อุทยานแห่งชาติครูเกอร์ในแอฟริกาใต้ถูกโจมตีทั้งปัญหาการลอบล่าสัตว์ การคอรัปชั่น และภัยแล้ง
อุทยานแห่งชาติครูเกอร์ เพชรน้ำงามแห่งอุทยานแห่งชาติในแอฟริกาใต้กำลังตกอยู่ในสภาวะยากลำบาก
จำนวนแรดของอุทยานฯ ลดลงไปถึงร้อยละ 70 ไปในช่วงสิบปี ซึ่งสาเหตุโดยส่วนใหญ่เกิดจากการล่าสัตว์และผลกระทบจากการขยายพันธุ์และการรอดชีวิตของลูกแรด ตามการประเมินครั้งใหม่ขององค์การอุทยานแห่งชาติแอฟริกา (South African National Parks – SANparks) ซึ่งเป็นองค์กรที่บริหารจัดการอุทยานแห่งชาติครูเกอร์และอุทยานแห่งชาติหลักๆ ในแอฟริกา 18 แห่ง
อุทยานแห่งชาติครูเกอร์เป็นบ้านของแรดกว่า 4,000 ตัว ซึ่งลดจาก 10,000 ตัวในปี 2010 แบ่งจำนวนประชากรแรดได้เป็น แรดขาว 3,549 ตัว และแรดดำ 268 ตัว ซึ่งจำนวนแรดที่อยู่ในอุทยานแห่งชาติครูเกอร์มีจำนวนถึงร้อยละ 30 ของจำนวนประชากรแรดป่าที่มีอยู่บนโลกราว 18,000 ตัว
“การสูญเสียเหล่านี้เป็นเรื่องน่ากังวลอย่างยิ่ง ทว่า เรารู้ว่าแรดเหล่านี้พบเจอกับอัตราการตายที่ช้าลงในขณะนี้ ซึ่งนี่เป็นข่าวอย่างเป็นทางการ” Grant Fowlds ทูตอนุรักษ์ของ Project Rhino องค์การไม่แสวงหาผลกำไรของแอฟริกาใต้ กล่าว
การล่าแรดสร้างความเสียหายกับเผ่าพันธุ์ของมันอย่างยิ่ง เนื่องจากแรดตัวเมียแต่ละตัวการตกลูกได้เพียง 10 ตัว ในตลอดชีวิตของมัน และลูกแรดที่ขาดแม่มักไม่รอดชีวิต Michael Knight หัวหน้ากลุ่มผู้เชี่ยวชาญแรดขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ซึ่งเป็นองค์กรที่ประเมินสถานะของสัตว์ป่าทั่วโลก กล่าว
มีการขายนอแรดเพื่อใช้เป็นยาหรือเป็นงานแกะสลัก โดยเฉพาะในจีนและเวียดนาม แม้ว่าตลาดซื้อขายจะอยู่ในสหรัฐอเมริกา อุทยานแห่งชาติครูเกอร์ ซึ่งมีพื้นที่กว่า 19,000 ตารางกิโลเมตร และเป็นศูนย์กลางของการล่าแรดในแอฟริกาใต้
อย่างไรก็ตาม การล่าแรดในอุทยานฯ ครูเกอร์ลดลงนับตั้งแต่การกวาดล้างในปี 2014 อันเป็นช่วงเวลาที่แรดกว่า 800 ตัวถูกฆ่าเพื่อล่าเอานอ แต่จำนวนก็ลดลงราวครึ่งหนึ่งนับตั้งแต่นั้น
นอกจากนี้ ภัยแล้งในพื้นที่อุทยานในช่วงปี 2015-2016 ทำให้มีการสูญเสียเพิ่มมากขึ้น Knight กล่าว ภัยแล้งทำให้แม่แรดตกลูกน้อยลง และแม่แรดที่ขาดน้ำก็มีน้ำนมน้อยลง ส่งผลให้มีลูกแรดจำนวนมากที่ตายไป ภัยแล้งยังส่งผลให้มันหาอาหารไม่ได้เนื่องจากหญ้าที่ขาดแคลน อัตราการตายของบรรดาแรดเหล่านั้นพุ่งสูงขึ้นถึงสองเท่าจากอัตราปกติ
