“นักวิจัยพบหลักฐานว่าแมงมุมในอเมริกาเหนือกำลังเปลี่ยน
ใยของตัวเองเพื่อจัดการกับมลพิษทางเสียงในเมือง”
ลองจินตนาการว่าเปิดทีวีเพื่อดูภาพยนตร์ซีรีส์รายการโปรดพร้อมกับรับประทานอาหารค่ำไปด้วย แต่แล้วเสียงดังโครมครามจากเพื่อนบ้านก็ทำให้การพักผ่อนนี้ ‘น่ารำคาญ’ แทน นั่นแหละคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับแมงมุมที่อาศัยอยู่ในเมือง พวกมันจะทอใยกันเสียงเพิ่มเติมเพื่อจัดการกับเสียงไม่พึงประสงค์ ซึ่งอาจทำให้พวกมันหาเหยื่อและตรวจจับคู่ผสมพันธุ์ได้ยากขึ้น
“สิ่งที่น่าสนใจที่สุดอย่างหนึ่งที่เราพบก็คือ แมงมุมในเมืองและในชนบทมีปฏิกิริยาที่แตกต่างกันเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดังต่างกัน” ดร. แบรนดี เพสส์แมน (Brandi Pessman) นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยแนบราสกา-ลินคอล์น กล่าว “นั่นหมายความว่าแมงมุมมีประสบการณ์กับเสียงที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะมองตัวแมงมุมเองหรือแมงมุมที่เป็นแม่ของมัน ต่างก็ตอบสนองแตกต่างกันไป”
ตามรายงานใหม่ที่เผยแพร่บนวารสาร Current Biology เผยให้เห็นว่าใยของแมงมุมสายพันธุ์ ‘แมงมุมใยกรวย’ (Funnel-web spiders) มีการสั่นสะเทือนแตกต่างกันไปเมื่อได้รับเสียงรบกวนจากสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ความยืดหยุ่นนี้อาจเกิดขึ้นจากความตั้งใจของแมงมุมเพื่อจัดการกับมลพิษทางเสียง
เจ้าใยวิเศษ
แมงมุมใยกรวยนั้นเป็นแมงมุมที่มีอยูทั่วไปโดยเฉพาะในอเมริกาเหนือ มันมีขนาดพอ ๆ กับเหรียญ 25 เซนต์ของสหรัฐอเมริกาและพร้อมจะเชื่อมโยงกับทุกสิ่งไม่ว่าจะเป็นก้อนหิน หญ้า หรือสิ่งของของมนุษย์ ใยที่ถูกทอเป็นรูปกรวยเหล่านั้นจะเป็นที่ซ่อนตัวจากนักล่า
ขณะเดียวกันใยที่ไม่ได้มีความเหนียวเหนอะหนะนี้ก็ทำให้ตัวแมงมุมสามารถเคลื่อนที่ด้วยความรวดเร็วในการจัดการกับเหยื่อ เมื่อมันรู้ว่ามีเหยื่อเข้ามาผ่านการสั่นสะเทือน แมงมุมก็จะพุ่งออกมาโจมตีโดยฉีดพิษใส่เหยื่อแล้วทำให้ภายในของเหยื่อผู้โชคร้ายกลายเป็นของเหลว ซึ่งช่วยให้ย่อยได้ง่ายขึ้น
แมงมุมเหล่านี้ไม่มีหูเหมือนมนุษย์ ดังนั้นพวกมันจึงไม่สามารถได้ยินเสียงต่าง ๆ ในแบบดั้งเดิม แต่จะรับรู้ผ่านแรงสั่นสะเทือนที่เดินทางผ่านพื้นดินแล้วเข้าไปในใยของมันผ่านเส้นใยแต่ละใย
“แมงมุมอาศัยการสั่นสะเทือนที่แม่นย้ำเพื่อระบุว่าเหยื่ออยู่ที่ไหน เหยื่อคืออะไร และจะโจมตีหรือไม่” ดร. เพสส์แมน กล่าว ขณะที่ ดร. เบธ มอร์ติเมอร์ (Beth Mortimer) นักชีววิทยาเรื่องมลพิษทางเสียงจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมกับงานวิจัยนี้เสริมว่า “ประสาทสัมผัสด้านการสั่นสะเทือนมักจะเป็นประสาทสัมผัสที่ถูกลืมเลือนไปในโลกธรรมชาติ”
เนื่องจากแมงมุมสายพันธุ์นี้สร้างใยไปทั่วบ้านทั่วเมือง ทีมวิจัยจึงสงสัยว่ามลพิษทางเสียงจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อแมงมุม หรือกล่าวอีกนัยคือ มลพิษทางเสียงอาจรบรวมแมงมุมมากพอที่จะเปลี่ยนกลยุทธ์ในการทอใยของมันหรือไม่
