กระนั้น เจสซอปยอมรับว่า การเล่นบทเป็นพระเจ้าเสียเองเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันไม่จบ “เราอาจทำลายกระบวนการวิวัฒนาการโดยเข้าไปจุ้นจ้านกับวิถีทางตามธรรมชาติของสัตว์ต่าง ๆ บางคนลังเลที่จะทำอะไรทำนองนั้น” นอกจากนี้ โครงการย้ายถิ่นพำนักให้สัตว์ในพื้นที่ต่าง ๆ “มักได้ผลเพียงแค่ครึ่งเดียว” อีกทั้งการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตจากสัตว์ในสถานเพาะเลี้ยงให้กลับคืนสู่ธรรมชาติยังไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่มีสิ่งใดรับประกันว่า เมื่อนำมังกรโคโมโดตัวเต็มวัยมาอยู่ด้วยกันแล้วจะได้ลูกมังกรเกิดใหม่ หรือเผ่าพันธุ์มังกรจะอยู่รอดได้ในระยะยาวท่ามกลางถิ่นอาศัยที่ได้รับการปกป้องอย่างไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย
โชฟีและเพื่อนร่วมงานกระตุ้นการทำงานของเจ้าหน้าที่อินโดนีเซียอย่างให้เกียรติ และระดมการสนับสนุนเพื่ออนุรักษ์มังกรโคโมโด พวกเขาไม่เพียงพูดคุยกับชาวเกาะฟลอเรสว่า การสูญเสียถิ่นอาศัยและการลักลอบล่าสัตว์ที่เป็นเหยื่อของมังกรโคโมโดส่งผลร้ายต่อพวกมันอย่างไร แต่ยังหวังด้วยว่าจะสามารถเฝ้าติดตามพื้นที่คุ้มครองได้ดีขึ้นและให้การอบรมเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเกี่ยวกับชีววิทยาของมังกรโคโมโด เพื่อที่บุคลากรเหล่านั้นจะสามารถให้ข้อมูลแก่นักวิทยาศาสตร์ได้ว่า เหล่ามังกรยังอยู่ดีมีสุขหรือไม่อย่างไร
ขณะเดียวกัน นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาชมมังกรโคโมโดก็ต้องอดทนด้วย เพราะมังกรโคโมโดป่าไม่ชอบให้ใครเห็นตัวง่าย ๆ ตลอดสองสัปดาห์ที่อยู่บนเกาะ ฉันต้องวิ่งไล่ตามทีมนักชีววิทยาในการออกล่าหามังกรและส่วนใหญ่มักลงเอยด้วยการคว้านํ้าเหลว โดยมีเดนี ปูร์วันดานา และอัคหมัด อารีฟีอานดี สองหนุ่มชาวอินโดนีเซีย ผู้นำโครงการเพื่อความอยู่รอดของมังกรโคโมโด (Komodo Survival Program) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2007 เป็นผู้กำหนดความเร็วในการเดินป่าของเรา ตามมาด้วยเจสซอป ชาวออสเตรเลียร่างสูงใหญ่ที่ก้าวเดียวของเขาทำให้ฉันต้องวิ่งตามถึงสามก้าว ปิดท้ายขบวนด้วยเจ้าหน้าที่เขตอนุรักษ์ธรรมชาติสองสามคน และชาวบ้านผู้ไม่สะทกสะท้านกับความร้อนและภูมิประเทศที่เป็นเนินเขาอีกไม่กี่คน
ตอนที่โชฟีและฉันไปถึงเกาะฟลอเรส กับดัก 26 อันที่ทีมงานวางไว้จับมังกรโคโมโดได้เพียงสี่ตัว (ที่เหลือเป็นสุนัขจรจัดมากกว่า) ลดลงจาก 14 ตัวที่จับได้ในช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน แต่นี่อาจไม่ได้บ่งบอกถึงจำนวนประชากรที่ลดลง กล้องที่ติดตั้งไว้ในพื้นที่บันทึกภาพมังกรมาด้อม ๆ มอง ๆ และดมกับดัก แต่ไม่เดินเข้าไป
ก่อนกำหนดกลับสองวัน โชคก็เข้าข้างฉัน ยังเหลือกับดักให้ตรวจดูอีกสามอัน รอบแรกทุกอันว่างเปล่าระหว่างการเดินตรวจรอบที่สอง เราเห็นผิวหนังตะปุ่มตะปํ่าผ่านช่องว่างของกับดักอันที่สาม มันเป็นเพียงมังกรโคโมโดวัยเยาว์ ความยาวจากจมูกจรดปลายหางราวหนึ่งเมตร น่าจะอายุประมาณสามปี หน้าตาน่าเอ็นดู (ถ้าคุณมองแบบเปิดใจกว้าง) มีเกล็ดสีเทาเข้ม เหลือง และส้มทั่วตัว และแถบเกล็ดสีเข้มค่อย ๆ จางไล่ไปสู่ปลายหาง ฉันคุกเข่าลงเพื่อให้มองผ่านช่องกับดักโลหะได้อย่างถนัดถนี่ มันปรายตาที่มีวงแหวนสีเหลืองล้อมรอบตอบกลับมา ก่อนที่คนจับมังกรจะนำมันออกจากกรงด้วยตะขอและบ่วงบาศ ใช้แถบกาวพันปาก (เพื่อป้องกันอันตรายให้เรา) และมัดขามันแนบกับลำตัวอย่างเบามือแต่แน่นหนาเพื่อให้อยู่นิ่ง ๆ
ต่อจากนั้นเป็นกิจกรรมอันชุลมุน ทีมงานกระวีกระวาดช่วยกันวัดขนาดมังกรโคโมโดที่จับได้ ชั่งนํ้าหนัก และใช้เครื่องอ่านไมโครชิปตรวจหาแถบข้อมูลใต้ผิวหนังซึ่งจะระบุถึงการจับครั้งก่อนหน้านี้ (แต่ไม่พบ) เจาะเลือดจากหางเพื่อนำไปวิเคราะห์ทางพันธุกรรม และถ่ายภาพจากทุกมุม ไม่ถึง 20 นาทีต่อมา พวกเขาดึงแถบกาวที่พันปากออกและเจ้ามังกรโคโมโดก็ได้รับอิสรภาพ มันวิ่งปรูดหายเข้าไปในป่าทันที พลางตะกุยฝุ่นและหินอย่างร้อนรน ช่างเป็นการล่าถอยอย่างเอาจริงเอาจังของพญามังกรในโลกแห่งความจริงโดยแท้
เรื่อง เจนนิเฟอร์ เอส. ฮอลแลนด์
ภาพถ่าย สเตฟาโน อุนแตร์ทีแนร์
อ่านเพิ่มเติม