ผาดอกเสี้ยว แห่งดอยอินทนนท์ ปรับปรุงใหม่ น่าเที่ยว น่าสนใจกว่าเดิม

ผาดอกเสี้ยว แห่งดอยอินทนนท์ ปรับปรุงใหม่ น่าเที่ยว น่าสนใจกว่าเดิม

เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ผาดอกเสี้ยว แห่งดอยอินทนนท์ ต้นแบบแหล่งท่องเที่ยว “นิเวศวัฒนธรรม”

เส้นทางศึกษาธรรมชาติผาดอกเสี้ยว มีระยะทางประมาณ 2.6 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินประมาณ 2-2.5 ชั่วโมง มีจุดเริ่มต้นเส้นทาง บริเวณกิโลเมตรที่ 30 ถนนสายจอมทอง-ยอดดอยอินทนนท์ สภาพตลอดเส้นทางมีลักษณะเป็นป่าดิบเขาระดับล่าง ผ่านน้ำตกผาดอกเสี้ยวและลำธารที่สวยงาม นาขั้นบันไดสะท้อนวิถีชุมชน ไปสิ้นสุด ณ หมู่บ้านแม่กลางหลวง

ในอดีตเส้นทางนี้ใช้ประโยชน์ในการเป็นแนวกันไฟ ขนผลผลิตทางการเกษตร และใช้ในการเดินติดต่อไปมาหาสู่กันภายในชุมชน ต่อมาในปี 2562 เส้นทางศึกษาธรรมชาติแห่งนี้ได้ดำเนินการปรับปรุงเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ทางธรรมชาติที่สำคัญและเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ แก่ประชาชน

ต่อมาเมื่อปี 2565 เอ็กโก กรุ๊ป โดยมูลนิธิไทยรักษ์ป่า ร่วมกับอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ และชุมชนบ้าน แม่กลางหลวง ปรับปรุงเส้นทางฯ ผาดอกเสี้ยว ให้มีความแข็งแรง ปลอดภัย และเป็นมิตรกับธรรมชาติ โดยนำภูมิปัญญา การก่อสร้างของชาวปกาเกอะญอมาใช้ในการออกแบบ เพื่อรักษาเอกลักษณ์ของชุมชน พร้อมพัฒนาระบบสื่อความหมาย ทั้งภายในเส้นทางและระบบออนไลน์ เพื่อส่งเสริมให้เส้นทางฯ ผาดอกเสี้ยว เป็นแหล่งเรียนรู้ “นิเวศวัฒนธรรม” ที่สำคัญของชุมชนที่อยู่ร่วมกับผืนป่าต้นน้ำได้อย่างยั่งยืน และพร้อมส่งมอบในปี 2566


เส้นทางฯ ผาดอกเสี้ยว อยู่ที่ความสูงกว่า 1,280 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง มีความหลากหลายทางชีวภาพที่โดดเด่น ประกอบไปด้วยป่าดิบเขาที่ยังคงอุดมสมบูรณ์ หลากหลายไปด้วยพรรณไม้ซึ่งช่วยรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน น้ำ อากาศ อันเป็นต้นกำเนิดและเป็นบ้านของสรรพชีวิต ป่าดิบเขาเป็นป่าไม่ผลัดใบ แต่จะค่อยๆ ทิ้งใบ ผลัดเปลี่ยนใบเก่าและแตกใบใหม่ขึ้นมาทดแทนอย่างสม่ำเสมอ เราจึงเห็นป่าที่นี่เขียวตลอดทั้งปี โดยมีไม้วงศ์ก่อ (Fagaceae) อาหารอันโอชะของสัตว์ป่าน้อยใหญ่ เป็นพันธุ์ไม้เด่น และมีไม้ชั้นใต้เรือนยอด ไม้พุ่ม และเห็ดชนิดต่าง ๆ กระจายอยู่ทั่วไป บ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า

