สำรวจโลก : ครึ่งหญิงครึ่งชาย

สำรวจโลก : ครึ่งหญิงครึ่งชาย

ครึ่งหญิงครึ่งชาย

เรื่อง แพทริเซีย เอดมันด์ส

โลกธรรมชาติเต็มไปด้วยสัตว์กะเทย (hermaphrodite) หรือสัตว์ที่รูปลักษณ์ภายนอกอาจดูเหมือนเพศผู้หรือเพศเมียแต่มีอวัยวะสืบพันธุ์ของทั้งสองเพศ ญาติของพวกมันที่เราพบเห็นได้น้อยกว่าคือ สิ่งมีชีวิตซึ่งเป็นลูกผสมระหว่างลักษณะสืบสายพันธุ์ของเพศผู้และเพศเมีย (gynandromorph) เช่นมีขนาดและสีสันของเพศหนึ่ง แต่มีอวัยวะสืบพันธุ์ของอีกเพศ

แต่ที่หายากกว่านั้นคือพวกที่มีลักษณะของเพศผู้อยู่ข้างหนึ่งและของเพศเมียอยู่อีกข้างหนึ่ง แบ่งแยกกันตรงกึ่งกลาง เช่นผีเสื้อกะเทย (บน) จอช จอห์เนอร์ นักชีววิทยาเชิงวิวัฒนาการ อธิบายถึง “สิ่งที่นักวิทยา-ศาสตร์ส่วนใหญ่ตั้งสมมุติฐาน” เกี่ยวกับการเกิดความผิดปกติเหล่านี้ กล่าวคือ โครโมโซมเพศของผีเสื้อกลับกันกับของมนุษย์ เพศผู้มีโครโมโซมเหมือนกันสองตัว (แซดแซด – ZZ) ส่วนเพศเมียมีโครโมโซมต่างกัน (แซดดับเบิลยู – ZW) บางครั้งไข่ของเพศเมียมีสองนิวเคลียส คือ แซดและดับเบิลยู เมื่อไข่ได้รับ “การผสมสองครั้ง” จากสเปิร์มแซดของเพศผู้ เอ็มบริโอที่เกิดขึ้นจึงเป็นเพศผู้และเพศเมียอย่างละครึ่ง

จอห์เนอร์บอกและเสริมว่า ผีเสื้อกะเทยในห้องปฏิบัติการของเขาพยายามวางไข่ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ น่าจะเป็นเพราะความผิดปกติในระบบสืบพันธุ์ ดังนั้นแม้ว่าสายพันธุ์ของพวกมันจะมีส่วนผสมของสีสันอันน่าตื่นตา แต่ก็ไม่อาจตกทอดไปสู่ลูกหลานได้ P A P I L I O G L A U C U S ถิ่นอาศัย / ถิ่นกระจายพันธุ์ ผืนป่า อุทยาน และย่านชานเมืองในพื้นที่ซีกตะวันออกของสหรัฐฯ และบางส่วนของแคนาดา ข้อมูลน่าสนใจ ผีเสื้อหางติ่งลายเสือถิ่นตะวันออกซึ่งเป็นผีเสื้อกะเทย (gynandromorph) ตัวนี้ (แสดงขนาดราว 1.5 เท่าของตัวจริง) มีด้านสีเหลืองเป็นลักษณะของเพศผู้และด้านสีมอๆ เป็นลักษณะของเพศเมีย

เมียร์แคต
เมียร์แคต : ถิ่นอาศัย / ถิ่นกระจายพันธุ์ – ทะเลทรายและทุ่งหญ้าทางตอนใต้ของแอฟริกา สถานะการอนุรักษ์ – เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ค่อนข้างน้อย ข้อมูลน่าสนใจ – โดยส่วนใหญ่เมียร์แคตในธรรมชาติกินแมลงและสัตว์ฟันแทะขนาดเล็ก รวมถึงแมงป่อง

ใครๆก็อยากเป็นใหญ่

เรื่อง แพทริเซีย เอดมันด์ส

นับตั้งแต่ก่อตั้งโครงการเมียร์แคตคาลาฮารี เมื่อปี 1993 ทิม คลัตตันบรอก อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ได้ศึกษาฝูงเมียร์แคตราว 100 ฝูง เมียร์แคตเพศผู้และเพศเมียอย่างละตัวจะกลายเป็นผู้มีอำนาจ และพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ของแต่ละฝูง โดยดูจากอายุ นํ้าหนัก และความก้าวร้าว

ขณะที่สมาชิกตัวอื่น ๆ ทำหน้าที่เป็นยามนักขุดโพรง และพี่เลี้ยงเด็ก เมื่อเมียร์แคตที่มีสถานะตํ่ากว่าเริ่มโตเต็มวัย เพศผู้มักจะออกจากฝูง ขณะที่เพศเมียยังอยู่ต่อไป และตัวที่อายุมากที่สุดและหนักที่สุดมักจะสืบทอดอำนาจเมื่อตัวเก่าตายลง

