ทิม ฟรีด ชายผู้ยอมให้งูพิษกัดกว่า 200 ครั้ง เพื่อหนทางสู่เซรุ่มต้านพิษงูครอบจักรวาล

ทิม ฟรีด ชายผู้ยอมให้งูพิษกัดกว่า 200 ครั้ง เพื่อหนทางสู่เซรุ่มต้านพิษงูครอบจักรวาล

“ชายคนนี้ปล่อยให้งูกัดตัวเขาเอง 202 ครั้ง เพื่อวิทยาศาสตร์และความก้าวหน้า”

ทิม ฟรีด (Tim Friede) ถูกงูพิษกัดมาแล้วมากกว่า 200 ครั้ง และยังต้องการให้งูกัดอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นงูเห่า งูแมมบา งูพิษงูไทปัน งูหางกระดิ่ง และงูสามเหลี่ยม เขาเต็มใจที่จะยอมให้งูทุกชนิดกัดเขา และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยหวังจะสร้างยาแก้พิษทุกอย่างของงู

เรื่องมันเริ่มต้นขึ้นด้วยความหลงใหลต่อสิ่งมีชีวิตนี้ตั้งแต่มัธยมปลาย ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ฟรีดเพิ่งเริ่มต้นการเป็นนักสะสมงูสมัครเล่นด้วยการตระเวนหางูในหมู่บ้านชนบทของวิสคอนซิน ทำให้เขาเลี้ยงงูพิษไว้ในบ้านเป็นจำนวนมากและเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ 

ด้วยปริมาณที่มากขนากนี้ทำให้เขาตระหนักได้ว่า ชีวิตของเขามีความเสี่ยงที่จะโดนพิษงูอยู่เสมอ ฟรีดจึงคิดว่าเขาจำเป็นต้องสร้างภูมิคุ้มกันด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งโดยตั้งอยู่บนแนวคิดที่ว่า หากร่างกายของเขามีแอนติบอดีที่ตอบสนองต่อพิษได้ เขาก็จะปลอดภัยมากขึ้น 

และอย่างที่คุณคิด การจะมีแอนติบอดีได้นั้นเขาก็ต้องสัมผัสพิษในระดับหนึ่ง ฟรีดจึงเริ่มรีดพิษจากงูที่เลี้ยงแล้วฉีดมันเข้าร่างกายซ้ำแล้วซ้ำเล่า เขาเจือจางพิษอย่างระมัดระวังเช่นเดียวกับที่ผู้ผลิตในเชิงพาณิชย์ทำเมื่อสกัดแอนติบอดีจากม้า 

“มันยากเพราะไม่มีหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้” ฟรีดกล่าวกับ เนชั่นเนล จีโอกราฟฟิก (สหราชอาณาจักร) “ดังนั้นผมจึงค้นพบวิธีโดยการจดบันทึกและถ่ายรูปไว้มากมาย” 

เกือบตาย 

ในปี 2001 ฟรีดโดยงูเห่ากัดครั้งแรกซึ่งแทบจะเอาชีวิตไม่รอด แม้จะเกิดจากความไม่ตั้งใจก็ตาม โดยขณะที่อยู่บ้านในวิสคอนซิน ตอนที่เขากำลังรีดพิษจากงูเห่าอียิปต์ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงของเขาอยู่นั้น สัตว์เลื้อยคลานก็บิดตัวและกัดนิ้วของเขา 

อย่างไรก็ตามฟรีดมีภูมิต้านทางงูชนิดนี้อยู่แล้วจึงไม่ได้รับผลกระทบมากมาย ทว่าเรื่องราวยังไม่จบแค่นั้น ในหนึ่งชั่วโมงต่อมา ฟรีดกำลังจะเข้าไปจับงูเห่าหม้อ มันก็พุ่งออกมาแล้วกัดที่แขนขวาของเขา 

“ผมโดนงูเห่ากัดติดต่อกัน 2 ครั้งภายใน 1 ชั่วโมง” ฟรีด เล่า “ผมแทบจะหมดแรงและเกือบตาย มันไม่สนุกเลย ผมมีภูมิต้านทานพอที่จะโดนงูเห่ากัดเพียงครั้งเดียวเท่านั้นไม่ควร 2 ครั้ง ผมพลาดแบบสุด ๆ” 

