กู้มรดกแดนน้ำแข็ง

กู้มรดกแดนน้ำแข็ง

เรื่อง เอ. อาร์. วิลเลียมส์
ภาพถ่าย เอริกา ลาร์เซน

แหล่งโบราณคดีนูนัลเลก (Nunalleq) บนชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของอะแลสกาเก็บรักษาช่วงเวลาแห่งหายนะ โดยแช่แข็งเอาไว้ในกาลเวลา ผืนดินโคลนรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเกลื่อนกล่นไปด้วยข้าวของเครื่องใช้ประจำวันซึ่งชนพื้นเมืองเผ่ายูปิก (Yupik) เคยใช้ ทุกอย่างถูกทิ้งไว้ในสภาพเดิม ขณะเกิดการบุกโจมตีอย่างดุเดือดเมื่อเกือบสี่ศตวรรษมาแล้ว

รอบอาณาบริเวณของสิ่งที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นสิ่งปลูกสร้างด้วยดินและหญ้าหรือบ้านดิน (sod house) ขนาดใหญ่ ปรากฏร่องรอยของไฟที่จุดรมผู้อยู่อาศัยราว 50 คนให้ออกมา คนเหล่านี้อาศัยอยู่ที่นี่เมื่อไม่ได้ออกไปล่าสัตว์ ตกปลา หรือเก็บพืชผลดูเหมือนไม่มีใครรอดชีวิต โครงกระดูกของผู้หญิง เด็ก และคนชราพบอยู่รวมกัน ทุกคนคว่ำหน้าอยู่ในโคลน บ่งบอกว่าคงถูก จับและสังหาร

ริก คเนกต์ นักโบราณคดี (ซ้าย) และวอร์เรน โจนส์ ผู้นำชุมชน เดินสำรวจไปตามฝั่งแม่น้ำแอโรลิก หลังจากครูในท้องถิ่นเห็นหน้าไม้ของนายพรานโผล่ออกมาจากตลิ่งที่ถูกกัดเซาะ “ผมจะไม่นั่งเฉยๆปล่อยให้ของเหล่านี้ถูกซัดหายไปแน่ครับ” โจนส์บอก

โศกนาฏกรรมจากอดีตอันไกลโพ้นกลายเป็นคุณูปการต่อวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ดังเช่นที่มักเกิดกับแวดวงโบราณคดี ที่นูนัลเลก นักโบราณคดีขุดพบศิลปวัตถุกว่า 2,500 ชิ้นในสภาพที่ไม่บุบสลาย ตั้งแต่เครื่องใช้ในการกินไปจนถึงข้าวของชิ้นพิเศษอย่างหน้ากากไม้ที่ใช้ในพิธีกรรม เข็มสักทำจากงาช้าง และเข็มขัดที่ร้อยจากฟันของกวางคาริบู สิ่งของเหล่านี้ได้รับการรักษาสภาพไว้อย่างดีจนน่าแปลกใจ จากการถูกแช่แข็งอยู่ในพื้นดินมาตั้งแต่ราวปี 1660

เศษตะกร้าและเสื่อยังคงรักษาลวดลายสานอันละเอียดลออไว้ได้ และเมื่อแหวกมัดหญ้าเปื้อนโคลนออก คุณจะเห็นใบหญ้าเรียวสีเขียวสดถูกเก็บรักษาไว้ข้างใน “หญ้าพวกนี้ตัดมาตั้งแต่สมัยเชกสเปียร์ยังมีชีวิตเชียวนะครับ” ริก คเนกต์ หัวหน้านักโบราณคดี พูดอย่างตื่นเต้น

ในสวนหลังบ้านแห่งหนึ่งที่หมู่บ้านควินฮาแกก กระดูกวาฬที่กลายเป็นสีขาวโพลนจากสภาพอากาศน่าจะถูกซัดขึ้นมาบนชายหาดใกล้ๆนั้น ผู้เฒ่าผู้แก่ของหมู่บ้านยังจดจำวันคืนเก่าๆที่พวกเขาเคยล่าวาฬได้มากว่ายี่สิบตัวทุกปี แต่วันคืนเหล่านั้นกลายเป็นอดีตไปแล้ว

