พบไวรัสชนิดใหม่ 20 ชนิดจากค้างคาวในจีน : มี 2 ชนิด ทำให้เกิดโรคสมองอักเสบและโรคทางเดินหายใจในมุนุษย์

พบไวรัสชนิดใหม่ 20 ชนิดจากค้างคาวในจีน : มี 2 ชนิด ทำให้เกิดโรคสมองอักเสบและโรคทางเดินหายใจในมุนุษย์

“พบไวรัสชนิดใหม่ในค้างคาว กว่า 20 ชนิด มี 2 ชนิดเกี่ยวข้องกับ

ไวรัสนิปาห์ (Nipah virus) และ ไวรัสเฮนดรา (Hendra virus)

ซึ่งทำให้สมองมนุษย์อักเสบและเกิดโรคทางเดินหายใจที่มีอัตราการเสียชีวิต 75%”

ค้างคาว กลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่ได้รับการจับตามองมากขึ้นตั้งแต่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 พวกมันเต็มไปด้วยเชื้อโรคที่สามารถเป็นอันตราย โดยคาดกันว่ามีมากกว่า 60 ชนิดอยู่ในร่างกาย และในตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ก็พบว่ามีกว่า 20 ชนิดที่พวกเขาไม่เคยรู้จักมากก่อนเลย

“ไวรัสเหล่านี้น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เนื่องจากพบส่วนใหญ่ในไตของค้างคาว ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการสัมผัสสารพิษในมนุษย์ผ่านผลไม้หรือน้ำที่ปนเปื้อน” ศาสตราจารย์ วิโนด บาลายูบรามาเนียม (Vinod Balasubramaniam) นักไวรัสวิทยาโมเลกุลจากมหาวิทยาลัยโมนาช กล่าว 

ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่นำโดย กัวเผิง ควง (Guopeng Kuang) จากสถาบันการควบคุมและป้องกันโรคประจำถิ่นเห่งยูนนาน และ เถียน หยาง (Tian Yang) จากมหาวิทยาลัยต้าหลี่ในประเทศจีน ได้ตรวจสอบค้างคาวที่อาศัยอยู่ในสวนผลไม้ในมณฑลยูนนานตะวันตกเฉียงใต้ของจีน 142 ตัวจาก 10 สายพันธุ์

พวกเขาวิเคราะห์พันธุกรรมของจุลินทรีย์ที่อยู่ในตัวค้างคาว ซึ่งให้ผลลัพธ์ที่น่าตกใจ นักวิทยาศาสตร์พบแบคทีเรียชนิดใหม่ ปรสิตโปรโตซัวชนิดใหม่ และที่สำคัญคือพวกเขาพบไวรัสใหม่ทั้งหมด 20 ตัว โดย 2 ชนิดในนั้นมีความเกี่ยวข้องกับไวรัสนิปาห์และไวรัสเฮนดราที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ แม้จะค่อนข้างติดเชื้อได้ยากก็ตาม

“แม้ว่าไวรัสชนิดใหม่ชนิดหนึ่งในการศึกษานี้ดูเหมือนจะเป็นชนิดที่ใกล้เคียงที่สุดกับไวรัสร้ายแรง” ดร. อลิสัน พีล (Alison Peel) สัตวแพทย์และนักนิเวศวิทยาโรคสัตว์ป่าจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในงานวิจัยนี้ กล่าว 

พร้อมเสริมว่า “แต่มีความแตกต่างทางพันธุกรรมบางส่วนในบริเวณของไวรัสที่ทำหน้าที่จับและเข้าสู่เซลล์ ดังนั้นเราจึงไม่สามารถสรุปโดยอัตโนมัติว่า ไวรัสชนิดนี้สามารถข้ามไปสู่สปีชีส์ใหม่ได้” ผู้เชี่ยวชาญอิสระเตือนว่าจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม เพื่อพิจารณาว่ามีความเสี่ยงที่ไวรัสที่เพิ่งค้นพบนี้จะแพร่ระบาดไปสู่สายพันธุ์ใหม่หรือไม่

