เสือชีตาห์ คือสินค้าในโซมาลีแลนด์

เสือชีตาห์ คือสินค้าในโซมาลีแลนด์

เสือชีตาห์ ที่สง่างามชนิดนี้เป็นที่ปรารถนาของผู้ลอบค้าที่ขายสัตว์ป่าให้ลูกค้าร่ำรวย เรื่องราวต่อไปนี้ตีแผ่กระบวนการที่เครือข่ายอาชญากรรมรายหนึ่งใช้ลักลอบขนส่งลูกเสือออกจากแอฟริกา และยุทธวิธีตอบโต้ของโซมาลีแลนด์

จากการประเมินล่าสุดหลายครั้ง เสือชีตาห์ โตเต็มวัยเหลืออยู่ในธรรมชาติน้อยกว่า 7,000 ตัว ส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคแอฟริกาใต้และตะวันออก การค้าเสือชีตาห์เชิงพาณิชย์ระหว่างประเทศถูกแบนมาตั้งแต่ปี 1975 กระนั้น จากปี 2010 ถึงปี 2019 ยังมีการนำเสือชีตาห์เป็นๆ มาประกาศขาย หรือขายโดยผิดกฎหมายมากกว่า 3,600 ตัวทั่วโลก โดยมีเพียงร้อยละสิบที่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายสกัดกั้นไว้ได้ พาทริเชีย ตริโคราจ นักวิจัยสังกัดมหาวิทยาลัย รัฐโคโลราโด ซึ่งติดตามการค้าเสือชีตาห์มา 15 ปีแล้ว กล่าว ทั้งนี้ การจับเสือชีตาห์จากธรรมชาติเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ในโซมาลีแลนด์มาตั้งแต่ปี 1969

การสูญเสียถิ่นอาศัย และการฆ่าเพื่อตอบโต้โดยคนเลี้ยงสัตว์ เมื่อเสือชีตาห์ล่าปศุสัตว์ของพวกเขา เป็นภัยคุกคามใหญ่หลวงที่สุดต่อการอยู่รอดของเสือชีตาห์ ซ้ำเติมด้วยการค้าลูกเสืออย่างผิดกฎหมาย ลูกเสือวัยอ่อนซึ่งมักยังกินนมและต้องพึ่งพาแม่อยู่ ถูกฉกมาจากป่าระหว่างที่แม่ของพวกมันออกไปล่าเหยื่อ หรือเมื่อแม่ที่อยู่ในช่วงให้นม ถูกแกะรอยย้อนกลับไปที่รังของมัน ผู้ลักลอบค้าสัตว์ป่าจะเคลื่อนย้ายลูกเสือชีตาห์ โดยใช้ทั้งเส้นทางเดินเท้า โดยสารอูฐ รถยนต์ และเรือ ผ่านภูมิภาคจะงอยแอฟริกา แล้วข้ามอ่าวเอเดนแคบๆ ไปยังฝั่งประเทศเยเมน รวมระยะทาง 350 กิโลเมตรหรือมากกว่านั้น ซึ่งอาจใช้เวลาหลายอาทิตย์ ลูกเสือที่รอดชีวิตจะถูกขายเป็นสัตว์เลี้ยง ในซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คูเวต และประเทศแถบอ่าวเปอร์เซียอื่นๆ

เสือชีตาห์
หน้ากากปิดตาผู้โดยสารเครื่องบินกับทิชชูแผ่นหนึ่งในหู ช่วยให้แอสเทอร์สงบระหว่างให้ยาซึมเพื่อตรวจร่างกายก่อนเข้ารับการดูแลที่ศูนย์ช่วยเหลือแห่งหนึ่งของกองทุนอนุรักษ์เสือชีตาห์ (ซีซีเอฟ) องค์กรไม่แสวงกำไรใน ฮาร์เกย์ซา เมืองหลวงของโซมาลีแลนด์ ลูกเสือที่ถูกลักลอบขนส่งหรือถูกสกัดยึดไว้ได้จากเครือข่ายอาชญากรรมมักเจ็บป่วย เพราะต้องเผชิญกับการเดินทางที่ทรหดยาวนาน ไม่ได้รับอาหารที่เหมาะสม ลูกเสือจำนวนมากที่ไม่รอดชีวิต

