นกกระสาขาวหาอาหารในพื้นที่ฝังกลบขยะที่สเปน ซึ่งมีขยะมากเสียจนพวกมันไม่ต้องอพยพ เนื่องจากสามารถหาอาหารรอบๆ พื้นที่ขยะนี้ได้ ภาพถ่ายโดย JASPER DOEST, NAT GEO IMAGE COLLECTION
ภาพวาฬที่ท้องเต็มไปด้วย ขยะพลาสติก กลายเป็นกระแสทั่วโลก และนี่คือสิ่งที่เรารู้
ทำไมสัตว์ทะเลที่อยู่สูงสุดบนห่วงโซ่อาหารถึงกินถุงมือ เชือก หรือถ้วยพลาสติก และลงเอยด้วยการมี ขยะพลาสติก น้ำหนักมากกว่า 90 กิโลกรัมในท้อง
เมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน มีการค้นพบวาฬอายุ 10 ปีตายเกยตื้นอยู่บนชายหาดในสกอตแลนด์ ผลจากการชันสูตรพบว่ามีพลาสติกและขยะชนิดอื่นๆกว่า 100 กิโลกรัมในระบบย่อยอาหารของมัน ซึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมามีเหตุการณ์เช่นนี้เพิ่มมากขึ้น
ยังมีอีกหลายเรื่องที่เราไม่รู้เกี่ยวกับการกินพลาสติกและขยะชนิดอื่นๆว่าส่งผลต่อสัตว์น้ำอย่างไร หรือเหตุผลว่าทำไมพวกมันถึงกิน หรือพวกมันรู้สึกอย่างไรหลังจากกินขยะพลาสติกเข้าไป การชันสูตรซากเผยให้เห็นถึงของที่กินไม่ได้ในปริมาณมาก ซึ่งไม่ได้ทำให้มันตายทันที แต่ปริมาณของที่กินจะค่อยๆเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ
และนี่คือข้อมูลที่เรารู้
ทำไมสัตว์น้ำถึงกินพลาสติก
นักวิทยาศาสตร์ยังคงพยายามตอบคำถามนี้อยู่ แมทธิว ซาโวกา (Matthew Savoca) นักวิจัยหลังปริญญาเอกจากสถานีวิจัยทางทะเลฮอปกินส์ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และนักสำรวจของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก กล่าวและเสริมว่า เราต่างรู้ว่ามีพลาสติกอยู่ทุกที่ และมีขยะพลาสติกไหลลงสู่ทะเลกว่า 8 ล้านตันในแต่ละปี เรารู้ว่าสัตว์น้ำกินพลาสติก แต่การจะรู้ถึงเหตุผลเบื้องหลังของเรื่องนี้เป็นเรื่องยากทีเดียว “เรารู้เรื่องอันน่าตกใจเกี่ยวกับทะเลน้อยมากครับ” เขาบอก
แนวคิดแบบดั้งเดิมเชื่อว่า สัตว์น้ำกินพลาสติกเนื่องจากพวกมันไม่รู้ว่าพลาสติกเป็นอย่างไร (และสำหรับสัตว์บางชนิด เช่นวงศ์ปลากะตัก พลาสติกมีกลิ่นคล้ายอาหาร) แต่ไม่มีคำอธิบายว่าทำไมวาฬบางชนิด เช่นวาฬน้ำลึกมีฟัน (deep-diving toothed whale) อย่างวาฬหัวทุย วาฬนำร่อง และวาฬจะงอยปากนก (beaked whale) จึงเสียชีวิตด้วยพลาสติกที่มีอยู่เต็มท้อง
ในบางครั้ง วาฬชนิดพันธุ์เหล่านี้ล่าเหยื่อใต้มหาสมุทรลึกราว 488 เมตรจากพื้นผิวน้ำ พวกมันใช้การกำหนดตำแหน่งโดยคลื่นสะท้อน (echolocation) เพื่อล่าเหยื่อ โดยเฉพาะหมึก ซาโวกากล่าวว่า เป็นไปได้ที่เสียงของขยะนั้นคล้ายกับอาหารของเหล่าวาฬ
แล้วเหตุใดวาฬชนิดพันธุ์อื่นๆถึงไม่มีพลาสติกเต็มท้อง
วาฬกรองกิน (Baleen Whale) เช่น วาฬหลังค่อมและวาฬสีน้ำเงิน มีแผ่นซี่กรองอาหารที่มันกินตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นกระดูกในปาก (baleen) มีลักษณะคล้ายแปรง และมีลำคอแคบที่ทำให้มันไม่สามารถกลืนสิ่งที่ใหญ่กว่าคริลล์ อันเป็นอาหารหลักของมัน สิ่งนี้น่าจะอธิบายได้ว่าทำไมวาฬประเภทนี้จึงไม่มีกระเพาะที่เต็มไปด้วยขยะ อย่างไรก็ตาม ซาโวกาและทีมงานกำลังศึกษาว่าวาฬอาจกลืนพลาสติกที่มีอนุภาคเล็กหรือไม่ “ยังมีคำถามอีกมากมายที่ไม่สามารถตอบได้ครับ” เขากล่าว
(เชิญชมวิดีโอ เราจะทำให้มหาสมุทรปราศจากพลาสติกได้อย่างไร ได้ที่นี่)
การกินพลาสติกทำร้ายสัตว์อย่างไร
ส่วนใหญ่แล้ว อันตรายจากพลาสติกไม่ได้แสดงออกมาอย่างชัดเจน แต่อาจทำให้เกิดความรู้สึก เช่น ความรู้สึกหิวต่อเนื่องยาวนาน หรือมีอาการเซื่องซึม วาฬเป็นสัตว์ที่ต้องโผล่ขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำ นั่นหมายความว่า ช่วงเวลาที่มันต้องดำน้ำลึกนั้นมีความอ่อนไหวของเวลา (time-sensitive) อยู่มาก “อย่างเช่นวาฬหัวทุยที่กินอาหารได้ 30 ชิ้นระหว่างการดำน้ำหนึ่งครั้ง” ซาโวกากล่าวและเสริมว่า “ซึ่งถ้า 5 ใน 10 ชิ้นเป็นขยะพลาสติกที่ไม่มีคุณค่าทางอาหาร นั่นอาจเป็นไปได้ว่ามันได้รับสารอาหารน้อยกว่าที่ควรจะเป็นถึงร้อยละ 10 หรือร้อยละ 30”
ซาโวกาบอกว่า การขาดแคลนสารอาหารนี้ทำให้วาฬไม่มีพลังงานที่จะทำสิ่งต่างๆที่จำเป็นต้องทำ เช่น การตกลูก การอพยพ และการหาอาหาร
พลาสติกกลายเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของสัตว์น้ำมากที่สุด นอกเหนือไปจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การทำประมงเกินขนาด การเดินเรือ และมลพิษทางเสียง “เป็นเรื่องน่าละอายอย่างยิ่งครับ เนื่องจากชีวิตของพวกมันมีสิ่งท้าทายหลายเรื่องนอกจากความเครียดเพิ่มเติมที่เราก่อให้พวกมันอยู่แล้ว” และเป็นความเครียดในอัตราที่เราทำให้สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลง ซาโวกาทิ้งท้าย