มังกรโคโมโดกำลังเผชิญอนาคตที่ไม่อาจคาดเดา

มังกรโคโมโดกำลังเผชิญอนาคตที่ไม่อาจคาดเดา

มังกรโคโมโด กิ้งก่าที่ดุร้ายที่สุดในโลก
มังกรโคโมโดเพศผู้ตัวเต็มวัยสองตัวบนเกาะโคโมโดช่วยกันทึ้งซากแพะ พวกมันแบ่งปันเหยื่อกันหากมีมากพอ แต่ต่อสู้แย่งชิงหากอาหารขาดแคลน ทว่าไม่ค่อยพบเห็นการบาดเจ็บรุนแรง มังกรโคโมโดไม่ต่างจากสัตว์พิษทั้งหลาย ตรงที่มีภูมิคุ้มกันพิษของพวกเดียวกัน

ภายในเขตอุทยานแห่งชาติโคโมโด มังกรได้รับการปกป้องจากการรุกรานของมนุษย์ ยิ่งไปกว่านั้น เหยื่อของพวกมันยังเป็นสิ่งต้องห้ามอีกด้วย การฆ่ากวางถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ด้วยเหตุนี้ ชาวบ้านจึงไม่สามารถแบ่งเนื้อให้มังกรได้อีกต่อไป บางคนบอกว่านั่นทำให้มังกรขุ่นเคืองไม่น้อย

การโจมตีของมังกรโคโมโดไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย แต่สองสามครั้งหลังเมื่อไม่นานมานี้กลายเป็นข่าวใหญ่ ปีที่แล้วมังกรโคโมโดตัวยาวร่วมสองเมตรหลุดเข้าไปในที่ทำการอุทยานแห่งชาติโคโมโดและกัดเจ้าหน้าที่สองนายบริเวณขาซ้าย ทั้งคู่ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลบนเกาะบาหลีโดยทางเครื่องบินเพื่อรับการรักษาป้องกันการติดเชื้อ และฟื้นตัวในเวลาต่อมา อีกกรณีเป็นหญิงชราวัย 83 ปีที่สู้กับมังกรโคโมโดตัวยาวกว่าสองเมตรด้วยด้ามไม้กวาดทำเองและลูกเตะที่เข้าตรงจุด มังกรกัดมือหญิงชราทำให้ต้องเย็บถึง 35 เข็ม

กรณีอื่น ๆ จบลงอย่างน่าสลด เมื่อปี 2007 มังกรโคโมโดทำร้ายมันซูร์ เด็กชายในหมู่บ้านที่ปลีกตัวจากเกมฟุตบอลเพื่อไปถ่ายปัสสาวะหลังต้นไม้ เขาเสียชีวิตเพราะเสียเลือดมาก ทุกวันนี้ เวลาชาวบ้านเห็นมังกรโคโมโดย่างกรายเข้าใกล้ หรือย่องตามปศุสัตว์ พวกเขาก็แค่ตะโกนไล่หรือไม่ก็ขว้างหินใส่ สำหรับมังกรที่โจมตีผู้คน รัฐบาลจะนำตัวออกนอกพื้นที่ให้ห่างไกลจากหมู่บ้าน แต่สุดท้ายพวกมันก็มักหวนคืนถิ่น

ใช่ว่าการเผชิญหน้าจะเลวร้ายไปเสียทุกครั้ง ชายคนแรกที่นั่งกับมังกรได้ราวมีมนตร์สะกดคือ วอลเตอร์ ออฟเฟนเบิร์กภัณฑารักษ์จากพิพิธภัณฑ์แห่งรัฐฟลอริดา ในช่วงปี 1969 ถึง 1970 เขาและครอบครัวตั้งแคมป์บนเกาะโคโมโดนาน 13เดือน เพื่อบันทึกรายละเอียดทุกย่างก้าวของมังกรโคโมโดซึ่งเป็นที่มาของผลงานหนังสืออันลุ่มลึกเรื่อง นิเวศวิทยาเชิงพฤติกรรมของมังกรโคโมโด (The Behavioral Ecology of the Komodo Monitor)

ออฟเฟนเบิร์กบันทึกเหตุการณ์ตอนที่พวกมังกรโคโมโดขี้สงสัยเข้ามาป้วนเปี้ยนในที่พัก ตัวหนึ่งแลบลิ้นเลียเครื่องบันทึกเทป มีด และเท้าของเขา เพื่อกระตุ้นให้มันออกไปแต่โดยดี เขาลองทำเป็นแลบลิ้นตอบด้วยการใช้ดินสอเคาะหัวมัน ปรากฏว่าได้ผล หรือจะเป็นตอนที่มังกรอีกตัวหนึ่ง “นอนเหยียดแข้งเหยียดขาในที่ร่ม… ขาหน้าของมันพาดอยู่บนขาผม และนอนครึ่งหลับครึ่งตื่นอยู่ตรงนั้น” ออฟเฟนเบิร์กแหย่ให้เจ้าตัวหลังยอมจากไปโดยไม่เกิดเหตุใด ๆ

