บิลบี้ใหญ่ (Greater bilby) กำลังมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ แม้กระทั่งในพื้นที่ต้นกำเนิดของพวกมันเอง ภาพถ่ายโดย ROLAND SEITRE, NATURE PICTURE LIBRARY
การวิจัยครั้งใหม่บอกว่า บิลบี้ ใหญ่ หรือ แบนดิคูทหูกระต่ายใหญ่ (Greater bilby) จัดเป็นสัตว์ถูกคุกคาม จำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกลุ่ม Marsupial ที่มีหูคล้ายกระต่าย นอกจากนี้ พบว่ายังมีสัตว์อีกหลายสิบสายพันธุ์ที่ขุดโพรงสำหรับเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยเช่นเดียวกับพวกมัน
บิลบี้ใหญ่ หรือที่คนท้องถิ่นเรียก ‘อีสเตอร์บันนี่’ เป็นสัตว์ท้องถิ่นในออสเตรเลียจำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่มีกระเป๋าหน้าท้อง และมีความสำคัญต่อระบบนิเวศมากกว่าที่เราคิด
บิลบี้ใหญ่ (Greater bilby, Macrotis lagotis) หรือที่รู้จักกันในชื่อ แบนดิคูทหูกระต่ายใหญ่ (rabbit-eared bandicoot) อาศัยอยู่ในพื้นที่แห้งแล้ง ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีอยู่ในแผ่นดินของทวีปออสเตรเลียมากถึงร้อยละ 80
ทว่า เนื่องจากภาวะเสื่อมโทรมอันเป็นผลจากการสูญเสียถิ่นที่อยู่และแหล่งอาหารที่ลดลง ซ้ำยังถูกคุกคามจากแมวป่า จิ้งจอก และสัตว์ต่างถิ่น ปัจจุบันสามารถพบบิลบี้ได้ในเขตทะเลทรายของเขตเวสเทิร์นออสเตรเลีย ควีนแลนด์ และเขตนอร์เทิร์นเทร์ริทอรี ซึ่งทางองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและรัฐบาลออสเตรเลียพิจารณาว่า บิลบี้ เป็นสัตว์เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
กลุ่มอนุรักษ์ในออสเตรเลีย เช่น มูลนิธิปลอดกระต่ายในออสเตรเลีย และกองทุนอนุรักษ์ บิลบี้ (Save the Bilby Fund) ได้จัดโครงการให้ประชาชนร่วมสนับสนุนการซื้อไข่บิลบี้อีสเตอร์ที่ทำจากช็อกโกแลต โดยนำเงินที่ได้ไปช่วยรักษาสัตว์สายพันธุ์นี้
การรณรงค์จะประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก ทำให้ยอดการผลิตช็อกโกแลตบิลบี้อีสเตอร์มีจำนวนมากเช่นกัน แต่ Stuart Dawson นักสัตววิทยาและนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยเมอร์ดอช รัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียและเป็นผู้เขียนรายงานการวิจัยครั้งใหม่ของบิลบี้กล่าวว่า นักอนุรักษ์ควรรับรู้ถึงสาเหตุก่อนที่ปัญหานี้จะเกิดขึ้น นั่นเป็นเพราะ บิลบี้ มีพฤติกรรมขุดโพรงแบบก้นหอยเพื่อใช้เป็นที่หลบภัยจากสัตว์สายพันธุ์ต่างๆ อย่างน้อย 45 สายพันธุ์ รวมถึงจิ้งจกลายจุดสีเหลืองและงูพิษร้ายแรงที่กระจายอยู่ในพื้นทวีป ตามรายงานการวิจัยของเขาที่ตีพิมพ์เมื่อเดือนมีนาคมใน วารสารสัตววิทยา
การวิจัยแบบเร่งด่วนจึงเกิดขึ้นเพื่อเพิ่มความคุ้มครองให้กับบิลบี้ Dawson ให้เหตุผลว่า หากจำนวนบิลบี้ลดลงอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลต่อการอยู่รอดของสัตว์สายพันธุ์ต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในโพรงด้วยเช่นกัน
ประโยชน์ของบิลบี้
บิลบี้อาศัยในเขตทุรกันดารอันห่างไกลของออสเตรเลียที่มีอุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส และการเกิดไฟป่าถือเป็นเรื่องปกติ ทั้งนี้ บิลบี้ป้องกันตัวเองจากสภาพแวดล้อมเหล่านี้โดยใช้เวลาส่วนใหญ่ในโพรงลึกเกือบสองเมตร การสร้างหลุมเหล่านี้ทำให้เกิดภาพภูมิทัศน์ที่ไม่น่ามองเท่าไรนัก แต่บิลบี้ก็ได้เปลี่ยนพื้นที่ทุรกันดารให้กลายเป็นพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์บนทะเลทราย (Oasis) สำหรับสัตว์ป่า Dawson กล่าว
