“เครื่องดื่มชูกำลัง” ช่วยเผาผลาญ จริงหรือไม่? วิทยาศาสตร์อธิบายเรื่องนี้อย่างไร?

“เครื่องดื่มชูกำลัง” ช่วยเผาผลาญ จริงหรือไม่? วิทยาศาสตร์อธิบายเรื่องนี้อย่างไร?

เครื่องดื่มชูกำลังมีประโยชน์จริง ๆ หรือไม่? ปัจจุบันเครื่องดื่มดังกล่าวกำลังมีบทบาทใหม่ที่ไม่ใช่แค่ดื่มเพื่อให้รู้สึกสดชื่นเท่านั้น แต่ยังมองว่ามันช่วยกระตุ้นการเผาผลาญ และช่วยให้ลดน้ำหนักได้ คำกล่าวอ้างดังกล่าวมีผลลัพธ์ทางวิทยาศาสตร์เป็นอย่างไร?

แม้ว่าเครื่องดื่มชูกำลังหลายชนิดจะมีน้ำตาล สูง แต่ทว่าก็มีหลายแบรนด์ที่ผลิตเครื่องดื่มประเภทแคลอรีต่ำซึ่งได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยบางยี่ห้อได้แนะนำว่าสามารถดื่มแทนเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงเพื่อช่วยควบคุมน้ำหนักได้ในอีกทางหนึ่ง

ขณะเดียวกันก็ยังเสริมอีกว่า เครื่องดื่มเหล่านี้ช่วยกระตุ้นการเผาผลาญและเพิ่มการเบิร์นไขมันได้ แต่เครื่องดื่มชูกำลังช่วยลดน้ำหนักได้จริงหรือไม่? นี่คือสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญบอก

ดื่มมากขึ้นเพื่อลดน้ำหนัก?

“เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนทุกชนิดจะช่วยเพิ่มการเผาผลาญในระยะสั้น” แอนดรูว เจกิม (Andrew Jagim) ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การกีฬาที่มาโยคลินิก และหนึ่งในผู้เขียนบทความเกี่ยวกับเครื่องดื่มชูกำลังของสมาคมโภชนาการทางกีฬานานาชาติ กล่าว

แต่ปัญหาคือการบริโภคคาเฟอีนปริมาณ 100 มก.ต่อวัน สามารถเผาผลาญแคลอรีได้ 100 แคลอรีต่อวันซึ่ง “อาจไม่เพียงพอที่จะช่วยลดไขมันได้มากในระยะยาว” เจกิม เสริม

ขณะที่ เจฟฟรีย์ สตัวท์ (Jeffrey Stout) นักสรีรวิทยาการออกกำลังกายจากมหาวิทยาลัยเซ็นทรัลฟลอริดา ซึ่งทำการศึกษาเกี่ยวกับเครื่องดื่มชูกำลังยี่ห้อหนึ่งได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “เครื่องดื่มชูกำลังเหมือนจะมีผลจำกัดในการช่วยลดน้ำหนักเมื่อใช้เพียงอย่างเดียว แต่ดูเหมือนจะได้ผลดีกว่าเมื่อใช้ร่วมกับการออกกำลังกาย”

ดังนั้นแม้ว่าจะมีการสนับสนุนให้บริษัทเหล่านี้บอกว่าเครื่องดื่มของพวกเขาช่วยกระตุ้นการเผาผลาญ แต่ผลลัพธ์ที่ได้นั้นยังห่างไกลจากความน่าประทับใจ “ในขณะนี้ยังไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคเครื่องดื่มชูกำลังกับการลดน้ำหนัก” เลนา บาโควิก (Lena Bakovic) นักโภชนาการจากสถาบัน ‘Top Nutrition Coaching’ กล่าว

สำหรับเครื่องดื่มชูกำลังส่วนใหญ่แล้ว คาเฟอีนถือเป็นส่วนประกอบสำคัญที่มักผสมกับทอรีน (taurine), กลูคลูโรแลกโทน (glucuronolactone), กัวรานา (guarana) และวิตามินบี เพื่อสร้างสิ่งที่ผู้ผลิตเรียกว่า “ส่วนผสมของพลังงาน” อย่างไรก็ตาม ความปลอดภัยและประสิทธิผลในระยะยาวของส่วนประกอบบางอย่างในเครื่องดื่มชูกำลัง ก็ยังไม่ได้รับการศึกษาอย่างละเอียด

โดยเฉพาะเมื่อใช้ร่วมกัน “เนื่องจากเครื่องดื่มชูกำลังไม่ได้รับการควบคุมโดย FDA (องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ) ปริมาณส่วนประกอบจริงที่ระบุบนฉลากอาจไม่แม่นยำ” บาโควิก กล่าว

