ค้นหาโอกาสจากอวกาศ ในงาน Thailand Space Week 2024

ค้นหาโอกาสจากอวกาศ ในงาน Thailand Space Week 2024

“Thailand Space Week 2024 เชื่อมโยงเครือข่ายด้านเทคโนโลยีอวกาศจากทั่วโลก 

สร้างโอกาสทางธุรกิจและการใช้ประโยชน์ให้กับไทยและภูมิภาคอาเซียน”

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมหรือ อว. จับมือหน่วยงานพันธมิตรอย่าง Cabinet office of Japan, ISPACE, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), ECURS, SIEMENS, THAICOM และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ อีกกว่า 70 บริษัท จัดงาน Thailand Space Week 2024 หรือสัปดาห์อวกาศแห่งชาติ ประจำปี 2567 ที่ อิมแพค เมืองทองธานี ฮอลล์ 9 -10 

งาน Thailand Space Week 2024 ครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ตามนโยบายของรัฐมนตรีฯกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. ที่ต้องการขับเคลื่อนนโยบายด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมของประเทศ ให้เกิดความร่วมมือและการใช้ประโยชน์สำหรับประเทศไทยมากที่สุด งานนี้ถือเป็นเวทีระดับนานาชาติที่สำคัญที่สุดในด้านเทคโนโลยีอวกาศและธุรกิจในประเทศไทย เพราะมีบริษัทเข้าร่วมงานมากกว่า 70 บริษัท บูธนิทรรศการมากกว่า 100 บูธ

โดยมีแนวทางการจัดงานที่เน้นเรื่อง “Converging Technologies, Connecting People,” ซึ่งสะท้อนถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอวกาศที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ที่เมื่อนำมาหลอมรวมกับเทคโนโลยีอื่น ๆ (Technology Convergence) ก็จะนำมาสู่เครื่องมือ ข้อมูล และการจัดการ ที่สามารถสร้างประโยชน์สูงสุดกับมนุษย์และการดำเนินธุรกิจ 

อวกาศ = โอกาส

เพราะปัจจุบันการสำรวจอวกาศได้ขยับขยายจากการเป็นเรื่องของการผจญภัย ออกสำรวจพรหมแดนใหม่สุดขอบจักรวาล มาเป็นการประยุกต์ใช้โอกาสจากอวกาศ การพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งนำไปสู่ผลพลอยได้หรือ Spinoff ต่อผู้คนบนโลก เช่นเดียวกับการเกิดเศรษฐกิจอวกาศใหม่ หรือ New Space Economy ที่ทำให้มีการพัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอวกาศทั่วโลก

สภาเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum เคยคาดการณ์ว่ามูลค่าของอุตสาหกรรมอวกาศอาจพุ่งสูงถึง 1.8 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือประมาณ 57.6 ล้านล้านบาท ในปี 2035 โดยมีหน่วยงานของรัฐ บริษัทภาคเอกชน สตาร์ทอัพ และหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมอวกาศเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 

งาน Thailand Space Week 2024 ครั้งนี้จึงเป็นเหมือนศูนย์กลางในการเข้าถึงเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ และเป็นเวทีเพื่อสร้างการติดต่อกันระหว่างผู้นำด้านอวกาศ ผู้เชี่ยวชาญ นักธุรกิจ นักลงทุน ที่มารวมตัวกันเพื่อการแบ่งปันประสบการณ์ แลกเปลี่ยนความรู้ และเป็นโอกาสที่ดีในการอัปเดตเทรนด์อวกาศที่เชื่อมโยงกับมิติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น มิติด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง เทคโนโลยี งานวิจัย และ อวกาศเพื่อส่วนรวม ซึ่งจะนำมาสู่การขับเคลื่อนทางวิทยาศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคมและเทคโนโลยีในอนาคต

เทคโนโลยีอวกาศเพื่อการต่อยอดธุรกิจ

นอกจากแบบจำลองของยานจันทรายาน – 3 (Chandrayaan – 3) ที่ตั้งตระหง่านอยู่ใจกลางงาน พร้อมนิทศรรการเรื่องราวความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์ของอินเดียที่สามารถนำยานอวกาศลงจอดบนดวงจันทร์ได้เป็นชาติที่ 4 ต่อจาก รัสเซีย สหรัฐอเมริกา และจีน เพื่อสะท้อนความยิ่งใหญ่ด้านเทคโนโลยีอวกาศของภูมิภาคเอเชียแล้ว ภายในงานยังมีนิทรรศการจากบริษัทชั้นนำจากทั่วโลกอีกมาก ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยีการสื่อสารผ่านดาวเทียมจากบริษัท THAICOM ธุรกิจเอกชนที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับดาวเทียมของไทย ที่ได้นำเสนอนวัตกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสาร โทรคมนาคมในภาคธุรกิจ เช่น การบริการอินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียมเพื่อการเดินเรือข้ามมหาสมุทร การส่งสัญญาณอินเตอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกลด้วยระบบดาวเทียม บริการแพทย์ทางไกล โดรนสำรวจทางการเกษตร และการสำรวจพื้นที่ด้วยภาพถ่ายดาวเทียม