มังกรโคโมโด
กลิ่นอาหารดึงดูดมังกรโคโมโดวัยเยาว์มายังครัวของที่ทำการอุทยานแห่งชาติโคโมโด มันยอมล่าถอยไปหลังเจ้าหน้าที่งัดไม้แข็งข่มขู่ น้อยครั้งนักที่การเผชิญหน้านำไปสู่การบาดเจ็บ กระนั้นเจ้าหน้าที่ก็มักนำตัวผู้บุกรุกไปปล่อยที่อื่น แต่พวกมันก็หาทางกลับถิ่นเดิมได้เสมอ

ย้อนหลังไปในช่วงทศวรรษ 1970 ออฟเฟนเบิร์กไม่กังวลเรื่องความอยู่รอดของมังกรโคโมโดเท่าไรนัก มาวันนี้นักวิทยาศาสตร์พากันตั้งคำถามว่า มังกรเหล่านี้จะอยู่รอดได้หรือไม่

ความอยู่รอดของมังกรโคโมโดขึ้นอยู่กับเรื่องพื้น ๆ อย่างการบริหารจัดการที่ดินเป็นอย่างมาก บนเกาะฟลอเรสแม้จะมีเขตอนุรักษ์ธรรมชาติหลายแห่ง แต่ชาวบ้านยังคงจุดไฟเผาเพื่อเปิดพื้นที่ทำไร่และเลี้ยงสัตว์ ทำให้ถิ่นอาศัยของมังกรโคโมโดกระจัดกระจายเป็นหย่อมเล็ก ๆ นอกจากนี้ชาวบ้านบางส่วนรวมทั้งสุนัขจรจัดยังล่ากวางและหมูป่าที่มังกรโปรดปรานด้วย นักวิทยาศาสตร์ยังสงสัยว่าสุนัขจรจัดเหล่านั้นอาจไล่ และกระทั่งฆ่ามังกรวัยเยาว์ที่ใช้ชีวิตขวบปีแรกบนยอดไม้ ก่อนจะลงมายังพื้นดิน

หากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อภูมิประเทศมังกรโคโมโดก็ไม่อยู่ในสภาพที่พร้อมจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น โชฟีและทิม เจสซอป นักนิเวศวิทยาจากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ผู้ทำการวิจัยเรื่องมังกรโคโมโดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อธิบายว่า ด้วยจำนวนประชากรน้อยกว่า 5,000 ตัวที่กระจัดกระจายอยู่บนเกาะไม่กี่แห่ง ทำให้ความหลากหลายทางพันธุกรรมลดลงส่งผลให้ขีดความสามารถในการปรับตัวของพวกมันมีจำกัด

เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับมังกรโคโมโดให้มากขึ้น โชฟี, เจสซอป และเพื่อนร่วมงานชาวอินโดนีเซีย ได้ดักจับและติดแถบข้อมูลให้มังกรโคโมโดราวหนึ่งพันตัวและเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอราว 800 ตัว ความพยายามของพวกเขาให้ความรู้ไม่น้อย ตั้งแต่เรื่องจำนวนประชากร อัตราส่วนเพศผู้ต่อเพศเมีย อัตราการรอดชีวิต ความสำเร็จในการสืบพันธุ์ ไปจนถึงระดับหรือความเข้มข้นของการผสมพันธุ์กันเองภายในกลุ่มประชากร ต่อจากนั้นก็เป็นเรื่องของการจับคู่  เพื่อหาหนทางในการย้ายมังกรจากกลุ่มหนึ่งไปยังอีกกลุ่มหนึ่งและให้มั่นใจได้ว่าสมาชิกใหม่จะไม่เกี่ยวพันกันอย่างใกล้ชิดในเชิงพันธุกรรม

สำหรับหนทางที่สุดโต่งกว่านั้น ในกรณีที่จำนวนประชากรลดฮวบลง ก็คือการนำประชากรจากสวนสัตว์เข้ามาเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรม ในอินโดนีเซีย มังกรโคโมโดได้รับการผสมพันธุ์ในสถานเพาะเลี้ยงมาตั้งแต่ปี 1965 นับแต่นั้นความพยายามเพาะพันธุ์ก็ประสบความสำเร็จอย่างงดงามทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทุกวันนี้มีมังกรโคโมโดราว 400 ตัวอาศัยอยู่ในสวนสัตว์ต่าง ๆ ทั่วโลก

 

Recommend