พบพืชหายากที่จังหวัดเชียงราย หลังสูญหายไป 113 ปี

พบพืชหายากที่จังหวัดเชียงราย หลังสูญหายไป 113 ปี

“พืชแปลกตาชนิดนี้ถูกพบอีกครั้งในลาวและไทย หลังหายไปนานกว่า 113 ปี”

Heterostemma  หรือที่ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Apocynaceae ซึ่งโดยส่วนใหญ่มีถิ่นกำเนิดในอินเดีย จีน ไต้หวัน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั่วภูมิภาคมาเลเซียไปจนถึงออสเตรเลีย หมู่เกาะโซโลมอน และนิวแคลิโดเดีย 

ก่อนหน้านี้ นักวิทยาศาสตร์ได้ระบุพืชในสกุลนี้ว่ามีอยู่ราว 30-40 ชนิด โดยในประเทศไทยมีการพบอยู่ 8 สายพันธุ์ และในประเทศลาวก็มีอยู่ราว 3 สายพันธุ์ อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องที่น่ายินดีเมื่อมีการค้นพบชนิดพันธุ์หายากที่หายสาบสูญไปกว่า 113 ปีอีกครั้งในไทย 

“ในระหว่างการสำรวจทางพฤกษศาสตร์ในจังหวัดเชียงราย ภาคเหนือของประเทศไทยเมื่อปี 2019” ดร.วรนาถ ธรรมรงค์ และ ศรายุทธ รักอาชา จากสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กับ มิเชล ร็อดดา (Michele Rodda) จาก คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติสิงค์โปร เขียนในรายงาน 

“ได้พบชนิดพันธุ์ของสกุล Heterostemma ที่ไม่ทราบชื่อ ซึ่งตัวอย่างถูกฝากไว้ในสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ และ พิพิธภัณฑ์พืชของสวนพฤกษศาสตร์สิงคโปร์” ทีมวิจัยเสริม

การตรวจสอบเบื้องต้นระบุว่า ก็ได้มีการพบพืชลักษณะเดียวกันนี้ในก่อนหน้าที่ประเทศลาวเมื่อปี 2012 และ 2013 ด้วยเช่นกัน แต่สิ่งพิเศษก็คือมันคล้ายกับ Heterostemma brownii Hayata มาก ซึ่งพบครั้งสุดท้ายตั้งแต่ปี 1906 ทั้งนี้ก็ยังมีจุดแตกต่างอยู่บ้างเล็กน้อยคือ ลำต้นไม่มีขน และมีกลีบดอกยาวประมาณ ⅔ ของหลอดกลีบดอก H. brownii ที่เคยบันทึกไว้

ทั้งนี้เมื่อตรวจสอบอย่างละเอียในฐานข้อมูลแล้วก็พบว่า H. brownii นั้นเป็นชนิดพันธุ์ที่มีลักษณะหลากหลายมาก มีทั้งลำต้นที่มีขนประปรายไปจนถึงไม่มีขนเลย ขณะเดียวกัน กลีบเองก็มีความยาวหลากหลาย ด้วยเหตุนี้ทีมวิจัยจึงเชื่อว่าพืชที่พบใน จ.เชียงราย คือชนิดเดียวกับที่สูญหายไปกว่า 113 ปี

“ดังนั้นในปัจจุบันจึงยังไม่มีหลักฐานที่สนับสนุนการแยกกลุ่มแท็กซอนใหม่ (taxon; หน่วยทางอนุกรมวิธาน) โดยพิจารณาจากช่วงขนของลำต้น และอัตราส่วนของกลีบโคโรนา และความยาวของท่อกลีบดอก” ทีมวิจัยเขียน 

สุดแปลกตา

พืชชนิดนี้มีลำต้นและกิ่งที่เรียบ โดยยาวราว 8-11 ซม. ขณะที่ใบเป็นรูปไข่ค่อนไปทางวงรียาว 6-16 × 4-7 ซม. โดยปลายใบมีความแหลม ผิวด้านบนเป็นสีเขียวเข้ม ผิวด้านล่างเป็นสีเขียวอมขาว แต่สิ่งที่สะดุดตามากที่สุดก็คงจะเป็นกลีบดอกของมัน 

โดยมีกลีบดอกสีเหลืองสดรูปไข่ค่อนไปทางสามเหลี่ยม ประกอบกันเป็นรูปดาว 5 แฉก และมีจุดสีน้ำตาลแดงแต้มอยู่ด้านในอย่างสวยงาม ขณะที่ตรงกลางในสุดนั้นเป็นที่อยู่ของเกสรตัวผู้ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 มม. โดยไม่พบรูและเมล็ด

รายงานระบุว่า H. brownii มีการกระจายพันธุ์ในลาว ไทย จีน ไต้หวัน และเวียดนาม โดยชอบอยู่ในป่าดิบชื้น ตามลำธาร และตามริมถนนที่ระดับความสูง 500 ถึง 1,100 เมตร มักออกดอกในเดือนมิถุนายนและกรกฏาคม 

ตัวอย่างนี้ได้การระบุว่าเป็น lectotype (เลคโตไทป์; ตัวอย่างต้นแบบที่ถูกเลือกขึ้นมาใหม่เพื่อทำหน้าที่เป็นชนิดตัวอย่าง) ของ H. brownii ซึ่งเป็นหนึ่งในสองของ syntypes (ซินไทป์; ตัวอย่างพืชหรือสัตว์ตั้งแต่สองตัวอย่างขึ้นไปที่ถูกใช้ในการอธิบายชนิดใหม่) ในการบรรยายลักษณะของสายพันธุ์นี้ 

“ปัจจุบันนี่เป็นวัสดุต้นฉบับเพียงชิ้นเดียวที่มีอยู่สำหรับระบวนการในการเลือกและกำหนดตัวอย่างตันแบบของสายพันธุ์ (lectotypification)” ทีมวิจัยเขียน 

ทางเฟซบุ๊คสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ได้เชิญชวนทุกท่านตั้งชื่อพืชหายากชนิดนี้ ซึ่งสามารถตามไปคอมเมนต์ได้เลย 

สืบค้นและเรียบเรียง

วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://www.facebook.com

https://www.researchgate.net


อ่านเพิ่มเติม : นักวิทย์ฯ พบต้นมะเดื่อในเคนยา

สามารถเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซค์ให้กลายเป็นหิน

Recommend