ขณะเดียวกันบริษัท Siemens บริษัทเทคโนโลยีจากประเทศเยอรมัน ที่โด่ดเด่นเรื่องอุตสาหกรรมขนส่งและเครือข่ายไฟฟ้า ก็ได้นำเอาผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ที่เพิ่งออกแบบ เป็น Software สำหรับสร้างยานอาวกาศและดาวเทียมจำนวน 3 ตัว มาเปิดตัวในงานด้วยเช่นกัน 

โดย Software ทั้ง 3 ที่ออกแบบโดยวิศกรของ Siemens จะเข้าไปช่วยในการออกแบบยานอวกาศหรือดาวเทียมตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ โปรแกรม NX จะช่วยในเรื่องของการออกแบบและสร้างแบบจำลอง โปรแกรม Simcenter จะช่วยวิเคราะห์ความแข็งแรงของตัวยาน และช่วยคำนวนเรื่องการรับแรงกระแทกและความทนทานของยานเมื่อเคลื่อนผ่านชั้นบรรยากาศ ปิดท้ายด้วยโปรแกรม Teamcenter ที่ทำหน้าที่ดูแล Database และช่วยในการรับส่งข้อมูลกลับมายังโลก

ขณะเดียวกันทาง GISTDA หรือสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ผู้จัดงานในครั้งนี้ ก็มีการจัดแสดงตัวอย่างโปรแกรม ‘Solar Rooftop’ โปรแกรมช่วยคำนวนการติดแผงโซลาร์เซลล์ด้วยการสร้างแบบจำลองอาคารสามมิติจากภาพถ่ายจากดาวเทียม ซึ่งโปรแกรมนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการที่รับติดตั้งโซลาร์เซลล์หรือผู้ใช้เอง ทราบว่าอาคารแต่ละแห่งสามารถรับพลังงานแสงอาทิตย์และสามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าได้มากน้อยแค่ไหน เพื่อคำนวนขนาด ราคา และความคุ้มทุนในการติดตั้ง รวมไปถึงการคำนวนหาศักยภาพการผลิตไฟฟ้า โดยอาศัยข้อมูลของเมฆและฝุ่นในชั้นบรรยากาศจากดาวเทียม ที่เชื่อมต่อกันกับโปรแกรมอย่างเป็นระบบ

นอกจากนั้น ใกล้ ๆ กันในโซนของนิทรรศการดาวเทียมไทย ที่เล่าเรื่องราวของดาวเทียมไทยตั้งแต่ ดาวเทียม THEOS-1 ดาวเทียม THEOS-2 ที่ขึ้นสู่วงโคจรสำเร็จเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ไปจนถึงแผนการสร้างดาวเทียมดวงอื่น ๆ ในอนาคต ก็มีการพื้นที่จัดแสดงศักยภาพของผู้ประกอบการไทย ผ่านต้นแบบทางวิศวกรรม (Engineering model) ของดาวเทียม THEOS-3 ที่ GISTDA กำลังพัฒนาอยู่ โดย GISTDA ได้เข้าไปให้ความรู้และความร่วมมือกับผู้ประกอบการให้สามารถทำชิ้นส่วนของตัวดาวเทียมได้ ไม่ว่าจะเป็นตัวถังที่เป็นโครงสร้างหลัก แผงวงจรอิเล็กทรนิกส์ภายใน รวมไปถึงโครงสร้างของกล้องที่อยู่ในตัวดาวเทียมที่ทำมาจากคาร์บอนไฟเบอร์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของชิ้นส่วนดาวเทียมในขณะนี้ 

เทคโนโลยีอวกาศเพื่อสิ่งแวดล้อม

ในขณะที่เทคโนโลยีอวกาศเพื่อธุรกิจถูกยกมาเป็นประเด็นหลักของงาน Thailand Space Week 2024 แต่สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ผู้จัดงานในครั้งนี้ ก็ยังไม่ลืมที่จะให้ความสำคัญกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะพวกเขาเชื่อว่า เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดย่อมต้องส่งผลกระต่อสิ่งที่เกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยเทคโนโลยีที่มี GISTDA จึงได้พัฒนา Light Detection and Ranging (Lidar) หรือ ไลดาร์ เทคโนโลยีการสำรวจระยะไกลแบบแอคทีฟ ที่ใช้วัดระยะความสูงหรือพื้นผิว โดยมีหลักการทำงานคือการส่งแสงเลเซอร์ไปกระทบวัตถุหรือพื้นผิวต่าง ๆ ซึ่งระหว่างทางระบบจะคำนวนเวลาในการเดินทางของแสงตั้งแต่ถูกปล่อยออกจากอุปกรณ์จนสะท้อนกลับมาที่ตัวรับสัญญาณ

