จีนวางแผนสร้างอุทยานแห่งชาติแพนด้า ขนาด 2.7 หมื่นตารางกิโลเมตร

จีนวางแผนสร้างอุทยานแห่งชาติแพนด้า ขนาด 2.7 หมื่นตารางกิโลเมตร

แพนด้ายักษ์ตัวหนึ่งกับลูก แพนด้า ของเธอกำลังสำรวจบริเวณรอบๆ ตัว ภาพถ่ายโดย AMI VITALE, NAT GEO IMAGE COLLECTION


อุทยานแห่งนี้จะเป็นที่อยู่อาศัยของ แพนด้า หมี และสัตว์สายพันธุ์อื่นๆ แต่ก็ยังมีอุปสรรคอื่นๆ ที่ต้องแก้ไข

แผ่นดินไหวขนาด 8.0 แมกนิจูด ที่ถล่มมณฑลเสฉวน ประเทศจีนเมื่อ 11 ปีแล้ว ถือเป็นภัยพิบัติที่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ รวมไปถึงถิ่นที่อยู่อาศัยของแพนด้ายักษ์ ซึ่งส่วนหนึ่งคือศูนย์แพนด้า Woolong ซึ่งเป็นศูนย์แพนด้าที่มีบทบาทในเรื่องการขยายพันธุ์ของแพนด้า และมีแพนด้าจำนวนมากที่ต้องตายไปในเหตุการณ์ครั้งนั้น

และในตอนนี้ ทุกสายตากำลังจับต้องไปที่โครงการสร้างอุทยานแห่งชาติขนาดใหญ่ ของรัฐบาลจีน

แผนการสร้างอุทยานแห่งชาติแพนด้ายักษ์ ซึ่งมีกำหนดสรุปแผนก่อสร้างในฤดูใบไม้ร่วง ปี 2019 มีพื้นที่ประมาณ 27,132 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นจำนวนเกือบสามเท่าของอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตน

พื้นที่ส่วนใหญ่ของอุทยานจะอยู่ที่มณฑลเสฉวน ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของแพนด้าร้อยละ 80 ของประเทศ ภายในศูนย์ฯ นี้จะรวบรวมแพนด้าจากพื้นที่สงวนจากที่อื่นๆ รวมไปถึงพืชและสัตว์ที่อยู่ในภาวะถูกคุกคามที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ด้วยเช่นกัน

จากการสำรวจประชากรแพนด้าในปี 2015 มีแพนด้าอยู่ในพื้นที่ป่าอยู่ 1,864 ตัว (ไม่รวมลูกแพนด้า) ซึ่งเพิ่มจาก 1,200 ตัว เมื่อปี 1985 ถึงแม้จะยังไม่ทราบว่า ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นนี้จะมาจากวิธีการนับที่ดีขึ้นหรือเป็นเพราะแพนด้ามีจำนวนเพิ่มขึ้นตามธรรมชาติอย่างจริง แต่สหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ก็ได้ลดระดับสถานภาพของแพนด้าจากสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ (endangered) มาเป็น มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (vulnerable) แล้ว

อย่างไรก็ตาม ประเทศจีนก็ยังคงมีปัญหาเกี่ยวกับพื้นที่ป่า เช่นการตัดไม้ทำลายป่า การสร้างถนน การเกษตรบุกรุกป่า และการบุกรุกป่าโดยมนุษย์ประเภทอื่นๆ รวมไปถึงภัยธรรมชาติ ที่ทำให้พื้นที่ป่าเสื่อมโทรมและจำนวนประชากรสัตว์ป่าลดลง

พื้นที่อาศัยสำหรับแพนด้าแห่งใหม่จะช่วยเชื่อมต่อเหล่าแพนด้าในวัยเจริญพันธุ์ เพื่อให้แพนด้ามีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับหมีประเภทอื่นๆ ที่มีจำนวนน้อยเช่นเดียวกัน

“เราคงต้องดูสถานการณ์ในอนาคต” บ็อบ แทนเซย์ (Bob Tansey) ที่ปรึกษาด้านนโยบายจีนของ องค์กรเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (The Nature Conservancy) ของประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวและเสริมว่า “โดยปกติ แพนด้าก็ใช้ชีวิตตามธรรมชาติได้ดี แต่สิ่งที่พวกมันต้องการในอนาคตคือ ปฏิสัมพันธ์ครับ”

แพนด้า
แพนด้าตัวหนึ่งกำลังเล่นปืนป่ายบนยอดไม้ภายในศูนย์แพนด้า Woolong ภาพถ่ายโดย AMI VITALE, NAT GEO IMAGE COLLECTION

