แมงกะพรุนทำสิ่งเหล่านี้ได้ แม้ไม่มีสมอง

แมงกะพรุนทำสิ่งเหล่านี้ได้ แม้ไม่มีสมอง

แมงกะพรุน ทำสิ่งเหล่านี้ได้ แม้ไม่มีสมอง

เมื่อพูดถึงสัตว์อันตราย เจ้าสัตว์ที่มีรูปร่างเป็นถุงใส่น้ำ ไม่มีแม้กระทั่งสมองอาจไม่ใช่อันดับแรกๆ ที่อยู่ในลิสต์ แต่หากคุณลองไปตะโกนคำว่า “แมงกะพรุน” ริมทะเลดูล่ะก็ รับรองว่าบรรดาคนที่กำลังว่ายน้ำอยู่คงหันมองตาลุกวาวไม่ต่างจากเมียร์แคทเป็นแน่ เพราะล้วนรู้ดีว่ามันเป็นสัตว์มีพิษ ทั้งงดงามและอันตราย แมงกะพรุนคือความขัดแย้งในตัวมันเอง และเหล่านี้คือเรื่องราวที่จะช่วยให้คุณได้ทำความรู้จักกับสัตว์น่าพิศวงนี้มากยิ่งขึ้น

แมงกะพรุนบางชนิดประกอบด้วยน้ำถึง 98%

ร่างกายหลักของแมงกะพรุนคือส่วนที่มีรูปร่างเป็นระฆังคว่ำ ซึ่งประกอบด้วยเลเยอร์บางๆ สองแผ่นของเซลล์ที่ไม่มีชีวิต โดยตรงกลางประกอบด้วยน้ำ รายงานจาก Lucas Brotz นักชีววิทยาด้านแมงกะพรุน และนักวิจัยดุษฏีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยบริติชโคลอมเบีย ในเมืองแวนคูเวอร์

โครงสร้างที่ดูธรรมดานี้คือตัวอย่างของวิวัฒนาการอันเรียบง่าย เพื่อการดำรงชีวิต นั่นทำให้แมงกะพรุนขยายขนาดได้ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และกินอาหารโดยไม่ต้องกังวลเรื่องการสูญเสียพลังงาน

“พวกมันรอดชีวิตมาได้จากการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่” Brotz กล่าว เนื่องจากสิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่ที่เคยมีชีวิตร่วมสมัยกับแมงกะพรุนนั้นได้สูญพันธุ์ไปหมดสิ้น “เจ้าถุงน้ำเหล่านี้มีกุญแจสำคัญที่ช่วยให้มันรอดชีวิตนานมานานถึง 600 ล้านปี”

 

เร็วกว่าที่คิด…

เข็มพิษของแมงกะพรุนได้ชื่อว่าเป็น “หนึ่งในกระบวนการที่รวดเร็วที่สุดทางชีววิทยา” Sean Colin นักนิเวศวิทยาจากมหาวิทยาลัย Roger Williams รัฐโรดไอแลนด์กล่าว ดูจากรูปลักษณ์อันเรียบง่ายของมัน เจ้าสิ่งมีชีวิตนี้ซับซ้อนมากกว่าที่คิด

เซลล์เข็มพิษของแมงกะพรุนมีชื่อเรียกว่า cnidocytes ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะตัวที่พบได้ในบรรดาแมงกะพรุน ไปจนถึงปะการังและดอกไม้ทะเล ญาติของพวกมัน ภายในเซลล์เข็มพิษจะประกอบไปด้วยออร์แกเนลล์ (Organelle) โครงสร้างย่อยที่เรียกว่า nematocyst หรือถุงพิษ ซึ่ง Colin บรรยายว่าเป็นเหมือนกับถุงบรรจุแคปซูลพิษ โดยพื้นที่หนึ่งตารางเซนติเมตรบนหนวดแมงกะพรุน อาจมีเซลล์เข็มพิษกระจายอยู่ตั้งแต่หลักพันจนถึงหลักแสนเซลล์เลยทีเดียว

เมื่อหนวดของมันถูกสัมผัสเข้า การกระตุ้นจะส่งผลให้ถุงพิษยิงเข็มพิษออกไปด้วยความเร็วน้อยกว่า 10 ในพันวินาที ความเร็วดังกล่าวมากพอที่จะเจาะเปลือกของสัตว์จำพวกกุ้ง กั้ง ปู ได้หากเจาะเข้าจุดที่เหมาะสม เรียกได้ว่าปฏิกิริยาการตอบสนองต่อเหยื่อของมันนั้นจัดเป็นหนึ่งในการเคลื่อนไหวทางธรรมชาติที่รวดเร็วที่สุด

 