วิธีการใหม่ๆ เพื่อช่วยเหลือประชากรแรด
แม้ว่าจะมีข่าวที่น่ากลัว แต่การมีเทคโนโลยีการลาดตระเวนในอุทยานฯ และอัตราการจับกุมนักล่าสัตว์ที่สูงช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น ตามข้อมูลจาก SANparks การล่าแรดลดลงถึงร้อยละ 21.6 ระหว่างปี 2018 – 2019 (ส่วนช้างลดลงถึงร้อยละ 43.8)
เพื่อช่วยปกป้องแรดเหล่านี้ SANpark กำลังย้ายสัตว์ที่อยู่ในอุทยานแห่งชาติครูเกอร์ไปยังพื้นที่ที่ปลอดภัยกว่า เช่นอุทยานแห่งชาติแห่งอื่น ซึ่งความพยายามนี้ได้ถูกหยุดกลางคันมานานนับปีเนื่องจากกระบาดของวัณโรคในแรด
อุปสรรคที่รออยู่ข้างหน้า
SANparks เรียกการคอรัปชันภายในองค์กรว่าเป็นสิ่งเลวร้ายและกล่าวว่า มัน “ส่งผลอย่างรุนแรงต่อเจ้าหน้าที่และการต่อต้านการล่าสัตว์ป่า เช่นเดียวกับชื่อเสียงขององค์กร”
ขบวนการลักลอบล่าสัตว์สามารถแทรกซึมตามกองกำลังพิทักษ์สัตว์ของอุทยานแห่งต่างๆ ยังคงเป็นปัญหา
ในปี 2020 มีแรดกว่า 394 ตัวถูกล่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติของประเทศ ซึ่งมีในอุทยานแห่งชาติครูเกอร์มากที่สุด ในปี 2020 การล็อกดาวน์เรื่องจากไวรัสโควิด-19 เป็นการปิดกั้นคนเข้าสู่พื้นที่อุทยาน การล่าจึงลดลง แต่เมื่อใดที่มาตรการนี้ถูกยกเลิก การล่าสัตว์ก็จะกลับมาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเดือนธันวาคม ตามการรายงานของกรมสิ่งแวดล้อม ป่าไม้ และการประมงของแอฟริกาใต้
เมื่อปีที่แล้ว มีการจับกุมพรานล่าสัตว์ได้กว่า 66 คนในอุทยานแห่งชาติครูเกอร์ และอีก 90 คนจากการล่าและลักลอบค้านอแรดภายนอกพื้นที่อุทยาน แต่ Knight กล่าวว่า การดำเนินการเอาผิดจะล่าช้าเนื่องจากการปิดตัวลงของศาลจังหวัด (Skukuza Regional Court) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ศาลคดีแรด (Rhino Court) ถูกปิดตัวลงอย่างมีข้อถกเถียง ศาลแห่งนี้มีอัตราการตัดสินผู้กระทำผิดจากคดีล่าสัตว์ในอัตราที่สูงและมีการตัดสินจำคุกที่เข้มงวด
แม้ว่าจะมีแรดที่ถูกล่ากว่า 303 ตัวในอุทยานแห่งชาติครูเกอร์ในช่วงเดือนเมษายน 2019 และ มีนาคม 2020 ซึ่งน้อยกว่าที่ทาง SANparks คาดการณ์ไว้ที่ 500 ตัว ซึ่งคิดเป็นการลดลงถึงร้อยละ 22 จากปีงบประมาณก่อนหน้า แต่ Fowlds ก็ยังไม่มีความหวังเนื่องจากเขาคาดว่า “เพราะมีแรดให้ล่าน้อยลง” จึงเป็นเรื่องยากที่พวกพรานล่าสัตว์จะหาพวกแรดเจอ
เรื่อง DINA FINE MARON
ภาพ BRENT STIRTON