เชื่อกันว่า โซมาลีแลนด์คือศูนย์กลางการค้าเสือชีตาห์ เพราะมีช่องทางเข้าถึงสัตว์กลุ่มนี้ได้ง่ายในเอธิโอเปียและเคนยา มีชายฝั่งที่ยาวถึง 750 กิโลเมตร และตั้งอยู่ใกล้กับเยเมน การค้าขายทุกชนิด ทั้งถูกและผิดกฎหมาย หลั่งไหลข้ามอ่าวเอเดนมานับพันปีแล้ว ปัจจุบัน ลูกเสือชีตาห์ อัญมณี มนุษย์ และอื่นๆ อีกมาก คือสินค้าลักลอบนำออกจากจะงอยแอฟริกา ขณะที่ปืน วัตถุระเบิด และกระสุนเป็นสินค้าลักลอบนำเข้า

ตลอดประวัติศาสตร์ เสือชีตาห์เป็นสัญลักษณ์แสดงสถานะ ภาพเขียนในสุสานของเรคมีเรซึ่งเป็นวิซิเยอร์ (vizier) หรือขุนนางชั้นผู้ใหญ่ในอียิปต์โบราณ แสดงให้เห็นอาคันตุกะชาวต่างชาตินำเครื่องบรรณาการมาถวายแด่ฟาโรห์ ทุตโมสที่ 3 ซึ่งมีเสือชีตาห์ล่ามเชือกตัวหนึ่งรวมอยู่ด้วย จิตรกรรมฝาผนังปูนเปียกยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาที่วังแห่งหนึ่ง ในฟลอเรนซ์ แสดงให้เห็น จูเลียโน เดอ เมดิชี สมัยเป็นวัยรุ่นขณะนั่งบนหลังม้า มีเสือชีตาห์ตัวหนึ่งนั่งอยู่ข้างหลัง โจเซฟีน เบเกอร์ ดาวเต้นโป๊เปลือยในยุคแจ๊สและสายลับขบวนการต่อต้านฝรั่งเศสที่สู้รบกับนาซีเยอรมัน มีผู้พบเห็นเดินเล่นข้างถนนชองเซลีเซกับเสือชีตาห์ชื่อชีกีตา ซึ่งร่วมแสดงบนเวทีกับเธอเป็นครั้งคราว

ลูกเสือ
ลูกเสือที่ได้รับการช่วยเหลือห้าตัวได้รับการดูแลในเต็นท์หน้าเครื่องทำความร้อน เนื่องจากมีอายุเพียงหกอาทิตย์ พวกมันต้องได้รับการป้อนอาหารทุกสองสามชั่วโมง สัตวแพทย์ของซีซีเอฟกะละหนึ่งคนจะทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลลูกเสือที่ยังเด็กมาก ถึงขนาดต้องนอนข้างๆ พวกมันด้วย องค์กรนี้ให้ที่พักพิงและการดูแลแก่เสือชีตาห์ทั้งหมดที่ยึดได้ในโซมาลีแลนด์ หรือเกือบ 60 ตัว จากสถิติจนถึงกลางปี 2021

ทุกวันนี้ อินสตาแกรมคือแหล่งที่จะได้เห็นและถูกพบเห็นเคียงคู่เสือชีตาห์ โพสต์สาธารณะจำนวนมากที่มีเสือ ชีตาห์เป็นสัตว์เลี้ยงมาจากผู้มีฐานะร่ำรวยในรัฐย่านอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งใช้เสือชีตาห์เป็นของประดับบารมี ชุมชนออนไลน์นี้มีภาพถ่ายเสือชีตาห์เคียงคู่รถลัมโบร์กินีและโรลส์-รอยซ์ เสือชีตาห์ข้างสระว่ายน้ำระยิบระยับ และเสือชีตาห์ถ่ายรูป คู่กับเจ้าของในเครื่องแต่งกายหรูหรา

