เต่าทะเล 5 สายพันธุ์ ที่อาศัยอยู่ในน่านน้ำไทย

เต่าทะเล 5 สายพันธุ์ ที่อาศัยอยู่ในน่านน้ำไทย

เต่าทะเล จัดเป็นสัตว์ประเภทเลื้อยคลานที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ โดยทั่วโลกตระหนักถึงจำนวนที่ลดลง ในปัจจุบันมีแนวโน้มว่าจะสูญพันธุ์ในไม่ช้า

ในปัจจุบัน เต่าทะเล ที่กระจายพันธุ์อยู่แถบน่านน้ำทะเลไทย มีจำนวนที่น้อยลงอย่างมาก จากการทำประมงเกินขนาดปริมาณความต้องการกระดองและเนื้อเต่าทะเลเพื่อทำการส่งออก และการสูญเสียพื้นที่วางไข่ตามแนวชายหาด ในระยะต่อมากรมประมงมองเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล จึงได้ออกกฎห้ามทำการประมงอวนลากใกล้ชายฝั่งในระยะ 3,000 เมตรจากชายฝั่ง โดยเพิ่มกฎหมายเกี่ยวกับการอนุรักษ์เต่าทะเลมากขึ้น และแหล่งวางไข่เต่าทะเลหลายแห่งได้ประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งทะเล

เต่าทะเลจัดอยู่ในชั้นสัตว์เลื้อยคลาย มีสายตาสั้นเมื่ออยู่บนบก แต่สายตากลับตอบสนองได้ดีขึ้นเมื่ออยู่ใต้น้ำ เนื่องจากการหักเหของแสงในน้ำ เพราะแสงไฟมีผลต่อสายตาของเต่าทะเลอย่างมาก ลูกเต่าทะเลแรกเกิดจะอาศัยแสงรำไรของขอบฟ้า เป็นตัวกำหนดทิศทางเพื่อมุ่งหน้าสู่ทะเล เว้นแต่ว่า บริเวณใกล้เคียงมีสิ่งให้แสงสว่างมากกว่า ลูกเต่าทะเลจะหันทิศทางมาทางแสงไฟทันที ดังนั้น บริเวณหน้าหาดที่มีเรือประมงมาก แสงสว่างอาจทำให้ลูกเต่าทะเล พากันไปติดอวนชาวประมงได้

เต่าทะเล ,เต่า ,เต่าในประเทศไทย

ชนิดของเต่าทะเล

มีการค้นพบเต่าทะเลทั่วโลกมีทั้งหมด 8 ชนิด แต่พบในไทยเพียง 5 ชนิด แบ่งเป็น 2 วงศ์ คือ Cheloniidae มีอยู่ 4 ชนิด ได้แก่ เต่าตนุ เต่ากระ เต่าหญ้า และเต่าหัวฆ้อน  วงศ์ Dermochelyidae มีอยู่เพียงชนิดเดียวคือ เต่ามะเฟือง ซึ่งทั้งหมดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าในปี พ.ศ.2535  องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) และอนุสัญญาไซเตส (CITES)

เต่าทะเล ,เต่า ,เต่าในประเทศไทย, เต่าตนุ

เต่าตนุ (Green turtle) ชื่อวิทยาศาสตร์ Chelonia mydas (Linnaeus, 1758)