ในบางกรณี คาเฟอีนในเครื่องดื่มชูกำลังนั้นได้มาจากกัวรานา ซึ่งเป็นพืชพื้นเมืองของป่าแอมะซอนและมีคาเฟอีนมากกว่ากาแฟ ชา และเยอร์บามาเต (yerba mate) นอกจากนี้ยังมีส่วนประกอบทั่วไปอีกอย่างหนึ่งคือ อีพิกัลโลคาเทชินกัลเลต (Epigallocatechin gallat หรือ EGCG) ซึ่งเป็นสารประกอบจากชาเขียวที่อาจกระตุ้นการเผาผลาญและการออกซิไดซ์ของไขมัน

ส่วนทอรีนก็เป็นกรดอะมิโนที่พบได้ตามธรรมชาติในเนื้อสัตว์ ปลา และไข่ โดยเชื่อกันว่ามันช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการออกกำลังกาย เครื่องดื่มชูกำลังบางชนิดยังมีโครเมียมด้วย ซึ่งการศึกษาครั้งหนึ่งเคยแนะนำเอาไว้ว่าช่วยควบคุมความหิวได้ แต่การศึกษาอื่น ๆ ยังไม่ชัดเจน

นอกจากนี้ เครื่องดื่มชูกำลังแคลอรีต่ำบางชนิดยังมีสารให้ความหวานแคลอรีต่ำหรือไม่มีแคลอรีเลย เช่น อิริทริทอล(erythritol) ซูคราโลส(sucralose) และสตีเวีย(stevia) แม้ว่าโดยทั่วไปแล้วจะถือว่าปลอดภัย แต่รสชาติของ อิริทริทอล อาจทำให้เกิดปัญหาด้านการย่อยอาหารในบางคน

จากิม สังเกตว่าส่วนผสมทั่วไปอื่น ๆ เช่น อิเล็กโทรไลต์และวิตามินบีไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงสูงหรือผลตอบแทนที่มีนัยสำคัญ ตัวอย่างเช่น วิตามินบีพบได้ในเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์นม ผักใบเขียว และถั่ว ซึ่งมีบทบาทมากมายรวมถึงการผลิตพลังงาน

ดังนั้นการเสริมวิตามินบีเข้าไปจากเครื่องดื่มชูกำลังอาจให้ผลดี ‘หาก’ คุณขาดวิตามินบีอยู่แล้ว (ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้กับผู้ที่รับประทานอาหารเจและมังสวิรัติ) แต่ถ้าคุณได้รับปริมาณที่เพียงพออยู่แล้ว คุณก็จะขับส่วนเกินออกมาอยู่ดี

ดื่มด้วยความระมัดระวัง

แม้ว่าการใช้ในระยะสั้นจะดูปลอดภัยสำหรับผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดี แต่ผลกระทบในระยะยาวของเครื่องดื่มชูกำลังยังคงอยู่ในระหว่างการศึกษา เจกิม กล่าวว่าใครก็ตามที่บริโภคคาเฟอีนมากเกินไป ไม่ว่าจะจากกาแฟในตอนเช้า เครื่องดื่มชูกำลังก่อนออกกำลังกาย หรือเครื่องดื่มชูกำลังในยามบ่าย

ล้วนแต่เป็นการกระตุ้นร่างกาย “ระดับความเครียดของคุณจะสูงขึ้นตลอดทั้งวัน และเรารู้ว่าสิ่งนี้อาจส่งผลเสียในระยะยาว” เขากล่าว

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแนะนำให้ผู้ใหญ่บริโภคคาเฟอีนไม่เกิน 400 มก.ต่อวัน โดยเครื่องดื่มอัดลมที่มีคาเฟอีน 1 กระป๋องขนาด 12 ออนซ์ จะมีคาเฟอีน 30-40 มก. ชา 1 ถ้วยขนาด 8 ออนซ์มีคาเฟอีน 30-50 มก. และกาแฟ 1 แก้วขนาด 8 ออนซ์มีคาเฟอีน 80-100 มก. อย่างไรก็ตามเครื่องดื่มชูกำลังอาจมีได้ตั้งแต่ 40 ถึง 250 มก.ต่อเครื่องดื่ม 8 ออนซ์

บาโควิกและเจกิม ไม่แนะนำให้ดื่มเครื่องดื่มชูกำลังทุกวันเพราะอาจทำให้ติดได้ “ผลเสียต่อสุขภาพจะมากกว่าประโยชน์เล็กน้อย ที่คุณจะได้รับจากมุมมองของระบบเผาผลาญอย่างแน่นอน”

สตัวท์ เห็นด้วยว่าไม่ควรพึ่งพาเครื่องดื่มชูกำลังเป็นกลยุทธ์ในการลดน้ำหนัก “เน้นไปที่การรับประทานอาหารอย่างสมดุล ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้ครบถ้วน และดื่มน้ำให้เพียงพอเป็นหลัก”

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ภาพ : Herbich on Pixabay

ที่มา

https://www.nationalgeographic.com/science/article/energy-drinks-boost-metabolism


อ่านเพิ่มเติม : “ใบกระท่อม ” ของฮิตคนไทย กำลังแพร่ไปทั่วโลก !

Recommend