คเนกต์ทำงานประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัยแอเบอร์ดีนในสกอตแลนด์ เขามองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างการทำลายล้างที่นูนัลเลกกับนิทานเก่าแก่ซึ่งชาวยูปิกในปัจจุบันยังจำกันได้ มุขปาฐะเป็นขนบที่เก็บรักษาความทรงจำของช่วงเวลาที่นักประวัติศาสตร์เรียกว่า สงครามหน้าไม้กับลูกธนู (Bow and Arrow War) เมื่อชาวยูปิกรบราฆ่าฟันกันเอง ก่อนที่นักสำรวจชาวรัสเซียจะมาถึงอะแลสกาในศตวรรษที่สิบแปด นูนัลเลกเป็นที่แรกที่ให้หลักฐานทางโบราณคดีและวันเวลาที่ชัดเจนของยุคสมัยอันน่าสยดสยองนี้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อชาวยูปิกต่อมาอีกหลายชั่วอายุคน

คเนกต์เชื่อว่า การบุกโจมตีเหล่านี้เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือช่วงเวลาที่โลกหนาวเย็นลงเป็นเวลา 550 ปี ซึ่งปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ สมัยน้ำแข็งน้อย (Little Ice Age) และประจวบกับการตั้งหลักแหล่งในนูนัลเลกพอดี ช่วงเวลาหนาวเย็นที่สุดในอะแลสกาซึ่งอยู่ในราวศตวรรษที่สิบเจ็ดนี้คงยากแค้นแสนสาหัส จนผู้คนอาจต้องเริ่มออกปล้นเพื่อแย่งชิงอาหาร

จากหอสังเกตการณ์แบบโบราณ พรานกวาดตามองไปทั่วพื้นที่เขตทุนดราเพื่อหากวางมูส พื้นดินและทะเลไม่ต่างจากซูเปอร์มาร์เก็ตสำหรับชาวยูปิกผู้รู้ดีว่า จะหาอาหารชนิดไหนได้ในแต่ละฤดูกาลของปี

“เมื่อใดก็ตามที่คุณประสบกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว วงจรอาหารตามฤดูกาลจะปั่นป่วนอย่างรุนแรงครับ” คเนกต์กล่าว “และถ้าคุณเจอชนิดที่รุนแรงสุดๆ เหมือนสมัยน้ำแข็งน้อย หรืออย่างในตอนนี้ ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นรวดเร็วกว่าที่ผู้คนจะปรับตัวทัน”

ทุกวันนี้ สภาพอากาศที่นับวันจะมีแต่รุนแรงขึ้นเกือบทำให้นูนัลเลกเหลือแต่ชื่อ ในฤดูร้อน ทุกอย่างดูสวยสดงดงาม เมื่อผืนดินปกคลุมไปด้วยดอกแยร์โรว์สีขาวและกิ่งก้านของหญ้าปุยฝ้าย แต่ยามฤดูหนาวมาเยือน เมื่อทะเลเบริงซัดพายุร้ายโหมกระหน่ำชายฝั่ง ถ้าคลื่นใหญ่มากพอ มันจะเซาะเอาส่วนที่เหลือของนูนัลเลกออกไป

