกีฬาหญิงต้องส่งใบรับรองแพทย์เป็นครั้งแรก ต่อมาในช่วงทศวรรษ 1960 เจ้าหน้าที่ขององค์กรก็เพิ่มมาตรการตรวจร่างกายเป็นครั้งแรก

ผู้ที่ต้องเข้าแข่งขันกรีฑาหญิง “ถูกเรียกเข้าไปในห้องโดยไม่ได้บอกว่าจะต้องเจอกับอะไร และถูกบังคับให้นอนลงบนโซฟาพร้อมกับต้องตรวจทางสูตินรีเวช” ไจเม ชูลส์ (Jaime Schultz) ศาสตราจารย์ในภาควิชากายวิภาคศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยนอร์ธแคโรไลนา กล่าว

ในกรณีอื่น ๆ ผู้หญิงจะต้องถอดเสื้อผ้าและนำร่างกายไปแสดงให้แพทย์ดู ศาสตราจารย์ ชูลส์ ระบุว่าการทดสอบเหล่านี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานว่าผู้หญิงที่ต้องการเข้าแข่งขันทุกคนตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ชาย ซึ่งสร้างการถกเถียงขึ้นมา เนื่องจากถูกมองว่าเป็นการล่วงละเมิดอย่างมากต่อผู้หญิงจริง ๆ และต่อนักกีฬาทั่วไปด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตามหลายองค์กรเริ่มหันมาทำตามองค์กร กรีฑาโลก โดยบังคับให้ผู้หญิงต้องพกใบรับรองความเป็นผู้หญิงในการแข่งขันเสมอ ขณะเดียวกันทาง IOC ก็ได้เพิ่มการตรวจสอบโครโมโซมของนักกีฬาเข้าไปด้วย ทั้งนี้วิธีการดังกล่าวกลายเป็นประเด็นขึ้นในเวลาต่อมา

กลางทศวรรษ 1980 นักวิ่งข้ามรั้วชาวสเปนที่ชื่อ มาเรีย โจเซ มาร์ติเนส-พานิโน (Maria José Martínez-Patiño) ถูกไล่ออกจากทีมชาติสเปนเนื่องจากไม่ผ่านการทดสอบด้านโครโมโซม ซึ่งเผยให้เห็นว่าเธอมีโครโมโซม XY แต่เธอก็มีภาวะไม่ไวต่อฮอร์โมนเพศชาย (Androgen Insensitivity Syndrome) หรือ AIS ด้วยเช่นกัน

นั่นหมายความว่า “ร่างกายของเธอไม่ตอบสนองต่อฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนที่ไหลเวียนในร่างกายของเธอที่ผลิตขึ้นตามธรรมชาติ” ศาสตราจารย์ ชูลส์ กล่าว บุคคลที่มีภาวะ AIS อาจมีอวัยวะเพศที่ดูเหมือนเพศหญิงแต่จะไม่มีอวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิง (รังไข่)

กล่าวอย่างง่ายคือ แม้ มาร์ติเนส-พานิโน จะมีโครโมโซมเป็น XY (ซึ่งเป็นโครโมโซมเพศของผู้ชาย) แต่ร่างกายของเธอกลับไม่ตอบสนองต่อฮอร์โมนชาย จึงเหมือนกลายเป็นว่าร่างกายของเธอสร้างทุกอย่างให้เป็นผู้หญิงมาตั้งแต่ต้น และเป็นไปได้ต่อไปว่าพ่อกับแม่ก็อาจเลี้ยงดูเธอในฐานะ ‘ลูกสาว’

มาร์ติเนส-พานิโน โต้แย้งการถูกไล่ออกของเธอในศาลซึ่งชนะในปี 1988 โดยตัดสินว่าเธอไม่ได้ใช้ความได้เปรียบอย่างไม่เป็นธรรมในการแข่งขันวิ่งข้ามรั้ว ทว่าก็สูญเสียความเป็นส่วนตัว ทุนการศึกษา และความสัมพันธ์มากมายในกระบวนการนี้

“เมื่อเวลาผ่านไป ผู้คนได้ตรวจสอบอวัยวะเพศ ตรวจสอบโครโมโซม ค้นหายีนเฉพาะ ตรวจสอบฮอร์โมนเพศชาย และสิ่งที่เราได้คำตอบในท้ายที่สุดก็คือ ความเข้าใจว่าไม่มีคำจำกัดวามที่ชัดเจนเกี่ยวกับเพศ เพราะการทดสอบแต่ละครั้งเหล่านี้ล้มเหลวลงด้วยน้ำหนักของมันเอง” ศาสตราจารย์ ชูลส์ กล่าว

อิมาน เคลิฟมีโครโมโซม XY หรือไม่?

