ฉลามหัวบาตร (Bull shark) หนึ่งในสามชนิดพันธุ์ของฉลามที่มีรายงานจู่โจมมนุษย์

ฉลามหัวบาตร (Bull shark) หนึ่งในสามชนิดพันธุ์ของฉลามที่มีรายงานจู่โจมมนุษย์

ฉลามหัวบาตร ผู้ล่าที่กลับมาปรากฏบนหน้าสื่ออีกครั้ง หลังจากการจู่โจมเด็กชายที่จังหวัดสตูล

แม้ว่านักวิทยาศาสตร์ได้ระบุชนิดพันธุ์ของปลาฉลามที่พบบนโลกนี้มากกว่า 500 ชนิด แต่มีเพียงสามชนิดเท่านั้นที่มีรายงานการทำร้ายมนุษย์ ได้แก่ ฉลามขาว (Carcharodon carcharias) ฉลามเสือ (Galeocerdo cuvier) และ ฉลามหัวบาตร (Carcharhinus leucas)

ในแง่ชีววิทยาจากคำกล่าวของผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับฉลามหัวบาตร จัดว่าเป็นปลาฉลามที่อันตรายที่สุด เนื่องจากมีถิ่นที่อยู่อาศัยตามชายฝั่งที่ความลึกประมาณ 30 เมตร ซึ่งสามารถพบเจอกับมนุษย์ได้ง่าย

“ปลาฉลามหัวบาตรอาศัยอยู่ในเขตน้ำตื้น ซึ่งหมายความว่ามีโอกาสอยู่ใกล้กับแหล่งกิจกรรมของมนุษย์ และพบเจอกับมนุษย์ที่กำลังว่ายน้ำในบริเวณนั้น” จอร์จ เบอร์จีส์ ผู้รวบรวมเหตุการณ์ปลาฉลามจู่โจมมนุษย์ ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาในเกนส์วิลล์ กล่าว

ปลาฉลามหัวบาตรสามารถปรับตัวให้อยู่ในน้ำจืดได้ บางครั้งพบในแม่น้ำใหญ่ที่ห่างจากทะเลนับร้อยกิโลเมตร เช่นแม่น้ำมิสซิสซิปปี แม่น้ำแอมะซอน แม่น้ำแซมบีซี แม่น้ำไทกริส  แม่น้ำแยงซี ทะเลสาบนิคารากัว โดยปลาฉลามชนิดนี้มักว่ายเข้ามาจากปากแม่น้ำที่ติดต่อกับทะเล มีรายงานพบอยู่ห่างจากทะเลมากที่สุด คือแม่น้ำแอมะซอนในทวีปอเมริกาใต้

ปลาฉลามหัวบาตรมีระบบการรักษาสมดุลเกลือในร่างกายที่สามารถปรับตัวให้อาศัยอยู่ในน้ำจืดได้ ด้วยต่อมบริเวณทวารหนักที่ทำหน้าที่เหมือนวาล์วเปิดปิดปัสสาวะ คอยควบคุมปริมาณเกลือให้สมดุลกับร่างกาย อีกทั้งการที่มีส่วนหัวขนาดใหญ่ทำให้ได้เปรียบกว่าปลาฉลามกินเนื้อชนิดอื่นๆ ด้วยการที่มีรูรับประสาทสัมผัสที่ส่วนจมูกมากกว่า ทำให้ปลาฉลามหัวบาตรรับรู้สนามไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี จนสามารถรับรู้ได้ถึงเสียงหัวใจเต้นของมนุษย์ได้ อย่างไรก็ตาม ฉลามหัวบาตรยังไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างสมบูรณ์ในน้ำจืด ยังคงต้องรับน้ำเค็มในบริเวณปากแม่น้ำเป็นระยะ

กลยุทธ์การล่าอย่างหนึ่งของฉลามหัวบาตรคือว่ายวนอยู่ในบริเวณที่น้ำขุ่นและซุ่มโจมตี เนื่องจากเหยื่อที่อาศัยอยู่ในน้ำมีทัศนวิสัยไม่ชัดเจน จึงทำให้ปลาฉลามหัวบาตรประสบความสำเร็จในการล่าเหยื่อได้ง่ายขึ้น