มีจะงอยปากค่อนข้างทู่เมื่อเปรียบเทียบกับเต่ากระ ริมฝีปากทั้งบน-ล่างมีรอยหยักขนาดเล็ก และมีกระดองสีน้ำตาลอมเหลืองมีลายริ้วสีจางกว่ากระจายจากส่วนกลางเกล็ด จึงเป็นที่มาของชื่อ เต่าแสงอาทิตย์ เมื่อโตเต็มวัยมีความยาว 120 ซม. หนัก 150 กก. โดยเต่าตนุเพศเมียในช่วงเต็มวัยจะวางไข่ทุก 2 ปี เริ่มตั้งแต่ช่วงอายุ 14-25 ปี ซึ่งสามารถวางไข่ได้ตลอดทั้งปี แต่มีช่วงสูงสุดระหว่างเดือนมิถุนายน-สิงหาคม เต่าตนุทั้งเพศผู้และเพศเมียสามารถผสมพันธุ์ได้ทีละหลายตัวเช่นเดียวกัน ในช่วงวัยเด็กเต่าตนุกินทั้งพืชและสัตว์น้ำเล็กๆ เป็นอาหาร เมื่อโตเต็มวัยจะกินพืชเป็นหลัก เช่น สาหร่ายทะเล และหญ้าทะเล ถือเป็นเต่าทะเลชนิดเดียวที่กินพืช สามารถพบเต่าตนุได้ในเขตร้อนตามแนวชายฝั่ง ทั้งฝั่งทะเลอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน

เต่าทะเล ,เต่า ,เต่าในประเทศไทย, เต่ากระ

เต่ากระ Hawksbill turtle ชื่อวิทยาศาสตร์ Eretmochelys imbricate (Linnaeus, 1766)

จะงอยปากค่อนข้างแหลมงุ้มคล้ายปากเหยี่ยว เพื่อการหากินตามซอกหลืบต่างๆ ของแนวปะการัง ลักษณะเด่นชัดคือ เกล็ดบนกระดองมีลวดลายริ้วที่สวยงาม และลักษณะเกล็ดซ้อนกันอย่างเด่นชัด เต่ากระแรกเกิดไปจนถึงช่วงวัยรุ่นจะมีสันแหลมตามความยาวกระดอง มีเล็บทั้งขาหน้าและหลังข้าง ซึ่งจะค่อยๆ หายไปเมื่อโตขึ้น มีความยาว 95 ซม. หนัก 60 กก. เต่ากระเพศเมียโตเต็มวัยมีการวางไข่ทุก 2-3 ปี ในระหว่างช่วงฤดูร้อน-ฤดูฝน เต่ากระกินฟองน้ำและสัตว์น้ำเล็กๆ ในแนวปะการัง นอกจากนี้อาหารของเต่ากระยังมี กุ้ง หมึก เพรียง รวมถึงงูทะเล ซึ่งเต่ากระอาศัยในเขตร้อน บริเวณน้ำตื้นแนวปะการัง แนวหญ้าทะเลและแนวสาหร่าย

เต่าทะเล ,เต่า ,เต่าในประเทศไทย, เต่าหญ้า

เต่าหญ้า Olive Ridley Turtle ชื่อวิทยาศาสตร์ Lepidochelys olivacea (Eschscholtz, 1829)

มีกระดองผิวเรียบสีเทาอมเขียว สีสันไม่สวยงามเท่าเต่ากระและเต่าตนุ ส่วนหัวค่อนข้างโต จะงอยปากมนกว่าเต่าตนุ เมื่อโตเต็มวัยมีขนาดประมาณ 75-80 ซม. น้ำหนัก 50 กก. จัดเป็นเต่าทะเลมีขนาดเล็กที่สุด เมื่อตัวเต็มวัยจะหากินอยู่บริเวณชายฝั่งน้ำตื้นแต่สามารถดำน้ำได้ถึง 300 เมตร วางไข่ทุกๆ 1-3 ปี ฤดูวางไข่ตั้งแต่เดือนตุลาคม-มีนาคม เต่าหญ้า มีปากใหญ่และแข็งแรง เพื่อให้ง่ายต่อการบดเคี้ยวเปลือกที่แข็งของปู กุ้ง และหอย นอกจากนี้ยังกินอาหารชนิดอื่นๆ ได้แก่ แมงกะพรุนและพืชทะเลชนิดต่างๆ พบว่าอาศัยหลักอยู่ในเขตซีกโลกเหนือ ประเทศไทยพบมากในฝั่งทะเลอันดามัน

เต่าทะเล ,เต่า ,เต่าในประเทศไทย, เต่าหัวฆ้อน

เต่าหัวฆ้อน Loggerhead Turtle ชื่อวิทยาศาสตร์ Caretta caretta (Linneaus, 1758)

