ถ้าไม่เคย อกหัก จะรู้จักความรักได้อย่างไร? รู้ “รัก-อกหัก” ในทางวิทย์ฯ

ถ้าไม่เคย อกหัก จะรู้จักความรักได้อย่างไร? รู้ “รัก-อกหัก” ในทางวิทย์ฯ

เมื่อเรามี ความรัก หรือ อกหัก ร่างกายของเราจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง?

เพราะไม่มีใครที่จะสมหวังในความรักทุกครั้ง คงต้องมี อกหัก กันบ้าง ดังนั้น การดูแลประสบการณ์ด้านความรักของเราที่สร้างผลกระทบต่อกับร่างกาย จะช่วยให้สุขภาพของของเราดีขึ้น และนำไปสู่การมีชีวิตที่ยืนยาว ซึ่งจะให้ช่วยดูแลความสัมพันธ์ให้ยืนยาวอีกด้วย

ไม่ว่าวาเลนไทน์ปีนี้จะเป็นวันที่คุณรอคอย หรือไม่อยากให้มาถึง แต่สมองของเรามักมองหาความรักและพยายามให้รางวัลกับการลงในความสัมพันธ์ทางสังคมที่เกิดขึ้น และมักจะกระตุ้นให้เราสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นอยู่เสมอ เพื่อเชื่อมต่ออะไรบางอย่างที่หายไป

“ความรักเป็นสิ่งจำเป็นทางชีวภาพที่มีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ที่ดีของบุคคล เช่นเดียวกับน้ำจืด อาหาร และการออกกำลังกาย” สเตฟานี คาซิออปโป (Stephanie Cacioppo) นักประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยโอเรกอน และผู้เขียนหนังสือชื่อ ‘Wired for Love : A Neuroscientist’s Journey Through Romance’ กล่าว

แม้ว่า “หัวใจ” มักจะถูกพูดถึงอยู่เสมอเกี่ยวกับความรัก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเกือบทั้งหมดนั้นมาจาก “สมอง” ซึ่งได้รับการตั้งโปรแกรมตามวิวัฒนาการให้ผลิตและปล่อยฮอร์โมน เมื่อเราเจอกับความน่าดึงดูด ความรักใคร่ และความผูกผันในความสัมพันธ์

“เนื่องจากความรักมีความสำคัญต่อสุขภาพ ความเป็นอยู่ที่ดี รวมถึงการสืบพันธุ์ของเรา (ความรัก) จึงไม่สามารถปล่อยให้เป็นการเรียนรู้ไปเองเรื่อยๆ ได้” ซู คาร์เตอร์ (Sue Carter) ผู้อำนวยการกิตติมาศักดิ์ของสถาบันคินซีย์ ในรัฐอินเดียนา และนักชีววิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านความผูกพันทางสังคม กล่าว

การทำความเข้าใจว่า สมองรับและส่งสัญญาณทำงานอย่างไร รวมถึงหากสัญญาณเหล่านั้นมีไม่เพียงพอจะเกิดอะไรบ้าง จะมีประโยชน์อย่างยิ่งในการสำรวจโลกแห่งความสัมพันธ์ ความรัก การอกหัก และการสูญเสีย

เมื่อฮอร์โมนลงมาเป็นผู้เล่น

จิตใจและร่างกายใช้ระบบเครือข่ายของสารสื่อประสาทกับโมเลกุลเคมีที่หลากหลาย เพื่อประสานการทำงานต่าง ๆ ซึ่งมีอิทธิพลต่ออารมณ์ของเรา และสารเคมีเหล่านี้ถูกเรียกว่า ‘ฮอร์โมน’ มันเป็นส่วนหนึ่งของระบบต่อมไร้ท่อของร่างกาย ซึ่งเชื่อมโยงเข้าด้วยกันผ่านโครงสร้างที่สำคัญในสมอง ไม่ว่าจะเป็น ไฮโปทาลามัส ฮิปโปแคมปัส อะมิกดาลา ทาลามัส ปมประสาทฐาน หรือ ไจรัสซิงกูเลต์

