หนูที่ถลกขนแล้วจะถูกนำไปรมควันบนกองฟาง ก่อนขายให้ลูกค้าในเมืองโก๋หยุง เวียดนาม
หนูเป็นแหล่งโปรตีนที่มีประโยชน์พบได้ทั่วไป
ในเขตร้อนของเอเชีย
เรื่อง คริสเตียน เดลลาโมเร
ภาพถ่าย เอียน เต๋อ
เมืองเจิวด๊ก เวียดนาม
มีคนถามฉันว่าหนูกับค้างคาว จะเลือกกินอะไรล่ะ?
พ่อครัวชูซากหนูดิบและค้างคาวที่เปื้อนเลือดต่อหน้าฉัน ราวกับว่านี่เป็นตัวเลือกที่ยั่วน้ำลายสุดๆ แล้ว
โดยปกติแล้วฉันคงไม่เลือกทั้งสองอย่าง แต่เนื่องจากเป็นวันส่งท้ายปีเก่าของเมืองสามเหลี่ยมแม่น้ำโขงแห่งนี้ งั้นฉันจะยอมเสี่ยงกินมันนิดๆ หน่อยๆ แล้วกัน
ฉันคิดอยู่แค่สองวิเท่านั้น เลือกหนูสิ เพราะฉันรู้จากสภาพแวดล้อมในชนบทของเราว่านี่ไม่ใช่เจ้าตัวน่ารังเกียจที่อาศัยอยู่ตามรถไฟใต้ดิน และหนูก็ดูน่ากินกว่ามาก ฉันไม่รู้หรอกว่าค้างคาวรสชาติเป็นยังไง หนูที่อยู่ในวันเฉลิมฉลองถูกสับและทอด พร้อมเรียงในตะกร้าดูคล้ายแท่งมอสซาเรลล่า มันก็น่าอร่อยจริงๆ แหละ
คนส่วนมากในเขตร้อนของเอเชียเห็นด้วยว่า หนูเป็นแหล่งโปรตีนที่ได้รับความนิยมในภูมิภาคหนึ่งของโลก โดยเฉพาะชุมชนเกษตรกรรมเวียดนามทั้งทางเหนือและใต้ อย่างไรก็ตามคุณจะเห็นหนูตามเมนูในพื้นที่เมืองใหญ่ รวมทั้งโฮจิมินห์ซิตีด้วย
แกรนต์ ซิงเกิลตัน นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาการจัดการหนูในระบบนิเวศจากสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติในฟิลิปปินส์ กล่าวว่า ความจริงสามเหลี่ยมแม่น้ำโขง เนื้อหนูจะมีราคาสูงกว่าไก่ เฉพาะในสามเหลี่ยมแม่น้ำโขงสามารถจับหนูนาเป็นๆ ได้ถึง 3,600 ตันต่อปี โดยมีมูลค่าประมาณ 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
หากสิ่งนี้ทำให้คุณประหลาดใจ บางทีคุณลองนึกภาพหนูบ้าน(Norway rat) ที่อาศัยอยู่ตามเมืองหรือหนูท้องขาว(Black rat) นอนอยู่บนจานดูสิ ความจริงมีหนูหลายสิบชนิด และคนเวียดนามส่วนใหญ่กินหนูแค่สองชนิด คือหนูนาที่หนักราวๆ สองขีด และหนูพุก(Bandicoot) ซึ่งมีน้ำหนักเกือบกิโล
หนูในเมืองใหญ่ที่มีสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม ทำให้เกิดภาพจำอันเสื่อมเสียต่อการกินหนูโดยทั่วไป โรเบิร์ต คอริแกน นักวิทยาสัตวฟันแทะทำงานที่ RMC ที่ปรึกษาด้านศัตรูพืชเวสเตอร์ นิวยอร์ก ตั้งข้อสังเกต
มนุษย์เรากินหนูอย่างน้อย 89 ชนิดพันธุ์ทั่วโลก ตั้งแต่เอเชีย แอฟริกา อเมริกาใต้ไปถึงสหรัฐอเมริกา ซึ่งกระรอกก็ถูกกินเป็นอาหารหลักมานานแล้ว
“เนื้อเยื่อกล้ามเนื้อของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเกือบทั้งหมดมีโปรตีนชนิดเดียวกันเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นสเต็กทำจากเนื้อวัวหรือขาของหนู” คอริแกน กล่าว
รสชาติเหมือนกระต่ายไหม?