มีรูปร่างคล้ายเต่าหญ้าและเต่าตนุมาก รูปทรงของกระดองหลังเรียวเล็กลงมาทางส่วนท้าย ลำคอหนาและสั้น เพศเมีย ตัวเต็มวัยมีความยาว 95 ซม. น้ำหนัก 120 กก. ลูกเต่าแรกเกิดจะอาศัยอยู่ในกระแสน้ำอุ่นในมหาสมุทร จนกระทั่งถึงวัยใกล้สืบพันธุ์จึงกลับสู่แหล่งฟักตัวบนชายฝั่ง

โดยเต่าหัวฆ้อนไม่เคยพบการขึ้นมาวางไข่ในประเทศไทยเลยตลอดระยะ 20 ปี ที่ผ่านมา มีเพียงรายงานพบว่าหากินอยู่ในน่านน้ำไทยเท่านั้น เต่าหัวฆ้อนกินหอย ปู และหมึก เป็นอาหาร อาศัยใกล้ชายฝั่งน้ำตื้น ในประเทศไทยพบการเกยตื้นทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งเข้าใจว่าเป็นประชากรเต่าทะเลจากแหล่งอื่นของประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาอาศัยหรือหาอาหารในน่านน้ำไทย

เต่าทะเล ,เต่า ,เต่าในประเทศไทย, เต่ามะเฟือง

 

เต่ามะเฟือง Leatherback Turtle ชื่อวิทยาศาสตร์ Dermochelys coriacea (Vandelli, 1761)

กระดองเป็นแผ่นหนังหนาสีดำผิวเรียบไม่เป็นเกล็ด มีแต้มสีขาวประๆ ไปทั่วตัว กระดองเป็นสันนูนตามแนวความยาวตั้งแต่ส่วนหัวถึงท้าย ครีบหน้าใหญ่ลักษณะเหมือนใบพาย ตัวเต็มวัยยาว 210 เซนติเมตร หนัก 900 กิโลกรัม เป็นเต่าทะเลมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

เต่ามะเฟืองเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 13-14 ปี ในช่วงขึ้นมาวางไข่จะมีความยาวของตัวไม่น้อยกว่า 150 เซนติเมตร มักวางไข่ในแนวหาดทรายโล่ง เต่ามะเฟืองกินแมงกะพรุนเป็นอาหารหลัก มีปากบอบบางและจะงอยปากบนเป็นหยัก 3 หยัก เพื่อกัดกินสัตว์ไม่มีเปลือกแข็ง ภายในช่องปากและลำคอมีอวัยวะคล้ายหนามเล็กๆ จำนวนมากเรียงตัวชี้ไปทางด้านหลังเพื่อช่วยในการกลืนอาหาร อาศัยในเขตทะเลเปิด ประเทศไทยพบเต่ามะเฟืองได้น้อยมาก แต่พบการเกยตื้นในชายฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน

จะสังเกตได้ว่าเต่าทะเลแต่ละชนิดจะเลือกกินอาหารที่ต่างกัน เพื่อลดการแก่งแย่งอาหารในธรรมชาติ บางชนิดกินเนื้อเป็นอาหาร (Carnivorous) บางชนิดกินพืช (Herbivorous) หรือบางชนิดกินทั้งพืชและสัตว์ พฤติกรรมการกินอาหารแตกต่างกันนี้ทำให้เต่าทะเลมีวัฒนาการช่องปาก (beak) ไม่เหมือนกัน ชนิดอาหารที่กินทำให้เต่าทะเล มีบริเวณที่อยู่อาศัยที่แตกต่างด้วยเช่นกัน

ขอบคุณข้อมูลและภาพ: กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

***แปลและเรียบเรียงโดย ปุณยวีร์ เฉลียววงศ์เจริญ
โครงการนักศึกษาฝึกงาน กองบรรณาธิการ นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย


อ่านเพิ่มเติม: เพชรยอดมงกุฎแห่งทะเลแคริบเบียน

Recommend