โดยรวมแล้ว โครงสร้างเหล่านี้ประกอบกันเป็นระบบที่เรียกว่า ‘ลิมปิก’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่เก่าแก่ที่สุดของสมองในแง่วิวัฒนาการ นี่คือที่จัดเก็บความทรงจำ การประมวลผลกลิ่น และเป็นบริเวณสมองหลักที่เกี่ยวข้องกับความน่าดึงดูดใจและความเสน่หา

มันช่วยให้ฮอร์โมนต่าง ๆ “กระตุ้นเราที่จะแนะนำตัวเอง และลดความกลัวต่าง ๆ เมื่อเราพบคู่เดทใหม่ครั้งแรก อีกทั้งยังทำให้เรารู้สึกราวกับว่าเราเป็นเนื้อคู่ใครสักคนเมื่อเวลาผ่านไป” ซินเทีย คูบู (Cynthia Kubu) นักประสาทวิทยาที่ศูนย์ฟื้นฟูระบบประสาทของคลิฟแลนด์คลินิก ในรัฐโอไฮโอ กล่าว

ฮอร์โมนความรักทั้ง 7

เมื่อเราพูดถึงอารมณ์ที่เชื่อมโยงกับความรัก ฮอร์โมนเหล่านี้มักจะมีบทบาทสำคัญเป็นพิเศษในเหตุการณ์นั้น และนี่คือทั้งหมด

ออกซิโทซิน (Oxytocin) เป็นฮอร์โมนที่ได้รับฉายาว่า ‘ฮอร์โมนแห่งความรัก’ เนื่องจากมันช่วยสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมให้กับเรา เพิ่มความไว้วางใจ และทำให้ความรู้สึกน่าดึงดูดใจนั้นลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยมักจะหลั่งออกมาเมื่อคนสองคนมีส่วนร่วมในการสนทนา สัมผัส เล่นด้วยกัน หรือมีส่วนร่วมในกิจกรรมอื่น ๆ

“ออกซิโทซินช่วยเพิ่มความรู้สึกผูกพัน และผูกมัดต่อใครสักคน” เทเรซา ลาร์คิน (Theresa Larkin) รองศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ของบัณฑิตวิทยาลัยแพทยศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยวูลลองกองในออสเตรเลียกล่าว

และบางครั้งมันก็ทำให้ความทรงจำของเราเจ็บปวด (ที่เกี่ยวกับคนรักเก่า) แสดงให้เห็นว่าฮอร์โมนตัวนี้ก็มีด้านมืดเช่นกัน

วาโซเพรสซิน (Vasopressin) ฮอร์โมนที่กระตุ้นความรู้สึกตื่นเต้นที่เกี่ยวข้องกับการรักผู้อื่น มันถูกกระตุ้นจากพฤติกรรมบางอย่างที่เป็นผลมาจากออกซิโทซินอีกทอดหนึ่ง งานวิจัยระบุว่ามันทำให้เรารู้สึกต้องการที่จะปกป้องคนที่เราห่วงใยมากขึ้นเมื่อมีภัยคุกคาม ขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นเช่นกันว่า สารเคมีตัวนี้ทำให้เกิดความรู้สึกครอบครองหรืออิจฉาริษยาได้ (แต่ก็สามารถบรรเทาได้ด้วยออกซิโทซิน)

“ออกซิโทซินและวาโซเพรสซิน เป็นการเต้นรำแบบไดนามิกที่ช่วยอธิบายประโยชน์และตุ้นทุนในด้านที่เกี่ยวข้องกับความรักต่าง ๆ” คาร์เตอร์อธิบาย

โดปามีน (Dopamine) หนึ่งในฮอร์โมนที่เป็นรางวัลแห่งความรู้สึกดีซึ่งได้รับการศึกษามากที่สุดในร่างกาย มันทำให้เรารู้สึกดีเมื่อทำอะไรบางอย่าง เช่น อาหาร ออกกำลังกาย หรือแม้แต่ยา ในด้านคู่รัก โดปามีนมักจะหลั่งออกมาจำนวนมากเมื่อมีการจูบ หรือมีเพศสัมพันธ์