สร้างปฏิสัมพันธ์

ในทางทฤษฎี อุทยานฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความสมบูรณ์ของป่าจะช่วยให้แพนด้าสามารถจับคู่ผสมพันธุ์ และเพิ่มยีนให้มีความหลากหลายมากขึ้น และทำให้ ไผ่ ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของมันเจริญเติบโตได้มากขึ้น

ทว่า มาร์ค โบรดี (Marc Brody) ผู้เชี่ยวชาญด้านแพนด้ากล่าวว่า การสร้างอุทยานแห่งชาติเป็นก้าวที่สำคัญแต่ “ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาในเรื่องการเจริญพันธุ์ของแพนด้าได้โดยตรง”

“พื้นที่อาศัยของมันจะยังไม่สมบูรณ์ จนกระทั่งพื้นที่ป่าที่เสื่อมโทรมเหล่านี้จะถูกฟื้นฟู และออกข้อห้ามเกี่ยวกับใช้พื้นที่ป่าอย่างเข้มงวดเพื่อให้พื้นที่อาศัยของสัตว์เหล่านี้มีความเป็นไปได้” เขากล่าวเสริม

ในด้านของการบริหารจัดการพื้นที่อุทยานแพนด้าแห่งใหม่นี้ รัฐบาลจีนจะเป็นผู้เข้ามาควบคุมและจัดการเองทั้งหมด จากแต่เดิมที่รัฐบาลจีนจะมอบหมายให้หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดูแล และช่วยเหลือหน่วยงานท้องถิ่นในเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งบรรดานักวิจารณ์มองว่าเป็นจุดอ่อนในการปกป้องพื้นที่อนุรักษ์ของจีนตลอดมา

โดยอุทยานฯ จะห้ามไม่ให้มีการทำปศุสัตว์ การทำเหมืองแร่ การตัดไม้ทำลายป่า การท่องเที่ยว หรือการพัฒนาพื้นที่อื่นๆ ในบริเวณโดยรอบพื้นที่อนุรักษ์ของอุทยานฯ แต่จะมีการผ่อนคลายในบริเวณพื้นที่ควบคุมทั่วไป (general control zone) ซึ่งจะอนุญาตให้นักท่องเที่ยวจะมีการทำฟาร์มและกิจกรรมต่างๆ แต่ต้องอยู่ภายใต้การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวด

ด้าน โบดียังสงสัยว่า การจัดการท่องเที่ยวดังกล่าวนี้จะเอื้อประโยชน์โดยตรงให้กับการพัฒนาคุณภาพพื้นที่อยู่อาศัยของแพนด้าหรือไม่ ซึ่งรวมไปถึงผลประโยชน์ของชาวบ้านในพื้นที่ด้วย เพราะที่ผ่านมา คนท้องถิ่นมักไม่ได้ผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวมากนัก

แต่ไม่ว่ารัฐบาลจีนจะสร้างโครงการใดขึ้นมา ก็ยังมีข้อสังเกตในเรื่องของการเวนคืนที่ดินจากชาวบ้านเพื่อการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งตามประวัติศาสตร์ มักมีข้อสงสัยในเรื่องผลประโยชน์และผลกระทบที่มีต่อชาวบ้านเสมอ

Jianguo Liu แห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกน ผู้ทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องผลกระทบจากมนุษย์ที่มีต่อที่อยู่อาศัยของแพนด้า แนะนำไปยังผู้จัดทำแผนอุทยานแห่งนี้ว่า ให้จัดหาผลตอบแทนที่เหมาะสมกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ เช่นการสนับสนุนค่าเล่าเรียนให้กับคนหนุ่มสาวในพื้นที่ที่ออกจากพื้นที่ชนบท (ในพื้นที่อุทยาน) เพื่อไปเรียนในระดับวิทยาลัย โรงเรียนฝึกอาชีพ หรือการจัดหางานในเมืองใหญ่ แต่สำหรับคนอื่นๆ โบดีให้ความเห็นว่า โอกาสที่พวกเขาจะได้อาศัยอยู่ในแผ่นดินของบรรพบุรุษต่อไปคงเป็นไปได้ยากแล้ว จึงควรให้ความรู้พวกเขาในเรื่องของการช่วยฟื้นฟูที่อยู่อาศัยของแพนด้า และการปลูกพืชที่เหมาะความเหมาะสมกับพื้นที่

“เราต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนในชุมชนและให้พวกเขาได้ประโยชน์จากการปรับพื้นที่ทางธรรมชาติในครั้งนี้ด้วย” Rose Niu หัวหน้าด้านการอนุรักษ์ของสถาบันพอลสัน สถาบันคลังสมองในด้านความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน กล่าว

เรื่องโดย JENNIFER S. HOLLAND


อ่านเพิ่มเติม ความประทับใจไม่รู้ลืมจากช่างภาพหมีแพนด้า

Recommend