“ไมโครพลาสติก ทำให้พืชสร้างอาหารได้น้อยลงและทำให้มนุษย์ 400 ล้านคนขาดแคลนอาหารในอีก 20 ปีข้างหน้า”
ขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งเรี่ยราดหรือทิ้งไม่เหมาะสมจะปนเปื้อนเข้าไปในสิ่งแวดล้อม จากนั้นแสงแดดจะทำให้มันแตกสลายออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยพร้อมกับเดินทางไปทั่วทุกแห่งหนอย่างไม่มีใครหยุดยั้งได้ เราสามารถพบไมโครพลาสติกได้ตั้งแต่ยอดเขาที่สูงที่สุดไปจนถึงพื้นทะเลที่ลึกที่สุด
ไม่เพียงเท่านั้นในปัจจุบันนี้มันยังกลายเป็นส่วนหนึ่งในร่างกายของเรา เศษพลาสติกชิ้นเล็ก ๆ เหล่านี้เข้าไปเซลล์ ในสมอง ในอากาศ ในดิน ในอาหารที่เรากิน และในน้ำที่เราดื่ม ดังนั้นมันจึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะพบมลพิษชนิดนี้ในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตอื่น ดังนั้นจึงเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องมีการศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะกับพืชที่หล่อเลี้ยงอาหารให้กับประชากรโลก
ตามรายงานใหม่ที่เผยแพร่บนวารสาร PNAS ชี้ให้เห็นว่าไมโครพลาสติกกำลังกลายเป็น ‘ภัยคุกคาม’ ที่อันตรายต่อความอยู่รอดของประชากรมนุษย์ ด้วยการทำให้พืชอย่างข้าวสาลี ข้าว และข้าวโพดมีการสังเคราะห์ด้วยแสงได้น้อยลงร้อยละ 7 ถึง 12 โดยเฉลี่ย ซี่งทำให้สร้างอาหารน้อยลงได้อย่างมาก
“มนุษยชาติพยายามเพิ่มการผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ความพยายามเหล่านั้นกำลังตกอยู่ในอันตรายจากมลภาวะพลาสติก” ศาสตราจารย์ ฮวน จง (Huan Zhong) จากมหาวิทยาลัยหนานจิง ประเทศจีน กล่าว “ผลการวิจัยนี้เน้นย้ำถึงความเร่งด่วนในการลดมลภาวะพลาสติกเพื่อปกป้องแหล่งอาหารทั่วโลก ท่ามกลางวิกฤตพลาสติกที่เพิ่มมากขึ้น”
เลี้ยงคนทั้งโลก
แมัจะแตกต่างกันไปตามภูมิภาคและตามวัฒนธรรม แต่โดยทั่วไปแล้วอาหารหลักที่เราแทบทุกคนกินนั้นมีไม่กี่อย่างนั่นคือ ข้าว อาหารหลักของชาวเอเชีย, ข้าวสาลี อาหารหลักของชาวตะวันตก, ข้าวโพด อาหารหลักของหลายประเทศในอเมริกาใต้และแอฟริกา
พืชเหล่านี้เป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรตที่สำคัญซึ่งช่วยให้เราทุกคนมีพลังงานในการดำเนินชีวิตแต่ละวัน แม้จะมีความพยายามอย่างหนักในการผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงประชากรทั้งโลก แต่ในปี 2022 ก็ยังมีผู้คนราว 700 ล้านคนที่มีอาหารไม่เพียงพอ (ยังไม่นับสถานการณ์อื่น ๆ เช่นสงคราม)
ด้วยเหตุนี้นักวิทยาศาสตร์จึงต้องการคำตอบว่าไมโครพลาสติกจะทำให้ปัญหานี้เลวร้ายขึ้นหรือไม่ ทีมวิจัยของรายงานใหม่ได้ศึกษาพืชที่มีไมโครพลาสติกทั้งหมด 157 รายการ ซึ่งให้ผลลัพธ์ที่น่ากังวล ไมโครพลาสติกทำให้การสังเคราะห์ด้วยแสงของพืชลดลงอย่างน่ากลัว
“การสัมผัสกับไมโครพลาสติกนั้นไม่น่าแปลกใจเลย” มาร์คัส อีริกเซน (Marcus Eriksen) นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลจาก 5 Gyres Institute ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยมลพิษจากพลาสติกที่ไม่แสวงหากำไร และไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานวิจัย กล่าว “แต่สิ่งที่ทำให้ผลประหลาดใจคือระดับผลกระทบของมัน”
นักวิจัยพบว่าไมโครพลาสติกลดการสังเคราะห์ด้วยแสงของพืชลง 7-12 เปอร์เซ็นโดยเฉลี่ย ในพืชบกจะอยู่ที่ 6-18 เปอร์เซ็น พืชทะเลอยู่ที่ 2-12 เปอร์เซ็น และในสาหร่ายน้ำจืดลดลง 4-14 เปอร์เซ็น
