ไขความลับ เหตุใดสุนัขจึงแสนดีกับมนุษย์จัง

ไขความลับ เหตุใดสุนัขจึงแสนดีกับมนุษย์จัง

งานวิจัยเผย สุนัขของเรามีการเปลี่ยนแปลงในยีนที่ทำให้มันเข้าสังคมกับมนุษย์ได้เก่งกว่าสุนัขป่า

สำหรับ มาร์ลา สุนัขพันธุ์อิงลิชชีปด็อกวัย 11 เดือน ที่มี บริดเจ็ตต์ วอน โฮลด์ท เป็นเจ้าของ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เธอพบในโลกต่างเป็นเพื่อนของมัน
“มันเข้าสังคมเก่งมากๆ ฉันมีจีโนไทป์ (รูปแบบพันธุกรรม) ของมันด้วยล่ะค่ะ” วอน โฮลด์ท กล่าว

ความสนใจเรื่องนี้ของ วอน โฮลด์ท ไม่ได้เป็นเพียงแค่ความอยากรู้อยากเห็นทั่วไป เธอผู้เป็นนักชีววิทยาพัฒนาการ และเพื่อนร่วมงานของเธอในมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันได้ใช้เวลา 3 ปี ศึกษาสิ่งที่ซ่อนอยู่ในกลไกพันธุกรรมซึ่งมีผลต่อพฤติกรรมทางสังคมในสุนัขบ้านและสุนัขป่า

ผลการศึกษาพันธุกรรมพบว่าสุนัขบ้านสามารถเข้าสังคมกับมนุษย์ได้ดีกว่าสุนัขป่าที่ถูกเลี้ยงในสภาพแวดล้อมเดียวกัน และสุนัขบ้านสามารถให้ความสนใจและทำตามคำสั่งของมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

วอน โฮลด์ท ที่มีพื้นความรู้ในด้านพัฒนาการทางพันธุกรรม สงสัยถึงเหตุผลที่อาจเป็นไปได้ในความแตกต่างทางพันธุกรรมเหล่านี้

สุนัขบ้าน
สุนัขบ้านมักตอบสนองต่อมนุษย์มากกว่าสุนัขป่าในสถานการณ์เดียวกัน ภาพถ่ายโดย INCENT J. MUSI, NAT GEO IMAGE COLLECTION

งานศึกษาในวารสาร Science Advance ได้ให้เบาะแสที่น่าสนใจ ว่าสัตว์ที่เข้าสังคมเก่งมากอย่างมาร์ลาประกอบด้วยยีนที่มีลักษณะต่างกัน 2 ประเภทชื่อว่า GTF2I และ GIF2IRD1 ถ้ามีการลบยีนชนิดนี้ในมนุษย์จะส่งให้เกิดโรคกลุ่มอาการวิลเลียม (Williams syndrome) ที่ผู้ป่วยจะมีใบหน้าคล้ายภูติเอลฟ์ จมูกแบน พฤติกรรมร่าเริงผิดปกติ เข้ากับคนแปลกหน้าง่าย พัฒนาการล่าช้า และมีแนวโน้มที่มีความรักกับทุกคน

วอน โฮลด์ท สงสัยว่าลักษณะที่ต่างกันของยีนดังกล่าวในสุนัขไปยับยั้งการทำงานในรูปแบบปกติของยีน ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการในแบบกลุ่มอากาศวิลเลียมในตัวมนุษย์

“เรา (มนุษย์) อาจเพาะพันธุ์โรคที่ส่งผลต่อพฤติกรรมในตัวสัตว์เลี้ยงของเราเสียเอง” เธอกล่าว

คำถามที่ดูเซ็กซี่

นับตั้งแต่มีพัฒนาการจากการมีบรรพบุรุษร่วมกับสุนัขป่าเมื่อราวหนึ่งหมื่นปีก่อน สุนัขบ้านได้ช่วยมนุษย์หาอาหารและปกป้องมนุษย์จากการเป็นอาหารเย็นของสัตว์อื่นเสียเอง และมันก็ให้ใบหน้าที่เป็นมิตรและสัญลักษณ์เช่นกระดิกหางอีกด้วย

การทำความเข้าใจว่าเพื่อนที่ดีที่สุดของเรา ไล่มาตั้งแต่ชิวาวามาจนถึงพันธุ์มาสทิฟฟ์ สามารถมีพฤติกรรมอย่างทุกวันนี้ได้อย่างไรเป็นคำถามที่ดู “เซ็กซี่” มาก คาเร็น โอเวอร์ออล์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมสุนัขแห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ผู้ที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในงานวิจัย กล่าว

