เราอาจจดจำราชบุรีว่าเป็นเมืองที่มีรีสอร์ทสวยๆ มากมายแถวสวนผึ้ง หรือนึกถึงโอ่งมังกร และคนงามบ้านโป่ง หรืออาจรับรู้เพียงว่าราชบุรีเป็นเมืองทางผ่านไปสู่จังหวัดอื่นๆ ในภาคตะวันตก แต่ที่จริงราชบุรีมีประวัติศาสตร์ยาวนานน่าศึกษา ตั้งแต่การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาตร์ ผ่านยุคทวารวดี เคยเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางเครือข่ายการค้าระดับภูมิภาคเอเชีย และยังจารึกเรื่องราวเกี่ยวกับการทหารและการคมนาคมในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อันส่งผลมาถึงปัจจุบัน ในการก่อสร้างเส้นทางรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงข้ามแม่น้ำแม่กลองให้เป็นสะพานแขวนรถไฟแบบขึงแห่งแรก ที่เพิ่งเชื่อมต่อสะพานช่วงสุดท้ายระหว่าง 2 ฝั่งไปเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2565
เรากำลังจะชวนคุณไปเยือนสะพานแขวนรถไฟ หรือสะพานรถไฟแบบขึงแห่งแรกของไทย ที่จะกลายเป็นแลนด์มาร์กใหม่ของจังหวัดราชบุรี และบนเส้นทางสายใหม่นี้ อยากพาคุณมองย้อนกลับไปในเส้นทางประวัติศาสตร์ ซึ่งหล่อหลอมการเดินทางและการใช้ชีวิตในพื้นที่ริมแม่น้ำแม่กลองให้มีเรื่องราวและเสน่ห์เฉพาะตัว
เรื่องจริงที่เหมือนตำนานของสะพานรถไฟราชบุรี ในสงครามโลกครั้งที่ 2
การเดินรถไฟไทยย้อนไปได้ถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ด้วยพระราชวิสัยทัศน์และพระราชดำริ ทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และยังมีความสำคัญในแง่การเมืองการปกครอง ตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคม จนถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
ราชบุรีในสมัยนั้น มี ‘เส้นทางรถไฟสายเพ็ชรบุรี’ หรือเส้นทางรถไฟสายบางกอกน้อย – เพชรบุรีวิ่งผ่าน เส้นทางรถไฟสายนี้มีสะพานใหญ่ที่ทำด้วยเหล็ก 3 สะพาน หนึ่งในนั้นคือ ‘สะพานจุฬาลงกรณ์’ หรือ สะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแม่กลอง ที่รัชกาลที่ 5 พระราชทานนามไว้ ซึ่งเชื่อมการเดินทางจากกรุงเทพฯ ถึงเพชรบุรีให้สะดวกยิ่งขึ้น ถือเป็นเส้นทางสำคัญในการขยายความเจริญของเมืองไปสู่ภาคใต้ และการจัดการการเมืองการปกครอง สะพานแห่งนี้จึงมีความสำคัญด้านยุทธศาสตร์อย่างยิ่ง
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ราชบุรีเป็นเส้นทางลำเลียงกำลังทหารและยุทโธปกรณ์ของกองทัพญี่ปุ่นไปมลายูและพม่า สะพานจุฬาลงกรณ์จึงตกเป็นเป้าหมายในการโจมตีของฝ่ายสัมพันธมิตร เพื่อทำลายเส้นทางลำเลียงของญี่ปุ่น และช่วงปลายสงครามก็ยังเป็นเส้นทางที่ญี่ปุ่นถอยทัพ สะพานจุฬาลงกรณ์จึงถูกทิ้งระเบิดใส่ถึง 3 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2488 จนสะพานหัก
เมื่อญี่ปุ่นประเมินว่าไม่สามารถซ่อมสะพานเหล็กได้ทัน จึงตัดสินใจสร้างสะพานรถไฟโครงไม้ขึ้นมาแทน โดยขนานไปตามแนวสะพานจุฬาลงกรณ์ สะพานไม้นี้มีการใช้งานอย่างหนักทั้งวันทั้งคืน ไม่ถึง 2 เดือนก็ทรุดโทรม และเมื่อหัวรถจักรไอน้ำคันหนึ่งของญี่ปุ่นที่วิ่งตัวเปล่ามาสะพานก็เกิดทรุดตัว จนหัวรถจักรพลัดตกทับสะพานจมลงกลางแม่น้ำไป กลายเป็นตำนานที่ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าขานมาจนถึงภายหลัง ส่วนสะพานจุฬาลงกรณ์นั้น หลังจบสงครามได้มีการปรับปรุงและสร้างใหม่ในปี 2505
หัวรถจักรที่จมอยู่ใต้น้ำมาเป็นเวลากว่า 70 ปี ในอดีต ก่อนที่จะมีการสร้างเขื่อนทางเหนือแม่น้ำ ผู้คนยังมองเห็นหัวรถจักรที่โผล่ขึ้นมาในหน้าแล้งที่น้ำลดลงจนเดินข้ามแม่น้ำได้ จึงมีการคาดว่าการที่สามารถสร้างสะพานธนะรัชต์ (สะพานข้ามแม่น้ำสำหรับรถยนต์ ขนานไปกับสะพานจุฬาลงกรณ์) ได้ เป็นเพราะวิศวกรเห็นหัวรถจักรชัดเจนและวางตอม่อหลบเลี่ยงได้
ความจริงที่ไม่ธรรมดา ทำให้มีความพยายามกู้หัวรถจักรขึ้นมาจากน้ำ เพราะเป็นพยานวัตถุถึงเรื่องราวช่วงสงคราม ที่น่านำขึ้นมาให้สาธารณชนได้เข้าชมและเรียนรู้ ตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา ได้มีความพยายามในการกู้หัวรถจักร ผ่านโครงการที่ศึกษาความเป็นไปได้ในมุมต่างๆ จัดตั้งคณะกรรมการมากมาย ซึ่งใช้เวลาเนิ่นนาน แต่เมื่อสิ่งต่างๆ ไม่ลงตัว หัวรถจักรก็ยังคงจมอยู่ใต้น้ำ
กระทั่งการมาถึงของโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ที่เกิดขึ้น 4 ทิศทั่วไทย ในส่วนโครงการช่วงนครปฐม – หัวหินก็ได้มาพาดผ่านเส้นทางรถไฟข้ามแม่น้ำแม่กลอง การสำรวจหัวรถจักรเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างก็ได้เกิดขึ้น ครั้งนี้เมื่อสำรวจอย่างจริงจัง ก็ไม่ได้พบเพียงหัวรถจักรไอน้ำ แต่ยังพบลูกระเบิดอีกด้วย
ลูกระเบิดที่ยังไม่ระเบิดกับการสร้างสะพานขึงรถไฟ
การพบลูกระเบิดที่ยังไม่ระเบิด (Unexploded Ordnance: UXO) สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จมอยู่ในแม่น้ำแม่กลองบริเวณใต้สะพานรถไฟจุฬาลงกรณ์ กลายเป็นประเด็นดัง เพราะการก่อสร้างรถไฟทางคู่ต้องสร้างสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแม่กลองคู่กับสะพานรถไฟจุฬาลงกรณ์ อาจมีผลกระทบต่อลูกระเบิด
รัฐบาลได้สั่งการให้เก็บกู้ลูกระเบิดใต้แม่น้ำ การสำรวจเพิ่มเติมพบว่ามีระเบิดอยู่ใต้น้ำถึง 7 ลูก จากเดิมที่ค้นพบ 6 ลูก ชาวราชบุรีเสียงแตกต่อการเก็บกู้ มีทั้งที่ว่าไม่ควรไปยุ่งกับมัน หรือที่คิดว่าเป็นระเบิดด้าน แต่หากไม่กู้ขึ้นมา การตอกเสาเข็มสร้างตอม่ออาจสั่นสะเทือนถึงลูกระเบิดจนเกิดอันตรายขึ้นมาได้ ท้ายที่สุดคณะทำงานที่เกี่ยวข้องก็เห็นพ้องว่าจะไม่แตะต้องลูกระเบิด แต่วิศวกรของการรถไฟฯ จะหาวิธีก่อสร้างที่มีประสิทธิภาพ และไม่ส่งผลกระทบต่อลูกระเบิดขนาด 1,000 ปอนด์ใต้แม่น้ำทั้ง 7 ลูก
