เปิดตำราวิทยาศาสตร์ เผยกลไกลับในสมอง ที่ทำให้เราเชื่อเรื่องผี

เปิดตำราวิทยาศาสตร์ เผยกลไกลับในสมอง ที่ทำให้เราเชื่อเรื่องผี

ผีมีจริงหรือไม่? ผีอาจมีอยู่จริงและก็เป็นความเชื่อส่วนบุคคล แต่นอกเหนือจากนั้นแล้วการเผชิญหน้ากับผีมีคำอธิบายอื่น ๆ อีกหรือไม่? สำรวจเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ที่อาจเป็นไปได้เกี่ยวกับเจอกับสิ่งที่เรียกว่าผี

“พี่แจ็คคะ คือเรื่องมันเป็นแบบนี้ค่ะพี่แจ็ค” สายหนึ่งในรายการผีชื่อดังเล่า ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าขนลุกและได้รับความนิยมอย่างยิ่ง และคำพูดข้างต้นมันอาจจะเป็นเรื่องจริงก็ได้ที่ว่าผีมีอยู่จริงและการเผชิญหน้าดังกล่าวก็เป็นประสบการณ์จริง ๆ ที่น่ากลัว รวมถึงเป็นความเชื่อส่วนบุคคลที่เราไม่ต้องการก้าวล่วง

แต่นอกไปกว่านั้นแล้ว วิทยาศาสตร์สามารถอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวได้หรือไม่? นักจิตวิทยาและนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าพวกเขาพอมีคำอธิบายอยู่บ้างซึ่งส่วนใหญ่แล้วเกี่ยวข้องกับสมองของเราเอง

ผี ปีศาจ วิญญาณชั่วร้ายอยู่คู่กับคนทั่วโลกมาในทุกยุคทุกสมัย แถมยังปรับเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อม วัฒนธรรมท้องถิ่น และแม้แต่ช่วงเวลาของผู้ที่เผชิญหน้ากับพวกมัน เรื่องผีประเภทต่าง ๆ ถูกหล่อหลอมไปด้วยบริบทของตัวเอง ซึ่งแม้วิทยาศาสตร์จะยังไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ก็มี ‘พยาน’ หลายคนรายงานว่าพวกเขาเจอผีหรือได้ยินเสียงผีขึ้นมาจริง ๆ

ขณะเดียวกันผีก็ถูกเติมแต่งลงไปในงานศิลปะ ดนตรี และภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมล้นหลามจนทำให้ความเชื่อเรื่องผียังคงแพร่หลายไปในหมู่คนจำนวนมาก การสำรวจในปี 2020 ของ ‘YouGov’ ระบุว่าชาวอเมริกัน 46% เชื่อเรื่องผี เช่นเดียวกับปี 2021 ที่ชี้ว่ามีคน 20% กล่าวว่า พวกเขาเคยพบเจอผี

มีคำอธิบายอื่น ๆ อีกหรือไม่นอกจากคำว่ามีผีจริง ๆ และนักวิทยาศาสตร์บางคนเชื่อว่า “มี”

สมองของเราแต่งเรื่องเก่ง

“เป็นการตีความผิดอย่างจริงใจเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ที่มีคำอธิบายตามธรรมชาติ” คริสโตเฟอร์ เฟรนช์ (Christopher French) ศาสตราจารย์กิตติคุณด้านจิตวิทยาจากโกลด์สมิทธ์ มหาวิทยาลัยลอนดอน กล่าวถึงการเผชิญหน้ากับผี “แค่คุณอาจนึกคำอธิบายไม่ออก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีคำอธิบาย”

ศาสตราจารย์ เฟรนช์ ได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ถึงปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติในชื่อเรื่อง ‘The Science of Weird Shit: Why Our Minds Conjure the Paranormal’ ซึ่งระบุถึงสมองของเราเป็นหลัก

อย่างที่เราทราบกันดีสมองของมนุษย์นั้นมีแนวโน้มจะผิดพลาดในสิ่งต่าง ๆ สูงพร้อมกับแต่งเติมเรื่องราวให้กับสิ่งพบเห็นและสิ่งที่ได้ยิน ซึ่งทุกคนคงเคยมีประสบการณ์มาแล้วเช่นการจำผิด ตีความผิด หรือเชื่อว่าตัวเองเคยจำแบบนั้นจริง ๆ แต่พอมาย้อนดูรูป เราก็รู้ตัวว่าเร้าเข้าใจผิดไปทั้งหมดหรือกล่าวอีกอย่างได้ว่าเป็นความจำเท็จ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสรุปผลแบบด่วน ๆ เพื่อหาคำอธิบายและพยายามทำความเข้าใจถึงประสบการณ์ที่คลุมเครือจาก ซึ่งอันที่จริงแล้วเป็นผลจากการวิวัฒนาการเพื่อความอยู่รอดของเราตั้งแต่โบราณกาล

“ในแง่ของวิวัฒนาการของเรา สมองมนุษย์ได้วิวัฒนาการมาเพื่อให้เรามีชีวิตอยู่ได้นานพอที่จะถ่ายทอดยีนไปยังรุ่นต่อไป” ศาสตราจารย์ เฟรนช์ อธิบาย “นั่นแหละ มันไม่ใช่การเข้าใจความจริงของธรรมชาติจักรวาล แต่ตีความตามภัยคุกคามที่แท้จริง จากผู้ล่า จากศัตรู และอื่น ๆ อีกมากมาย”

