ความกลัว vs ความจริง : งานวิจัยบอกเหตุผล ทำไมการติดต่อเพื่อนเก่าอาจง่ายกว่าที่คิด

ความกลัว vs ความจริง : งานวิจัยบอกเหตุผล ทำไมการติดต่อเพื่อนเก่าอาจง่ายกว่าที่คิด

การกลับมาพูดคุยกับเพื่อนเก่าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่วิทยาศาสตร์อาจมีทางออก งานวิจัย แนะ “อุ่นเครื่อง” คุยก่อน เริ่มรื้อสัมพันธ์ใหม่อีกครั้ง

การกระชับความสัมพันธ์กับเพื่อนเก่าอาจมีประโยชน์ทั้งทางจิตใจและอารมณ์ แต่เมื่อจะส่งข้อความแรกไปหาอีกฝ่ายเพื่อทำลายระยะห่างที่มีต่อกัน ทำไมผู้คนส่วนใหญ่ถึงกลับไม่กล้าที่จะกดส่ง?

การได้ฟังสารทุกข์สุขดิบจากเพื่อนที่ไม่ได้พูดคุยกันมานานเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างไม่คาดคิด และการฟื้นฟูมิตรภาพเหล่านั้นให้มีชีวิตชีวาอยู่เสมอก็เป็นสิ่งสามารถเติมเต็มจิตใจเราได้ นักจิตวิทยาต่างตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับประโยชน์ของการมีมิตรภาพที่มากและหลากหลายขึ้นกันมานานแล้ว แต่งานวิจัยชิ้นใหม่ของนักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยไซมอนเฟรเซอร์และมหาวิทยาลัยซัสเซกส์ ระบุว่า เรามักลังเลที่จะเป็นฝ่ายเริ่มกระชับสายสัมพันธ์กับเพื่อนเก่า

อยากคุยแต่ไม่อยากเริ่ม?

งานวิจัยนี้เก็บข้อมูลด้วยการทดสอบ 7 ครั้งใหญ่ๆ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเกือบ 2,500 คน มากกว่าร้อยละ 90 บอกว่าตนเองมีเพื่อนที่ไม่ได้ติดต่อกันมานานแล้วและอยากกลับไปพูดคุยด้วยอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม แม้ผู้เข้าร่วมจะแสดงออกว่าอยากกระชับความสัมพันธ์และคิดว่าอีกฝ่ายก็คงจะรู้สึกดีใจ แต่เมื่อให้เวลาร่างข้อความที่จะส่งไปหาเพื่อนเก่าคนนั้น กลับมีแค่จำนวนหนึ่งในสามเท่านั้นที่กดส่งข้อความไป

เพื่อทำความเข้าใจความไม่เต็มใจเหล่านั้น นักวิจัยให้ผู้เข้าร่วมทำการทดสอบอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือการให้คะแนนความเต็มใจในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้สำเร็จในขณะนั้น ได้แก่ การทักไปหาเพื่อนที่ไม่ได้คุยกันมานาน การคุยกับคนแปลกหน้า การกินไอศกรีมแท่ง และการหยิบถุงขยะ ปรากฏว่าผู้เข้าร่วมเต็มใจทักไปหาเพื่อนเก่าพอ ๆ กับการคุยกับคนแปลกหน้า หรือการหยิบถุงขยะ

จากนั้นนักวิจัยพยายามกระตุ้นผู้เข้าร่วมด้วยการพูดถึงการส่งข้อความในครั้งแรกว่า การส่งข้อความไปหาเพื่อนเก่ามักจะได้การตอบรับที่ดีกลับมา แต่การกระตุ้นเช่นนั้นก็ไม่ได้ช่วยลดความไม่เต็มใจของผู้ร่วมงานวิจัยสักเท่าไหร่ เพราะจำนวนคนที่ยอมกดส่งข้อความยังคงต่ำอยู่เช่นเคย