สุนัขบ้าน
สุนัขพันธุ์บาสเซ็ต ฮาวด์ ภาพถ่ายโดย JOEL SARTORE, NATIONAL GEOGRAPHIC PHOTO ARK

ในปี 2010 ในการร่วมมือกันระหว่าง วอน โฮลด์ท กับ โมนีค อูเดลล์ นักพฤติกรรมสัตว์แห่งมหาวิทยาลัยออริกอนสเตท วอน โฮลด์ทได้ค้นหาจีโนม (ข้อมูลทางพันธุกรรม) ของสุนัขป่าและสุนัขบ้านและสามารถระบุถึงการเปลี่ยนแปลงในยีน WBSCR17 ที่เกิดขึ้นในกระบวนการเปลี่ยนสู่กการเป็นสุนัขบ้าน (dog domestication)

นอกจากนี้ ในปี 2014 วอน โฮลด์ท และอูเดลล์ ได้ระดุมทุนเพื่อทำการทดลองกับสุนัข 18 ตัวที่มีสายพันธุ์ต่างกัน มีทั้งดัชชุน แจ๊ค รัสเซล เทอร์เรีย และ เบอร์นีส เมาน์เทนด็อก และสุนัขป่าอีก 10 ตัวที่อาศัยอยู่กับมนุษย์

นักวิทยาศาสตร์ได้ฝึกให้สุนัขทุกตัวเปิดกล่องที่มีไส้กรอกอยู่ข้างใน จากนั้นได้ให้สุนัขทุกตัวเปิดกล่องในสถานการณ์ที่ต่างกัน 3 แบบ คือมีมนุษย์ที่มันคุ้นเคยอยู่ด้วย มีมนุษย์ที่ไม่คุ้นเคยอยู่ด้วย และสถานการณ์ที่ไม่มีมนุษย์ช่วยเหลือเลย

โดยทั้ง 3 สถานการณ์นี้ สุนัขป่าทำได้ดีกว่าทั้งหมด และความต่างของความสามารถในการแก้ปัญหาจะยิ่งทิ้งห่างมากขึ้นเมื่อสุนัขต้องเปิดกล่องในตอนที่มีมนุษย์อยู่ด้วย

“ไม่ได้หมายความว่าพวกมันไม่สามารถแก้ปริศนาได้ มันแค่มัวแต่มองหามนุษย์เปิดกล่องให้มันเท่านั้น” วอน โฮลด์ท กล่าว

สุนัขยังคงมีพัฒนาการไปเรื่อยๆ

จากงานศึกษาชิ้นใหม่ วอน โฮลด์ท ทำการวิเคราะห์ทางพันธุกรรมเพิ่มเติมในส่วนของจีโนมที่ล้อมรอบยีน WBSCR17 ที่เปลี่ยนแปลงในขนาดตัวอย่างของสุนัขป่าและสุนัขบ้านที่ใหญ่ขึ้น

นอกเหนือไปจากการยืนยันการค้นพบในตอนแรกของเธอว่า WBSCR17 มีความแตกต่างในสุนัขบ้านและสุนัขป่า เธอพบว่าทั้งยีน GTF2I และ GIF2IRD1 ก็มีความแตกต่างกันในสุนัขทั้งสองสายพันธุ์เช่นกัน

ผลจากข้อมูลด้านพันธุกรรมและพฤติกรรมของสุนัขสามารถบอกได้ว่าการเปลี่ยนแปลงจีโนมช่วยให้สุนัขป่ากลายมาเป็นสุนัขที่รักมนุษย์

อย่างไรก็ตาม คาเร็น โอเวอร์ออล์ ได้ให้คำเตือนเกี่ยวกับผลการทดลองนี้ว่า ขนาดตัวอย่างของสุนัขในการทดลองมีขนาดเล็ก แต่อาจจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของผลลัพธ์ แต่เธอก็เชื่อในผลของการวิเคราะห์ทางพันธุกรรม

“ตอนนี้เรากำลังคัดเลือกสุนัขที่เลี้ยงง่าย ที่สามารถใช้ชีวิตในอะพาร์ตเมนต์เล็กๆ เป็นเวลานานได้” โอเวอร์ออล์ กล่าวว

“เรา (มนุษย์) ต่างเปลี่ยนพฤติกรรมของสุนัขอย่างต่อเนื่องในทุกๆ ปี”

เรื่อง CARRIE ARNOLD


อ่านเพิ่มเติม คุณเป็นที่หนึ่งในใจของสุนัขที่เลี้ยงไว้หรือเปล่า มาหาคำตอบกัน

สุนัข

Recommend