และระหว่างเดินไปตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติ เราอาจได้ยินเสียงร้องหรือพบเห็นชะนีมือขาวได้ในระยะใกล้ ๆ ชะนีมือขาวมักพบในป่าที่อุดมสมบูรณ์ที่มีชั้นเรือนยอดที่ต่อกัน และมีบทบาทสำคัญในการรักษาสภาพป่าให้มีความหลากหลายและยั่งยืน เมื่อเดินต่อมาจะพบกับ น้ำตกผาดอกเสี้ยว หรือน้ำตกรักจัง ที่เป็นจุดเด่นของเส้นทางศึกษาธรรมชาติแห่งนี้ มีทั้งหมด 10 ชั้น ชั้นที่โดดเด่นสวยงามกว่าชั้นอื่น ๆ คือ ชั้นที่ 7 (มีความสูงประมาณ 20 เมตร) น้ำตกรักจัง เรียกตามชื่อภาพยนตร์ที่มาถ่ายทำที่น้ำตกแห่งนี้ เมื่อ พ.ศ. 2549 และได้กลายเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งเปรียบได้กับความรู้สึกของคนในชุมชนที่รักมรดกธรรมชาตินี้ดังชื่อเรียกขาน และร่วมกันดูแลรักษาเพื่อให้คงความสวยงามสืบไป

หลังจากนั้นจะพบกับ ผาดอกเสี้ยว สถานที่ที่เป็นภูมินามและเอกลักษณ์ของพื้นที่แห่งนี้ ต้นเสี้ยวดอกขาว พันธุ์ไม้ท้องถิ่นที่ขึ้นหนาแน่นบนหน้าผา บานอวดดอกสวยในช่วงเดือน ก.พ. – มี.ค. และในบริเวณนี้เป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างป่าอนุรักษ์ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ และพื้นที่ที่คนอยู่ร่วมกับป่า ยืนยันให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างวิถีชีวิต ความเชื่อ และจารีตประเพณีดั้งเดิมของชาวปกาเกอะญอบ้านแม่กลางหลวง ซึ่งยึดโยงคน สัตว์ ป่า และต้นน้ำ ให้อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

และในช่วงเวลานี้ จะได้พบ นาขั้นบันได ที่เริ่มเปลี่ยนสีจากสีเขียวชอุ่มเป็นสีเหลืองทอง และจุดสุดท้ายจะพบกับชุมชน หมู่บ้านแม่กลางหลวง ที่มีวิถีวัฒนธรรมเรียบง่าย สะท้อนอัตลักษณ์ของชุมชนปกาเกอะญอที่รักสงบ สมถะ แต่งามด้วยขนบธรรมเนียม ประเพณี เป็นเสน่ห์แห่งวัฒนธรรมที่สอดแทรกให้เห็นในวิถีความเป็นอยู่ การทำการเกษตร และการสร้างบ้านเรือน

ผู้นำเที่ยวเฉพาะถิ่น การเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติผาดอกเสี้ยว จะต้องมีผู้นำเที่ยวเฉพาะถิ่น 1 คน ซึ่งเป็นคนในชุมชน จึงเป็นผู้รู้เรื่องท้องถิ่นเป็นอย่างดี เนื่องจากเกิด เติบโต และดำเนินชีวิตอยู่ในหมู่บ้าน การนำเที่ยวจึงมิใช่เพียงพานำชมและดูแลความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวเท่านั้น แต่เป็นการบอกกล่าวเรื่องราว และความภาคภูมิใจของชาวปกาเกอะญอ บ้านแม่กลางหลวงที่ยังคงรักษาผืนแผ่นดินของบรรพบุรุษไว้จากรุ่นสู่รุ่น

