ช่วงวัยที่ลูกสุนัขน่ารักที่สุด

ช่วงวัยที่ลูกสุนัขน่ารักที่สุด

ลูกสุนัขกำลังเล่นอยู่ในสวนหลังบ้านของครอบครัวหนึ่ง ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
ภาพถ่ายโดย Hannele Lahti

ช่วงวัยที่ลูกสุนัขน่ารักที่สุด

ใครๆ ก็ชอบลูกสุนัข ยิ่งโดยเฉพาะ ลูกสุนัขน่ารัก ด้วยแล้ว ทราบหรือไม่ว่าบนดาวเคราะห์ดวงนี้มีสุนัขมากถึงพันล้านตัว แม้ว่าสุนัขและมนุษย์จะอยู่เคียงข้างกันมานานเป็นหมื่นปี แต่รายงานจากผู้เชี่ยวชาญระบุว่า 85% ของสุนัขทั้งหมดบนโลกนี้ล้วนเป็นสุนัขจรจัด พวกมันเตร็ดเตร่ไปมาตามหมู่บ้าน และไม่ได้มีใครเป็นเจ้าของอย่างจริงจัง แต่พวกมันสามารถมีชีวิตที่ไม่ลำบากได้ด้วยความรักจากมนุษย์

เมื่อลูกสุนัขมีอายุได้ 2 – 3 เดือน แม่ของมันจะทิ้งมัน ปล่อยให้ลูกสุนัขเผชิญโลกต่อไปตามลำพัง เมื่อไม่มีแม่คอยดูแลพวกมันแล้วโอกาสที่ลูกสุนัขจะตายก่อนอายุได้หนึ่งปีจะเพิ่มขึ้นเป็น 90% นั่นแปลว่ามีเพียง 10% เท่านั้นที่อยู่รอดเติบโต

หากปราศจากแม่ ลูกสุนัขจะมีชีวิตรอดได้อย่างไร? นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า พวกมันรอดได้ถ้าน่ารักมากพอ เพราะความน่ารักของมันจะดึงดูดให้มนุษย์สนใจและดูแลมัน รายงานการค้นพบใหม่นี้ถูกเผยแพร่ลงในวารสาร Anthrozoös ชี้ให้เห็นถึงหลักฐานใหม่สนับสนุนทฤษฎีที่ว่า สุนัขอยู่เคียงข้างมนุษย์มานาน

 

ลูกหมาที่น่ารักที่สุด

ในการศึกษาวิจัย Clive Wynne นักวิจัยจากอริโซนา, Nadine Chersini จากมหาวิทยาลัยยูเทรกต์ และ Nathan Hall จากมหาวิทยาลัยเท็กซัส ให้นักศึกษาจำนวน 51 คนให้คะแนนภาพถ่ายของลูกสุนัขที่แตกต่างกันไปตามช่วงวัย ตั้งแต่ในวัยแรกเกิดไปจนถึง 7 เดือน จากผลการสอบถามได้สุนัข 3 สายพันธุ์ที่เป็นที่นิยมมากที่สุดคือ สุนัขพันธุ์แจ็ครัสเซลล์เทอร์เรีย, พันธุ์เคนคอร์โซ่ และพันธุ์เชพเพิร์ด

นอกจากนั้นนักศึกษาที่เข้าร่วมยังได้รับคำสั่งให้เลือกสุนัขที่ “น่าดึงดูดใจ” ที่สุด แทนที่จะเป็น “น่ารัก” ที่สุด เพื่อป้องกันให้ผลการวิจัยออกมาเป็นกลาง “เราไม่อยากได้มุมมองจากคนที่ชอบอะไรๆ น่ารักเพียงอย่างเดียว” Wynne กล่าว

จากผลการวิจัยพบว่า ผู้เข้าร่วมมักจะเลือกสุนัขที่น่าดึงดูดใจที่สุดในช่วงวัย 2 – 3 เดือน ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่มันเริ่มหย่านมแม่ และต้องถูกทิ้งให้เติบโตด้วยตนเอง

อย่างไรก็ดีความน่ารักที่สุดของลูกสุนัขนั้นแตกต่างกันไปตามช่วงวัย แต่ยังคงอยู่ในขอบเขต 6 – 8 สัปดาห์ สายพันธุุ์แจ็ครัสเซลล์น่ารักที่สุดเมื่ออายุได้ 7.7 สัปดาห์, เคนคอร์โซ่ราว 6.3 สัปดาห์ ส่วนไวท์เชพเพิร์ดอยู่ที่ 8.3 สัปดาห์

Harold Herzog ผู้เชี่ยวชาญด้านปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์และสัตว์ จากมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นแคโรไลนา ชี้ว่างานวิจัยชิ้นนี้ช่างชาญฉลาด แต่ยังคงมีบางจุดที่ต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น “ผมคิดว่างานวิจัยจะดีกว่านี้ ถ้าใช้ภาพถ่ายของสุนัขตัวเดิมในหลากหลายช่วงวัย” เขากล่าว ด้าน Wynne ระบุว่า บางภาพที่นำมาทดลองนั้นมาจากสุนัขตัวเดียวกัน แต่บันทึกไว้คนละช่วงวัย อย่างไรก็ตามเขายอมรับว่าส่วนใหญ่แล้วภาพทั้งหมดมาจากสุนัขคนละตัวกัน

นอกจากนั้น Herzog ยังเสริมอีกว่า ควรวิจัยในหมาป่าเพิ่มด้วย เพราะแตกต่างจากสุนัข พ่อแม่หมาป่าเลี้ยงดูลูกของมันจนมีอายุได้ 2 ปี นั่นหมายความว่าความน่ารักไม่ได้จำเป็นสำหรับการเอาชีวิตรอดของหมาป่า

Wynne ระบุว่างานวิจัยยังคงดำเนินต่อไป ในอนาคตเขามีแผนที่จะให้ผู้เข้าร่วมวิจัยชมวิดีโอของลูกสุนัขความยาว 20 – 30 วินาที เพื่อหาคำตอบว่าการเคลื่อนไหวในลักษณะใดที่ดึงดูดใจมนุษย์ โดยตัวเขาได้แรงบันดาลใจมาจากบาฮามาส ประเทศที่มีสุนัขจรจัดเหลือคณานับ “ถ้าความน่ารักเหล่านี้มีความหมายต่อสุนัข ก็น่าจะมีการเคลื่อนไหวบางอย่างที่มนุษย์เราชอบดู” เขากล่าว

(สุนัขพิทบูลก็มีมุมน่ารักนะลองชมได้ ที่นี่)

 

โลกของการแข่งขัน

ฉะนั้นแล้วจากงานวิจัยของ Wynne เมื่อลูกสุนัขปราศจากแม่ พวกมันต้องแข่งขันกันเองเพื่อดึงดูดใจมนุษย์ให้ได้  ด้วยความน่ารักที่จะเกิดขึ้นมากที่สุดในช่วงวัย 6 – 11 สัปดาห์ “สิ่งที่ Wynne เสนอก็คือ ถ้าคุณไม่น่ารัก คุณจะตายได้” Herzog กล่าว

มีลักษณะบางประการที่มนุษย์มองว่าสัตว์ต่างสายพันธุ์นั้นๆ “น่ารัก”: หัวโต, ตาหันไปข้างหน้า, ขนปุกปุย, แขนขาสั้น, ตัวนุ่มนิ่ม หรือรูปร่างกลม คุณลักษณะเหล่านี้คือสิ่งที่เราจะกรีดร้องด้วยความพึงพอใจ และทั้งหมดทั้งมวลเป็นผลมาจากวิวัฒนาการ

คุณลักษณะเหล่านี้เรียกว่า “kinderschema” และคุณสามารถพบมันได้ในตัวของเด็กทารก ซึ่งมนุษย์เราวิวัฒนาการความน่ารักเหล่านี้ให้มีติดตัวมาตั้งแต่เกิดก็เพื่อการเลี้ยงดูเด็กทารกให้มีชีวิตรอด เพราะเมื่อเราพบเจออะไรที่น่ารัก ความน่ารักจะกระตุ้นให้สมองหลั่งสารเคมีที่ช่วยให้เรารู้สึกอยากปกป้องและเลี้ยงดูสิ่งที่ “น่ารัก” เหล่านั้น ในขณะเดียวกันสมองยังหลั่งโดพามีนที่ช่วยให้ความรู้สึกพึงพอใจออกมาอีกด้วย นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมมนุษย์ถึงเสพติดความน่ารัก

แม้ว่างานวิจัยชิ้นนี้จะทำในห้องปฏิบัติการ แต่ Herzog เสริมถึงผลการวิจัยดังกล่าวที่สอดคล้องกับประสบการณ์จริงในธรรมชาติ ในปี 1998 ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เมืองซานตาบาร์บารา นักวิจัยนาม Alan Fridlund และ Melissa MacDonald เดินเตร็ดเตร่ไปทั่วแตมปัสพร้อมกับสุนัขพันธฺุ์โกลเด้นรีทรีฟเวอร์ที่ชื่อ โกลดี้ เพื่อดูว่านักศึกษามีปฏิกิริยาอย่างไร ในช่วงที่มันอายุ 10 สัปดาห์ไปจนถึง 5 เดือน ผลปรากฏว่าโกลดี้ได้รับความสนใจอย่างมาก แต่เมื่อเวลาผ่านไป ในวัย 33 สัปดาห์ ความน่ารักของมันลดน้อยลง จำนวนผู้คนที่สนใจมันก็น้อยลงตาม และนั่นรวมไปถึงความรักที่บรรดานักศึกษามอบให้ด้วยเช่นกัน

เรื่อง Elaina Zachos

 

อ่านเพิ่มเติม

ลูกยีราฟ ได้ลายมาจากแม่

 

Recommend