การก่อสร้างสะพานรถไฟแบบขึงข้ามแม่น้ำแม่กลอง จึงออกแบบด้วยเทคนิคทางวิศวกรรมพิเศษโดยใช้โครงสร้างสะพานรถไฟแบบคานขึง ซึ่งสร้างตอม่ออยู่บน 2 ฝั่งแม่น้ำ แทนรูปแบบเดิมซึ่งวางตอม่อกลางแม่น้ำ เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงจากวัตถุระเบิด เป็นที่มาของการสร้างสะพานรถไฟแบบขึง (Extradosed Bridge) หรือ เรียกสั้นๆ ว่า “สะพานขึง” ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการขอพระราชทานชื่อสะพาน
สะพานขึงนี้มีความยาว 340 เมตร แบ่งเป็น 3 ช่วงสะพาน โดยช่วงสะพานที่ข้ามแม่น้ำแม่กลองเป็นช่วงที่มีความยาวมากที่สุดคือ 160 เมตร และมีความสูงของเสาสะพาน 17.5 เมตร จากระดับสันราง การออกแบบโครงสร้างสะพานเป็นแบบผสมคานคอนกรีตสมดุล (Balance Centilever) ซึ่งเป็นรูปแบบสะพานที่มีการใช้สายเคเบิลร้อยเข้ากับเสาหลักโดยตรง ด้วยเทคนิคทางวิศวกรรมเพื่อขึงช่วยรับน้ำหนัก (Tension cable) ทำให้ลดจำนวนตอม่อที่รองรับน้ำหนักลงได้ ถือเป็นสะพานรถไฟแบบใช้คานขึงแห่งแรกที่ก่อสร้างขึ้นในประเทศไทย และเมื่อเชื่อมต่อสะพานช่วงสุดท้ายบรรจบกันแล้ว การก่อสร้างด้านโยธาก็ดำเนินต่อไปตามลำดับ
รถไฟทางคู่สู่เมืองเก่าราชบุรี
พื้นที่ริมแม่น้ำแม่กลองของราชบุรีโดยรอบสะพานแขวนรถไฟ ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอเมือง รัฐบาลประกาศให้เป็นเขตพื้นที่เมืองเก่าในปี พ.ศ. 2560 และได้รับการพัฒนาให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยมีวัฒนธรรมเป็นฐาน ราชบุรีเป็นเมืองที่ชาวจีนโพ้นทะเลอพยพมาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 จึงมีวัฒนธรรมผสมผสานทั้งไทย จีน มาตั้งแต่อดีต อย่างเช่นที่เราเห็นได้ผ่านตลาดเก่าโคยกี๊ ที่ก่อร่างขึ้นมาจากการค้าขายริมน้ำของชาวจีนและไทย หรือภูมิปัญญาการผลิตโอ่งมังกรที่กลายเป็นของดังของจังหวัดราชบุรี ก็มาจากชาวจีนเช่นกัน
การขยายการคมนาคมคือรากฐานของเศรษฐกิจ การคมนาคมแต่ละแบบนั้นสร้างชุมชนที่แตกต่างกัน เมื่อสถานีรถไฟไปถึงที่ไหน จะเกิดชุมชนที่ขยายตัวเป็นวงรอบสถานีนั้น เกิดเป็นชุมชนย่อยๆ กระจายตัวออกไปตามเส้นทาง การเดินรถไฟจึงเป็นการเชื่อมจุดต่อจุดระหว่างชุมชนน้อยใหญ่ให้ไปมาถึงกัน ยิ่งเมื่อมีรถไฟทางคู่แล้ว การเดินทางโดยรถไฟจะเป็นไปได้เร็วและสะดวกมากขึ้น รถไฟไม่ต้องรอหลีกบนรางเดียว แต่ละเที่ยวจึงแล่นผ่านกันได้คล่องตัวยิ่งขึ้น