สำหรับสารคดีตามติดชีวิตหนูในนิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับเมษายน 2019 ช่างภาพ เอียน เต๋อได้เฝ้าติดตามนักล่าหนู หรือ “คุณไถ” ในขณะที่เขากำลังล่าหนูท่ามกลางทุ่งนาของจังหวัดกว๋างนิญ ที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเวียดนาม
การจับหนูเป็นแหล่งสร้างรายได้เสริมสำคัญของเกษตรกรเวียดนาม โดยใช้กรงลวดหรือกรงไม้ไผ่สำหรับดักหนูตัวเป็นๆ เพื่อส่งออกไปยังศูนย์แปรรูปขนาดเล็กและนำเนื้อหนูไปขายสู่ตลาดท้องถิ่น
คุณไถมีธุรกิจจับหนูตามฤดูกาล เขานำไปขายและหิ้วกลับบ้านเพื่อกินเป็นอาหารคํ่ากับครอบครัว ในเขตชนบทของเวียดนาม หนูจะถูกชะล้างด้วยเบียร์และเหล้าขาว ซิงเกิลตันกล่าว
เต๋อพบเคล็ดลับข้าวเมนูหนูที่ต่างกันออกไป เต๋อเล่าว่า เขาเห็นหนูถูกฆ่าโดยต้มในน้ำร้อน แต่ซิงเกิลตัน เห็นหนูที่ถูกทุบหัวอย่างแรง
ต่อมาซากหนูจะถูกนำมารมควัน ตามด้วยทอด ย่าง นึ่งหรือต้ม คนทั่วไปพูดกันว่าหนูนึ่งรสชาติจัดจ้านกว่าและการเลือกหนูตัวใหญ่ทำให้คุณกินมันง่ายขึ้น
“ชาวต่างชาติที่เคยชิมหนู มักบอกว่ารสชาติคล้ายไก่ ซึ่งเนื้อหนูจะมีสีเข้มและรสมันกว่าไก่ ผมว่ามันรสชาติเหมือนกับกระต่าย” ซิงเกิลตัน กล่าว
ระหว่างการเดินทาง เต๋อยังบอกอีกว่าหนูมีคุณค่าทางโภชนาการ โดยเฉพาะสตรีมีครรภ์ ซิงเกิลตัน ยืนยันอีกว่าเนื้อหนูให้โปรตีนสูงและมีไขมันต่ำ
การระมัดระวังในการประกอบอาหาร
หนูป่าในเวียดนามส่วนใหญ่มักจะสุขภาพดีและมีปรสิตน้อย แต่ยังมีข้อกังวลเรื่องขั้นตอนการจัดการก่อนนำไปปรุงอาหาร
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมีพาหะนำโรคมากกว่า 60 โรคที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ และในที่ที่หนูมีสถานภาพเป็นศัตรูพืชผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในนาข้าวของชาวเวียดนาม ชาวนายังวางยาเบื่อหนูที่มีสารกันเลือดเป็นลิ่ม(Anticoagulant) ที่ออกฤทธิ์อย่างช้าๆ อาจใช้เวลานานถึงห้าวันในการฆ่าเหยื่อด้วย
ความหวาดกังวลเกี่ยวกับสารพิษในตัวหนู เป็นเหตุทำให้คนเวียดนามหลายๆ คน เลือกซื้อหนูเป็นๆ ตามตลาดท้องถิ่น ซึ่งพวกเขาเลือกได้เองว่าหนูตัวนี้สุขภาพดีหรือไม่ ส่วนใหญ่แล้วการกินหนูแบบสุกทั้งตัว เป็นวิธีหลีกเลี่ยงการติดเชื้อโรคที่มีหนูเป็นพาหะได้ดีที่สุด ซิงเกิลตันกล่าว
หรือคุณอาจเลือกกินค้างคาวแทนก็ได้นะ
***แปลและเรียบเรียงโดย ปุณยวีร์ เฉลียววงศ์เจริญ
โครงการนักศึกษาฝึกงาน กองบรรณาธิการ นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย
อ่านเพิ่มเติม: โครงกระดูกหนูนับพันชิ้น พลิกประวัติเรื่องราวมนุษย์ฮอบบิท