นอกจากนี้ กลุ่มผู้นำเที่ยวเฉพาะถิ่นมีการบริหารจัดการภายในกลุ่มอย่างเป็นระบบ โดยแบ่งรายได้จากค่านำเที่ยวส่วนหนึ่งเข้ากองทุนท่องเที่ยวชุมชน เพื่อจัดสรรสวัสดิการให้กับ คนในชุมชน และใช้ในการดูแลรักษาผืนป่า เช่น การลาดตระเวนป้องกันไฟป่า และการเก็บขยะ จึงไม่เพียงแต่ผู้นำเที่ยวเฉพาะถิ่นที่จะได้รับประโยชน์เท่านั้น แต่ชุมชนภายในบ้านแม่กลางหลวงซึ่งมีส่วนในการดูแลรักษาพื้นที่แห่งนี้ ต่างได้รับประโยชน์จากการเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติผาดอกเสี้ยวของนักท่องเที่ยวเช่นกัน

การพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติผาดอกเสี้ยว เป็นหนึ่งเครื่องมือสำคัญในการยกระดับการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้าน แม่กลางหลวง เพื่อนำไปสู่การท่องเที่ยวนิเวศวัฒนธรรมโดยชุมชน และการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำในอนาคต (Low Carbon Tourism) เส้นทางศึกษาธรรมชาติผาดอกเสี้ยว เป็นเครื่องมือที่จะสร้างรายได้ให้กับชุมชนผ่านการเข้ามาท่องเที่ยว เรียนรู้ ศึกษาธรรมชาติเส้นทางศึกษาธรรมชาติผาดอกเสี้ยวของนักท่องเที่ยว ซึ่งแนวคิดหลักในการออกแบบ แนวคิด

ในการออกแบบประกอบด้วย 3 ประเด็นหลัก ได้แก่
1. การออกแบบที่กระทบกับธรรมชาติน้อยที่สุด (Minimal Intervention) เช่น การระวังรักษารากต้นไม้ การใช้วัสดุธรรมชาติ เป็นต้น
2. การรื้อฟื้นวัฒนธรรมการก่อสร้างตามแบบแผนปกาเกอะญอดั้งเดิมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว (Anthropolo Architecture) ทั้งอาคารบ้านเรือน สะพาน รวมไปถึงราวจับ นำมาประยุกต์ในการออกแบบสิ่งปลูกสร้างในเส้นทางผาดอกเสี้ยวทั้งสิ้น
3. การมีส่วนร่วมกับกลุ่มต่าง ๆ เพื่อร่วมรับฟังและหารือแนวทางในการปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติผาดอกเสี้ยว ได้แก่ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ผู้นำเที่ยวเฉพาะถิ่น ผู้นำชุมชนบ้านแม่กลางหลวงและเทศบาลบ้านหลวง สถาปนิกผู้ออกแบบเส้นทาง และมูลนิธิไทยรักษ์ป่า

การพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติผาดอกเสี้ยว จึงเป็นบทพิสูจน์ของการให้ความสำคัญต่อทั้งธรรมชาติ ความคิดเห็นของ ทุกภาคส่วน รวมไปถึงเป็นสื่อกลางในการเชื่อมระหว่างธรรมชาติและวิถีชีวิต “คนอยู่ร่วมกับป่า” ที่เป็นพลังสำคัญต่อการอนุรักษ์ดูแลผืนป่าต้นน้ำสำคัญแห่งนี้อย่างยั่งยืนและสมดุลภายใต้บริบทนิเวศวัฒนธรรม

โดยเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 เอ็กโก กรุ๊ป และมูลนิธิไทยรักษ์ป่า ส่งมอบ “เส้นทางศึกษาธรรมชาติผาดอกเสี้ยว” ยกระดับแม่กลางหลวง ต้นแบบแหล่งท่องเที่ยว “นิเวศวัฒนธรรม”

บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป โดยมูลนิธิไทยรักษ์ป่า เป็นผู้ปรับปรุง “เส้นทางศึกษาธรรมชาติผาดอกเสี้ยว” ในอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ พร้อมพัฒนาป้ายสื่อความหมายธรรมชาติในเส้นทางฯ ระบบสื่อความหมายออนไลน์ และวีดิโอเยี่ยมชมเสมือนจริง 360 องศา ส่งมอบแก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมขับเคลื่อนงาน 6 มิติ เพื่อยกระดับบ้านแม่กลางหลวงเป็น แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรม สะท้อนการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างระบบนิเวศป่าต้นน้ำและวัฒนธรรมของชุมชนปกาเกอะญอ ตลอดจนปลูกจิตสำนึกให้นักท่องเที่ยวตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของการ ร่วมอนุรักษ์ดูแลธรรมชาติอย่างยั่งยืน

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป และประธานกรรมการมูลนิธิไทยรักษ์ป่า เปิดเผยว่า สำหรับเส้นทางศึกษาธรรมชาติผาดอกเสี้ยวเป็นเส้นทางฯ ลำดับที่ 4 ที่มูลนิธิฯ ได้ปรับปรุงในพื้นที่ป่าต้นน้ำอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ แนวเส้นทางฯ ผ่านป่าดิบเขาระดับล่างที่อุดมสมบูรณ์ พื้นที่เกษตรกรรม และปลายทางเป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนปกาเกอะญอบ้านแม่กลางหลวง จึงมีความโดดเด่นในฐานะแหล่งเรียนรู้ “นิเวศวัฒนธรรม” ที่ผสมผสานองค์ประกอบระหว่างธรรมชาติที่สวยงาม คุณค่าของระบบนิเวศป่าต้นน้ำ และวัฒนธรรมที่มีอัตลักษณ์ของชุมชนชาวปกาเกอะญอบ้านแม่กลางหลวง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ “คนอยู่กับป่า” ได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ ที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

“มูลนิธิไทยรักษ์ป่าได้ปรับปรุงเส้นทางฯ โดยยึดหลักการออกแบบที่มีผลกระทบกับธรรมชาติน้อยที่สุด การรับฟังความคิดเห็นและมีส่วนร่วมจากกลุ่มต่าง ๆ ตลอดจนนำภูมิปัญญาการก่อสร้างของชาวปกาเกอะญอ มาประยุกต์ใช้ในการออกแบบ เพื่อรักษาอัตลักษณ์ของชุมชน ควบคู่กับการพัฒนาระบบสื่อความหมาย 14 จุด ในเส้นทางฯ เพื่อเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดความรู้ คุณค่า และความสัมพันธ์ของสรรพชีวิตในผืนป่า ตลอดจนพัฒนาระบบสื่อความหมายออนไลน์และวีดิโอเยี่ยมชมเสมือนจริง 360 องศา เพื่อให้ผู้สนใจสามารถสัมผัสธรรมชาติในเส้นทางฯ ผาดอกเสี้ยวได้ทุกที่ ทุกเวลา ด้วยมุ่งหวังว่านักท่องเที่ยวและประชาชนจะตระหนักและเห็นความสำคัญของการพึ่งพากันระหว่างมนุษย์และระบบนิเวศ จนเกิดเป็นจิตสำนึกในการปกป้องและร่วมดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและป่าต้นน้ำอย่างยั่งยืน” นายเทพรัตน์ กล่าว

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ความร่วมมือระหว่างกรมอุทยานฯ เอ็กโก กรุ๊ป และมูลนิธิไทยรักษ์ป่าที่ได้ร่วมกันพัฒนาและปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติในพื้นที่อุทยานแห่งชาติอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน โดยดำเนินงานภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับที่ 4 ระหว่างปี 2564-2569 นั้น ถือได้ว่ามูลนิธิ ไทยรักษ์ป่าเป็นตัวอย่างของภาคเอกชนที่มีส่วนร่วมกับภาครัฐในการส่งเสริมและขับเคลื่อนให้ภารกิจของ กรมอุทยานฯ สามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น

เนื้อหานี้ได้รับการสนับสนุนโดย บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป โดยมูลนิธิไทยรักษ์ป่า


อ่านเพิ่มเติม ตามหาความงามที่ส่งเสียงได้ ใจกลางป่าฝนเขตร้อน

Recommend