โดยพื้นฐานแล้ว สมองของเราถูกสร้างมาให้คอยมองหาภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ดังนั้นจึงมีความไวต่อสัญญาณบางอย่าง ขณะเดียวกันก็สร้าง ‘อคติทางความคิด’ บางประการขึ้นมานั่นคือ “การเชื่อว่า เมื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นในโลกที่อยู่รอบตัวเรา สิ่งนั้นเกิดขึ้นเพราะมีใครบางคนหรือบางสิ่งบางอย่างที่มีเจตนาจะทำสิ่งนั้นกับเรา”

ตัวอย่างง่าย ๆ ของปรากฏการณ์นี้คือ การหาคู่ เราหลายคนคงเคยคิดไปเองว่าที่อีกฝ่ายทำแบบนั้นเพราะ ‘มีใจ’ ให้เรา แต่ความจริงแล้วพวกเขาทำโดยไม่ได้คิดอะไรเลย อคติเหล่านี้ทำให้วัยรุ่นชกต่อยกันเพียงเหตุผลแค่ว่า ‘มองหน้า’ ซึ่งสมองตีความและเชื่อมโยงไปเองว่าการมองหน้าเป็นสัญญาณว่าอีกฝ่ายต้องการจะทำร้ายเรา เหมือนนักล่าที่กำลังจ้องเหยื่อ

เมื่อมีอคตินี้ เหตุการณ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกันหรือปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญอาจสร้างความสับสนได้มาก ตัวอย่างเช่น เสียงดังในตอนกลางคืนอาจทำให้เราเชื่อว่ามีคนบุกเข้ามา หรือเกิดจากผี ทั้งที่จริงแล้วเป็นพี่ชายของเรากำลังเปิดตู้เย็นหาของกินกลางดึก

“ผมคิดว่าอคติประเภทต่าง ๆ ที่อยู่เบื้องหลังแนวโน้มของเราที่มีต่อความเชื่อเหนือธรรมชาติ สามารถอธิบายได้ในแง่ของอคติทางความคิดเหล่านั้น” ศาสตราจารย์เฟรชน์ กล่าว

กลอุบายทางจิตใจ

ในขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญก็ชี้ให้เห็นอีกว่าจริง ๆ มีปัจจัยทางจิตวิทยาสำคัญ 2 ประการที่ส่งผลให้บางคนเชื่อเรื่องผี นั่นคือ บริบทและความเชื่อก่อนหน้า เช่น หากเราเคยได้ยินมาว่าบ้านร้างดังกล่าวนั้นมีผี ซึ่งเมื่อเราไปอยู่ใกล้ ๆ หรือเข้าเยี่ยมชมสถานที่นั้น สมองของเราจะตีความทุกอย่างว่ามาจากผีโดยไม่รู้ตัว

แนวคิดดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากงานวิจัยเมื่อปี 1997 โดย เรนส์ แลงก์ (Rense Lange) และ เจมส์ ฮาวแรน (James Houran) ได้ขอให้ผู้เข้าร่วมสำรวจโรงภาพยนต์เก่าและสังเกตปฏิกิริยาทั้งด้านความคิด อารมณ์ และทางร่างกาย โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม

กลุ่มแรกจะได้รับคำกล่าวที่ว่าสถานที่นั้นกำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุง และอีกกลุ่มจะได้รับแจ้งว่าโรงภาพยนตร์มีผีสิง และผลลัพธ์นั้นไม่น่าประหลาดใจเลย กลุ่มที่ได้ยินว่ามีผีก็จะรายงานว่าเผชิญหน้ากับผีมากกว่ากลุ่มอื่นอย่างมีนัยสำคัญ

“ผมคิดว่าปัจจัยทั้งสองนี้มีความสำคัญมากจริง ๆ แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมายที่อาจมีผลเช่นกัน” ศาสตราจารย์ เฟชรน์ กล่าว

ท้ายที่สุดเรื่องผีนั้นไม่เข้าใครออกใคร และอยู่คู่กับมนุษยชาติมาอย่างยาวนานซึ่งบางทีเรื่องราวเกี่ยวกับผีอาจมีต้นกำเนิดมาจากการปลอบประโลมผู้ที่พึ่งสูญเสียคนรักหรือคนในครอบครัวไป ซึ่งความคิดที่ว่าพวกเขายังอยู่ในฐานะวิญญาณที่ได้รับการปลดปล่อยแล้วอาจทำให้ผู้ที่ยังอยู่สบายใจมากขึ้น

ความคิดนั้นก็ทำให้เรายังคงมีแรงเดินต่อไปในโลกที่ยากลำบากนี้มันเป็นความคิดที่ทรงพลังอย่างยิ่งสำหรับใครหลาย ๆ คน

“โดยส่วนตัวแล้วผมไม่เชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติเลย แต่ผมก็ไม่ขัดข้องหากคนอื่นจะเชื่อเรื่องเหล่านี้ ถ้ามันเป็นสิ่งดี ๆ ในชีวิตของพวกเขา ตราบใดที่คุณไม่ได้บังคับระบบความเชื่อของคุณกับคนอื่นหรืออะไรทำนองนั้น ก็ไม่เป็นไร เชื่ออะไรก็ได้ที่คุณชื่นชอบ” ศาสตราจารย์ เฟชรน์ กล่าว

สืบค้นและเรียบเรียงข้อมูล : วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

Photograph by Alamy on National Geographic

ที่มา

https://www.sciencehistory.org

https://www.livescience.com

https://www.iflscience.com

https://www.livescience.com


อ่านเพิ่มเติม : นักวิทยาศาสตร์ค้นพบระบบหลุมดำ 3 ดวงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

Recommend