“เมื่อโดปามีนถูกปล่อยออกมา มันจะกระตุ้นเส้นทางการให้รางวัลที่ทำให้เกิดความรัก ‘สูง’ และเพิ่มความปราถนาพร้อมกับแรงจูงใจที่จะอยู่กับความรักของเรา” ลาร์คิน กล่าว การตอบสนองนี้เข้มข้นพอที่จะเปรียบได้กับความอิ่มเอมที่เกิดขึ้นในการใช้ยาเสพติดอย่าง โคเคน ได้

และ 5.) ฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน และ ฮอร์โมนเอสโตรเจน หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘ฮอร์โมนเพศ’ มันมีบทบาทสำคัญในการทำให้คู้นักต้องการการสืบพันธุ์ และร่วมรับผิดชอบต่อ “ความปราถนาพื้นฐานของมนุษย์ในการมีเพศสัมพันธ์” ลาร์คินบอก เธอเสริมว่า ฮอร์โมนเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกี่ยวจ้องกับความหลงใหลหรือราคะ ที่กระตุ้นให้มีเซ็กส์ และโดปามีก็ให้รางวัลแก่การกระทำนั้น

6.) นอร์อะดรีนาลีน (Noradrenaline) สร้างการตอบสนองทางสรีรวิทยาเมื่อเราพบกับคนใหม่ ๆ หรือตกหลุมรัก สิ่งเหล่านี้รวมถึงหัวใจที่เต้นแรง พลังงานที่เพิ่มขึ้น หรือมีเหงื่อออกที่ฝ่ามือ ฮอร์โมนนี้ยังเกี่ยวข้องกับการเก็บความทรงจำอีกด้วย ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมคู้รักหลายคู่จึงสามารถจำวันแรกของการออกเดทได้อย่างชัดเจน

7.) เซโรโทนิน (Serotonin) หนึ่งในสารเคมีไม่กี่ชนิดที่แสดงให้เห็นว่าลดลงในบางช่วยระยะของการดึงดูดมีความรัก ระดับที่ต่ำลงเช่นนี้เกิดขึ้นคล้ายคลึงกับระดับของบุคคลที่เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ หรือ OCD แซนดรา แลงเกสเลก (Sandra Langeslag) นักประสาทวิทยาด้านพฤติกรรมจากมหาวิทยาลัยมิสซูรี-เซนต์หลุยส์ ได้เผยแพร่งานวิจัยเกี่ยวกับฮอร์โมนตัวนี้ว่า

“คนที่มีความรักและผู้ป่วยโรค OCD มีความคล้ายคลึงกันในแง่ที่ว่า ทั้งคู่ต่างมีความหลงใหล” (ถึงขั้นหมกมุ่น)

แม้ว่ากิจกรรมที่แตกต่างอื่น ๆ (ที่ไม่เกี่ยวกับความรัก) อาจทำให้สารเคมีเหล่านี้ถูกปล่อยออกมาได้เช่นกัน แต่ฮอร์โมนไม่ได้ถูกกระตุ้นด้วยปัจจัยเดียวเสมอไป และหลายสิ่งหลายอย่างอาจทำให้เกิดสารเคมีมากกว่าหนึ่งชนิดในเวลาเดียวกันเช่น โดปามีนและเซโรโทนิน ทั้งคู่มีส่วนทำให้เกิดความคิดที่จะครอบงำ

“ความรักเป็นปรากฎการณ์ทางประสาทสัมผัสที่ซับซ้อนอย่างยิ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับประสาทสัมผัสทั้งหมดของเรา และส่งผลกระทบต่อสมองในรูปแบบที่ลึกซึ้งและลึกลับหลายประการ” แจคคิว โอลดส์ (Jacquie Olds) รองศาสตราจารย์ด้านจิตเวชคลินิกที่โรงเรียนการแพทย์ฮาร์วาร์ด กล่าว

ประโยชน์ต่อสุขภาพของความรัก

ไม่ว่าฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความรักจะหลั่งออกมาเพราะเหตุใดหรือเมื่อใด แต่สารเคมีเหล่านี้ก็มีประโยชน์ต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่แตกต่างกัน

