ความร้อนระอุของ ทะเลทราย คาลาฮารี ที่ผลักสิ่งมีชีวิตให้อยู่บนขอบเหวการอยู่รอด

ความร้อนระอุของ ทะเลทราย คาลาฮารี ที่ผลักสิ่งมีชีวิตให้อยู่บนขอบเหวการอยู่รอด

ความร้อนที่สูงขึ้นและภัยแล้งรุนแรงอาจคุกคามสมดุลชีวิตอันเปราะบางในทะเลทราย คาลาฮารี

เงาดำของนักวิจัยสองคนนิ่งสนิทในยามค่ำคืน เบื้องบนมีดวงจันทร์บอกให้รู้ว่าเป็นท้องฟ้า ส่วนเบื้องล่าง โลกแลเห็นเป็นเงาสลัวรอบวงแสงไฟ

ตั้งแต่ตอนพระอาทิตย์ตก อุปกรณ์ติดตามสัญญาณวิทยุนำพาพวกเธอมายังจุดนี้ทางตอนใต้ของคาลาฮารี ซึ่งคนเรียกติดปากมานานว่าทะเลทราย แต่มีลักษณะหลายประการของระบบนิเวศแบบทุ่งหญ้าสะวันนาแห้งแล้ง

ที่ไหนสักแห่งใต้เนินทรายที่พวกเธอนั่ง คือโพรงของลิ่นทุ่งหญ้าเพศเมียที่พวกเธอเฝ้าติดตามศึกษามาสองเดือน มันออกมาช้ากว่าปกติ ตอนนี้สี่ทุ่มแล้ว ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับความร้อนแผดเผาของวันนี้ก็เป็นได้

เพื่อความสะดวกในการบันทึกข้อมูล พวกเธอเรียกลิ่นตัวนั้นว่า โฮปเวลล์ 3 ตามจุดที่นักแกะรอยท้องถิ่นพบมันครั้งแรก และสองนักวิจัยระดับปริญญาเอก เวนดี พาเนโน วัย 28 ปี กับแวเลอรี พาควาโก วัย 30 ปี ติดตามศึกษาจากรอยเท้าบนพื้นทราย ตอนนี้พวกเธอตามรอยมันโดยอาศัยการอ่านคลื่นวิทยุจากอุปกรณ์ที่ติดไว้บนเกล็ดบริเวณสะโพกของมัน

เมียร์แคต, คาลาฮารี, ทะเลทรายฮาราคารี
เมียร์แคตอยู่รอดด้วยการรวมพลังของฝูง เวรยามคอยเฝ้าระวังอันตราย แรงงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นตัวเต็มวัยเพศเมียเลี้ยงดูลูกๆ ของเมียร์แคตอาวุโส ยังไม่ชัดเจนว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลต่อเมียร์แคตที่นี่อย่างไร แต่ฤดูร้อนที่ร้อนขึ้นและแล้งขึ้นอาจทำให้พวกมันลดจำนวนลง

คืนนี้ สองนักวิจัยมีภารกิจเก็บมูลลิ่นที่พวกเธอเรียกว่า “ทองคำแห่งคาลาฮารี” นี่คือขุมทรัพย์ข้อมูลที่บ่งบอกว่า ชีวิตของสัตว์ขี้อายที่กินมดปลวกเป็นอาหารนี้เกี่ยวพันกับหญ้าและแมลงเล็กๆที่เก็บเกี่ยวเมล็ดและกินหญ้าเหล่านั้นอย่างไร มันยังเป็นด้ายสำคัญอีกเส้นที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจความเชื่อมโยงของสิ่งมีชีวิตต่างๆในทุ่งหญ้าสะวันนาแห้งแล้งของแอฟริกา ซึ่งทั้งหมดเริ่มต้นจากฝนฤดูร้อนที่ปกติอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคม

งานวิจัยที่พวกเธอทำผ่านห้องปฏิบัติการสรีรวิทยาการอนุรักษ์สัตว์ป่า มหาวิทยาลัยวิตวอเตอส์แรนด์ใน โจฮันเนสเบิร์ก เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาขนาดใหญ่ชื่อ โครงการระบบนิเวศใกล้สูญพันธุ์ของคาลาฮารี หรือคีป (Kalahari Endangered Ecosystem Project: KEEP) ซึ่งมุ่งทำความเข้าใจว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลต่อสายใยชีวิตอันเปราะบางของที่นี่อย่างไร