กฎหมายว่าด้วยการครอบครองสัตว์ป่าเป็นสัตว์เลี้ยงในประเทศเหล่านี้อาจยากที่จะวิเคราะห์หรือตีความ ยกตัวอย่างเช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ออกกฎหมายห้ามเอกชนครอบครองสัตว์ป่า “อันตราย” อย่างเสือชีตาห์เมื่อปี 2016 บางคนนำเสือที่เลี้ยงไว้ไปมอบให้กับทางการ แต่ห้าปีต่อมา ยังมีชาวเอมิเรตส์จำนวนมากเป็นเจ้าของเสือเหล่านี้ เห็นได้จากผลการค้นหาในอินสตาแกรม บางคนดูเหมือนจะอาศัยช่องโหว่ที่ยกเว้นให้กับศูนย์การศึกษาวิจัย อุทยานสัตว์ป่า และสวนสัตว์ต่างๆ ซึ่งรวมถึงสวนสัตว์เอกชน อย่างสวนสัตว์ที่มหาเศรษฐีทั้งหลายเป็นเจ้าของ กระทรวงสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ยืนยันว่า ได้วางมาตรฐานเข้มงวดสำหรับการออกใบอนุญาตประกอบกิจการสวนสัตว์ และทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเพื่อ “ตอบโต้อย่างเป็นระบบ และทันท่วงที เมื่อได้รับรายงานการครอบครองโดยผิดกฎหมาย” บทลงโทษนั้นรวมถึงจำคุกสูงสุดหกเดือน และปรับสูงสุด 136,000 เหรียญสหรัฐ

เสือชีตาห์
สตอร์ม, กูฮาด และเลโอ (จากซ้ายไปขวา) พักผ่อนบนบ้านไม้ในคอกของพวกมันที่ศูนย์ช่วยเหลือซีซีเอฟ เสือชีตาห์ที่ถูกลอบค้าโดยทั่วไปมักถูกจับจากธรรมชาติตอนยังเด็กๆ และเนื่องจากไม่เคยเรียนรู้การล่ามาก่อน พวกมันจึงไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตในธรรมชาติได้

ไม่ว่าเสือชีตาห์ในภาพถ่ายเหล่านี้จะดูเป็นอย่างไร พวกมันไม่เคยถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นสัตว์บ้าน สัตว์เลี้ยงอย่างแมว สุนัข แพะ และม้า เกิดขึ้นจากกระบวนการคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์อย่างต่อเนื่องหลายชั่วรุ่น เพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง แต่เสือชีตาห์ไม่ออกลูกง่ายๆ ในสถานเพาะเลี้ยง เอเดรียน โครซีเยร์ นักชีววิทยาผู้กำกับดูแลโครงการขยายพันธุ์เสือชีตาห์ ที่สถาบันชีววิทยาการอนุรักษ์สมิทโซเนียนในรัฐเวอร์จิเนีย กล่าวและเสริมว่า เสือชีตาห์ที่เป็นสัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่ “ถูกพรากมาจากธรรมชาติ”

จากข้อมูลจนถึงเดือนมิถุนายน ปี 2021 พบการประกาศขายเสือชีตาห์แล้วอย่างน้อย 150 ตัวในปีนี้

เสือชีตาห์
เสือชีตาห์จำนวนห้าใน 10 ตัว ที่ยึดได้ในคดีของอับดี ฮายาวาน ผู้ลักลอบค้าเสือชีตาห์รายใหญ่ในโซมาลีแลนด์ ถูกนำมาเป็นพยานหลักฐานในศาล อับดี ฮายาวานถูกตัดสินว่ามีความผิดเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา และถูกพิพากษาจำคุกสี่ปี