ภูมิภาคอาร์กติกหาได้เป็นเช่นนี้มาตลอด แต่ปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลกกำลังทำลายภูมิภาคแถบขั้วโลก ผลก็คือการสูญเสียอย่างใหญ่หลวงของศิลปวัตถุจากวัฒนธรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่เราแทบไม่รู้จักตลอดแนวชายฝั่งอะแลสกาและไกลออกไป อย่างเช่นที่นูนัลเลก ตัวอย่างอันโด่งดังที่สุดของเศษซากจากยุคโบราณที่สภาพอากาศอุ่นขึ้นเผยให้เราเห็นคืออุตซี (Ötzi) มนุษย์ยุคหินซึ่งพบเมื่อปี 1991 หลังโผล่ขึ้นมาจากธารน้ำแข็งที่หดตัวในอิตาลี การละลายของน้ำแข็งอย่างขนานใหญ่กำลังเผยร่องรอยของมนุษย์และอารยธรรมในอดีตทั่วทั้งภูมิภาคเหนือสุดของโลก ตั้งแต่หน้าไม้และลูกธนูยุคหินใหม่ในสวิตเซอร์แลนด์ ไปจนถึงไม้เท้าเดินป่าจากยุคไวกิ้งในนอร์เวย์ และสุสานตกแต่งอย่างหรูหราของชนเร่ร่อนเผ่าซิเทียนในไซบีเรีย แหล่งโบราณคดีมากมายหลายแห่งอยู่ในภาวะหมิ่นเหม่จนนักโบราณคดีต้องเผชิญการตัดสินใจ อันยากลำบากว่า สิ่งใดพอจะกอบกู้ได้ และสิ่งใดจำต้องปล่อยไปตามยถากรรม เมื่อพูดถึงการกอบกู้โบราณวัตถุซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกแช่แข็งไว้

ขณะนี้แหล่งโบราณคดีหลายแห่งตามแนวชายฝั่งอะแลสกาถูกคุกคามจากอันตรายสองต่อ ต่อแรกคืออุณหภูมิเฉลี่ยที่สูงขึ้นเกือบสององศาเซลเซียสในช่วงห้าสิบปีที่ผ่านมา ชั้นดินเยือกแข็งคงตัว (permafrost) เกือบทุกแห่งกำลังละลาย

ชาวประมงต่อแถวเพื่อชั่งน้ำหนักปลาที่จับได้ในฤดูจับปลาแซลมอนเมื่อปี 2015 ปกติงานลักษณะนี้เป็นที่มาของรายได้ ส่วนใหญ่ในแต่ละปีของผู้คนที่นี่ แต่ก็อาจสิ้นสุดลง เพราะเมื่อปีที่แล้วไม่มีผู้ซื้อ จึงไม่มีใครนำเรือออกจับปลาอีกเลย

เมื่อนักโบราณคดีเริ่มขุดสำรวจที่นูนัลเลกในปี 2009 พวกเขาพบชั้นดินเยือกแข็งคงตัวลึกลงไปใต้ผิวดินของเขตทุนดราราวครึ่งเมตร ทุกวันนี้ ชั้นดินละลายลึกลงไปหนึ่งเมตร นั่นหมายความว่าศิลปวัตถุที่สลักเสลาด้วยฝีมือช่างชั้นครูจากเขากวางคาริบู ท่อนไม้ที่ลอยน้ำมา กระดูกและงาของวอลรัส กำลังโผล่ขึ้นมาจากชั้นดินเยือกแข็งคงตัวที่เคยเก็บรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ในสภาพสมบูรณ์ หากไม่ได้รับการกอบกู้อย่างทันท่วงที สิ่งเหล่านี้จะเริ่มเน่าเปื่อยและผุพังในเวลาอันรวดเร็ว

อันตรายต่อที่สองเป็นหมัดน็อก นั่นคือระดับทะเลที่สูงขึ้น ระดับน้ำในมหาสมุทรทั่วโลกสูงขึ้นราว 20 เซนติเมตรตั้งแต่ปี 1900 นี่เป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อแหล่งโบราณคดีตามแนวชายฝั่งอย่างนูนัลเลก ซึ่งเปราะบางเป็นสองเท่าเพราะอันตรายจากคลื่นและจากแผ่นดินที่ทรุดตัวลงเพราะชั้นดินเยือกแข็งคงตัวกำลังละลาย “แค่พายุฤดูหนาวแรงๆสักลูกเดียวเราก็อาจสูญเสียแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ทั้งหมดครับ” คเนกต์บอก

Recommend