งานวิจัยใหม่ชี้ การแตกตัวของดาวเคราะห์น้อย ทำให้โลกเคยมีวงแหวนคล้ายดาวเสาร์

งานวิจัยใหม่ชี้ การแตกตัวของดาวเคราะห์น้อย ทำให้โลกเคยมีวงแหวนคล้ายดาวเสาร์

“การศึกษาครั้งสำคัญนี้ เผยให้เห็นสมมุติฐานที่น่าสนใจว่า 466 ล้านปีที่แล้ว 

โลกอาจมีระบบวงแหวนอันน่าทึ่งเป็นของตัวเอง”

 

โลกเคยมีรูปร่างคล้ายดาวเสาร์หรือไม่ นักวิทยาศาสตร์บางคนเชื่อว่าคำตอบของคำถามนี้ คือใช่! ในการศึกษาครั้งสำคัญนี้ นักวิจัยในออสเตรเลียเสนอว่าโลกอาจมีระบบวงแหวนอันน่าทึ่งเป็นของตัวเอง 

จากการค้นพบที่ท้าทายความเข้าใจของเราเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และดาราศาสตร์ นักวิจัยได้พบหลักฐานชิ้นใหม่ ที่ชี้ให้เห็นว่าโลกอาจเคยมีระบบวงแหวน ซึ่งก่อตัวขึ้นเมื่อประมาณ 466 ล้านปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่อุกาบาตพุ่งเข้าชนโลกอย่างรุนแรงหลายครั้ง ในยุคออร์โดวิเชียน

หลักฐานที่ทำให้เชื่อว่าโลกมีวงแหวน

สมมติฐานที่น่าประหลาดใจนี้ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Earth and Planetary Science Letters โดยวิเคราะห์จากที่มาของการสร้างแผ่นเปลือกโลกใหม่ในยุคออร์โดวิเชียน ด้วยการระบุตำแหน่งของหลุมอุกกาบาตที่ดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนทั้ง 21 แห่ง ซึ่งหลุมอุกกาบาตทั้งหมดนี้ ตั้งอยู่ในระยะ 30 องศาจากเส้นศูนย์สูตร ซึ่งเป็นความผิดปกติที่ทฤษฎีทั่วไปไม่สามารถอธิบายได้

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ นักวิจัยยังพบแหล่งหินปูนทั่วทั้งยุโรป รัสเซีย และจีน ซึ่งมีเศษซากอุกกาบาตชนิดหนึ่งในปริมาณสูงมาก เศษซากอุกกาบาตในหินตะกอนเหล่านี้ เป็นตัวพิสูจน์ว่าอุกาบาตที่ชนโลกตอนนั้น ได้รับรังสีจากอวกาศน้อยกว่าที่เราเห็นในอุกกาบาตที่ตกลงมาในปัจจุบันมาก

ทีมวิจัยเชื่อว่ารูปแบบการตกกระทบที่เกิดขึ้นเฉพาะจุดดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากที่ดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่โคจรมาใกล้โลก เมื่อดาวเคราะห์น้อยโคจรมาใกล้โลกภายในขีดจำกัดโรช (Roche limit) ดาวเคราะห์น้อยก็แตกออกจากกัน เนื่องจากแรงไทดัล (tidal force) ทำให้เกิดวงแหวนเศษซากรอบ ๆ โลก ซึ่งคล้ายกับวงแหวนที่พบเห็นรอบ ๆ ดาวเสาร์และดาวเคราะห์ก๊าซยักษ์ดวงอื่น ๆ ในปัจจุบัน

ศาสตราจารย์แอนดี้ ทอมกินส์ หัวหน้าคณะผู้วิจัยจาก คณะธรณี ชั้นบรรยากาศ และสิ่งแวดล้อมมหาวิทยาลัยมอนแอชกล่าวว่า “เมื่อเวลาผ่านไปหลายล้านปี วัสดุจากวงแหวนนี้จะค่อย ๆ ตกลงสู่พื้นโลก ส่งผลให้เกิดการพุ่งชนของอุกกาบาตเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจตามบันทึกทางธรณีวิทยา นอกจากนี้ เรายังพบอีกว่าชั้นหินตะกอนจากช่วงเวลาดังกล่าวประกอบด้วยเศษอุกกาบาตในปริมาณมหาศาล”

วงแหวนเป็นร่มกันแดดขนาดยักษ์

นักวิจัยคาดเดาว่าวงแหวนดังกล่าวอาจจะทำให้เกิดเงาบนโลก จนบดบังแสงอาทิตย์ และมีส่วนทำให้เกิดปรากฏการณ์โลกเย็นลงอย่างรุนแรง ซึ่งรู้จักกันในชื่อยุคน้ำแข็ง Hirnantian