เมื่อดูจากแผนที่พื้นที่เมืองเก่าราชบุรี ซึ่งมีลักษณะเป็นเมืองท่าริมแม่น้ำ จะเห็นว่าสถานที่สำคัญและชุมชนนั้นขยายตัวออกจากแหล่งคมนาคมหลักอย่างแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งมีทั้งท่าเรือ สะพาน และรถไฟข้ามแม่น้ำ เมืองจึงเติบโตจากการเดินทางทางน้ำและทางรถไฟมาแต่อดีต สถานที่ทางประวัติศาสตร์แต่ละแห่งจึงมีระยะทางไม่ไกลกันมาก เหมาะสำหรับนักเดินทางที่ชอบสถานที่ซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องราว สังเกตรายละเอียดเรียบง่ายแต่มีเสน่ห์ซึ่งสอดแทรกอยู่ในเมืองที่มีจังหวะชีวิตธรรมดา
ถ้านั่งรถไฟมาเที่ยว แล้วอยากลงใกล้กับสะพานแขวน ขอให้เลือกขึ้นจากสถานีธนบุรี ขบวน 255 หรือ 257 ซึ่งออกเที่ยวแรกตั้งแต่ 7.30 น. และ 7.45 น. 2 ขบวนนี้จะหยุดที่ป้ายหยุดรถไฟจุฬาลงกรณ์ ซึ่งถึงก่อนสถานีราชบุรี แวะถ่ายรูปกลางสะพานในมุมมองไม่เหมือนใคร
ตัวสะพานแขวนซึ่งขนานกับสะพานจุฬาลงกรณ์ และสะพานธนะรัชต์ อยู่ตรงโค้งแม่น้ำแม่กลอง มองไปทางทิศตะวันตกจะรับกับอาคารพาณิชย์ที่เรียงรายกันเป็นตลาดเก่าโคยกี๊ที่ชาวจีนมาตั้งรถรากค้าขาย เราจึงสามารถเดินไปชมบรรยากาศของตลาดเก่าที่มีชีวิตชีวาได้ง่ายๆ ทางเดินเลียบแม่น้ำหน้าตลาดก็ทำไว้อย่างดี ยามเย็นสามารถเดินเล่นรับลมชมสะพานสบายๆ
เมื่อเปิดแผนที่ค้นหาตำแหน่งที่จะเก็บภาพว่าที่แลนด์มาร์กแห่งใหม่ของเมืองในมุมมองอื่น เราก็เหมือนได้ท่องเที่ยวหลายที่ไปในตัว จุดแรกที่อยากแนะนำคือวัดเกาะนัมมทาปทวลัญชาราม ที่มองเห็นสะพานในมุมกว้างจากทิศตะวันออก วัดอันกว้างขวางนี้เคยเป็นทั้งค่ายทหารญี่ปุ่นและสุสานเชลยศึกในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (เช่นเดียวกับวัดท้ายเมืองที่อยู่ตรงข้ามฝั่งแม่น้ำ) วัดนี้มีทางเดินริมแม่น้ำให้เลือกมุมถ่ายได้มากมาย ทิวทัศน์โดยรอบยามเช้าก็สวยสงบมาก
และถ้าอยากนั่งดื่มกาแฟชมวิว เราไปพบ Cafe Society ร้านกาแฟน่ารักตั้งหลบมุมอยู่ไม่ไกลจากเชิงสะพาน ตรงข้ามสโมสรทหารช่าง นั่งจิบกาแฟชมวิวบรรยากาศสะพานได้ตั้งแต่ชั้น 1 จนถึงดาดฟ้า แน่นอนว่าฝั่งตรงข้ามกัน ก็มีมุมที่ถ่ายรูปดี คือบริเวณหน้าพิพิธภัณฑ์ทหารช่าง ถ่ายรูปสะพานแล้วเข้าไปแวะเวียนดูพิพิธภัณฑ์เล็กๆ ที่เข้าชมฟรี รำลึกบรรยากาศช่วงสงครามผ่านยุทโธปกรณ์เก่าแก่ที่บูรณะแล้วนำมาจัดแสดง
อาจมีไม่กี่ครั้งที่เราเชื่อมโยงประวัติศาสตร์สงครามกับการท่องเที่ยว แต่การไปเยือนสถานที่บางแห่งพร้อมเรื่องราวเข้มข้น ก็ทำให้เรามองสิ่งที่อยู่ตรงหน้าต่างไปจากเดิม สะพานที่เคยเป็นจุดยุทธศาสตร์การรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 วันนี้ ได้กลายมาเป็นการเดินทางที่เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของเมืองผ่านการท่องเที่ยวแล้ว
เรื่อง อาศิรา พนาราม
ภาพ ณัฏฐพล เพลิดโฉม
ที่ปรึกษาบทความ ผศ.ปริญญา ชูแก้ว
อ้างอิง: หนังสือราชบุรีในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 โดย พันเอก ดร.สุชาต จันทรวงศ์
E-Book – โครงการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าราชบุรี