ในปี 2014 Dawson ติดตั้งกล้องจับการเคลื่อนไหวบริเวณรอบนอกโพรงจำนวน 127 โพรง ในบริเวณตอนเหนือของรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย เพื่อสำรวจว่ามีสัตว์กี่สายพันธุ์ที่ใช้ประโยชน์จากแหล่งที่อยู่อาศัยใต้ดิน สองปีต่อมา กล้องได้จับภาพนก สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายร้อยตัวที่เข้าบุกรุกเข้ามาและออกจากโพรงเพื่อหาอาหาร
Brendan Wintle อาจารย์ด้านนิเวศวิทยาการอนุรักษ์ในเมลเบิร์น ที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการศึกษา กล่าวว่า “การศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่ว่า หากคุณสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยขนาดเล็ก บิลบี้และสัตว์สายพันธุ์อื่นๆ ในระบบนิเวศก็อาจเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์จากนักล่า อุณหภูมิที่สูง รวมถึงภัยธรรมชาติต่างๆ” ด้วยเช่นกัน
Wintle เสริมว่า “แม้บิลบี้จะมีขนาดเล็ก แต่มันสามารถขุดโพรงได้หลายครั้งต่อวันซึ่งช่วยทำให้ดินมีอากาศเพิ่มขึ้น ซ้ำยังส่งผลดีต่อระบบนิเวศและเป็นมิตรต่อพืช”
“พวกมันไม่เพียงแต่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์สัตว์อื่นๆ เท่านั้น แต่ยังสำคัญต่อระบบนิเวศทั้งหมดอีกด้วย” Wintle กล่าว
บิลบี้เหนือกว่ากระต่ายจริงหรือ?
งานวิจัยครั้งใหม่ทำให้ Kevin Bradley ผู้บริหารกองทุนอนุรักษ์บิลบี้ ตัดสินใจแน่วแน่ที่จะอนุรักษ์เหล่าสัตว์สายพันธุ์นี้
“แม้ยังมีสัตว์อีกหลายสายพันธุ์ที่มีคุณสมบัติพิเศษน้อยกว่าบิลบี้ แต่นั่นไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ว่าสัตว์เหล่านั้นมีความสำคัญน้อยไปกว่ากัน สถิติการสูญพันธุ์ของบรรดาสัตว์ในออสเตรเลียนั้นน่าตกใจ ซึ่งฉันตั้งใจและยืนกรานที่จะไม่ให้บิลบี้เข้าร่วมบัญชีรายชื่อการเฝ้าสังเกตการณ์ (สัตว์สูญพันธุ์) ของฉัน” Bradley กล่าว
โชคดีที่ Bradley ไม่ได้ทำเรื่องนี้โดยลำพัง ภายในเดือนนี้ รัฐบาลออสเตรเลียเผยถึงแผนการอนุรักษ์บิลบี้ โดยสรุปแนวทางป้องกันการถูกคุกคามจากสัตว์สายพันธุ์ต่างถิ่น นอกจากนี้ยังมีแผนฟื้นฟูถิ่นที่อยู่ของสัตว์และยังช่วยส่งเสริมการเชื่อมสัมพันธไมตรีกับชาวอะบอริจิน
อย่างไรก็ตาม อาจใช้เวลาหลายปีกว่าจะมีการใช้แผนเหล่านี้ ขณะเดียวกันชาวออสเตรเลียที่สนใจสัตว์ป่าสายพันธุ์นี้ หรือสัตว์ต่างถิ่นสายพันธุ์อื่นๆ ยังคงจัดการเฉลิมฉลองต่อไปแม้จะช้ากว่าเทศกาลอีสเตอร์ก็ตาม Sally Box ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสายพันธุ์สัตว์ที่ถูกรุกรานของออสเตรเลีย กล่าว
การรณรงค์ที่เชื่อมโยงกับเทศกาลอีสเตอร์ “เป็นความคิดที่วิเศษมาก สำหรับวิธีการช่วยเหลือบิลบี้ที่จะปรับปรุงให้ดีขึ้น ทั้งการตระหนักถึงสถานการณ์โดยรอบ และความเป็นผู้นำให้กับชาวออสเตรเลียในเรื่องการคุ้มครองบิลบี้” Box กล่าวทางอีเมล
***แปลและเรียบเรียงโดย ปุณยวีร์ เฉลียววงศ์เจริญ
โครงการนักศึกษาฝึกงาน กองบรรณาธิการ นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย