“ตั้งแต่จำความได้ ยุ้ยก็ช่วยที่บ้านทำ การเกษตรกรรม ช่วยทุกอย่างที่เด็กในวัยนั้นสามารถช่วยได้ ตื่นตั้งแต่ก่อนพระอาทิตย์ขึ้นเพื่อมาดูแลพืชผลที่เราปลูก แต่กลับขายได้ในราคาถูกแสนถูก พอเริ่มใช้สารเคมี ยุ้ยเกิดอาการแพ้ แต่ก็ต้องทน สภาพดินเริ่มเสื่อมโทรม ผลผลิตมีปริมาณน้อยลง ฐานะทางบ้านจากที่ไม่ดีอยู่แล้วก็ยิ่งแย่ลงไป สิ่งที่สร้างความทรมานทั้งกายและใจที่ครอบครัวยุ้ยต้องเจอคือ สภาวะความเครียด… แต่ก็ต้องก้มหน้าทำต่อไป”
นี่คือคำบอกเล่าของคุณญัฐสุดา จั่นบางยาง หรือยุ้ย เจ้าของร้านปลาวัน Farm to Table ตำบลบางยาง อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาที่ครอบครัวของเธอเคยประสบ และปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่เกษตรกรไทยบางส่วนกำลังประสบเช่นกัน หลายครัวเรือนจึงเลือกหันหลังให้กับ การเกษตรกรรม ซึ่งเห็นได้จากอัตราส่วนภาคเกษตรกรรมต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปี 2562 ลดลงถึงร้อยละ 22
ณ ศาลากลางสระบัวของร้านปลาวัน บรรยากาศยามเช้าตรู่มีลมพัดโชยเบาๆ ปะทะกับผิวกาย อากาศเย็นสบาย รายล้อมด้วยดอกบัวสีชมพูสดใส และปลานิลตัวเขื่องที่แหวกว่ายอยู่ในสระบัว เป็นบรรยากาศที่แสนสบายตรงข้ามกับบทสนทนาที่กำลังเกิดขึ้นตรงหน้า
เราจึงเข้าประเด็นถึงเหตุผลที่ครอบครัวของเธอยังประกอบอาชีพเกษตรกรรม และในปัจจุบันพวกเขามีวิธีการทำเกษตรกรรมอย่างไร จึงส่งผลให้วันนี้ “มีความสุขและความยั่งยืน”
ที่ต้องทนทำ การเกษตรกรรม เพราะ… ไม่มีทางเลือกจริงหรือ
ตั้งแต่คุณญัฐสุดาจำความได้ สิ่งที่เธอเห็นมาตลอดคือ ที่บ้านต้องตื่นก่อนพระอาทิตย์ขึ้นและหมดเวลาไปกับการดูแลต้นมะม่วง ถึงแม้จะปลูกมะม่วงหลากหลายสายพันธุ์ แต่ในที่ดินของเธอไม่มีพืชชนิดอื่นเลย
เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวจะมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อถึงหน้าสวน แต่ราคาไม่คุ้มค่ากับต้นทุนที่จ่ายไป ทางครอบครัวก็ไม่มีอำนาจต่อรองอะไร ส่งผลให้รายรับไม่แน่นอน พ่อแม่ของเธอจึงตัดสินใจใช้สารเคมี เพื่อหวังจะได้ผลผลิตที่เร็วและมีปริมาณเยอะขึ้น แต่กลับเป็นการเพิ่มปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น รวมถึงสภาพดินในพื้นที่เพาะปลูกและสุขภาพของครอบครัวที่แย่ลง
เนื่องจากรายได้ไม่แน่นอนทำให้รู้สึกว่าอาชีพนี้ไม่มั่นคง แต่ครอบครัวเธอก็ยังทนทำการเกษตรแบบนี้ต่อไปด้วยภาวะเครียด
“ครอบครัวเราต้องอยู่แบบนี้ตลอดไป มันไม่มีทางเลือกอื่นจริงเหรอ จะทำอย่างไรให้ครอบครัวเรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้บ้าง คำถามเหล่านี้วนเวียนอยู่ในสมองของยุ้ยตลอดเวลา” เธอเล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงที่ดังกังวานพร้อมสีหน้าและแววตาที่มุ่งมั่น
จากเหตุการณ์และคำถามเหล่านี้ เธอตัดสินใจเข้าร่วมโครงการฝึกงานผู้นำเยาวชนเกษตรกรไทยในประเทศญี่ปุ่น ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทยกับ Japan Agricultural Exchange Council (JAEC) ของญี่ปุ่น และเธอก็พบว่า ไม่ใช่ครอบครัวเธอไม่มีทางเลือก แต่พวกเขาไม่มีข้อมูลจึงไม่กล้าเพิ่มทางเลือกเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง
“สำหรับยุ้ยการเดินทางไปต่างประเทศด้วยงบประมาณของตนเองนั้นเรียกว่าไม่เคยคิดเลยดีกว่า เพราะฐานะทางบ้านไม่ดี ชีวิตยุ้ยก็อยู่แต่ในสวนมะม่วง พอมีโอกาสไปเปิดหูเปิดตาถึงต่างประเทศ” คุณยุ้ยเล่าด้วยและเสริมว่า “ยุ้ยจึงทุ่มสุดตัวเรื่องการฝึกฝนภาษาญี่ปุ่น เพื่อให้ตนเองสื่อสารกับคนญี่ปุ่นได้อย่างคล่องแคล่ว เพราะต้องการได้รับความรู้จากพวกเขาให้ได้มากที่สุด”
ครอบครัวเกษตรชาวญี่ปุ่นที่คุณยุ้ยไปร่วมอาศัยและเรียนรู้นั้นทำการเกษตรแบบผสมผสาน ภายในพื้นที่ประมาณ 40 ไร่ แบ่งออกเป็นทั้งหมด 4 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 สำหรับทำฟาร์มหมูคุโรบูตะ ส่วนที่ 2 ปลูกผลไม้หลากหลายชนิด ส่วนที่ 3 พื้นที่สำหรับแปรรูปผลผลิตที่ได้จากสวนผลไม้และฟาร์มหมูคุโรบูตะ และส่วนที่ 4 บริเวณที่พักอาศัย
ระหว่างนั้นเธอได้ปฏิบัติและเรียนรู้จากประสบการณ์การลงมือทำจริงร่วมกับชาวญี่ปุ่น เธอเข้าใจแนวคิดของการปลูกพืชหลากหลายชนิด ซึ่งเป็นเรื่องของการบริหารจัดการความเสี่ยง การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร รวมไปถึงการทำการตลาดออนไลน์ที่ทำให้เกษตรเป็นผู้กำหนดราคาเองได้
“การที่เกษตรกรสามารถกำหนดราคาผลผลิตของตนเองได้ มันทำให้เด็กอายุ 21 ปีอย่างยุ้ยประหลาดใจและประทับใจมาก มันคือการตัดพ่อค้าคนกลางออกไปจากวงจรของชาวเกษตรกรเลย ยุ้ยทึ่งมาก” คุณยุ้ยเล่าถึงความทรงจำในวันนั้น ปัจจุบันเธออายุ 32 ปี
ตลอดหนึ่งปีที่คุณยุ้ยฝึกงานในประเทศญี่ปุ่น นอกจากความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรกรรมทั้งหมดที่เธอได้รับแล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้คุณยุ้ยมีความมั่นใจและกล้าเปลี่ยน นั่นคือ “ความรัก” เธอเล่าว่า เกษตรกรที่นั่นทำงานอย่างเต็มที่โดยไม่ต้องมีใครมาคอยควบคุม เพราะพวกเขารักในงานที่ตัวเองทำ รักพืชผลที่ตัวเองปลูก รักเพื่อนร่วมงาน รักผู้บริโภค เมื่อเรารักสิ่งใดเราก็จะทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด เช่นกัน เมื่อเรารักใครเราก็อยากให้คนนั้นได้รับสิ่งดีๆ พวกเขาจึงตั้งใจทำเกษตรกรรมและไม่ใช้สารเคมี
“ยุ้ยเพิ่งรู้ตัวว่าครอบครัวยุ้ยไม่ได้ทำเกษตรกรรมด้วยความรัก พวกเราทำเพราะเป็นอาชีพที่สืบทอดกันมามากกว่า จึงไม่เปิดใจเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติม และไม่กล้าเปลี่ยนแปลงวิถีเกษตรแบบเดิม ครอบครัวญี่ปุ่นบอกเสมอว่า ยุ้ยสามารถกลับไปเปลี่ยนรูปแบบการทำการเกษตรของครอบครัวตัวเองได้ พอยุ้ยได้รับกำลังใจและได้เห็นกับตาตัวเองจริงๆ ว่าที่นี่ทำได้ ยุ้ยจึงกล้าที่จะกลับไปเปลี่ยน” เธอกล่าว
อ่านต่อหน้า 2