ภรรยาและเพื่อนบ้านรีบพาเขาไปโรงพยาบาล ฟรีดอยู่ในอาการโคม่า 4 วัน และหลังจากฟื้นขึ้นมาเขาก็รู้ว่าการทำร้ายตัวเองนี้มีทางเลือกอยู่ 2 อย่างนั่นคือ ควรเลิกทำหรือไม่ก็ทำมันให้ดีที่สุด “ผมเลือกอย่างหลัง” ฟรีดบอก

เขาทำอย่างมุ่งมั่นมาตลอด 17 ปี โดยนำของเหลวในร่างกายไปผสมกับของเหลวจากงูแปลก ๆ หลายชนิด นอกจากการโดนเขี้ยวพิษกัด 200 ครั้งแล้ว ฟรีดยังฉีดสารพิษเข้าไปอีกประมาณ 500 ครั้งโดยใช้เข็มฉีดยา พิษเหล่านี้มาจากงูที่ร้ายกาจที่สุดในโลก “ผมต้องการงูที่อันตรายที่สุดในโลกและเอาชนะมัน” ฟรีด เล่า 

เพื่อวิทยาศาสตร์และความก้าวหน้า

ตามปกติแล้ว เมื่องูกัด พิษเหลวจะพุ่งออกมาจากร่องในเขี้ยวหรือไม่ก็ผ่านกลวงเขี้ยวเข้าไปในเนื้อเยื่อของผู้ที่ถูกกัด ซึ่งจะทำให้เกิดความเจ็บปวดในทุกครั้ง ฟรีดเปรียบเทียบมันว่าเหมือนกับโดนผึ้งต่อยนับร้อยครั้ง 

อย่างไรก็ตามเขายืนยันว่า เขาไม่ต้องการที่จะเป็นฮีโร่หรือสร้างแรงบันดาลใจให้ใครเลย มันเป็นเพียงแค่การทดลองเพื่อวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีเป้าหมายในการเอาชนะสัตว์มีพิษบางชนิดในธรรมชาต และช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ หรือไม่ก็ด้วยกระบวนการระบบภูมิคุ้มกันของเขาเอง

“ผมไม่เคยทำเพื่อเป็นคนแข็งแกร่ง หรือทำวิดีโอยูทูป” ฟรีดบอก ทว่าวิดีโอบนโซเชียลมีเดียที่เป็นภาพเขาปล่อยให้งูกัดก็มียอดชมหลายแสนครั้ง 

ชื่อเสียงดังกล่าวทำให้เขาได้รับความสนใจจาก จาคอบ เกลนวิลล์ (Jacob Glanville) วิศวกรด้านภูมิคุ้มกันผู้ก่อตั้ง Centivax ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากการที่ต้องเติบโตมาในพื้นที่ห่างไกลและต้องเห็นชายบ้านทุกข์ทรมานจากโรคภัยไข้เจ็บ แต่ไม่มียารักษาเลย 

ทำให้ เกลนวิลล์ มุ่งมั่นที่จะศึกษาเกี่ยวกับพันธุกรรมภูมิคุ้มกัน และชีววิทยาเชิงคำนวณที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ กับวิทยาลัยภูมิคุ้มกันเชิงคำนวณที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด โดยในตอนนี้เขาหวังที่จะกำจัดผลกระทบของเชื้อโรคทั้งหมดออกจากโลก ซึ่งพิษงูอยู่ในอันดับต้น ๆ ของเขา

พิษงูสุดร้ายแรง

องค์การอนามัยโลก (WHO) ประมาณว่าในแต่ละปีมีคนโดนงูกัดประมาณ 5.4 ล้านคน และในจำนวนมีคนโดนงูพิษกันมากถึง 2.7 ล้านคน ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 81,000 ถึง 138,000 คนและอีกกว่า 400,000 ต้องพิการ 

แต่การระบุอย่างแม่นยำว่างูสายพันธุ์ใดกันแน่ที่มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลกนั้นเป็นเรื่องยุ่งยากอย่างไม่น่าเชื่อ ตามรายงานระบุว่ามีงูพิษอยู่ประมาณ 600 ชนิดทั่วโลก แต่มีเพียงประมาณ 12 สายพันธุ์เท่านั้นที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตและความพิการของมนุษย์ส่วนใหญ่

ทว่างูเหล่านี้อาจเพียงแค่อาศัยอยู่ใกล้กับแหล่งเกษตรกรรมมากกว่าชนิดอื่น ก้าวร้าวกว่า ปล่อยพิษได้มีประสิทธิภาพมากกว่า หรือไม่ก็ปล่อยในปริมาณมากพอที่จะฆ่ามนุษย์ แต่ก็ยังมีงูพิษชนิดอื่น ๆ เช่น งูทะเลดูบัวส์ งูชายธงหลังดำ และงูทะเลบางชนิดที่ไม่ได้เข้าใกล้มนุษย์จึงไม่ได้เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเท่างูบนบก

อย่างไรก็ดี ตามการศึกษาของมหาวิทยาลัยในปี 2020 พบว่าแต่ในอินเดียเพียงประเทศเดียวก็มีผู้เสียชีวิตจากการโดนงูกัดถึง 58,000 คนต่อปี และเกิดจาก งูพิษเกล็ดเลื่อย เพียงชนิดเดียว ดังนั้นหากขึ้นชื่อว่างูพิษแล้ว พวกมันต่างอันตรายทั้งหมด

“งูพิษเกล็ดเลื่อยมีขนาดเล็กและดูไม่เป็นอันตราย” ศาสตราจารย์ นิโคลัส เคสเวลล์ (Nicholas Casewell) ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและการแทรกแซงการถูกงูกัดโรงเรียนเวชศาสตร์เขตร้อนลิเวอร์พูล ในสหราชาอาณาจักร กล่าว 

“แต่เมื่อรวมเป็นงูแล้ว พวกมันฆ่าคนได้มากกว่างูกลุ่มอื่น ๆ ทั่วโลก ไม่ใช่เพราะพิษของพวกมัน แต่เป็นปัญหาดัานสังคมและเศรษฐกิจมากกว่า เพราะพวกมันอาศัยอยู่ในภูมิภาคที่ผู้คนทำการเกษตร โดยมักจะไม่สวมรองเท้าหรือถุงมือป้องกัน และก็กัดคนเป็นจำนวนมาก” เขาเสริม

แพทย์ชาวฝรั่งเศษ อัลแบร์ กาลแม็ตต์ (Albert Calmette) เป็นผู้ผลิตยาแก้พิษงูสำหรับมนุษย์ตัวแรกของโลกในปี 1895 หรือกว่า 130 ปีที่แล้ว กระนั้นวิทยาศาสตร์ก็ก้าวหน้าเพียงเล็กน้อย ยาเซรุ่มต้านพิษงู ยังคงผลิตขึ้นด้วยวิธีดั้งเดิมซึ่งคอยสกัดภูมิคุ้มกันจากสัตว์ในงานวิจัย ก่อนจะแยกและเก็บแอนติบอดีไปสร้างเซรุ่มต่อ

แต่วิธีนี้มีข้อบกพร่อง แอนติบอดีจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นมีความเสี่ยงที่จะ ‘พา’ โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน และเนื่องจากแอนติบอดีของพิษงูในเลือดสัตว์นั้นเจือจางมาก มนุษย์จึงต้องฉีดเซรุ่มเข้าไปจำนวนมากซึ่งอาจเป็นอันตรายได้

“คุณจะเกิดปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันต่อแอนติบอดีเหล่านี้” คริสเตียนเนอ แบร์เกอร์-ชัฟฟิตเซล (Christiane Berger-Schaffitzel) ศาสตราจารย์ด้านชีวเคมีที่มหาวิทยาลัยบริสตอล กล่าว “เซรุ่มนี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นแอนติบอดีของม้า ไม่ควรฉีดเข้าไปในมนุษย์” 

เคมีที่เหมือนกัน

กลับมาที่ ฟรีด และ เกลนวิลล์ ทั้งสองต้องการปฏิวัติระบบการรักษาที่ล้าสมัยเหล่านี้ ด้วยการใช้แอนติบอดีของ ฟรีด พวกเขาหวังว่าจะกำหนดเป้าหมายไปยังบริเวณที่จับโปรตีนที่เหมือนกันระหว่าง พิษงูที่อันตรายที่สุดกับแอนติบอดีตัวหนึ่งของฟรีด ซึ่งมีอยู่ตัวหนึ่งที่ชื่อ Centi-LNX-D9 มีความน่าสนใจเป็นพิเศษ

“(แอนติบอดีดังกล่าว) ให้การป้องกันที่เป็นกลางอย่างสมบูรณ์ในวงกว้างต่อพิษงู ทั้งกลุ่มงูเห่า งูแมมบาดำ งูสมิงทะเลปากเหลือง งูเห่าอียิปต์ งูเห่าเคป งูเห่าอินเดีย และงูจงอาง” เกลนวิลล์ กล่าว 

ปัจจุบันทีมวิจัยคาดว่าจะทำการทดลองยาแก้พิษงูครอบจักรวาลกับมนุษย์ในอีกสองปีข้างหน้า เขาหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะนำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวออกสู่ตลาดได้ภายใน 3 ปีข้างหน้า ที่อาจมาในรูปแบบเป็นเข็มฉีดยาพร้อมใช้งาน ซึ่งสามารถเก้บรักษาไว้ที่อุณหภูมิห้องในคลินิกทางการแพทย์ที่ตั้งอยู่ทั่วไป 

“โรงพยาบาลอาจไกลจากเหยื่อ” เกลนวิลล์ บอก “แต่แต่ละหมู่บ้านจะมีคลินิกทางการแพทย์ซึ่งมักจะเป็นเพียงห้องหนึ่งที่อยู่หน้าบ้านของใครสักคน หากใครโดนงูกัดก็จะมีคนวิ่งออกมาและฉีดยาแก้พิษให้” 

ยังมีศูนย์วิจัยอีกจำนวนมากทั่วโลกที่มีเป้าหมายคล้ายกันเช่นในประเทศไทย กรุงเทพฯ ก็มีศูนย์วิจัยสถานเสาวภาของสภากาชาดไทย แต่ด้วยเทคโลยีต้านพิษงูในปัจจุบันอยู่มานานกว่า 130 ปี ทว่าก็ยังมีผู้เสียชีวิตราย 138,000 รายทุกปี ทำให้เกิดคำถามว่า เหตุใดจึงยังไม่สามารถกำจัดภัยคุกคามนี้ได้เสียที?

“คนส่วนใหญ่เป็นคนจน” เกลนวิลล์ กล่าว พร้อมชี้ให้เห็นว่าการโดนงูกัดนั้นเป็นปัญหาหลักของโลกที่กำลังพัฒนา “มันเป็นปัญหาทางการเงิน โรคเขตร้อนส่วนใหญ่ที่ถูกละเลยมักถูกมองว่าสร้างกำไรได้น้อยกว่าโรคอื่น ๆ อย่างมะเร็งหรือระบบประสาทเสื่อ ซึ่งคนรวยจำนวนมากเสียชีวิตจากโรคนี้ และต้องจ่ายเงินจำนวนมากขึ้นเพื่อรักษา” 

ดร. ดิโอโก มาร์ตินส์ (Diogo Martins) ผู้นำการวิจัยพิษงูที่ Wellcome Trust ในอังกฤษเห็นด้วย “งูจะมีอยู่ตลอดไป เราไม่สามารถกำจัดงูได้” 

เขาเสนอให้รัฐบาลจัดสรรเงินทุนสำหรับการรักษาด้วยพิษงูอย่างสม่ำเสมอมากขึ้น แต่เขาตระหนักดีว่านี่ไม่ใช่นโยบายที่จะช่วยให้หาเสียงได้ นอกจากนี้ชุมชนในชนบทที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ก็มักเป็นกลุ่มที่นักการเมืองรับฟังน้อยที่สุด

กลุ่มหนึ่งที่นักการเมืองรับฟังมากที่สุดก็คือกองทัพ พวกเขาปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ที่มักมีอยู่งูอันตรายอยู่ เกลนวิลล์ เชื่อว่าเมื่อเขาพัฒนาพิษงูสำหรับใช้ทั่วไปแล้ว กองทัพอาจเป็นองค์กรแรกที่ซื้อมัน สิ่งนี้อาจเป็นแรงผลักดันให้บริษัทเภสัชกรรมผลิตออกมาในปริมาณมาก ลดต้นทุน และท้ายที่สุดก็ส่งมอบมันในราคาถูกให้กับผู้ที่ต้องการที่สุด

สืบค้นและเรียบเรียง

วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://www.nationalgeographic.com

https://www.sciencenews.org

https://www.nytimes.com


อ่านเพิ่มเติม : เพราะมีอสรพิษจึงมีเรา เมื่องูคือตัวขับเคลื่อนวิวัฒนาการ

Recommend