น่ารำคาญ
เพื่อทดสอบสมมติฐาน ดร. เพสส์แมน ได้รวบรวมแมงมุมใยกรวยจำนวน 60 ตัวจากทั้งเขตเมือง เขตชนบท และรอบ ๆ เมืองลินคอล์น จากนั้นแมงมุมแต่ละตัวจะถูกวางไว้ในภาชนะที่มีลำโพงอยู่ด้านล่างซึ่งจะเล่นเสียงขาว (white noise เสียงรบกวนที่ไม่สร้างความรำคาญเช่นเสียงฝนตก) เป็นเวลา 4 วัน
จากนั้นทีมวิจัยก็จะวิเคราะห์ใยที่แมงมุมแต่ละตัวสร้างขึ้นพร้อมกับวัดคลื่นสั่นสะเทือนตามจุดต่าง ๆ ของใย ซึ่งในผลลัพธ์ที่น่าประหลาดใจ ดูเหมือนว่าแมงมุมที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองจะสร้างใยที่มีการ ‘สูญเสียพลังงาน’ มากกว่าในการสั่นสะเทือนระยะสั้นในช่วงคลื่นความถี่ที่กว้างกว่ากลุ่มอื่น ๆ
กล่าวคือพวกมันสร้างใยที่หนาขึ้นและไวต่อการสั่นสะเทือนน้อยลง ทำให้การสั่นสะเทือนส่งไปยังตัวแมงมุมน้อยลง หรือพูดให้ง่ายที่สุดก็คือมันสร้างใยที่ทำให้สภาพแวดล้อมของมันเงียบมากขึ้น
“ใยของพวกมันเงียบกว่าโดยพื้นฐาน” ดร. เพสส์แมน กล่าว “พวกมันลดเสียงรบกวนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งอยู่ใกล้กับจุดที่พวกมันนั่งอยู่”
ในทางกลับกัน เมื่อแมงมุมที่มาจากเขตชนบทได้ยินเสียงดัง พวกมันจะสร้างใยที่ไวต่อการสั่นสะเทือนมากขึ้น นักวิจัยคาดว่าพวกมันไม่คุ้นเคยกับเสียงดังแบบนั้นและพยายามอย่างยิ่งที่จะรับรู้เหยื่อที่กำลังเข้ามา เหมือนกับการเปิดทีวีให้ดังขึ้นในขณะที่มีเสียงหวอดังมาจากถนน
แต่แมงมุมที่อาศัยอยู่ในเมืองกลับสร้างกำแพงให้หนาขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นเพราะพวกมันเบื่อกับเสียงทุกสิ่งทุกอย่าง นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าการปรับตัวนี้อาจสร้างข้อเสียใหญ่หลวงนั่นคือ พวกมันจะได้ยินเสียงของเหยื่อหรือคู่ผสมพันธุ์ที่อาจจะเข้ามาได้น้อยลง อย่างไรก็ตามวิธีนี้อาจช่วยให้แมงมุมประหยัดพลังงานและไม่จำเป็นต้องตอบสนองไปกับทุกเสียงที่พวกมันตรวจจับได้
“หากคุณได้ยินเสียงที่รบกวนก็แสดงว่าคุณจะมีโอกาสตรวจจับสิ่งของเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เข้ามาในใยของคุณได้น้อยลง” ดร. มอร์ติเมอร์ กล่าว
การที่แมงมุมสามารถปรับใยให้ละเอียดขึ้นเพื่อปรับการรับสัญญาณเสียงในช่วงความถี่หนึ่ง ๆ ได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของใยที่ความถี่อื่น ๆ สะท้อนให้เห็นว่าพวกมันมีวิธีการที่ซับซ้อนเพื่อรับมือกับเสียงรบกวนจากสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในเมืองใหญ่
“แม้ว่าระบบประสาทสัมผัสของสัตว์จะสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปได้ในช่วงเวลาแห่งวิวัฒนาการ แต่มันก็ต้องใช้เวลา” ดร. ไอลีน เฮเบตส์ (Eileen Hebets) หนึ่งในทีมวิจัยกล่าว “ทว่าการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสามารถเกิดขึ้นได้ในทันที การศึกษานี้เน้นย้ำถึงบทบาทของผู้รับในการเอาชนะเสียงรบกวนจากสิ่งแวดล้อม”
สืบค้นและเรียบเรียง
วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา