แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนของเอสซีจี กับการลดโลกร้อนและเป้าหมาย Net Zero 2050

แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนของเอสซีจี กับการลดโลกร้อนและเป้าหมาย Net Zero 2050

เนื่องจากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงวิถีการบริหารจัดการทั้งด้านสังคม การบริหารธุรกิจ แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนจึงเป็นหนึ่งกลไกที่รัฐบาล และภาคเอกชน ได้นำมาประยุกต์ใช้ เพื่อสร้างโอกาสทางนวัตกรรมที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ในระบบเศรษฐกิจแบบเส้นตรง วัตถุดิบที่มาจากทรัพยากรธรรมชาติถูกผลิตขึ้นเป็นผลิตภัณฑ์ และถูกกำจัดทิ้งเมื่อเสร็จสิ้นการใช้ประโยชน์ ในทางกลับกัน ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมีเป้าหมายเพื่อปิดช่องว่างระหว่างการกระบวนการผลิตและวัฏจักรของระบบนิเวศตามธรรมชาติ ซึ่งมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งในวัฏจักรนี้ด้วย

World Economic Forum นิยามเศรษฐกิจหมุนเวียน ว่าเป็นระบบอุตสาหกรรมที่ได้รับการบูรณะ หรือสร้างใหม่ อย่างมีเจตนาร่วมกับการออกแบบ โดยเข้ามาแทนที่แนวคิดเรื่องหมดอายุการใช้งานด้วยการฟื้นฟู เปลี่ยนไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน ขจัดการใช้สารเคมีที่เป็นพิษ ซึ่งทำให้เกิดการนำกลับมาใช้ซ้ำ และเข้าสู่นิเวศการผลิตอีกครั้ง และมีเป้าหมายเพื่อกำจัดของเสียผ่านการออกแบบวัสดุ ผลิตภัณฑ์ ระบบ รวมไปถึงแผนธุรกิจ

ในประเทศไทย รัฐบาลได้พยายามผลักดันนโยบายเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนผ่าน BCG Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy)

BCG Economy  เป็นโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นแนวคิดการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไปยกระดับความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับ 4 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curves) ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมพลังงานและวัสดุ อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ โดยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จะเข้าไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผู้ผลิตที่เป็นฐานการผลิตเดิม เช่น เกษตรกรและชุมชน ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นด้วยนวัตกรรม

นอกจากนี้ ในส่วนของภาคธุรกิจต่างก็ได้รับปัจจัยเร่งเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยหลักการ ESG (Environmental, Social และ Governance)  คือ การนำปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและการกำกับดูแลหรือธรรมาภิบาลมาพิจารณาในการวิเคราะห์ คัดเลือก และบริหารการลงทุน เพื่อสร้างโอกาสให้กับธุรกิจและดึงดูดนักลงทุน

การดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนของเอสซีจี

เอสซีจีให้ความสำคัญกับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยดำเนินการภายใต้หลักการ “ผลิต-ใช้-วนกลับ” เพื่อจัดการและรับมือกับปัญหาขยะ การขาดแคลนทรัพยากรของโลก และการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ผ่านการส่งเสริมแนวปฏิบัติ SCG Circular Way ที่สร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง และใช้นวัตกรรมเพื่อสร้างคุณค่าให้ทรัพยากรอย่างสูงสุดและจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ

เป้าหมายและแนวทางของหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนของเอสซีจี จึงเป็นการรักษาคุณค่าของทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรใหม่น้อยที่สุด โดยการสร้างระบบการผลิตใหม่ (Re-Process) ผ่านการออกแบบใหม่ (Re-Design) การสร้างคุณค่าใหม่ (Added value) การสร้างนวัตกรรมใหม่ (Innovation) การสร้างความร่วมมือ (Collaboration) เพิ่มขึ้น ทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ และการใช้ซ้ำ (Reuse) ถือเป็นการสร้างคุณค่าที่ดีขึ้นและสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม ชุมชน สังคม รวมถึงธุรกิจอีกด้วย

แนวทางปฏิบัติตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนของเอสซีจี

1. การออกแบบผลิตภัณฑ์ (Product Design) เพื่อให้มีความทนทาน และมีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น เอื้อต่อการแยกชิ้นส่วนเพื่อรีไซเคิล หรือใช้ซ้ำ หรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทรัพยากรน้อยลงแต่คุณภาพยังคงเดิม

2. การจัดหาทรัพยากร (Resource Input) การใช้วัตถุดิบที่ได้จากการรีไซเคิลและการใช้ซ้ำ หรือการเลือกใช้ทรัพยากรที่มาจาก Renewable Resources ในการผลิตสินค้า และการใช้พลังงานทดแทนในกระบวนการผลิต

หญ้าฟางจากเกษตรกรที่รอหมุนเวียนเป็นทรัพยากรของพลังงานชีวมวลต่อไป
เถ้าแกลบอีกหนึ่งในของเหลือใช้จากภาคเกษตรที่กลายมาเป็นทรัพยากรในการผลิตพลังงานชีวมวลสำหรับใช้งานภายในโรงงาน
การใช้งานนวัตกรรมที่เปลี่ยนลมร้อนจากเตาเผาให้หมุนเวียนกลับมาเป็นแหล่งพลังงานอีกครั้งหนึ่ง

3. การผลิต (Manufacturing) โดยใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และการใช้เครื่องจักรอัตโนมัติ (Autonomation) เพื่อเพิ่มความแม่นยำในกระบวนการผลิต ซึ่งส่งผลให้ของเสียจากกระบวนการผลิต การใช้น้ำและพลังงานลดลง

4. การขาย การตลาด และการขนส่ง (Sale and Distribution) ส่งเสริมระบบขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และใช้ระบบการเช่าสินค้า (Leasing) และ Sharing Platform เพื่อให้การขายและขนส่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลรวบรวมข้อมูลเพื่อให้เกิดการ Optimization ในขั้นตอนการขายและขนส่ง

การปรับใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในกระบวนการขนส่ง

5. การใช้งานผลิตภัณฑ์ (Product Use) จากการออกแบบที่ทนทานมากขึ้น และง่ายต่อการแยกชิ้นส่วน พร้อมด้วยการบริการซ่อมบำรุง ทำให้การใช้ผลิตภัณฑ์เกิดประสิทธิภาพยาวนานมากที่สุดตลอดช่วงอายุการใช้งาน

การทาสีหลังคา สำหรับหลังคาเก่าสภาพโทรม เพื่อยืดอายุการใช้งาน

6. การกำจัด (Recovery) ผลิตภัณฑ์ที่สิ้นอายุจะผ่านกระบวนการจัดการที่เหมาะสมเพื่อหลีกเลี่ยงการส่งของเสียไปยังหลุมฝังหลบ เกิดการหมุนเวียนวัตถุดิบจากผลิตภัณฑ์ที่สิ้นอายุให้อยู่ในวงจรการผลิตและบริโภคให้นานที่สุด โดยประยุกต์ใช้กระบวนการนำกลับต่างๆ เช่น การใช้ซ้ำ การรีไซเคิล การนำกลับพลังงานจากขยะ

หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ไม่ใช่ทางเลือกของธุรกิจ แต่เป็นกุญแจสำคัญที่จะบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

การนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ จะช่วยก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อธุรกิจทั้งในปัจจุบันและอนาคต สร้างความสามารถในการแข่งขัน และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตได้ ซึ่งในที่สุดจะนำไปสู่การลดการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ สร้างคุณค่าให้แก่องค์กรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

การประยุกต์ใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียนของเอสซีจี

  • แปรรูปเศษหัวเสาเข็มจากการก่อสร้างให้มีมูลค่า กับการบริหารจัดการเศษคอนกรีตจากหัวเสาเข็ม (Pile Waste Solution)
จากหัวเสาเข็มเหลือใช้ กลายเป็นวัสดุตั้งต้นใหม่ให้กับงานก่อสร้าง

ในงานก่อสร้างโครงสร้าง เศษหัวเสาเข็มคอนกรีตเป็นของเสียที่มีน้ำหนักมากที่สุดซึ่งเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจะถูกกำจัดโดยการนำไปฝังกลบ โดยอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของเจ้าของโครงการ

เอสซีจีจึงนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนเข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง โดยการบริหารจัดการเศษคอนกรีตจากหัวเสาเข็ม (Pile Waste Module) ซึ่งเป็นวิธีจัดการเศษเสาเข็มเพื่อลดการนำเศษหัวเสาเข็มคอนกรีตไปฝังกลบ โดยนำมาผ่านกระบวนการบดย่อย และนำไปใช้แทนวัสดุก่อสร้างในงานต่างๆ เช่น วัสดุรองพื้นทางสำหรับทำถนน หรือที่จอดรถ และแผ่นคอนกรีตสำเร็จรูป เป็นต้น

เศษคอนกรีตที่นำไปใช้งานมีคุณสมบัติเทียบเท่าคอนกรีตปกติ และยังช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ลดมลภาวะ ลดการขนส่งเพื่อนำไปกำจัด และยังช่วยลดการ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกกระบวนการ นับเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ของจัดการเศษหัวเสาเข็มตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน

Pile Waste Module เกิดจากความร่วมมือกับเจ้าของโครงการ ผู้พัฒนาโครงการ และผู้รับเหมาก่อสร้าง โดยตั้งแต่ปี 2020-2021 มีโครงการก่อสร้างอาคารเข้าร่วมแล้ว 22 โครงการจาก 11 บริษัท เมื่อปี 2021 เอสซีจีได้เข้าไปจัดการเศษเสาเข็ม และนำไปบดย่อย เพื่อเป็นวัสดุก่อสร้างลานจอดรถของบริษัท Covestro Thailand และเป็นวัสดุรองพื้นทางของห้างสรรพสินค้าเซนทรัล จังหวัดจันทบุรี