พวกมันไม่ได้ตั้งใจต่อย

ถุงพิษจะทำงานทันทีเมื่อสัมผัสกับสารอินทรีย์ รวมไปถึงร่างกายของมนุษย์ด้วย และพิษจากแมงกะพรุนบางชนิดก็อันตรายร้ายแรง ตัวอย่างเช่น แมงกะพรุนกล่องทางตอนเหนือของออสเตรเลีย และในมหาสมุทรแถบอินโด-แปซิฟิก ในขณะที่บางสายพันธุ์ถุงพิษของมันก็ไม่ทำปฏิกิริยากับผิวหนังของมนุษย์

อย่างไรก็ดี แมงกะพรุนจะไม่ต่อยพวกเดียวกัน Brotz ระบุว่าในตัวของแมงกะพรุนมีสารเคมีบางอย่างที่ป้องกันไม่ให้มันใช้พิษไปกับพวกเดียวกันเอง

แมงกะพรุน
แมงกะพรุนทองลอยตามแสงอาทิตย์ที่เคลื่อนตัวไปเรื่อยๆ ระหว่งาวัน ในทะเลสาบแมงกะพรุนของรัฐปาเลา ประเทศฟิลิปปินส์
ภาพถ่ายโดย Michael Melford

 

แมงกะพรุนภาคพื้น

ไม่ใช่แมงกะพรุนทุกชนิดที่จะล่องลอยไปตามกระแสน้ำ บางตัวใช้ชีวิตแบบกลับหัวอยู่ที่พื้นทะเล ในน่านน้ำที่อบอุ่นของมหาสมุทรแถบอินโด-แปซิฟิก, ฟลอริดา, แคริบเบียน และฮาวาย เช่นแมงกะพรุนหัวค่ำ พวกมันคว่ำหัวลงกับพื้นทราย ยื่นหนวดออกไปคอยจับแพลงก์ตอนที่ลอยมากับน้ำกิน ในขณะเดียวกันก็ใช้พลังงานที่ได้จากการสังเคราะห์แสงของสาหร่ายเพื่อการเจริญเติบโต

 

แมงกะพรุนกับรางวัลโนเบล

มีแมงกะพรุนจำนวนหนึ่งใน 3,000 สายพันธุ์ ที่เป็นไบโอลูมิเนสเซนส์ (Bioluminescence) นั่นหมายความว่าพวกมันเปล่งแสงได้เอง เช่น แมงกะพรุนคริสตัล ที่มียีนผลิตโปรตีน green fluorescent protein (GFP ) ในร่างกาย และด้วยโปรตีนเรืองแสงเหล่านี้ บรรดานักวิทยาศาสตร์ได้นำไปประยุกต์ใช้กับร่างกายมนุษย์ สารโปรตีนเรืองแสงเหล่านี้ช่วยให้นักวิจัยค้นหาจุดที่เกิดปัญหาได้ เช่น การค้นหาเชื้อ HIV ตลอดจนเฝ้าดูตำแหน่งที่คาดว่าจะเกิดปัญหา

และที่น่าทึ่งก็คือ การพัฒนายีน GFP ยังช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ศึกษาเซลล์นั้นๆ ได้โดยไม่จำเป็นต้องนำออกมาจากร่างกาย ต้องขอบคุณผู้ค้นพบและพัฒนาเทคนิคนี้ โอซามุ ชิโมมุระ (Osamu Shimomura), มาร์ติน ชาลฟี (Martin Chalfie) และโรเจอร์ เฉียน (Roger Y. Tsien) ซึ่งนักวิจัยทั้งสามท่านได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีไปในปี 2008

แมงกะพรุน
แมงกะพรุนคริสตัล ( Aequorea victoria) ล่องลอยอยู่ในอควาเรียม Long Beach รัฐแคลิฟอร์เนีย ยีนที่สร้างโปรตีนเรืองแสงของมันช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ได้รับรางวัลโนเบล
ภาพถ่ายโดย Joel Satore

 

แม้ตายแล้วพวกมันก็ยังน่ากลัว

ถุงพิษของแมงกะพรุนเป็นอะไรที่เหมือนกับปีศาจฆ่าไม่ตายในหนังสยองขวัญ เพราะคุณผู้อ่านสามารถถูกต่อยได้เมื่อสัมผัส แม้กระทั่งแมงกะพรุนตัวนั้นๆ จะตายไปแล้วก็ตาม

และหากคุณกินหมึกที่ล่าแมงกะพรุนเป็นอาหาร แต่บังเอิญว่าแมงกะพรุนยังถูกย่อยไม่หมด คุณก็อาจถูกต่อบได้เช่นกัน Colin กล่าว

อ่านจบแล้วมีใครอยากเป็นมังสวิรัติขึ้นมาไหม?

เรื่อง Liz Langley

 

อ่านเพิ่มเติม

สิ่งมีชีวิตไม่มีสมองเหล่านี้ทำสิ่งที่น่าทึ่งได้

Recommend