ซึ่งโมเดลที่ GISTDA นำมานำเสนอในงานนี้ คือการใช้ Lidar กับระบบ Mobile mapping System ที่ใช้ในการสำรวจเมือง โดยใช้ Lidar ติดกับรถยนต์ และให้รถยนต์วิ่งไปในเส้นทางที่ต้องการ แล้วเก็บข้อมูล Point Cloud หรือกลุ่มของจุดสามมิติ เพื่อใช้ในการวัดระยะการทรุดตัวของถนน อาคาร และความสูงของสิ่งกีดกวางต่าง  ๆ โดย Lidar ที่ใช้กับ MMS (Mobile mapping System) นั้นจะสามารถนำไปต่อยอดเป็นการพัฒนา แผนที่รับมืออุทกภัยหรือแผนที่การเดินทำสำหรับผู้พิการทางสายตาได้

แต่ไฮไลท์ของ Lidar ที่เป็นที่สนใจของผู้เข้าชมงานหลายท่าน อยู่ที่การใช้ Lidar วัดความสูงและการเจริญเติบโตของต้นไม้ เพื่อใช้ในการคำนวนคาร์บอนเครดิต (คำนวนจากข้อมูลของป่าแต่ละประเภทจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO) ผ่าน การเก็บข้อมูลด้วย Terrestrial Laser Scaner (TLS) ซึ่งเป็นเครื่องมือลักษณะคล้ายขาตั้งกล้อง ใช้ในการเก็บภาพหรือรายละเอียดจากวัตถุด้วยการสแกน และ LiBackpack อุปกรณ์สแกนเคลื่อนที่ ที่มีลักษณะคล้ายกระเป๋าเป้าสะพายหลัง ซึ่งสามารถถ่ายภาพพาโนรามาได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งสามารถสำรวจพื้นที่ได้อย่างแม่นยำ ด้วยข้อมูล GNSS (Global Navigation Satellite System) และ SLAM (Simulataneous Localization and Mapping)

ซึ่งข้อมูลจากอุปกรณ์ทั้งสองนี้ สามารถนำมาประยุกต์กับการสำรวจป่าไม้ แทนการใช้แรงงานคน เนื่องจากสามารถวัดข้อมูลได้อย่างแม่ยำมากกว่า เช่น ความโต (DBH) ความสูงของต้นไม้ (Height) ด้วยการเก็บข้อมูลในรูปแบบ Point Cloud ที่สามารถนำไปสร้างเป็นข้อมูลแบบ 3D และสามารถนำไปวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลจากแหล่งอื่น เช่น ดาวเทียม หรือข้อมูลจากโดรนได้

เวทีเสวนา ‘ค้นหาโอกาสจากอวกาศ’ และ ‘การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี’

นอกจากบูธของเครือข่ายพันธมิตรที่มาจากบริษัทชั้นนำ และบริหารระดับสูงจากองค์กรด้านอวกาศจากหลายประเทศทั้งในเอเซียและภูมิภาคอื่น ๆ ที่เรายกตัวอย่างไปแล้ว อีกหนึ่งจุดเด่นของงาน Thailand Space Week 2024  ส่วนของ Plenary Stage คืองานเสวนาที่มีหัวข้อที่น่าสนใจมากมาย เช่น จากอวกาศสู่พื้นพิภพ แผ่นดินทรุดตัว ผลกระทบและแนวทางการรับมือจากหน่วยงานรัฐ, Space Leaders Forum, Unveiling Asean Space Ecosystems, การใช้เทคโนโลยีอวกาศรับมือกับความท้าทายที่สำคัญของโลกในปัจจุบัน, Financing the Future กับโอกาสในอุตสาหกรรมอวกาศ หรือจะมาร่วมส่องอนาคตเทคโนโลยีอวกาศ ไปกับ นางฟ้าไอที คุณเฟื่องลดา กับ Trend ในอีก 10 ข้างหน้า ทั้งหมดล้วนแล้วแต่แสดงให้เห็นถึงบทบาทของประเทศไทยที่พร้อมเป็นศูนย์กลางด้านการพัฒนาและขับเคลื่อนภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอวกาศเพื่อสร้างโอกาสและประโยชน์ให้กับภูมิภาคนี้ 

สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องราวของอวกาศ สามารถเข้าร่วมงาน Thailand Space Week 2024 ได้ระหว่างวันที่ 7-9 พฤศจิกายน 2024 ณ Hall 9-10 IMPACT Exhibition เมืองทองธานี ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ตั้งแต่เวลา 08:00 – 16:30 น. สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงาน และอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ tsw.gistda.or.th หรือติดตามผ่านเฟสบุ๊กของ GISTDA ลงทะเบียนล่วงหน้าแสกน QR CODE หรือ คลิก https://space.dgshark.com/Register/th

Recommend