“เมื่อเครือข่ายของความรักเปิดขึ้น มักจะเปิดการทำงานของศูนย์ให้รางวัลของสมอง ปล่อยเคมีสารสื่อประสาท และ ‘ฝิ่น’ ตามธรรมชาติออกมาจำนวนมาก ซึ่งทำให้เรารู้สึกมีความสุข และยังช่วยให้ร่างกายและจิตใจของเราจัดการกับความเจ็บปวดได้” คาซิออปโป บอก

ประโยชน์ของความรักบางประการที่ได้รับการพิสูจน์แล้วได้แก่ ความเครียดที่ลดลง การนอนหลับที่ดีขึ้น สุขภาพภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้น ความเจ็บปวดที่ลดลง (งานวิจัยแสดงให้เห้นว่าการมีออกซิโทซินในเลือดมากขึ้นจะดีต่อการรักษา) อาการซึมเศร้าน้อยลง ทักษะการแก้ปัญหาดีขึ้น สติปัญญาดีขึ้น ฟังก์ชั่น และอายุยืนยาวขึ้น

ช่วยรักษาความสัมพันธ์ทั้งแบบโรแมนติก (คู่รัก) และแบบไม่โรแมนติก (เพื่อนหรือครอบครัว) “สร้างสภาวะทางชีววิทยาที่ส่งเสริมการผ่อนคลาย การเติบโต และการฟื้นฟูตลอดอายุขัย” คาร์เตอร์กล่าว “การสร้างความสัมพันธ์ด้วยความเป็นสิ่งสำคัญต่อสุขภาพที่ดี”

ทำไมคุณถึงตาบอดเพราะความรัก?

ระยะต่าง ๆ ของความสัมพันธ์อาจให้ประโยชน์ที่แตกต่างกันไป แต่งานวิจัยแสดงให้ว่าฮอร์โมนบางชนิดมีมากขึ้นในระยะแรกของการตกหลุมรัก ในขณะที่ฮอร์โมนอื่น ๆ ก็ให้ประโยชน์ระยะยาว

สารนอร์อะดรีนาลีนจะถูกปล่อยออกมาบ่อยขึ้นในช่วงเริ่มต้นของความสัมพันธ์ในคู้รัก ราวกับมีสิ่งแปลกปลอมหลายอย่างปรากฎขึ้น ซึ่งส่งผลให้สมองอยู่ในโหมด ‘ดำเนินการด้วยความระมัดระวัง’

“ในช่วงเริ่มต้นของความสัมพันธ์ อะดรีนาลีนจะสูงขึ้นทำให้เกิดความรู้สึกเหมือนท้องอืดและหัวใจเต้นเร็วขึ้น นอกจากนีั้ยังทำให้กิจกรรมในสมองลดลงที่เกี่ยวกับการตัดสินใจ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมคุณถึง ‘มองไม่เห็นความผิดพลาดของบุคคลอื่นในเรื่องความรักหรือความหลงใหลระยะแรกเริ่ม” ลูซี บราวน์ ศาสตราจารย์คลินิกด้านประสาทวิทยา ที่วิทยาลัยการแพทย์ศาสตร์ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ในนิวยอร์ก กล่าว

เมื่อความสัมผัสนั้นเติบโตขึ้นและระดับความผูกพันเพิ่มขึ้น ความหลงใหลที่เกิดขึ้นในช่วงแรก ๆ ที่จะได้รับจากโดปามีนจะถูกแทนที่ด้วยฮอร์โมนอื่น ๆ

“ออกซิโทซินมีบทบาทสำคัญในการรักษาความสัมพันธ์ระยะยาว” บราวน์ กล่าว นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดควารู้สึกปลอดภัยและมั่นคงเมื่อมีความไม่แน่นอนหรือความกลัว ส่วนวาโซเพรสซินเองก็มีความสำคัญในระยะยาวเช่นเดียวกัน โดยทำให้เกิดความภักดีและเพิ่มความรู้สึกที่ต้องการจะปกป้องรวมถึงทำให้ภาคภูมิใจในความสัมพันธ์ของตนเอง

จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเราเลิกกัน?