ด้วยตัวเลขเหล่านี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่าในสถานการณ์การผลิตพลาสติกปัจจุบัน (ทำให้ไมโพครลาสติกมีมากขึ้น) เกษตรกรอาจสูญเสียผลผลิตของพวกเขา 4 ถึง 13.5 เปอร์เซ็นต่อปีในพืชหลักอย่างข้าว ข้าวโพด และข้าวสาลี
ขณะเดียวกันการผลิตอาหารทะเลก็อาจลดลงถึง 7 เปอร์เซ็นเนื่องจากระบบนิเวศทางน้ำได้สูญเสียสาหร่ายที่เป็นพื้นฐานของห่วงโซ่อาหารออกไป ท้ายที่สุดในอีกประมาณ 25 ปีข้างหน้าจะมีผู้คนราว 400 ล้านคนที่ได้รับผลกระทบการขาดแคลนอาหารนี้
ปัญหาเร่งด่วน
ทีมวิจัยคาดว่าทวีปเอเชียจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด โดยจะสูญเสียข้าวไปในทั้ง 3 ภูมิภาคหลักระหว่าง 54 ถึง 177 ล้านตันต่อปี ซึ่งคิดเป็นการสูญเสียประมาณครึ่งหนึ่งทั่วโลก อีกทั้งยังเชื่อว่าภูมิภาคอื่น ๆ เช่นอเมริกาใต้และแอฟริกานั้นน่าจะได้รับผลกระทบมากกว่าตัวเลขที่คาดไว้ เนื่องจากยังมีข้อมูลการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกน้อยกว่าที่อื่น ๆ มาก
“ที่สำคัญ ผลกระทบเชิงลบเหล่านี้มีแนวโน้มสูงที่จะขยายใหญ่ตั้งแต่ความมั่นคงด้านอาหารไปจนถึงสุขภาพของโลก” ศาสตราจารย์ จง กล่าว
เนื่องจากการสังเคราะห์ด้วยแสงของพืชอาจทำให้การต่อสู้กับภาวะโลกร้อนมีความยากมากขึ้น เพราะเมื่อพืชสังเคราะห์แสง พวกมันจะดึงคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากอากาศ เข้าสู่เนื้อเยื่อและกักเก็บในรูปของน้ำตาล โดยแบบจำลองสภาพภูมิอากาศส่วนใหญ่มักใช้ปัจจัยว่าพืชมีการดูดซับคาร์บอนนี้ในอัตราที่สม่ำเสมอตลอดมา
แต่หากพวกมันสังเคราะห์แสงได้น้อยลง แบบจำลองเหล่านั้นจึงมีความผิดพลาดมากกว่าที่นักวิทยาศาสตร์เคยคิดกันไว้ อีกทั้งยังทำให้คาร์บอนถูกกักเก็บน้อยลงในทุก ๆ ที่ สิ่งนี้ทำให้ภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศรุนแรงขึ้นกว่าที่คาดไว้
นอกจากนี้ ไมโครพลาสติกยังเชื่อมโยงกับปัญหาด้านสุขภาพของมนุษย์และสัตว์อื่น ๆ อีกด้วย โดยมีความเกี่ยวข้องกับอาการหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมองที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการเจริญเติบโตและการสืบพันธุ์ของหลายสปีชีส์
ดังนั้นมันจึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดการกับปัญหาพลาสติก ทีมวิจัยประเมินว่าการลดปริมาณอนุภาคพลาสติกในสิ่งแวดล้อมปัจจุบันลงเพียง 13 เปอร์เซ็น อาจช่วยลดการสูญเสียที่เกิดจากการสังเคราะห์แสงลงได้ 30 เปอร์เซ็น
อย่างไรก็ตามความพยายามในการสร้างข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับพลาสติกนั้นดูเหมือนจะยังหาข้อสรุปไม่ได้ ปัญหาพลาสติกยังคงอยู่และยิ่งจะเลวร้ายลงเมื่อมนุษยชาติไม่อาจร่วมมือกันจัดการกับมัน
“แม้การคาดการณ์เหล่านี้อาจจะต้องมีการปรับปรุงเมื่อมีข้อมูลใหม่ ๆ เข้ามา แต่ก็เป็นที่ชัดเจนว่า … เราจำเป็นต้องเริ่มดำเนินการเพื่อหาทางแก้ไข การรับรองว่าสนธิสัญญามีการครอบคลุมถึงมลพิษไมโครพลาสติกนั้นเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง” ศาสตราจารย์ริชาร์ด ทอมป์สัน (Richard Thompson) จากมหาวิทยาลัยพลีมัธกล่าว
สืบค้นและเรียบเรียง
วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา
https://www.scientificamerican.com