อูมาร์ เครมเลฟ ประธาน IBA ชาวรัสเซียกล่าวว่าการทดสอบโครโมโซมแสดงให้เห็นว่านักกีฬาทั้งสองคนมีโครโมโซม XY ซึ่งทำให้พวกเขาต้องถูกตัดสิทธิ์จากการแข่งขันชิงแชมป์โลก นอกจากนี้สมาคมยังระบุด้วยว่าร่างกายของ เคลิฟ มีระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนสูง

อย่างไรก็ตามผลการทดสอบดังกล่าวไม่เคยถูกเปิดเผยออกมาเป็นรายงานทางวิทยาศาสตร์ และเคลิฟเองก็ไม่เคยเปิดเผยข้อมูลทางชีวภาพของเธอเช่นเดียวกัน แต่โต้แย้งว่าการตัดสินใจของ IBA นั้นเป็น ‘การสมคบคิดครั้งใหญ่’ เนื่องจากการตัดสิทธิ์เกิดขึ้นหลังจากที่ เคลิฟ เอาชนะนักมวยชาวรัสเซียได้ในการแข่งขันปี 2023

จากข้อครหาทั้งหมดจึงเป็นเรื่องลึกลับพอสมควรว่าแท้จริงแล้ว อิมาน เคลิฟ มีโครโมโซม XY จริงหรือไม่ ซึ่งทั้งสองฝ่ายไม่ออกมาเปิดเผยอย่างเป็นทางการ ทั้งกระบวนการตรวจสอบและข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ของ IBA และ เคลิฟ เองก็ไม่พูดถึงข้อมูลทางชีวภาพของตน

อย่างไรก็ตามประเด็นเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าอาจต้องมีการ ‘กำหนดขั้นตอนที่ชัดเจนเกี่ยวกับการทดสอบด้านเพศ’ ที่ชัดเจน ละเอียด และรอบคอบมากยิ่งขึ้น

สไวเออร์ ซินโดรม (Swyer syndrome) และภาวะความผิดปกติของพัฒนาการระบบอวัยวะเพศ (DSD; difference in sexual development) ในทางวิทยาศาสตร์มักพบภาวะผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับ ยีน ฮอร์โมน และอวัยวะสืบพันธุ์อยู่เสมอ ซึ่งประเด็นนี้ไม่เกี่ยวข้องกับอัตลักษณ์ทางเพศ สิ่งที่นักวิจัยพิจารณาคือข้อมูลทางชีวภาพในร่างกายเพียงอย่างเดียว

ภาวะเหล่านี้เกิดขึ้นในบุคคลที่มีโครโมโซม X หนึ่งตัว และโครโมโซม Y หนึ่งในในแต่ละเซลล์ ทว่าร่างกายกลับสร้างอวัยวะสืบพันธุ์แบบผู้หญิง ขึ้นมาและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทาง พญ. ณัฐนิภา ภารพบ จากคณะแพทยศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขียนผ่านเว็บไซต์ขอบคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่’ อธิบายเรื่องนี้ว่า

 ในระยะแรกตั้งแต่การปฏิสนธิจนอายุครรภ์ 7 สัปดาห์ ตัวอ่อนทั้งเพศชายและหญิงจะมีลักษณะที่เหมือนกัน ซึ่งไม่สามารถแยกลักษณะทางเพศได้ โดยเรียกว่า ‘indifferent state’ ต้องรอจนถึงเลยอายุ 7 สัปดาห์ขึ้นไป แพทย์จึงสามารถระบุเพศได้