ส่วนพฤติกรรมการล่า ปลาฉลามหัวบาตรมักพุ่งเข้าโจมตีจากทางด้านหลังของเหยื่อโดยใช้ส่วนหัว และกัดเข้าที่ตัวเหยื่อ เพื่อให้เหยื่อไม่สามารถหนีไปได้ นักวิทยาศาสตร์เรียกพฤติกรรมการล่าแบบนี้ว่า ชนแล้วกัด (bump-and-bite)

โดยส่วนใหญ่ ฉลามหัวบาตรมักล่าปลากระดูกแข็งที่มีขนาดเล็กกว่าเป็นอาหาร มีน้อยครั้งมากที่มีพวกมันล่าเหยื่อที่มีขนาดตัวเอง

“พวกมันเป็นหนึ่งในชนิดพันธุ์ที่อยู่ในเขตน้ำอุ่น ตามแนวชายฝั่ง และจู่โจมเหยื่อที่ขนาดใหญ่กว่าหรือขนาดพอๆ กับตัวเอง” Mike Heithaus ผู้เชี่ยวชาญด้านฉลาม มหาวิทยาลัยนานาชาติฟลอริดา กล่าวและเสริมว่า “นอกจากปลาขนาดเล็ก บางครั้งปลาฉลามหัวบาตรก็จู่โจมเต่าทะเล ปลาฉลามชนิดอื่น และโลมา แต่ปลาฉลามชนิดอื่นเลือกล่าเหยื่อที่มีขนาดเล็กกว่าตัวเอง”

โดยปกติแล้ว ปลาฉลามหัวบาตรตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ สามารถสืบพันธุ์และขยายพันธุ์ได้ในน้ำจืด ปลาฉลามหัวบาตรโตเต็มที่ได้ประมาณ 2.3 เมตร และหนักประมาณ 130 กิโลกรัม ฤดูผสมพันธุ์ของฉลามหัวบาตรอยู่ในช่วงปลายเดือนกันยายนถึงตุลาคม ในบริเวณน้ำกร่อยปากแม่น้ำ โดยมีระยะตั้งท้อง 12 เดือน ลูกปลาฉลามหัวบาตรมีความยาวได้ถึง 0.7 เมตร ตกลูกครั้งละประมาณจำนวน 5 – 10 ตัว และเข้าสู่ช่วงเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ 10 ปี

จากการรวบรวมสถิติในประเทศสหรัฐอเมริกา มนุษย์ถูกฉลามโจมตีเฉลี่ย 16 ครั้งต่อปี และมีแนวโน้มลดลงทุกปี และมีผู้เสียชีวิตจากการถูกฉลามกัดเพียงหนึ่งคนต่อสองปี เท่านั้น

“คำแนะนำสำหรับนักท่องเที่ยว ให้ระวังเวลาลงเล่นน้ำตอนเช้าตรู่ หรือตอนค่ำ และกลางคืน” ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวพร้อมทิ้งท้ายว่า “ทั่วโลกมีรายงานคนถูกฉลามจู่โจมน้อยมาก แต่ฉลามมนุษย์ล่ามากกว่า 70 ล้านตัวต่อปี”

จากข้อมูลการศึกษาในเชิงชีววิทยาของฉลามหัวบาตรที่มีอย่างต่อเนื่อง นักวิทยาศาสตร์ระบุสถานะการอนุรักษ์ของฉลามชนิดนี้เป็นสิ่งมีชีวิตที่เกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์ นอกจากนี้ ฉลามหัวบตรยังเป็นหนึ่งในชนิดพันธุ์ที่ได้รับความนิยมจากเกมกีฬาตกปลา บางครั้งพบถูกล่าเพื่อเอาครีบไปประกอบอาหาร และเอาไขมันไปสกัดเป็นน้ำมัน


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ: ฉลามดุทะเลเดือด

Recommend