โซมาลีแลนด์ประกาศตนเป็นเอกราชจากโซมาเลีย ประเทศเพื่อนบ้านทางใต้ เมื่อปี 1991 ขณะสงครามกลางเมืองกำลังระอุ และต่างกับโซมาเลีย โซมาลีแลนด์มีประชาธิปไตยที่ยังทำงานได้อยู่และค่อนข้างมีเสถียรภาพ กระนั้น ก็มีอุปสรรคท้าทายเด่นชัดหลายประการ ประเทศนี้มีความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการกับหลายประเทศ แต่ไม่เป็นที่ยอมรับอย่างเป็นทางการจากนานาชาติในฐานะรัฐชาติ อันเป็นเป้าหมายหลักข้อหนึ่งของรัฐบาลโซมาลีแลนด์ ซึ่งปัจจุบันนำโดยประธานาธิบดี มูเซ บีฮิ อับดี โซมาลีแลนด์ยังขาดโครงสร้างพื้นฐาน มีจีดีพีต่อหัวประชากรต่ำกว่า หนึ่งพันดอลลาร์ต่อปีอยู่มาก และเศรษฐกิจต้องพึ่งพาเม็ดเงินส่งกลับบ้านจากต่างประเทศ นอกจากนี้ ภัยแล้งที่เกิดบ่อยครั้งขึ้นยังกวาดล้างฝูงปศุสัตว์อันเป็นเสาหลักของวิถีชีวิตชาวโซมาลี

ทว่าแม้จะเผชิญอุปสรรคเหล่านี้ รัฐบาลโซมาลีแลนด์ก็ยังต่อสู้กับขบวนการค้าเสือชีตาห์อย่างผิดกฎหมายด้วยความกระตือรือร้น มากกว่าที่ประเทศส่วนใหญ่แสดงให้เห็นในการต่อกรกับอาชญากรรมสัตว์ป่าไม่ว่าจะรูปแบบใด

เสือชีตาห์
ลิงก์กับเซลดา พี่น้องคู่นี้เป็นส่วนหนึ่งของลูกเสือ 10 ตัวที่ได้รับการช่วยเหลือเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา หลังการจับกุมอับดรักห์มาน ยูซุฟ มะห์ดิ ซึ่งเป็นที่รู้จักมากกว่าในชื่อ อับดี ฮายาวาน ในข้อหาลักลอบค้าสัตว์ป่า

“แม้เรายังเป็นประเทศใหม่ เป็นประเทศที่เพิ่งก่อร่างสร้างตัว กระนั้น เราก็เป็นประเทศที่ [ไม่] อยากเห็นสัตว์ป่าทนทุกข์ทรมาน รวมทั้งการค้าสัตว์ป่าด้วยค่ะ” ชูกรี ฮาจี อิสมาอิล โมฮามุด รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมและ การพัฒนาชนบท กล่าว

กระทรวงของเธอกำลังเดินหน้าปราบปรามการลักลอบขนส่งเสือชีตาห์ โดยทำงานร่วมกับหน่วยยามฝั่ง ของโซมาลีแลนด์ กองทัพบก สภานิติบัญญัติ อัยการสูงสุด และกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีหน้าที่ดูแลความมั่นคงภายในประเทศ เป็นการต่อสู้เพื่อปกป้องมรดกทางธรรมชาติของโซมาลีแลนด์ เพื่อสร้างเสริมสันติภาพและเสถียรภาพ และเพื่อให้ได้มาซึ่งการยอมรับจากนานาชาติในฐานะรัฐอิสระที่ปกครองโดยหลักนิติธรรม

เรื่อง เรเชล เบล
ภาพถ่าย นิโคล โซเบกกี

สามารถติดตามสารคดี เสือชีตาห์คือสินค้า ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนกันยายน 2564

สามารถสั่งซื้อได้ที่ https://www.naiin.com/category?magazineHeadCode=NG&product_type_id=2


อ่านเพิ่มเติม งาเลือด: สังเวยชีวิตช้างเพื่อสนองศรัทธามุษย์

Recommend