แต่ทั้งนี้ความผิดปกติในการพัฒนาทางเพศเกิดได้ในทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการกำหนดเพศโดยโครโมโซม (chromosomal development) การพัฒนาของต่อมเพศ (gonadal development) หรือการพัฒนาอวัยวะสืบพันธุ์ (genital development) หากมีการพัฒนาที่ไม่สัมพันธ์กันของขั้นตอนเหล่านี้ จะทำให้มีการพัฒนาทางเพศที่ผิดปกติเกิดขึ้นหรือ DSD

ส่งผลให้เกิด ‘ความเข้าใจผิด’ ว่าเป็นเพศใดเพศหนึ่งได้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วคนทั่วไปมักจะแยกอย่างง่าย ๆ โดยสังเกต ‘อวัยวะเพศ’ ซึ่งมีพ่อแม่จำนวนน้อยมากเท่านั้นที่จะตรวจโครโมโซม สิ่งนี้ทำให้เด็กเหล่านั้นเข้าใจเกี่ยวกับเพศของเขาตามที่ถูกเลี้ยงดูมา

ทั้งนี้ อิมาน เคลิฟ และ หลิน อวี้ถิง เองก็ไม่ได้เปิดเผยถึงข้อมูลด้านภาวะสไวเออร์ ซินโดรม และ DSD ออกมา จึงทำให้ไม่ทราบว่าทั้งคู่มีอาการนี้หรือไม่

นอกจากนี้ กระบวนการดังกล่าวอาจทำให้ผู้หญิงบางคนมีระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนสูงใน (ผู้หญิงทั่วไปที่มีโครโมโซม XX ก็อาจเกิดภาวะนี้ได้เช่นกัน) ซึ่งองค์กรบางแห่งเสนอว่าให้กำหนดกฎระเบียบโดยการตรวจฮอรโมนนี้ หากสูงเกินไปก็อาจทำให้ ร่างกายของบุคคลนั้น ‘มีความเป็นชายมากกว่า’ ซึ่งทำให้เกิดข้อได้เปรียบทางด้านร่างกาย

ทว่านักวิทยาศาสตร์บางคนก็ระบุว่านี่ก็ยังไม่ใช่การทดสอบที่สมบูรณ์แบบ และแม้จะเห็นพ้องต้องกันระหว่างนักวิทยาศาสตร์กับ IOC ที่ว่าเทสโทสเทอโรนเป็น “ปัจจัยสำคัญที่กำหนดประสิทธิภาพของนักกีฬาในกีฬาบางประเภทหรือกิจกรรมบางอย่าง” แต่มันก็ไม่ได้ทำนายประสิทธิภาพที่แท้จริงของนักกีฬาแต่ละคนได้เสมอไป

“ผู้หญิงหลายคนอาจมีเทสโทสเทอโรนซึ่งเรียกว่า ‘ระดับของผู้ชาย’ และยังคงเป็นผู้หญิงพร้อมกับแข่งขันในฐานะผู้หญิง ความคิดที่ว่าคุณทำการตรวจเทสโทสเตอโรนเพียงครั้งเดียวแล้วทุกอย่างจะเรียบร้อยนั้น ผมเกรงว่าจะไม่ใช่เป็นแบบนั้น” มาร์ก อดัมส์ โฆษกของ IOC กล่าวกับนักข่าว

ดูเหมือนว่าทั้งวงการกีฬาและวงการวิทยาศาสตร์จะต้องหาแนวทางใหม่ ๆ ในการสร้าง ‘ความยุติธรรม’ ให้ได้มากที่สุดในการแข่งขัน เพื่อให้นักกีฬาทุกคนได้ใช้ความสามารถของตัวเองอย่างเต็มที่และมีโอกาสชนะอย่างเท่าเทียมกัน

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ภาพ : Facebook Imane Khelif

 

ที่มา

www.webmd.com

https://rarediseases.org

https://link.springer.com

https://time.com

https://www.bloomberg.com

https://www.wsj.com

https://www.npr.org

https://www.nbcnewyork.com


อ่านเพิ่มเติม : โอลิมปิกที่ตาฮีตี เสี่ยงทำลายปะการังล้ำค่า เพื่อแข่งขันกีฬาโต้คลื่น

Recommend