นกกระจาบ, ทะเลทราย, คาลาฮารี
รวงรังมโหฬารของนกกระจาบสังคมบนต้นหนามอูฐเหล่านี้อาจมีอายุหลายสิบปี ช่วยปกป้องนกหลายชั่วรุ่นจากความสุดขั้วต่างๆ ในคาลาฮารี งูเห่าเหลืองและงูบูมสลังที่หิวโหยมักเยี่ยมหน้าเข้ามาในรัง เผื่อจะมีลูกนกให้กินรองท้อง

พื้นที่ส่วนนี้ของคาลาฮารีติดธงแดงในฐานะจุดร้อนด้านสภาพภูมิอากาศแล้ว แบบจำลองของนักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศจากมหาวิทยาลัยเคปทาวน์ชี้ว่า ภายในสิบปี เมื่ออุณหภูมิโลกอาจสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส อันเป็นตัวเลขที่ความตกลงปารีสขององค์การสหประชาชาติพยายามหลีกเลี่ยง อุณหภูมิเฉลี่ยในบอตสวานาซึ่งอยู่เหนือขึ้นไปจากแหล่งหากินของโฮปเวลล์ 3 จะสูงเกินสององศาแล้ว และหากอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงขึ้นเกินสามองศาเซลเซียสหรือเท่ากับ 4.2 องศาที่นี่ นักวิทยาศาสตร์ทำนายว่า จะส่งผลให้ระบบทั้งระบบในคาลาฮารีพังพลายลง

การศึกษาเมื่อไม่นานมานี้ที่ทำกับอาร์ดวาร์ก เพื่อนบ้านในเนินทรายของลิ่นซึ่งกินมดปลวกเป็นอาหารเช่นกัน ในช่วงฝนแล้งของฤดูร้อนปี 2012-2013 เผยเบาะแสชวนหดหู่ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลต่อชีวิตที่นี่อย่างไร หากไม่มีฝน หายนะต่างๆจะเกิดไล่ไปเป็นทอดๆ เริ่มจากหญ้าเหี่ยวเฉา มดปลวกที่กินหญ้าลดจำนวนลง และสิ่งมีชีวิตใดๆที่กินแมลงเหล่านี้จะหิวโหยหรืออดอยาก หากการที่พืชพรรณประจำปีไม่งอกงามตามฤดูกาล หมายถึงหายนะของสัตว์กินแมลงสองชนิดนี้ในช่วงฝนแล้ง ความเสียหายต่อระบบซึ่งเกิดจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นและภัยแล้งรุนแรงในระยะยาวกว่านี้ จะส่งผลอย่างไรต่อสายใยชีวิตที่ถักทออยู่ในห่วงโซ่อาหารที่ได้ความอุดมสมบูรณ์จากหญ้า

ยีราฟ, ทะเลทราย, คาลาฮารี
ในเขตสงวนสวาลูคาลาฮารีซึ่งเป็นพื้นที่สงวนของเอกชนขนาดใหญ่ที่สุดในแอฟริกาใต้ สิงโตไล่ล่ายีราฟและสัตว์กินหญ้า เช่น แอนทิโลป ช่วยลดความต้องการหญ้าซึ่งอาจถูกแทนที่ด้วยไม้พุ่มมีหนามในช่วงที่อากาศร้อนขึ้นและฝนตกน้อยลง

คาลาฮารีคือผืนทรายต่อเนื่องอันกว้างใหญ่ไพศาลที่สุดในโลก มหาสมุทรแห่งเนินทรายที่ถูกลมพัดเป็นระลอกนี้ทอดตัวอยู่ในบอตสวานา นามิเบีย แอฟริกาใต้ และไกลออกไป ปกคลุมด้วยทุ่งหญ้าสะวันนา ซึ่งเป็นภูมิทัศน์ของทุ่งหญ้าที่มีต้นไม้ขึ้นอยู่เป็นหย่อมๆ และที่บริเวณขอบทางใต้นี้ กระแสลมพัดทรายให้ก่อตัวเป็นเนินทรายในแนวเหนือใต้เลียบไปกับเนินเขาหินควอร์ตไซต์เตียนโล่ง

การทำเกษตรติดต่อกันหลายสิบปี ทำให้ภูมิภาคนี้บอบช้ำเสียหาย และตอนนี้ยังถูกผลกระทบรุนแรงและยากหยุดยั้งของภาวะโลกร้อนกระหน่ำเข้าใส่ด้วย สิ่งที่พาเนโนและพาควาโกเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตอันลี้ลับของสรรพสัตว์ในเนินทรายเหล่านี้ จะส่งสัญญาณฉุกเฉินไปยังผู้จัดการเขตอนุรักษ์ต่างๆ เพื่อช่วยให้พวกเขาปกปักรักษาสายใยชีวิตอันเปราะบางของคาลาฮารีได้ดีขึ้น

หญ้าทำให้ชีวิตดำรงอยู่ได้ในมหาสมุทรแห่งเม็ดทรายที่ไร้สารอาหารแห่งนี้ มันยึดเนินทรายไม่ให้พังทลายไป ตามลม ช่วยอุ้มความชื้นที่เอาแน่เอานอนไม่ได้จากดินไปเก็บกักไว้ในเซลล์เพื่อบรรเทาความกระหายของมดปลวก ขณะที่รังมดปลวกใต้ดินคือตู้กับข้าวของลิ่นและอาร์ดวาร์ก รวมถึงอาร์ดวูล์ฟและหมาจิ้งจอกหูยาวที่กินแมลงเป็นอาหารด้วย

เมียร์แคต, จิ้งหรีด, ทะเลทราย
หลังจากถูกเมียร์แคตตัวนี้สะบัดทิ้ง จิ้งหรีดหนามอาจลงเอยด้วยการถูกกินเป็นของว่าง ลูกเมียร์แคตเพิ่มน้ำหนักได้ไม่เร็วนักเวลาที่อากาศร้อน ซึ่งนักวิจัยบอกว่าอาจเป็นเพราะแมลงที่พวกมันกินมีน้ำน้อย ลูกเมียร์แคตอาจเสียน้ำและพลังงานขณะที่มันพยายามควบคุมอุณหภูมิร่างกาย

หญ้าคือวัสดุก่อสร้างพื้นๆที่เหล่าสถาปนิกจากฟากฟ้าของคาลาฮารีใช้ นกกระจาบสังคมทำรังอายุหลายสิบปีด้วยใบหญ้าซึ่งไม่เพียงเป็นที่พำนักของนกจาบหลายชั่วรุ่น แต่ยังรวมถึงเหยี่ยวเล็กแอฟริกาด้วย ผู้อาศัยมีปีกเหล่านี้ชักนำงูเห่าเหลืองและงูบูมสลังที่หิวโหยเข้ามาด้วย หญ้ายังเป็นอาหารของสัตว์กีบต่างๆ ซึ่งตัวมันเองก็เป็นอาหารของสิงโต เสือชีตาห์ เสือดาว หมาป่าแอฟริกา และสัตว์นักล่าอื่นๆ ในทุ่งหญ้าสะวันนาของแอฟริกาด้วย

การเกิดใหม่ในสวาลูเริ่มต้นจากหญ้าระบัดหลังฝน ฝนฟ้าคะนองทำให้มีปริมาณฝนเฉลี่ยปีละ 325 มิลลิเมตร แต่ปริมาณฝนก็แปรปรวนจนขึ้นชื่อ บางปีอาจวัดได้ไม่ถึง 175 มิลลิเมตร ขณะที่บางปีอาจสูงกว่าค่าเฉลี่ยเกือบสองเท่า ในอดีต สัตว์ใหญ่ตอบสนองต่อหญ้าที่งอกงามด้วยการเดินทางไกล โดยมักตามเมฆฝนไปเพราะรู้ว่า นั่นจะนำพวกมันไปสู่แหล่งอาหาร แต่การเลี้ยงปศุสัตว์นานหลายสิบปีทำให้เกิดรั้วกั้นเส้นทางอพยพต่างๆ ส่งผลให้ฝูงสัตว์ป่าติดอยู่ในเขตสงวนต่างๆเหมือนกับที่นี่