ความเสี่ยง

แม้การติดเชื้อไวรัสเฮนดราและไวรัสนิปาห์จะหาได้ยากในมนุษย์ แต่สิ่งที่น่ากังวลก็คือ พื้นที่ทับซ้อนระหว่างสัตว์และผู้คน เนื่องจากค้างคาวเหล่านี้จับได้ตามสวนผลไม้ ซึ่งมีโอกาสอย่างมากที่จะสัมผัสกับมนุษย์หรือแม้แต่สัตว์ชนิดอื่น ๆ 

บาลายูบรามาเนียม กล่าวว่าการวิจัยนี้เน้นย้ำถึงความสำคัญของภูมิภาคยูนนานที่อาจเป็นแหล่งการระบาดของโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน เนื่องจากมีสภาพภูมิอากาศที่คล้ายคลึงกับพื้นที่อื่น ๆ ของโลกที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสนิปาห์ เช่น มาเลเซีย

อย่างไรก็ตามแม้ค้างคาวจะเต็มไปด้วยไวรัส แต่ก็มีสำคัญต่อสวนผลไม้ เนื่องจากพวกมันสามารถผสมเกสร เพิ่มปุ๋ยให้ดิน และจัดการกับแมลงศัตรูพืชได้เพราะค้างคาวกินแมลงร้อยละ 90 ในจีน ช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกแอปเปิ้ลลดการสูญเสียพืชผลได้กว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี 

“ผู้คนไม่ควรสัมผัสหรือจับค้างคาว และควรติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหากพบค้างคาวที่ได้รับบาดเจ็บหรือแสดงอาการป่วย ซึ่งนั่นใช้ได้กับสัตว์ป่าส่วนใหญ่ เนื่องจากค้างคาวอาจพาเชื้อไวรัสหรือเชื้อโรคอื่น ๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อมนุษย์ได้” ศาสตราจารย์ ทิม มาโอนี (Tim Mahony) ผู้อำนวยการศูนย์สัตววิทยาแห่งมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ กล่าวเสริม

ป้องกันไว้ก่อน 

แม้นักวิทยาศาสตร์จะไม่ได้บอกว่าจะเกิดโรคระบาดจากไวรัสใหม่ ๆ ในค้างคาวเร็ว ๆ นี้ แต่มันก็เน้นย้ำให้เห็นว่ายังมีอะไรอีกมากที่ยังไม่รู้เกี่ยวกับค้างคาว โดยเฉพาะในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว 

“ด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ การใช้ที่ดิน การค้าทั่วโลก ออสเตรเลียไม่สามารถเพิกเฉยต่อความเสี่ยงของโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนชนิดใหม่ ๆ ที่อาจข้ามสายพันธุ์ได้ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการระบาดที่อาจแพร่กระจายไปทั่วโลก” ดร. เนียส เผิง (Nias Peng) นักไวรัสวิทยา และไม่ได้มีส่วนร่วมกับงานวิจัยนี้ กล่าว 

การวิจัยในหลายปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะกับไวรัสเฮนดราในออสเตรเลียเผยให้เห็นความเชื่อมโยงชัดเจนระหว่าง การทำลายที่อยู่อาศัย การสูญเสียอาหารตามธรรมชาติ และความเสี่ยงในการแพร่ระบาดมากขึ้น ซึ่งสิ่งนี้อาจเกิดขึ้นทั่วโลก 

“แทนที่จะเน้นค้างคาวว่าเป็นปัญหา เราได้แสดงหลักฐานว่าการปกป้องและฟื้นฟูแหล่งอาหารของค้างคาวเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนกว่า” ดร. พีล กล่าว “วิธีแก้ปัญหาเชิงนิเวศเหล่านี้ช่วยลดความเสี่ยงที่อาหารจะล้นเกิน ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้ประชากรค้างคาวและระบบนิเวศมีสุขภาพดีด้วย” 

สืบค้นและเรียบเรียง

วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://journals.plos.org/plospathogens

https://cosmosmagazine.com

https://phys.org

https://www.sciencealert.com


อ่านเพิ่มเติม : นักวิจัยเบลเยียมพบแอนติบอดีที่สกัดจากลามะ

มีประสิทธิภาพในการต้านเชื้อ COVID-19

Recommend