ช่วงเวลาดังกล่าวซึ่งเกิดขึ้นใกล้ปลายยุคออร์โดวิเชียน ได้รับการยอมรับว่าเป็นช่วงเวลาที่หนาวเย็นที่สุดช่วงหนึ่งในช่วง 500 ล้านปีที่ผ่านมาของประวัติศาสตร์โลก “แนวคิดที่ว่าระบบวงแหวนอาจมีอิทธิพลต่ออุณหภูมิโลกทำให้ความเข้าใจของเราเกี่ยวกับเหตุการณ์นอกโลกอาจส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศของโลกมีความซับซ้อนมากขึ้น” ศาสตราจารย์ทอมกินส์กล่าว

โดยปกติแล้ว ดาวเคราะห์น้อยจะพุ่งชนโลกในตำแหน่งสุ่ม ดังนั้น เราจึงเห็นหลุมอุกกาบาตกระจายตัวเท่า ๆ กันบนดวงจันทร์และดาวอังคาร เพื่อตรวจสอบว่าหลุมอุกกาบาตในยุคออร์โดวิเชียนกระจายตัวแบบไม่สุ่มและอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรมากขึ้นหรือไม่ นักวิจัยจึงคำนวณพื้นที่ผิวทวีปที่สามารถรักษาหลุมอุกกาบาตจากช่วงเวลาดังกล่าวไว้ได้

พวกเขาเน้นที่หลุมอุกกาบาตที่มีเสถียรภาพและไม่ได้รับการรบกวน ซึ่งมีหิน ที่มีอายุมากกว่าช่วงกลางยุคออร์โดวิเชียน โดยไม่รวมพื้นที่ที่ถูกฝังอยู่ใต้ตะกอนหรือน้ำแข็ง พื้นที่ที่ถูกกัดเซาะ และพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากกิจกรรมทางธรณีวิทยา พวกเขาใช้แนวทาง GIS (ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์) เพื่อระบุพื้นที่ที่เหมาะสมทางธรณีวิทยาในทวีปต่าง ๆ พื้นที่เช่น ออสเตรเลียตะวันตก แอฟริกา หลุมอุกกาบาตในอเมริกาเหนือ และพื้นที่เล็ก ๆ ของยุโรป ถือว่าเหมาะสมสำหรับการอนุรักษ์หลุมอุกกาบาตดังกล่าว พื้นที่ดินที่เหมาะสมเพียงร้อยละ 30 เท่านั้นที่ระบุว่าอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร แต่หลุมอุกกาบาตทั้งหมดจากช่วงเวลาดังกล่าวกลับพบในภูมิภาคนี้ โอกาสที่สิ่งนี้จะเกิดขึ้นนั้นเปรียบเสมือนการโยนเหรียญสามด้าน (ถ้ามีสิ่งดังกล่าวอยู่จริง) แล้วออกก้อย 21 ครั้ง

ถ้าโลกเคยมีวงแหวนจริงจะเป็นอย่างไร

ผลกระทบจากการค้นพบครั้งนี้ขยายออกไปไกลเกินกว่าขอบเขตทางธรณีวิทยา ทำให้เหล่านักวิทยาศาสตร์ต้องพิจารณาผลกระทบที่กว้างขึ้นของปรากฏการณ์บนท้องฟ้าต่อประวัติศาสตร์วิวัฒนาการของโลกอีกครั้ง นอกจากนี้ยังทำให้เกิดคำถามใหม่ ๆ เกี่ยวกับศักยภาพของระบบวงแหวนโบราณอื่น ๆ ที่อาจส่งผลต่อการพัฒนาของสิ่งมีชีวิตบนโลกอีกด้วย

“วงแหวนลักษณะเดียวกันนี้เคยเกิดขึ้นในช่วงเวลาอื่น ๆ ในประวัติศาสตร์ของโลกเราหรือไม่” คำถามนี้ ส่งผลกระทบต่อทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่สภาพอากาศไปจนถึงการกระจายตัวของสิ่งมีชีวิต การวิจัยครั้งนี้เปิดขอบเขตใหม่ในการศึกษาอดีตของโลก โดยให้ข้อมูลเชิงลึกใหม่ ๆ เกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์แบบไดนามิกระหว่างโลกของเรากับจักรวาลอันกว้างใหญ่

 

สืบค้นและเรียบเรียง

อรณิชา เปลี่ยนภักดี

 

ที่มา

https://www.space.com

https://www.monash.edu

https://www.sciencealert.com

 


อ่านเพิ่มเติม : ทำไมสิ่งต่าง ๆ ใน อวกาศ เป็น ทรงกลม

Recommend