นักวิจัยสงสัยว่า ถ้าเพศเมียที่มีนํ้าหนักน้อยกว่าซึ่งเข้าคิวสืบทอดอำนาจเกิดเพิ่มนํ้าหนักขึ้นมา แล้วเพศเมียที่หนักกว่าจะได้เลื่อนสถานะขึ้นเป็นผู้นำหรือไม่ เพื่อทดสอบแนวคิดนี้ นักวิจัยใช้เวลาหลายสัปดาห์ป้อนไข่ต้มให้เมียร์แคตเพศเมียกลุ่มหนึ่งวันละฟอง แต่ไม่ให้ตัวอื่นๆ ที่เกิดครอกเดียวกับพวกมัน นักวิจัยฝึกเพศเมียทั้งสองกลุ่มให้ปีนขึ้นไปบนเครื่องชั่งนํ้าหนัก แล้วบันทึกนํ้าหนักของพวกมัน และพบว่าตัวที่ไม่ได้ให้อาหารยังคงมีนํ้าหนักเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับตัวอื่นๆ โดยการออกหาอาหารมากขึ้น

สำหรับนักวิจัย อีลีส ฮูชาร์ด นี่แสดงให้เห็นว่า เมียร์แคต“สามารถติดตามความเปลี่ยนแปลงในด้านการเจริญเติบโตและขนาดของตัวที่อาจเป็นคู่แข่ง และตอบสนองด้วยการปรับการเจริญเติบโตของตัวมันเอง”

ปลาสี่ตา
ปลาสี่ตา : ถิ่นอาศัย / ถิ่นกระจายพันธุ์ – น่านนํ้าจืดและนํ้ากร่อยตามแนวชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกของอเมริกากลางและอเมริกาใต้ สถานะการอนุรักษ์ – ยังไม่ได้รับการประเมินสำหรับบัญชีแดงของไอยูซีเอ็น ข้อมูลน่าสนใจ – มีเพียงสามชนิดพันธุ์ในวงศ์ A. anableps ที่มีตาสองส่วน ปลาสี่ตาเพศผู้ (ล่างซ้าย) และเพศเมียถ่ายภาพที่สวนสัตว์โอคลาโฮมาซิตี

เมื่อความรักต้องเลือกข้าง

เรื่อง แพทริเซีย เอดมันด์ส

Anableps anableps มีชื่อสามัญว่า ปลาสี่ตา แต่จริง ๆ แล้วมันมีแค่สองตา พวกมันดูเหมือนมีสี่ตาเพราะแถบเนื้อเยื่อในแนวนอนที่แบ่งตาออกเป็นสองส่วน แต่ละส่วนมีรูม่านตาของตัวเองและการมองเห็นแยกกัน เวลาว่ายนํ้าใกล้ผิวนํ้า ปลาชนิดนี้สามารถมองเห็นในนํ้าและบนผิวนํ้าได้พร้อมกัน

“พวกมันแยกแยะสัตว์นักล่าทั้งบนนํ้าและใต้นํ้าได้ในเวลาเดียวกัน และประมวลผลภาพเหล่านั้นทั้งหมดเพื่อให้รู้ว่าต้องไปทางไหน” เอริก เคเลน ผู้ดูแลสัตว์นํ้าที่สวนสัตว์โอคลาโฮมาซิตี กล่าว แต่ลักษณะเฉพาะดังกล่าวไม่ใช่ความแปลกประหลาดทางกายวิภาคเพียงอย่างเดียวของปลาสี่ตา ช่องเพศของเพศเมียและอวัยวะสืบพันธุ์ของเพศผู้ซึ่งเป็นครีบดัดแปรรูปร่างคล้ายท่อเรียกว่า โกโน-โพเดียม (gono-podium) ในปลาบางตัวจะหันไปทางขวา และในบางตัวจะหันไปทางซ้าย นี่หมายความว่า ปลาเพศผู้ที่ถนัดขวาถูกสร้างขึ้นมาให้ผสมพันธุ์กับปลาเพศเมียที่ถนัดซ้าย และกลับกัน

เคเลนเล่าว่า ปลาสี่ตาที่จัดแสดงในสวนสัตว์ของเขา “จะโกลาหลกันมากเมื่อเข้าสู่ฤดูผสมพันธุ์” ผู้ดูแลคอยเฝ้าสังเกตว่า “เพศผู้ตัวใดมีโกโน-โพเดียมหันไปทางซ้าย ตัวใดหันไปทางขวา และตัวไหนผสมพันธุ์กับตัวไหน” บางครั้งเคเลนเห็นปลาเพศผู้ “พยายามสุดกำลังที่จะหันไปอีกทางหนึ่ง” และผสมพันธุ์กับเพศเมียที่หันไปทางเดียวกัน “แต่ผมไม่แน่ใจว่าจะประสบความสำเร็จหรอกนะครับ”

 

อ่านเพิ่มเติม : ก็แค่อยากเล่นด้วย!มาเป็นแม่ให้พวกเราหน่อย!

Recommend