10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ คลื่นสึนามิ จากเหตุภูเขาไฟอานักกรากาตัวระเบิด  

10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ คลื่นสึนามิ จากเหตุภูเขาไฟอานักกรากาตัวระเบิด  

10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ คลื่นสึนามิ

จากเหตุภูเขาไฟอานักกรากาตัวระเบิด

1. คลื่นสึนามิ ที่ถาโถมสู่ชายฝั่งเกาะสุมาตราและเกาะชวา เมื่อคืนวันที่ 22 ธันวาคม ก่อนเวลา 21.30 น. เล็กน้อยตามเวลาในท้องถิ่น เกิดขึ้นโดยปราศจากคำเตือนใดๆ ตัวเลขผู้เสียชีวิตยังคงพุ่งสูงขึ้น (ตัวเลขล่าสุดจากสำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ยอดผู้เสียชีวิตสูงเกิน 400 คน บาดเจ็บกว่า 1,400 คน) ยังไม่รวมถึงความเสียหายของบ้านเรือนและทรัพย์สินต่างๆ

2. เหตุผลเบื้องหลังการปราศจากคำเตือนใดๆ ถึง คลื่นสึนามิในครั้งนี้ คือที่มาของคลื่นมรณะที่อยู่เหนือความคาดหมาย สึนามิในครั้งนี้แตกต่างจากเหตุการณ์ในอดีตที่สาเหตุส่วนใหญ่มาจากแผ่นดินไหว  เป็นไปได้อย่างยิ่งว่าสึนามิครั้งล่าสุดนี้เกิดจากการพังทลายของภูเขาไฟนอกชายฝั่ง

คลื่นสึนามิ
ธารลาวาไหลลงมาตามเชิงภูเขาไฟอานักกรากาตัว (“บุตรแห่งกรากาตัว”) ระหว่างการปะทุครั้งหนึ่งเมื่อเดือนกรกฎาคม ภาพนี้ถ่ายจากเกาะซึ่งอยู่ใกล้กัน (ภาพถ่าย: El Ghazali/Barcroft Media/Getty)

3. อสุรกายทางธรณีวิทยาที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้คือ ภูเขาไฟอานักกรากาตัว (Anak Krakatau) ที่คุกรุ่นและปะทุต่อเนื่องมาตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน ปีนี้ แม้รายละเอียดต่างๆ ของลำดับเหตุการณ์ที่นำไปสู่การเกิดคลื่นสึนามิ ยังคงออกมาอย่างต่อเนื่อง หลักฐานส่วนใหญ่เท่าที่ปรากฏชี้ไปยังแผ่นดินถล่ม (landslide) ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมภูเขาไฟ ภาพถ่ายจากดาวเทียม Sentinel-1 ขององค์การอวกาศยุโรปชี้ว่า ชิ้นส่วนขนาดมหึมาจากเชิงด้านตะวันตกของภูเขาไฟเลื่อนไหลลงสู่มหาสมุทร

4. เหตุการณ์ทำนองนี้ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ Mika Mckinnon นักธรณีฟิสิกส์ชี้ว่า “ภูเขาไฟก็เหมือนชั้นหินที่ติดกาวอยู่ด้วยกันอย่างหลวมๆ ทุกครั้งที่เกิดการปะทุ ชั้นหินเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะเคลื่อนตัวลงสู่เบื้องล่าง” การที่ชิ้นส่วนขนาดใหญ่จะเคลื่อนตัวลงมาไม่ใช่เรื่องยาก และหากมีขนาดใหญ่พอ ย่อมสามารถส่งคลื่นขนาดมหึมาเข้าสู่ชายฝั่งได้โดยแทบไม่มีการเตือนล่วงหน้า

คลื่นสึนามิ
ภูเขาไฟอานักกรากาตัว (Anak Krakatau แปลว่า บุตรแห่งกรากาตัว) แวดล้อมไปด้วยกลุ่มเกาะขนาดเล็กในช่องแคบซุนดา ระหว่างเกาะชวาและเกาะสุมาตรา (ภาพถ่าย: Gallo Images/Orbital Horizon/Copernicus Sentinel Data 2018)

5. คลื่นสึนามิส่วนใหญ่เกิดจากการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกทั้งในแนวดิ่ง (เช่น เหตุการณ์สึนามิครั้งรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์เมื่อปี 2004 หรือ 14 ปีก่อนในมหาสมุทรอินเดีย และแนวราบ (เช่น สึนามิเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาบนเกาะสุลาเวสีของอินโดนีเซีย  นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากการแตกตัวของภูเขาน้ำแข็ง แผ่นดินถล่ม และภูเขาไฟระเบิด

6. ภูเขาไฟอานักกรากาตัวซึ่งตั้งอยู่ในช่องแคบซุนดาระหว่างเกาะสุมาตราและเกาะชวา คือผลิตผลของภูเขาไฟในตำนานนามว่า ภูเขาไฟกรากาตัว (Krakatoa หรือ Krakatau) ที่ระเบิดเมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1883 และได้รับการบันทึกว่า อาจเป็นการระเบิดของภูเขาไฟครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ในครั้งนั้น คลื่นสึนามิสูง 41 เมตรคร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 30,000 คน และอีกหลายพันคนตายจากเถ้าถ่านภูเขาไฟ ว่ากันว่าแรงระเบิดครั้งนั้นมีอานุภาพมากกว่าระเบิดปรมาณูที่ทิ้งลงเหนือเมืองฮิโรชิมาเมื่อปี 1945 ถึง 13,000 เท่า เสียงระเบิดได้ยินไปไกลหลายร้อยกิโลเมตร อุณหภูมิของโลกลดลงมากกว่าหนึ่งองศาเซลเซียสในปีถัดมา เกาะซึ่งเป็นที่ตั้งของภูเขาไฟถึงกับอันตรธานไป และในปี 1927 เกาะแห่งใหม่ชื่อ อานักกรากาตัว ซึ่งแปลว่า “บุตรแห่งกรากราตัว” ก็ก่อตัวขึ้น

