“ก่อนไดโนเสาร์เริ่มสูญพันธุ์ ‘พวกเรา’ ก็เริ่มใช้ชีวิตบนพื้นดินแล้ว”
เมื่อประมาณ 66 ล้านปีก่อน ดาวเคราะห์น้อยชิกซูลับได้ชนโลก ทำให้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่ทำให้ไดโนเสาร์หายไปจากโลก แต่ในขณะที่การสูญพันธุ์ครั้งนั้นเกิดขึ้น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกลับสามารถรอดชีวิตและเติบโตขึ้นจนกลายเป็นกลุ่มที่ครองโลกในที่สุด
นักวิทยาศาสตร์พบว่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมไม่ได้เริ่มอาศัยอยู่บนพื้นดินหลังจากเหตุการณ์ดาวเคราะห์น้อยชนโลก แต่พวกมันได้ปรับตัวลงมาใช้ชีวิตบนพื้นดินก่อนหน้านั้นแล้ว ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้พวกมันสามารถเอาชีวิตรอดจากภัยพิบัติได้
การเปลี่ยนแปลงของโลกก่อนการสูญพันธุ์
ในช่วงปลายยุคครีเทเชียส (ประมาณ 72-66 ล้านปีก่อน) โลกมีสภาพแวดล้อมที่แตกต่างจากปัจจุบันมาก ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นและทะเลตื้นอุ่นปกคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ ไดโนเสาร์ยังคงครองโลก โดยมีสัตว์กินพืชขนาดใหญ่ เช่น ไทรเซอราทอปส์ และแฮโดรซอร์ รวมถึงสัตว์นักล่าอย่างทีรันโนซอรัสเร็กซ์
แต่ในขณะเดียวกัน การระเบิดของภูเขาไฟในอินเดียและการปล่อยก๊าซต่างๆ สู่ชั้นบรรยากาศเริ่มทำให้สภาพอากาศเริ่มเปลี่ยนแปลงและระบบนิเวศเริ่มเปราะบาง ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ดาวเคราะห์น้อยชนโลกและทำให้เกิดไฟป่าและการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่
วิวัฒนาการของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมก่อนเหตุการณ์ชนดาวเคราะห์น้อย
ในช่วงเวลานั้น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเริ่มปรับตัวและย้ายจากการอาศัยอยู่บนต้นไม้ลงมาใช้ชีวิตบนพื้นดิน ก่อนที่เหตุการณ์ดาวเคราะห์น้อยจะเกิดขึ้น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมต้องเผชิญกับการแข่งกับสัตว์ขนาดใหญ่ที่อาศัยอยู่บนต้นไม้ และอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยพืชดอกซึ่งกลายเป็นแหล่งอาหารใหม่ที่อุดมสมบูรณ์ พืชดอกเหล่านี้ช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสามารถหาอาหารและที่หลบซ่อนจากสัตว์นักล่าได้ง่ายขึ้น
การศึกษาฟอสซิลจากกระดูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในช่วงปลายยุคครีเทเชียสแสดงให้เห็นถึงการปรับตัวของสัตว์เหล่านี้ไปสู่การใช้ชีวิตบนพื้นดิน ข้อมูลจากการศึกษากระดูกและเอพิฟิซิส (ลักษณะเฉพาะที่ปลายแขนขา) ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถบอกได้ว่าสัตว์เหล่านี้มีการปรับตัวให้เหมาะสมกับการเคลื่อนไหวบนพื้นดินมากขึ้นแทนที่จะอาศัยอยู่บนต้นไม้เหมือนในอดีต
หลังจากดาวเคราะห์น้อยชนโลกและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศที่รุนแรง สัตว์ที่อาศัยอยู่บนต้นไม้ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการสูญเสียที่อยู่อาศัยและอาหาร แต่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ปรับตัวมาใช้ชีวิตบนพื้นดินกลับมีโอกาสรอดชีวิตมากกว่า นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าการที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเริ่มใช้ชีวิตบนพื้นดินก่อนหน้านั้น ทำให้พวกมันสามารถทนต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากดาวเคราะห์น้อยได้ และยังช่วยให้พวกมันเจริญเติบโตและกลายเป็นกลุ่มที่รุ่งเรืองหลังจากการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่
การศึกษาฟอสซิลจากช่วงครีเทเชียสตอนปลายและยุคพาลีโอจีนตอนต้นในอเมริกาเหนือแสดงให้เห็นถึงการปรับตัวของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เริ่มปรากฏให้เห็นบ่อยขึ้นเมื่อเข้าสู่ยุคพาลีโอจีน การเปลี่ยนแปลงนี้สะท้อนถึงการวิวัฒนาการที่ตอบสนองต่อการใช้ชีวิตบนพื้นดิน และทำให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกลายเป็นกลุ่มที่ครองโลกในยุคถัดไป
ทิศทางการศึกษาต่อไป
ในปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ยังคงสนใจในการสำรวจว่าการเคลื่อนไหวและการปรับตัวของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมนี้สามารถพบได้ในภูมิภาคอื่น ๆ หรือไม่ และพวกเขากำลังพัฒนาเทคนิคใหม่ ๆ ในการศึกษาฟอสซิลขนาดเล็ก เพื่อให้สามารถติดตามการเคลื่อนไหวของสัตว์ในอดีตได้ดียิ่งขึ้น การศึกษานี้อาจช่วยยืนยันว่า การปรับตัวสู่พื้นดินเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสามารถอยู่รอดจากการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ได้หรือไม่
สืบค้นและเรียบเรียง
วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
https://onlinelibrary.wiley.com
https://interestingengineering.com
https://www.discovermagazine.com