ความก้าวหน้าและ AI สร้างความตื่นเต้นให้แวดวงวิชาการด้านกรีกและโรมัน และทำให้นักวิชาการกระหายใคร่รู้มากขึ้นว่า โบราณวัตถุที่กอบกู้มาได้เหล่านี้บอกอะไรแก่เรา
ในฤดูใบไม้ผลิปี 2023 ขณะที่ลุค ฟาร์ริเทอร์ นักศึกษามหาวิทยาลัย ขับรถไปฝึกงานที่สเปซเอกซ์ในสตาร์เบส รัฐเท็กซัส เขาก็หูผึ่งกับพอดแคสต์รายการหนึ่ง ผู้จัดรายการกำลังพูดถึงการแข่งขันที่มีเป้าหมายอาจหาญยิ่ง นั่นคือการอ่านม้วนคัมภีร์อายุ 2,000 ปีโดยไม่ได้คลี่ออกมาจริงๆ ต้นฉบับดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของคลังเก็บม้วนคัมภีร์ปาปิรัสที่มอดไหม้และถูกกลบฝังจากการปะทุของภูเขาไฟเวซูเวียส ซึ่งทำลายล้างเมืองปอมเปอีและเฮอร์คิวเลนีอุมของโรมันเมื่อ ค.ศ. 79 ถ้าใช้มือคลี่ม้วนคัมภีร์ มันจะแห้งกรอบผุพังเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ทำลายข้อความใดๆที่บันทึกไว้ ผู้แข่งขันที่หาวิธีอ่านม้วนคัมภีร์ได้โดยใช้การเรียนรู้ของจักรกล อาจได้ส่วนแบ่งเป็นเงินรางวัลกว่าหนึ่งล้านดอลลาร์สหรัฐ
“ผมแบบ ให้ตายสิ งานนี้พลาดได้ไง” ฟาร์ริเทอร์ซึ่งปัจจุบันอายุ 22 ปีบอก “เรื่องนี้มีอะไรหลายอย่างน่าสนใจมากๆ เรื่องใหญ่ที่สุดคือ เรามีโอกาสอย่างยิ่งที่จะค้นพบห้องสมุดใหม่จากโลกยุคโบราณ และนั่นถือเป็นเรื่องใหญ่จริงๆครับ”
ขณะที่งานประจำของเขาคือการท่องอวกาศ ฟาร์ริเทอร์ซึ่งเรียนวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์เป็นวิชาเอก อุทิศช่วงเวลาตอนกลางคืนและวันหยุดสุดสัปดาห์ให้การแข่งขันเวซูเวียสแชลเลนจ์ ซึ่งมีความละม้ายคล้ายการท่องเวลาอยู่บ้าง ในม้วนคัมภีร์จากวิลล่าแห่งหนึ่งในเฮอร์คิวเลนีอุมที่เชื่อกันว่าเป็นของพ่อตาของจูเลียส ซีซาร์ บรรจุข้อความอะไรไว้กันแน่
เพื่อหาคำตอบ ผู้เข้าแข่งขันจะต้องพัฒนาโปรแกรมของตัวเองที่สามารถตีความภาพสแกนสามมิติที่มีอยู่ในปัจจุบันของม้วนคัมภีร์ และสร้างเค้าโครงทางกายภาพที่มีรายละเอียดแตกต่างยิบย่อยเพื่อตรวจหาข้อเขียนบนวัสดุที่ไหม้ไฟ
ฟาร์ริเทอร์เริ่มจากศึกษาภาพซีทีสแกนของส่วนต่างๆที่ไม่อาจแยกแยะหมึกที่ได้จากคาร์บอนจากกระดาษปาปิรัสที่ไหม้ไฟ คู่แข่งอีกคนในการแข่งขัน ซึ่งมีกติกาว่าจะมอบรางวัลเงินสดแก่ผู้เข้าร่วมที่แบ่งปันผลลัพธ์ช่วงต้นกับคนอื่นๆ สังเกตเห็นรูปแบบของ “รอยแตก” ที่ดูคล้ายโคลนแห้งๆ แต่อาจบ่งชี้ถึงการมีอยู่ของหมึกได้ ดังนั้น ฟาร์ริเทอร์จึงสอนให้แบบจำลองการเรียนรู้ของจักรกลพุ่งเป้าไปที่ผิวสัมผัสของรอยแตกเหล่านั้น
ค่ำวันเสาร์วันหนึ่ง เมื่อกลับไปถึงมหาวิทยาลัยเนแบรสกา ฟาร์ริเทอร์ได้ข่าวว่ามีการอัปโหลดท่อนใหม่ของม้วนคัมภีร์เข้าสู่ระบบสำหรับผู้แข่งขัน เขาอยู่ในงานเลี้ยงสังสรรค์ จึงใช้โทรศัพท์มือถือล็อกอินเข้าคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะและสั่งให้โมเดลเอไอของเขาอ่านภาพที่ได้มาใหม่ ไม่กี่ชั่วโมงต่อมา เขาเปิดโทรศัพท์ดูและเห็นตัวอักษรกรีก พาย โอไมครอน และ โร ทอประกายข้ามเวลาจากหลายพันปีก่อน
“พอรู้ตัวว่า ให้ตายสิ นี่เราเพิ่งค้นพบตัวอักษรใหม่สามตัวจากข้อเขียนสมัยจักรวรรดิโรมันแบบอัตโนมัติ นั่นคือช่วงเวลาที่เจ๋งมากครับ” ฟาร์ริเทอร์บอก “ตอนนั้นผมสติแตกเลยครับ คนรอบข้างก็พลอยตื่นเต้นไปด้วย ผมส่งให้ทีมงานที่จัดการแข่งขัน และส่งให้แม่อีกต่างหาก”
ปรากฏว่า ตัวอักษรเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของคำภาษากรีกที่แปลว่า “สีม่วง” ทำให้ฟาร์ริเทอร์เป็นบุคคลแรกที่ได้เห็นเค้าร่างของคำคำหนึ่งในม้วนคัมภีร์นี้ตั้งแต่มันถูกฝังลึกลงไปหลายสิบเมตรใต้ซากปรัก
ม้วนคัมภีร์นี้เป็นหนึ่งในม้วนคัมภีร์ราวหนึ่งพันม้วนที่เก็บกู้ได้ในศตวรรษที่สิบแปด หลังคนขุดบ่อน้ำพบวิลล่าทอดตัวอยู่ใต้เมืองยุคใหม่อย่างแอร์โกลาโน นักวิชาการบอกว่าขุมสมบัตินี้น่าจะเป็นห้องสมุดภาษากรีกของกวีและนักปรัชญา ฟิโลเดมัส แต่พวกเขาสงสัยว่าอาจพบห้องสมุดภาษาละตินขนาดใหญ่กว่าในพื้นที่ส่วนอื่นของวิลล่าที่ยังไม่ได้ขุดสำรวจ
ห้องสมุดจะมีประโยชน์อันใดถ้าไม่สามารถอ่านได้ ความพยายามในช่วงแรกๆที่จะเปิดม้วนคัมภีร์เปราะบางเหล่านี้ทำให้หลักฐานถูกทำลายไปไม่น้อย เหลือเพียงชิ้นส่วนให้นักวิทยาปาปิรัสปะติดปะต่อ เบรนต์ ซีลส์ อาจารย์ด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ จัดการแข่งขันเวซูเวียสแชลเลนจ์นี้ร่วมกับนักลงทุนด้านเทคโนโลยี แนต ฟรีดแมน และแดเนียล กรอสส์ โดยซีลส์กับห้องปฏิบัติการของเขาจัดสัมมนาว่าด้วยการตรวจสอบหมึกและการคลี่ม้วนคัมภีร์แบบดิจิทัลที่ผู้เข้าแข่งขันนำไปต่อยอด ด้วยการจัดการแข่งขันดังกล่าว พวกเขาดูเหมือนช่วยเพิ่มแรงสนับสนุน เป็นขุมพลังสมอง และสร้างความตระหนักรู้ถึงความเร่งด่วนของการค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ที่ไม่รุกล้ำเอกสารโบราณเช่นนี้
ความสำเร็จในการอ่านคำว่า “สีม่วง” ของฟาร์ริเทอร์เป็นเพียงจุดเริ่มต้น เพื่อให้ภารกิจก้าวหน้ามากที่สุด ฟาร์ริเทอร์กับผู้เข้าแข่งขันอีกสองคนจึงร่วมทีมกัน พวกเขาเดินหน้าต่อและคว้ารางวัลใหญ่ 700,000 ดอลลาร์สหรัฐก่อนหน้านี้ในปี 2024 จากการถอดข้อความ 15 แถวจากม้วนคัมภีร์ หรือรวมกว่า 2,000 ตัวอักษร
ทั้งสามใช้เอไอต่างกันเล็กน้อย ยูเซฟ นาเดอร์ หัวหน้าทีมชาวอียิปต์วัย 28 ปีที่กำลังเรียนปริญญาเอกด้านเอไอและการเรียนรู้ของจักรกลในเบอร์ลิน มุ่งพัฒนาการตรวจจับหมึก เช่นเดียวกับฟาร์ริเทอร์ แต่แทนที่จะเริ่มจากการตรวจสอบรูปแบบของรอยแตกด้วยมือ นาเดอร์กลับฝึกแบบจำลองหรือโมเดลเอไอให้อ่านหมึกที่พบบนชิ้นส่วนของม้วนคัมภีร์ที่เสียหาย เขาประยุกต์ใช้โมเดลนี้กับบางส่วนของภาพซีทีสแกนที่แสดงโครงสร้างภายในของม้วนคัมภีร์เป้าหมาย ซึ่งผู้จัดการแข่งขันทำขึ้นด้วยการนำม้วนคัมภีร์ไปผ่านลำแสงของเครื่องเร่งอนุภาค กระบวนการของนาเดอร์ทำให้เกิดภาพอักขระที่คมชัดกว่าและแม่นยำกว่า
จูเลียน ชิลลิเกอร์ สมาชิกทีมวัย 29 ปี ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ในบาเซิล ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ใช้วิธีดิจิทัลในการ “คลี่” ม้วนคัมภีร์ซึ่งมองเห็นชั้นกระดาษที่ม้วนอยู่ได้ด้วยภาคตัดขวางจากการสแกนสามมิติหลายพันภาพ โดยเขาต้องหาร่องรอยของแต่ละชั้นผ่านภาคตัดขวางต่างๆ และ “ทำให้แบนราบ” ด้วยวิธีดิจิทัล ซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้เวลาและความอุตสาหะอย่างมาก
นักวิทยาปาปิรัสเชื่อว่า แถวข้อความที่ทีมนี้อ่านได้คือส่วนหนึ่งของการดื่มด่ำความรื่นรมย์ ซึ่งน่าจะเป็นงานเขียนของฟิโลเดมัส เสี้ยวหนึ่งเขียนไว้ว่า “ในกรณีของอาหาร เราไม่พึงเชื่อโดยทันทีว่า สิ่งที่หายากจะยังความรื่นรมย์ได้มากกว่าสิ่งที่มีอยู่ดาษดื่น”
ขณะที่การแข่งขันเข้าสู่ช่วงท้ายของปีที่สอง ผู้จัดได้กำหนดเป้าหมายใหม่ นั่นคือต้องอ่านม้วนคัมภีร์สี่ม้วนได้ร้อยละ 90 เพิ่มจากการอ่านม้วนคัมภีร์หนึ่งม้วนได้ร้อยละห้าเมื่อปี 2023 และเพื่อต่อยอดเทคนิคต่างๆที่ริเริ่มขึ้นในปีแรก การทำงานแบบอัตโนมัติมากขึ้นจะมีความสำคัญอย่างยิ่งในการอ่านม้วนคัมภีร์สภาพดีประมาณ 300 ม้วน และบางทีอาจมีอีกหลายพันม้วนด้วย “ผมเชื่ออย่างแน่นอนว่า ปัญหานี้จะคลี่คลายได้ และเราจะสแกนสิ่งเหล่านี้ได้ในที่สุด และพอกดปุ่ม ร้อยละ 90 ของมันจะปรากฏขึ้นบนหน้าจอให้เราอ่าน” ซีลส์กล่าว
ความก้าวหน้าจนถึงขณะนี้สร้างความตื่นเต้นให้แวดวงวิชาการด้านกรีกและโรมัน และทำให้นักวิชาการกระหายใคร่รู้มากขึ้นว่า โบราณวัตถุที่กอบกู้มาได้เหล่านี้บอกอะไรแก่เรา “ตอนเราเห็นข้อความที่เอไออ่านได้เป็นครั้งแรก นั่นคือช่วงเวลาน่าทึ่งที่สุดครับ” โรเบิร์ต ฟาวเลอร์ ประธานสมาคมเฮอร์คิวเลนีอุมในออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ซึ่งสนับสนุนการอนุรักษ์แหล่งโบราณคดีวิลล่า บอก “ความสามารถในการทำเช่นนี้ในตอนนี้และข้ามกาลเวลาหลายพันปีกลับไป โดยอ่านได้ไม่เฉพาะหนังสือเล่มหนึ่ง แต่เป็นห้องสมุดทั้งห้อง… มันเชื่อมโยงกับความเป็นนิรันดร์ครับ”
เรื่อง เดวิด มอนต์กอเมอรี
แปล ศรรวริศา เมฆไพบูลย์