ลาร่า อักนิน นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยไซมอนเฟรเซอร์ หัวหน้านักวิจัยในงานวิจัยชิ้นนี้กล่าวว่า “เราได้ข้อสรุปแล้วว่าการพยายามเปลี่ยนความคิดคนอาจจะไม่ใช่วิธีการที่ดีที่สุด แทนที่จะเปลี่ยนความคิด เราเลยลองพยายามเปลี่ยนพฤติกรรมเขาดู”

การฝึกฝนศิลปะแห่งมิตรภาพ

แนวทางใหม่ของพวกเขาคือให้ผู้เข้าร่วมได้ “อุ่นเครื่อง” โดยให้ผู้เข้าวิจัยกลุ่มหนึ่งใช้เวลา 3 นาที เขียนข้อความส่งไปหาคนรู้จักและเพื่อนที่คบหากันอยู่ในปัจจุบัน  ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งให้ใช้เวลา 3 นาที ดูโซเชียลมีเดีย จากนั้นจึงให้ทุกคนร่างข้อความและส่งข้อความนั้นไปหาเพื่อนเก่า

ผลปรากฏว่าการ “อุ่นเครื่อง” นี้ประสบความสำเร็จ ร้อยละ 53 ของผู้ที่ได้ทำกิจกรรมอุ่นเครื่องสามารถส่งข้อความไปหาเพื่อนเก่าได้ในที่สุด ซึ่งเป็นจำนวนมากกว่าผู้เข้าร่วมที่ไม่ได้ทำกิจกรรมอุ่นเครื่องนี้ถึงสองในสาม โดยกลุ่มที่ดูโซเชียลมีเดียกดส่งข้อความเพียงร้อยละ 31 เท่านั้น

อักนิน อธิบายว่า การส่งข้อความไปหาเพื่อนเก่านั้นยากเย็นจนต้องมีการอุ่นเครื่องกันก่อน เพราะว่าเมื่อเวลาผ่านไป เพื่อนเก่าก็อาจจะรู้สึกเหมือนเป็นคนแปลกหน้าได้ ระยะห่างทางจิตใจคืออุปสรรคหลักในการเชื่อมต่อความสัมพันธ์อีกครั้ง

จูเซปเป ลาเบียงกา นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ แอมเฮิร์สต์ ผู้ที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในงานวิจัยชิ้นนี้กล่าวว่า ระดับความสัมพันธ์ของเพื่อนสองคนก่อนจะไม่ได้ติดต่อกัน ก็เป็นตัวกำหนดความยากง่ายในการลดระยะห่างด้วย หากทั้งคู่มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกัน มีความเชื่อใจกันสูง ก็จะทำให้การกลับมาติดต่อกันเป็นเหมือนการกลับมาพูดคุยกันต่อจากจุดเดิมที่ค้างไว้ และลดความกลัวการถูกปฏิเสธลงไปได้

อักนินกล่าวว่า ความกลัวการถูกปฏิเสธและความเคอะเขินอาจจะทำให้เราระมัดระวังมากเกินไป

สุดท้ายการมีเครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคมที่มากและหลากหลายก็เป็นประโยชน์กับตัวเรา นี่คือเหตุผลว่าทำไมในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระยะแรกที่ต้องเว้นระยะห่างทางสังคม หลายคนที่ต้องอยู่ติดบ้านถึงติดต่อหาเพื่อนเก่า ลาเบียงกาเรียกสิ่งนี้ว่า “ความสัมพันธ์ที่หยุดนิ่ง”

ลาเบียงกากล่าวว่า หลายกรณี สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ความสัมพันธ์หยุดนิ่งก็เพราะเมื่อคนเราแยกย้ายไปอยู่ต่างที่กัน ความสนใจของทั้งคู่ก็อาจจะเปลี่ยนไปด้วยทำให้เราตามอีกฝ่ายไม่ทัน แต่ถ้าเราลองมาคิดดู สิ่งนี้แหละที่ทำให้การได้กลับมาพุดคุยกันกับคนที่ไม่ได้เจอมานานมีประโยชน์และน่าสนใจ ในเมื่อชีวิตของอีกฝ่ายเปลี่ยนไป เราก็อาจจะได้ฟังเรื่องราวใหม่ ๆ เจ๋ง ๆ และไม่เหมือนใครก็ได้