จากข้อมูลของสำนักงานพยากรณ์อากาศแอฟริกาใต้ ปี 2015, 2016 และ 2019 คือปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่บันทึกไว้ตั้งแต่ปี 1950 เป็นอย่างน้อย เมื่อเดือนมกราคม ปี 2016 เทอร์โมมิเตอร์ที่น้ำตกออกราบีส์ ซึ่งอยู่ห่างจากสวาลูไปทางตะวันตกเฉียงใต้ 250 กิโลเมตร วัดได้ 48.6 องศาเซลเซียส นั่นคือหนึ่งใน “อุณหภูมิสูงสุดเท่าที่เคยวัดได้ในที่สูงจากระดับทะเลเช่นนี้ในซีกโลกใต้” สเตฟาน คอนราดี นักวิจัยระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเคปทาวน์ บอก “และเป็นอุณหภูมิสูงสุดอันดับสองที่วัดอย่างเชื่อถือได้ทางตอนใต้ของแอฟริกา” หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คลื่นความร้อนในปี 2015-2016 จะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นประมาณหนึ่งในหมื่นปี ตามการวิเคราะห์ข้อมูลเมื่อไม่นานมานี้

ทะเลทราย, คาราฮารี
ภัยแล้งนานหลายปีสิ้นสุดลงช่วงปลายปี 2020 ทำให้เนินทรายสีแดงก่ำของสวาลูในภาพนี้กลายเป็นสีเขียวชอุ่ม ชุ่มชื้น คาลาฮารีอุ่นขึ้นด้วยอัตราเร็วกว่าค่าเฉลี่ยของโลกมากแล้ว และแบบจำลองสภาพภูมิอากาศหลายชุดยังคาดการณ์ว่า ที่นี่จะแห้งแล้งขึ้นโดยเฉพาะในฤดูร้อน

อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบต่อปริมาณฝนอย่างไรนั้นยากจะทำนายได้ แต่ในพื้นที่ส่วนนี้ของทวีป ฝนฤดูร้อนมีแนวโน้มจะเริ่มช้ากว่าเดิมและสั้นลงด้วย พายุฝนที่เกิดอาจรุนแรงขึ้น ฝนตกปริมาณมากขึ้นในช่วงเวลาสั้นลง ซึ่งอาจส่งผลให้น้ำท่วม และอาจเกิดภาวะแห้งแล้งยาวนานขึ้นในช่วงไม่มีฝน

นั่นจะส่งผลอย่างไรต่อสายใยชีวิตของพืชและสัตว์ทางตอนใต้ของคาลาฮารี จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าฝนฤดูร้อนไม่ตกตามฤดูกาลซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถ้าภัยแล้งเกิดบ่อยขึ้น ถ้าช่วงหญ้าระบัดในฤดูร้อนเกิดขึ้นไม่ตรงเวลา นั่นจะส่งผลอย่างไรต่อบรรดามดปลวกที่สะสมเมล็ดธัญพืชและหญ้าไว้ในรังใต้ดินทุกฤดูร้อน

และถ้าจำนวนของแมลงเหล่านั้นลดลงอย่างฮวบฮาบ จะเกิดอะไรขึ้นกับลิ่นที่มีสถานะถูกคุกคามจากการลักลอบล่าในหลายพื้นที่ทางตอนใต้ของแอฟริกา และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆที่กินมดปลวกเป็นอาหารเช่นกัน

เรื่อง ลีโอนี โจแบร์
ภาพ ทอมัส พี. เพสแชก

สามารถติดตามสารคดี ทะเลทรายคาลาฮารี ชีวิตบนขอบเหวของการอยู่รอด ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนสิงหาคม 2564

สามารถสั่งซื้อได้ที่ https://www.naiin.com/category?magazineHeadCode=NG&product_type_id=2


อ่านเพิ่มเติม ธรรมชาติอันน่าจับใจในทะเลทรายนามิเบีย

ทะเลทรายนามิเบีย

Recommend