ฝีดาษลิงคุกคามแอฟริกา WHO ประกาศภาวะฉุกเฉินโลก หวั่นประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

ฝีดาษลิงคุกคามแอฟริกา WHO ประกาศภาวะฉุกเฉินโลก หวั่นประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

ฝีดาษลิง กำลังแพร่กระจายไปทั่วแอฟริกาจนทำให้องค์การอนามัยโลกต้องประกาศภาวะฉุกเฉินระดับโลก สถานการณ์นี้น่ากังวลแค่ไหนและโรคนี้แพร่กระจายได้อย่างไร? นี่คือสิ่งที่เราจำเป็นต้องรู้เพื่อเตรียมรับมือโรคอันตรายนี้

ฝีดาษลิง หรือ monkeypox ซึ่งเรียกสั้น ๆ ว่า ‘mpox’ เป็นญาติห่าง ๆ ของโรค ‘ไข้ทรพิษ’ (Smallpox หรือเรียกว่า ‘ฝีดาษ’ ก็ได้เช่นกัน) โดยไข้ทรพิษนี้ไม่มีการแพร่ระบาดมาตั้งแต่ปี 1958 ทว่าโรคฝีดาษลิงยังคงอยู่และมีแนวโน้มที่จะกระจายไปทั่วแอฟริกากลาง รวมถึงประเทศอื่น ๆ ที่ไม่เคยพบมาก่อน

“การแพร่ระบาดของฝีดาษลิงเกิดขึ้นในบางส่วนของแอฟริกาอย่างรวดเร็ว พร้อมกับการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ถือเป็นภาวะฉุกเฉินไม่เพียงแต่แอฟริกาเท่านั้น แต่สำหรับทั้งโลก” ดิไม โอโกอินา (Dimie Ogoina) ประธานคณะกรรมการองค์การอนามัยโลก กล่าว

“mpox ซึ่งมีต้นกำเนิดในแอฟริกาถูกละเลยเรื่อยมา และต่อมาก็ทำเกิดการระบาดทั่วโลกในปี 2022 ซึ่งตอนนี้ได้เวลาแล้วที่จะดำเนินการอย่างเด็ดขาด เพื่อป้องกันไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย” เขาเสริม

สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกกำลังเผชิญกับจำนวนผู้ป่วยที่สงสัยว่าติดเชื้อฝีดาษลิงสูงสุดเท่าที่เคยบันทึกไว้ในรอบปี โดยมีผู้ป่วยมากกว่า 15,600 รายและเสียชีวิต 573 ราย แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ mpox ยังคงแพร่ระบาดไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่เคยพบโรคนี้มาก่อนเช่น บุรุนดี เคนยา ราวันดา และยูกันดา เพื่อตอบสนองต่อเรื่องนี้ องค์การอนามัยโลกจึงประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ

ทว่า mpox คืออะไรกันแน่ และทำไมการระบาดเหล่านี้จึงทำให้ผู้เชี่ยวชาญกังวลมากกว่าการระบาดอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วนี้ นี่คือสิ่งที่ควรทราบไว้

ฝีดาษลิงคืออะไร? และเป็นอันตรายถึงชีวิตหรือไม่?

ฝีดาษลิงหรือไวรัส mpox นี้เป็นไวรัสที่มีความรุนแรงน้อยกว่า และติดต่อได้น้อยกว่าไวรัสไข้ทรพิษ โดยทั้งสองอยู่ในสกุลออร์โธพอกซ์ไวรัส ซึ่งเป็นสกุลไวรัสที่มีดีเอ็นเอ 12 ชนิดรวมถึงฝีดาษวัวและฝีดาษอูฐด้วยเช่นกัน ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ไวรัส mpox นี้จะมีอาการผื่นที่เจ็บปวด ต่อมน้ำเหลืองโต และมีไข้

เบอร์นาร์ด มอส (Bernard Moss) นักไวรัสวิทยาจากสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NIAID) อธิบายไว้ในบทสัมภาษณ์เมื่อปี 2022 ว่ามีกลุ่มหรือสายพันธุ์ทางพันธุกรรมที่แตกต่างกันอยู่ 2 กลุ่ม โดยกลุ่มที่ 1 ซึ่งเป็นสาเหตุของการระบาดในปัจจุบัน ได้คร่าชีวิตผู้ติดเชื้อไป 1 ใน 10 ราย ขณะที่กลุ่มที่ 2 ซึ่งเป็นสาเหตุของการระบาดในปี 2022 นั้นทำให้คนเสียชีวิตน้อยกว่ามาก โดยอยู่ที่ร้อยละ 1

กล่าวอีกนัย ไวรัสกลุ่มหนึ่งที่กำลังระบาดอยู่ในตอนนี้รุนแรงกว่าปี 2022 โดยนักวิทยาศาสตร์เรียกกลุ่มนี้ว่า Ib (หนึ่ง-บี) เป็นไวรัสที่อันตรายและติดต่อได้ง่ายกว่า โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่มีความเปราะบางเป็นพิเศษ และทำให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปีในคองโกเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

ในอีกทางหนึ่ง mpox ก็เป็นโรคที่สามารถติดต่อจาก ‘สัตว์สู่คน’ ได้ ไวรัสดังกล่าวถูกพบครั้งแรกในลิงที่ห้องทดลองวิจัยของเดนมาร์กเมื่อปี 1958 จึงเป็นที่มีของชื่อ ‘ฝีดาษลิง’ แม้นักวิทยาศาสตร์บางจะคิดว่าต้นกำเนิดจริง ๆ ของไวรัสอาจไม่ใช่ ‘ลิง’ จริง ๆ ก็ได้

แต่แนวคิดที่ยอมรับคือเชื่อกันว่า ไวรัสซ่อนอยู่ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในป่าฝนแอฟริกาซึ่งสามารถแพร่กระจายไปยังสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น ๆ ได้ โดยนักวิจัยเคยพบไวรัสนี้ในสัตว์ป่าเพียง 2 ครั้งเท่านั้นได้แก่ กระรอกในคองโกเมื่อปี 1985 และลิงคีปูนจีในโกตติวัวร์ปี 2012 โดยยังไม่ทราบว่าพวกมันรับไวรัสมาจากไหน

ในกรณีของมนุษย์ถูกพบครั้งแรกเมื่อปี 1970 ในทารกเพศชายที่ประเทศคองโก นับตั้งแต่นั้นมาก็มีการติดเชื้ออยู่เรื่อย ๆ ในแอฟริกาตะวันตกและแอฟริกากลาง โดยในช่วงแรกของการระบาดส่วนใหญ่จะเป็น ‘เหตุการณ์แพร่กระจาย’ ที่ติดมาจากการล่าสัตว์และการฆ่าสัตว์ป่าที่ติดเชื้อ โรสามันด์ ลูอิส (Rosamund Lewis) ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายเทคนิคของ mpox ที่ WHO กล่าวกับ National Geographic ในปี 2022

mpox แพร่กระจายได้อย่างไร?

mpox ทั้งสองประเภทสามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัสโดยตรงกับสัตว์ที่ติดเชื้อ และวัสดุที่ปนเปื้อน ซึ่งอาจรวมถึงสิ่งของเช่น เสื้อผ้า ผ้าปูที่นอน และผ้าขนหนู

จากการการสัมผัสอย่างใกล้ชิดของมนุษย์ก็ทำให้เกิดการระบาดจากคนสู่คน รวมถึงการจูบ ละอองทางเดินหายใจที่แพร่กระจายผ่านการพูดคุยกับผู้ติดเชื้อ และการสัมผัสโดยตรงกับผิวหนังที่ติดเชื้อหรือรอยโรคในปากและอวัยวะเพศ

รอยโรคเหล่านี้ถือเป็น “โรงงานผลิตไวรัสขนาดเล็ก” ที่ติดต่อได้ ตามคำถล่าวของ แอนเตรีย แมคคอลลัม (Andrea McCallum) นักระบาดวิทยาจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) ระบุ โดยมีระยะฝังตัวอยู่ที่ 3 ถึง 17 วัน ตามข้อมูลของ CDC ผู้ที่มีอาการ mpox สามารถแพร่เชื้อได้ “จนกว่าผื่นจะหายสนิทและมีผิวหนังชั้นใหม่เกิดขึ้น”

เคยเชื่อกันว่าไวรัสนี้จะแพร่กระจายได้ไม่มากนัก ไม่เกินกว่าไม่กี่ครัวเรือนในชุมชน แต่ตอนนี้ไม่ใช่เช่นนั้นอีกต่อไปเมื่อมันระบาดไปหลายประเทศ แม้ว่าโรคนี้จะมีลักษณะเฉพาะเหมือนกับ 52 ปีก่อนก็ตาม แต่ “เรา (นักวิทยาศาสตร์) ไม่ทราบ (ข้อมูล) มากเท่าที่เราต้องการ” ลูอิส กล่าว

เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือไม่?