เมื่อคำนวนรวมเศษเสาเข็มจากโครงการต่างๆ กลับมาใช้ใหม่ พบว่ามีจำนวน 14,096 ตัน คิดเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 1,397 ตันคาร์บอนไดออกไซด์

  • SCG GREEN CHOICE
ปูนงานโครงสร้าง เอสซีจี สูตรไฮบริด ผลลัพธ์ผลิตภัณฑ์จากความมุ่งมั่นเพื่อโลก

นอกจากความมุ่งมั่นในการพัฒนาสินค้า บริการ และโซลูชัน เพื่อตอบโจทย์ด้านคุณสมบัติในการใช้งานแล้ว โจทย์ข้อสำคัญที่เอสซีจีกำลังพัฒนาคือ ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ได้รับตราสัญลักษณ์ SCG Green Choice ฉลากรับรองผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ตรงตามมาตรฐาน

โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้รับตราสัญลักษณ์ จะต้องมีคุณสมบัติสีเขียว ได้แก่ ช่วยประหยัดพลังงาน ลดโลกร้อน (Climate Resilience) ประหยัดทรัพยากรธรรมชาติ และยืดอายุการใช้งาน (Circularity) และสุขอนามัยที่ดี (Well-Being)

ยกตัวอย่างในผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์ของเอสซีจีที่ได้รับฉลาก SCG Green Choice อย่างปูนงานโครงสร้างเอสซีจี สูตรไฮบริด มีการพัฒนาคุณสมบัติด้านการใช้งานด้วยการเพิ่มความแข็งแรง กำลังอัดสูง โครงสร้างทนทานยาวนานเป็นพิเศษ ร่วมกันกับความคงทนต่อการขัดสี จึงลดการหลุดล่อนได้ดีกว่าปูนโครงสร้างทั่วไป คงทนยาวนานตลอดอายุการใช้งาน ควบคู่กันไปกับการพัฒนาคุณสมบัติที่ทำให้ได้รับการรับรองฉลาก SCG Green Choice นั่นคือช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต อย่างน้อย 50 กิโลกรัมต่อตันปูนซีเมนต์

เหล่านี้เกิดจากความมุ่งมั่นและพยายามในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในทุกมิติ ครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการผลิต จนส่งถึงมือผู้บริโภค เพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ที่ยั่งยืนกว่าให้กับสินค้า บริการ และโซลูชันของเอสซีจี

  • สร้างความร่วมมือกับพันธมิตร ต่อยอดแนวคิด SCG Circular Way
เอสซีจีร่วมเป็นสมาชิกในกลุ่มความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนในอุตสาหกรรมก่อสร้าง (CECI)

เอสซีจีเป็นสมาชิกหนึ่งในกลุ่มความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนในอุตสาหกรรมก่อสร้าง (CECI) ซึ่งมีวิสัยทัศน์ คือ “ร่วมกันยกระดับอุตสาหกรรมก่อสร้างสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้และเพิ่มความสามารถในการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีและผลตอบแทนทางสังคม”

เอสซีจีมุ่งมั่นขยายเครือข่ายความร่วมมือ พร้อมนำเสนอนวัตกรรมของเอสซีจีมายกระดับอุตสาหกรรมก่อสร้างตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น โครงการ Pile Waste Solution โดยในปี 2564 มีงานก่อสร้างอาคารที่เข้าร่วมโครงการแล้ว 10 โครงการ จาก 5 บริษัท คิดเป็นจำนวนเศษเสาเข็มกว่า 2,854 ตัน เทียบเท่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 283 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ และยังมีโครงการนำเศษวัสดุก่อสร้างอื่นๆ กลับมาใช้เป็นวัสดุทดแทนวัตถุดิบธรรมชาติในการผลิตปูนซีเมนต์ รวมทั้งขยายความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ต่อไป

นับตั้งแต่ผู้บริโภคเริ่มให้ความสนใจกับการบริหารธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) เอสซีจีได้ประยุกต์ใช้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนในการดำเนินงานตลอดห่วงโซ่คุณค่า โดยพิจารณาจากปัจจัยขับเคลื่อนทางธุรกิจ ความเสี่ยงหลักและโอกาสในการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึง ESG รวมถึงประเด็นด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่สำคัญ เพื่อช่วยเร่งขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายและสร้างผลกระทบเชิงบวกแก่เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้มากที่สุดในทุกแห่งที่ดำเนินธุรกิจ

จากการปรับใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียนในโครงการและกิจกรรมต่างๆ นี้จะเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยการใช้ทรัพยากรและพลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่งเสริมการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero 2050  ต่อไปในอนาคต

Recommend