การเชื่อมต่อสัมพันธ์ผ่านโซเชียลมีเดีย 

อักนินกล่าวว่า โซเชียลมีเดียช่วยให้เราเชื่อมต่อความสัมพันธ์ที่หยุดนิ่งได้ง่ายขึ้น แต่ในทางกลับกันก็ทำให้ความสัมพันธ์มีความลึกซึ้งน้อยลง งานวิจัยใหม่พบว่าความคุ้นเคยทำให้การติดต่อง่ายขึ้น และโซเชียลมีเดียก็สามารถเป็นพื้นฐานของความคุ้นเคยนั้นได้ โดยการทำให้คนเหล่านั้นยังคงผ่านเข้ามาในความนึกคิดของเราบ้าง หรืออย่างน้อยก็ผ่านหน้าฟีดของเรา

แต่ลาเบียงกาบอกว่า โซเชียลมีเดียช่วยให้เรารักษาความสัมพันธ์กับเพื่อนเก่าได้แค่ในระดับผิวเผิน การจะฟื้นฟูมิตรภาพให้กลับมาโดยสมบูรณ์ต้องเกิดจากการสนทนาที่แท้จริง ไม่ว่าจะเป็นการโทรศัพท์หากันหรือการเจอกันต่อหน้าและมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันตามเวลาจริง

หากคุณอยากกลับมาติดต่อกับเพื่อนเก่าแต่ยังรู้สึกลังเล อักนินบอกว่าคุณไม่ใช่คนเดียวหรอกที่เป็น อันที่จริงคุณก็เป็นเหมือนคนส่วนใหญ่ การอุ่นเครื่องเหมือนในงานวิจัยนี้ช่วยได้ อักนินแนะนำว่าให้ลองส่งข้อความหาเพื่อนปัจจุบันดู จากนั้นก็เปลี่ยนชื่อคนรับเป็นเพื่อนที่ไม่ได้คุยกันมาสักพักแทนแล้วค่อยกดส่ง

เพ็กกี้ หลิว นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์ก  ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า คนอื่นอาจจะประทับใจการติดต่อของเรามากกว่าที่เราคาดคิดไว้ก็ได้ เรามักจะสบประมาทว่าคนในชีวิตเราซาบซึ้งแค่ไหนที่เราติดต่อไปหา ซึ่งมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดความรู้สึกประหลาดใจ ดังนั้นเมื่ออีกฝ่ายได้รับการติดต่อจากเรา ความรู้สึกประหลาดใจนั้นก็อาจจะทำให้เขารู้สึกซาบซึ้งต่อเรามากขึ้นก็ได้

“เรามักกลัวว่าอีกฝ่ายจะไม่อยากกลับมาพูดคุยด้วย ซึ่งความกลัวนี้เป็นแค่สิ่งที่อยู่ในหัวเราเท่านั้น หากได้ลองติดต่ออีกฝ่ายไปดู เราอาจจะต้องประหลาดใจที่อีกฝ่ายเองก็รู้สึกตื่นเต้นที่ได้กลับมาพูดคุยกับเราเหมือนกัน นี่เลยเป็นสิ่งที่คุ้มค่าที่จะทำ” ลาเบียงกากล่าว

เรื่อง : สโรชิณีย์ นิสสัยสุข
โครงการสหกิจศึกษา กองบรรณาธิการ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย

ภาพ : NEVEN GRUJIC, NAT GEO IMAGE COLLECTION

ที่มา : Nationalgeographic


อ่านเพิ่มเติม : งานวิจัยเผย ใบหน้าคนเปลี่ยนให้เข้ากับชื่อได้ เมื่ออายุมากขึ้นจนเป็นผู้ใหญ่!

Recommend