การระบาดของ mpox ในปี 2022 นั้นส่วนใหญ่ส่งผลกระทบต่อผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายมากกว่า แต่สำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ให้ความรู้แก่สาธารณชนโดยไม่ตีตราชุมชนนั้นถือเป็นเรื่องท้าทาย

เดวิด เฮย์มันน์ (David Heymann) ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อขององค์การอนามัยโลก ซึ่งทำงานมานานกล่าวกับสำนักข่าวเอพีในขณะนั้น (ปี 2022) ว่า การระบาดน่าจะรุนแรงขึ้นจากพฤติกรรมทางเพศในงานปาร์ตี้รื่นเริงที่สเปนและเบลเยียม เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดการแพร่กระจายไปทั่วโลก เช่นเดียวกับชุมชนขนาดใหญ่ที่เป็นแหล่งแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงแรก

แต่หลักฐานบางชิ้นบ่งชี้ว่า mpox ไม่ใช่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มอส กล่าวว่า เมื่อใครสักคนมีอาการ โรคจะแพร่กระจายจากผิวหนังถึงผิวหนังมากกว่า รวมถึงผ่านพฤติกรรมทางเพศ และสามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัสกับผ้าปูที่นอน ผ้าขนหนู หรือเสื้อผ้า ดังนั้นถึงแม้จะไม่เกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ แต่ขณะที่มีเซ็กส์กันนั้นร่างกายก็จะต้องสัมผัสกันอย่างแน่นอน

การระบาดครั้งก่อน ๆ ในแอฟริกามีการแพร่เชื้อไปยังผู้หญิง เด็ก และผู้ชายทุกวัยเนื่องจาก “ไม่มีรั้วกั้น ไวรัสนี้ไม่จำเป็นต้องอยู่ในกลุ่มเพศใดเพศหนึ่งหรือประชากรกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง” แอนน์ ริมวน (Anne Rimoin) นักระบาดวิทยาด้านโรคติดเชื้อและศาสตราจารย์จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส กล่าว

การให้ความรู้กับสาธารณชนจึงเป็นสิ่งสำคัญ “เราไม่ต้องการให้ผู้คนกังวล แต่การตระหนักรู้คือสิ่งที่คุณต้องทำเพื่อปกป้องตัวเอง” ลูอิส กล่าว “สิ่งที่เราต้องการคือให้แต่ละคนรู้ถึงความเสี่ยงของตนเอง และจัดการกับความเสี่ยงนั้น”

มีการทดสอบและมีวัคซีนหรือไม่?

ขณะนี้มีการทดสอบสำหรับ mpox อยู่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้สำลีเช็ดบริเวณรอยโรค โดย CDC แนะนำให้ทดสอบเฉพาะในกรณีที่คุณมีผื่นคล้าย mpox เท่านั้น

ขณะที่วัคซีนสำหรับ mpox ก็มีอยู่ 2 ชนิดโดยต่างก็ได้รับการแนะนำจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างภูมิคุ้มกันขององค์การอนามัยโลก ซึ่งแนะนำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงเข้ารับการฉีดวัคซีน และอย่าลืมให้ครบทั้งสองโดส

ข่าวดีก็คือ ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้วหรือเคยฉีดวัคซีนไวรัส mpox กลุ่มที่ 2 มาก่อน “คาดว่าจะได้รับการปกป้องจากการเจ็บป่วยที่รุนแรงจากไวรัส mpox กลุ่มที่ 1”

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวเอพีรายงานว่าวัคซีนดังกล่าวยังไม่มีจำหน่ายอย่างแพร่หลายในประเทศต่าง ๆ ของแอฟริกาที่มีความเสี่ยงสูงต่อการระบาด แต่การประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศของ WHO จะอนุญาตให้หน่วยงานสามารถให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีที่ประเทศสมาชิกควรจัดการกับโรคระบาดได้ตามกฎหมาย นอกจากนี้ยังสามารถระดมเงินทุนและสร้างการสนับสนุนการเมืองได้ด้วยเช่นกัน

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ภาพ : Micrograph by UK Health Security Agency/Science Photo Library

ที่มา

https://www.nationalgeographic.com/science/article/what-is-mpox-health-emergency-who


อ่านเพิ่มเติม : นักวิทย์เสนอใช้ “กลิตเตอร์นาโน” เปลี่ยนดาวอังคารให้กลายเป็นบ้านใหม่มนุษย์

Recommend