คลื่นสึนามิ
ชาวบ้านในท้องถิ่นค้นหาท่ามกลางเศษซากปรักหลังสึนามิถล่มจังหวัด Lampung ในอินโดนีเซีย เมื่อวันที่  23 ธันวาคมที่ผ่านมา บ้านเรือนหลายร้อยหลังพังทลาย ขณะที่มีรายงานว่าชาวบ้านในท้องถิ่นหลายสิบคนเสียชีวิต (ภาพถ่าย: RIAU Images/Barcroft Media/Getty)

7. ต้นกำเนิดของคลื่นสึนามิที่มาจากเหตุภูเขาไฟระเบิดในครั้งนี้สร้างความงุนงงและประหลาดใจให้แม้แต่กับผู้เชี่ยวชาญ แตกต่างจากสึนามิที่เกิดจากแผ่นดินไหวซึ่งสามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ในระดับหนึ่ง อันที่จริง นักวิจัยสามารถตรวจจับเสียงครืนครั่นความถี่ต่ำได้ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่เกิดสึนามิ  ซึ่งให้เบาะแสว่าแผ่นดินถล่มน่าจะเป็นสาเหตุของสึนามิ นักวิทยาศาสตร์เพิ่งเริ่มศึกษาสัญญาณความถี่ต่ำเหล่านี้ได้ไม่นาน ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมภูเขาไฟ เช่น การเคลื่อนตัวของหินหนืดหรือแมกมาใต้ดิน การถล่มของคูหาภูเขาไฟ หรือแม้แต่การแตกตัวของภูเขาน้ำแข็งและแผ่นดินถล่มใต้ทะเล เป็นต้น

8. Andreas Schäffer นักวิจัยหลังปริญญาเอกที่ Karlsruhe Institute of Technology ทำการจำลองเหตุการณ์เพื่อวิเคราะห์ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นโดยอาศัยข้อมูล อาทิ เวลาที่คลื่นมาถึงฝั่ง และลักษณะภูมิประเทศของภูมิภาคแถบนั้น ความเร็วของคลื่นกำหนดจากความลึกของน้ำ ขณะที่ความสูงของคลื่นเกี่ยวข้องกับการเลื่อนไหลของแผ่นดิน เมื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาประกอบกันในแบบจำลอง Schäffer พบว่า แผ่นดินถล่มนั้นเกิดขึ้นในแนวตะวันออกเฉียงใต้หรือตะวันตกเฉียงใต้ และคลื่นใช้เวลาเดินทางระหว่าง 30-35 นาทีจนถึงฝั่ง จนถึงตอนนี้ ข้อมูลที่ยืนยันได้ชี้ว่า คลื่นกระทบฝั่งจุดแรก ณ Marina Jambu บนเกาะชวา

คลื่นสึนามิ
ภาพถ่ายทางอากาศเผยให้เห็นความเสียหายในเขต Carita เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม หลังสึนามิพัดถล่ม (ภาพถ่าย: Azwar Ipank/AFP/Getty

9. “บุตรแห่งกรากาตัว” หรือภูเขาไฟอานักกรากาตัว คุกรุ่นมาต่อเนื่องยาวนาน โดยครั้งหลังสุดส่งพวยควันและเถ้าถ่านภูเขาไฟขึ้นสู่ท้องฟ้าเป็นเวลานานถึงหกเดือน ย้อนหลังไปเมื่อปี 2012 นักวิจัยจำลองเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นเมื่อเชิงภูเขาไฟด้านตะวันตกเกิดถล่มทลาย พวกเขาสรุปว่า สึนามิที่เกิดตามมาอาจมีความสูงได้ถึง 20-30 เมตรและอาจถาโถมขึ้นฝั่งในเวลาเพียงไม่กี่นาที แม้ความเสี่ยงในการเกิดสึนามิจากภูเขาไฟลูกนี้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถทำนายหรือบอกได้ว่า จะเกิดขึ้นเมื่อใดและรุนแรงเพียงใด

10. แม้นักวิทยาศาสตร์จะสามารถวิเคราะห์เหตุการณ์ในอดีตเพื่อจำลองเหตุการณ์ในอนาคต แต่การจะทำนายหรือเตือนภัยสึนามิที่เกิดจากเหตุภูเขาไฟระเบิดหรือแผ่นดินถล่มในท้องถิ่นยังแทบเป็นไปไม่ได้ โศกนาฏกรรมที่เกิดจากคลื่นสึนามิรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งเมื่อปี 2004 หรือ 14 ปีก่อนนำไปสู่การศึกษาและการนำระบบเตือนภัยสึนามิที่เกิดจากแผ่นดินไหวมาใช้อย่างกว้างขวางในภูมิภาค ทว่าเหตุการณ์ล่าสุดในครั้งนี้ และเหตุ “สึนามิเหนือความคาดหมาย” อีกครั้งเมื่อเดือนกันยายนใกล้เมืองปาลู ก็ตอกย้ำถึงความจำเป็นที่เราต้องศึกษาวิจัยเพิ่มเติม โดยเฉพาะในกรณีของสึนามิที่เกิดจากกิจกรรมภูเขาไฟซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา

 


อ่านเพิ่มเติม

10 อันดับสึนามิร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์

Recommend