แม้ว่าประโยชน์ต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของฮอร์โมนเหล่านี้จะมีความสำคัญ แต่ “เราก็ต้องแลกมาด้วยการตอบสนองทางอารมณ์เมื่อเราสูญเสียคนรักไป” คาร์เตอร์กล่าว

การเลิกลาอาจหมายถึงการสูญเสียฮอร์ดมนที่ทำให้รู้สึกดีอย่างโดปามีน และออกซิโทซินอย่างต่อเนื่อง ในเวลาเดียวกันฮอร์โมนที่เกี่ยวกับความเครียดก็เพิ่มขึ้น เช่น คอร์ติซอล (cortisol) และนอร์อีพิเนฟริน (norepinephrine)

“การเลิกราทำให้เราขาดสารสื่อประสาทที่เราคุ้นเคยอย่างกระทันหัน” โอลดส์ กล่าว “เช่นเดียวกับผู้ติดยาที่เกลียดการกินอาหาร การเลิกราที่ไม่ดีก็ทำให้ร่างกายเกิดความทุกข์ทรมานอย่างมาก”

สำหรับบางคน อาการดังกล่าวอาจรวมถึงความรู้สึกไม่สบายทางร่างกายด้วยเช่นกัน

“การเลิกราทำให้เกิดการตอบสนองต่อความเครียดทั้งร่างกายและสมอง ซึ่งมันจะตอบสนองราวกับว่ามีสิ่งที่กระตุ้นความเจ็บปวดทางร่างกาย” บรานว์ อธิบาย ความปราถนารุนแรงก็พุ่งขึ้นอย่างกระทันหัน คล้ายกับความอยากของคนที่ติดยาที่ไม่ได้เสพ

“คุณค้นหาคนที่ไม่อยู่แล้ว เพื่อหาความรู้สึกดี ๆ ที่คุณเคยเชื่อมโยงกับคนที่คุณรัก” คาซิออปโป กล่าว “นี่คือหน้าตาของการอกหักหรือความรักที่ไม่สมหวัง”

คูบูกล่าวว่าความรู้สึกสูญเสียหรือโหยหายเหล่านี้สามารถแสดงออกมาในรูปแบบอื่นได้ เช่น ความอยากอาหารที่ลดลง น้ำหนักที่เปลี่ยนแปลงไป รบกวนการนอนหลับ วิตกกังวล หรือแม้แต่ซึมเศร้า ความรู้สึกดังกล่าวอาจขยายออกไปได้อย่างมากหากคู่ของตนเสียชีวิต ในกรณีร้ายแรง สิ่งนี้อาจส่งผลร้ายต่อผู้ที่ยังอยู่ได้

“ออกซิโทซินมีความสำคัญอย่างยิ่งในการปกป้องเนื้อเยื่อทั้งหมด โดยเฉพาะหัวใจ” คาร์เตอร์ บอก

เมื่อความสัมพันธ์ที่เคยไหลอย่างต่อเนื่องหยุดกระทันหันไปพร้อมกับความตายของผู้ที่เป็นที่รัก มันสร้างการตอบสนองอย่างรุนแรงต่อหัวใจและหลอดเลือดได้ สำหรับใครหลาย ๆ คน การหลั่งของฮอร์โมนความเครียดร่วมกับการสูญเสียอย่างกะทันหันอาจทำให้ความดันโลหิตพุ่งสูงขึ้น หัวใจเต้นแรง และหายใจลำบาก

แม้ว่าอาการดังกล่าวเป็นอาการทางกายภาพที่เลวร้ายในคนส่วนใหญ่ แต่ในบุคคลที่เป็นโรคหัวใจ “อาจเสี่ยงต่อการหัวใจวายได้” ลาร์คิน บอก นี่คือสาเหตุที่ทำให้เกิดสภาวะทางการแพทย์ที่หายากได้ในชื่อ ‘ภาวะหัวใจสลาย’

“งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับความโศกเศร้าในช่วงทศวรรษ 1960 ซึ่งได้ศึกษาหญิงม่าย 4,486 คนในอังกฤษ” คารซิออปโป เล่า “ในช่วง 6 เดือนแรกหลังจากที่พวกเขาสูญเสียคู่ครองไป พวกเขามีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตมากกว่าคนที่แต่งงานแล้วในวัยเดียวกันถึง 40%”

โชคดีที่ผลลัพธ์เลวร้ายที่เกี่ยวข้องกับการแยกจากคนรักไม่ว่าจะเป็นการเลิกรา หรือความตาย จะลดลงเมื่อเวลาผ่านไป รวมถึงเมื่อเราสร้างและกระชับความสัมพันธ์ใหม่ ๆ ด้วยเช่นกัน

“เมื่อความผูกพันทางสังคมถูกทำลายลงเนื่องจากการพลัดพรากจากกัน หรือสูญเสียคู่ครอง ระบบประสาทต้องใช้เวลาในการปรับสมดุลและปรับตัวใหม่” คาร์เตอร์ กล่าว “เราอาจประสบกับความเจ็บปวดจากความสัมพันธ์ที่สูญเสียไปตลอดกาล แต่เมื่อความผูกพันใหม่เกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้ก็อาจช่วยรักษษความเจ็บปวดทางอารมณ์ที่เกี่ยวข้องกับการสูญเสียได้”

การหันมาดูแลตัวเองก็สามารถช่วยได้ด้วยเช่นกัน “หลักจากวันแรกหรือสัปดาห์ที่ยากที่สุดผ่านไป สิ่งสำคัญคือต้องทำให้สิ่งที่คุณชอบเพื่อลดฮอร์โมนความเครียด และเพิ่มฮอร์โมนความสุข” ลาร์คิน แนะนำ

จะทำอย่างไรขึ้นอยู่กับว่าคุณอยู่ตรงไหน (ในระยะของความสัมพันธ์)

การรู้ว่าคุณอยู่ตรงไหนอาจขยายขอบเขตของความสะดวกสบายในการสร้างความสัมพันธ์อื่น ๆ รวมถึงความสัมพันธ์รักครั้งใหม่ หากคุณอยู่ในความสัมพันธ์ที่ดูเหมือนจะขาดความรักและฮอร์โมนที่ทำให้รู้สึกดี แลงเกสเลก แนะนำว่าให้เพิ่มการใช้เวลากับคู่ของคุณให้มากขึ้น

และมุ่งเน้นไปที่ข้อดีและความทรงจำที่มีความสุขร่วมกัน หรือมสร้างความใกล้ชิดทางกายเพื่อกระตุ้นให้มีการปล่อยสารเคมีพร้อมกับปรับปรุงการเชื่อมโยงสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน

แต่หากคุณไม่ได้อยู่ในความสัมพันธ์ที่โรแมนติก ฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความรักยังสามารถถูกกระตุ้นได้ด้วยการใช้เวลาที่มีคุณภาพกับสมาชิกในครอบครัว หรือเพื่อนสนิท กอดพวกเขา เพลิดเพลินไปกับธรรมชาติ และแม้กระทั่งปฏิสัมพันธ์กับสัตว์เลี้ยงก็ช่วยได้เช่นกัน

สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรทำคือการยอมรับที่จะใช้ชีวิตอยู่คนเดียว เช่นเดียวกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆ มนุษย์ไม่ได้วิวัฒนาการมาเพื่ออยู่อย่างโดดเดี่ยว “ความรักไม่ใช่ทางเลือก ไม่ใช่สิ่งที่เราจะทำว่าไม่มีมันอยู่” คาซิออปโป กล่าว

“ความรักเป็นสิ่งจำเป็นทางชีววิทยา”

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://www.nationalgeographic.com/premium/article/love-loss-death-hormones-brain-heart-health


อ่านเพิ่มเติม วิทยาศาสตร์ว่าด้วยการ ตกหลุมรัก ต้อนรับวันวาเลนไทน์ วันแห่งความรัก

Recommend