เยือนช่องแคบอันห่างไกลใน เฟรนช์โปลินีเซีย เพื่อชมการจับคู่ผสมพันธุ์ที่หาดูได้ยากของปลากะรังและฉลามที่ไล่ล่าพวกมัน
ทางใต้สุดของอะทอลล์ฟาการาวาหรือเกาะปะการังวงแหวนรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาว 60 กิโลเมตรในแถบเฟรนช์โปลินีเซีย ช่องแคบหนึ่งตัดผ่านแนวปะการังแห่งนี้ ทุกปีในเดือนมิถุนายน ปลากะรัง (Epinephelus polyphekadion) หลายพันตัวจะมารวมตัวกันในช่องแคบดังกล่าว ซึ่งมีพื้นที่พอๆกับสนามฟุตบอลสองสนามต่อกัน
เพื่อให้กำเนิดปลารุ่นต่อไป กระแสนํ้าเชี่ยวกรากไหลหลากเข้ามาทุกๆ หกชั่วโมง เติมเต็มและพานํ้าออกจากแอ่งแคบๆ นั้น ปลากะรังตัวอ้วนพีขนาดราว 50 เซนติเมตรไม่ได้เป็นปลาพวกเดียวที่มาที่นี่ เพราะยังมีฉลามสีเทาอีกหลายร้อยตัวที่มาเยือนเพื่อสะกดรอยพวกมัน
ปลากะรังเพศเมียส่วนใหญ่จะอยู่ที่นี่เพียงสองถึงสามวันเพื่อวางไข่ เหมือนกับปลาที่อาศัยอยู่ตามแนวปะการังชนิดอื่นๆ แต่ปลากะรังเพศผู้ที่มักใช้ชีวิตตามลำพังเกือบทั้งปี จะมาแออัดกันในน่านนํ้าอันตรายแห่งนี้นานหลายสัปดาห์ จนกว่าทั้งหมดจะได้ผสมพันธุ์พร้อมกันในที่สุด โดยปล่อยกลุ่มไข่และสเปิร์มออกมาในนํ้า คนท้องถิ่นบอกเราว่า ฤกษ์ดีของพวกมันคือช่วงคืนจันทร์เพ็ญ
ทีมงานของผมใช้เวลาสี่ปีที่ผ่านมาบันทึกและทำความเข้าใจพฤติกรรมอันน่าทึ่งและแสนพิศวงนี้ เราดำนํ้ากันทั้งวันทั้งคืนตลอดระยะเวลา 21 สัปดาห์ นับรวมได้ทั้งหมด 3,000 ชั่วโมงของการดำนํ้าในช่องแคบลึก 35 เมตรแห่งนี้ ในช่วงปีแรกหรือปี2014 โยฮาน มูริเยร์ และอองโตแนง กิลแบร์ นับจำนวนปลาที่ถูกต้องได้เป็นครั้งแรก นั่นคือช่องแคบแห่งนี้มีปลากะรังทั้งหมด 17,000 ตัว และฉลามสีเทา 700 ตัว (ปลาเหล่านี้อยู่ในเขตรักษาพันธุ์ชีวมณฑล)
ในปีนั้น ผมดำนํ้าต่อเนื่องได้ยาวนาน 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นการดำนํ้าเชิงเทคนิคที่ต้องมีทีมงานคอยช่วยเหลือ เป้าหมายของเราไม่ใช่เพื่อสร้างสถิติใหม่ แต่เพื่อสังเกตฝูงปลาแบบเดียวกับที่นักชีววิทยาเฝ้าดูสัตว์บกเป็นระยะเวลาต่อเนื่องยาวนานโดยไม่มีอะไรขัดจังหวะ
พลบคํ่าของคืนแรก ผมมองดูครัสเตเชียนและมอลลัสก์ โผล่ขึ้นจากบริเวณนํ้าลึกของแนวปะการัง ก่อนจะหลบลี้หนีหายไปเมื่อเห็นแสงวาบจากไฟฉายของผม ผมมองดูฝูงปลากะรังเปลี่ยนสีตัวให้เข้มขึ้นและถอยเข้าไปหลบนอนในซอกหิน จากนั้นก็เห็นฝูงฉลามเริ่มมีชีวิตชีวาราวกับว่ารอคอยวินาทีนี้อยู่
พวกมันจะว่ายนํ้าเอื่อยๆ ในตอนกลางวัน เพราะปลากะรังที่ตื่นอยู่ว่ายนํ้าเร็วเกินจะไล่จับได้ทัน แต่ในยามราตรีเช่นนี้ ฉลามจะรวมฝูงกันที่ก้นทะเลพร้อมกันหลายร้อยตัวจนท้องนํ้าสั่นสะเทือน และผมก็ตระหนักในตอนนั้นเองว่าประเมินความเร็วของพวกมันตํ่าเกินไป อาการกระสับกระส่ายของฉลามทำให้ผมเริ่มวิตก เพราะก๊าซผสมที่ผมใช้หายใจในการดำนํ้า 24 ชั่วโมงครั้งนี้อาจไม่พอทำให้ผมขึ้นสู่ผิวนํ้าได้ทันทีที่ต้องการ ผมต้องอยู่ที่ระดับความลึกนี้กับพวกมัน
หลายปีหลังจากนั้นผมถึงได้หายกลัวและมีความ ตื่นเต้นเข้ามาแทนที่ เป็นความปีติที่จะได้เรียนรู้ ได้เสี่ยงภัยโดยไม่ต้องอาศัยกรงหรือชุดดำนํ้าทำจากโลหะถัก หรือกระทั่งไม้กันฉลามในการดำนํ้าเข้าสู่ดงฉลามฝูงใหญ่ เพราะสิ่งหนึ่งที่เราค้นพบที่ฟาการาวาคือ พวกมันออกล่ากันเป็นฝูงคล้ายหมาป่า เพียงแต่ทำงานร่วมกันน้อยกว่า ฉลามตัวเดียวจะอืดอาดเกินกว่าจะจับปลากะรังง่วงซึมได้สักตัว แต่เมื่อรวมกัน ฝูงฉลามมีโอกาสต้อนปลากะรังออกจากที่หลบซ่อนและตีวงล้อมได้ ก่อนจะเข้าไปรุมทึ้ง ฉากการเข้าโจมตีที่เราเห็นมากับตานี้ดูบ้าคลั่ง
ฉลามมองเราเป็นตัวเกะกะ ไม่ใช่เป้าหมาย เมื่อเราดำนํ้าในตอนกลางคืน พวกมันมักจะเข้ามาเมียงมองดูเรา เพราะการเคลื่อนไหวเพียงแค่กระดิกตัวหรือแสงไฟแวบหนึ่งก็สามารถดึงดูดพวกมันได้แล้ว บางครั้งพวกมันจะว่ายเข้ามาชนเราอย่างจังจนทำให้เกิดรอยฟกชํ้าดำเขียว บางหนเราก็ทำให้ฉลามที่ตื่นเต้นสงบลงด้วยการคว้าหางและจับมันพลิกให้หงายท้อง ซึ่งจะทำให้ฉลามตกอยู่ในภวังค์ได้
บรรดาฉลามสีเทาสวาปามปลากะรังหลายร้อยหรืออาจหลายพันตัวในช่วงเวลาหลายสัปดาห์ที่พวกปลากะรังมารวมตัวกันที่แนวปะการังฟาการาวา และทำให้อีกหลายตัวบาดเจ็บ เช้าวันรุ่งขึ้นหลังจากดำนํ้าตลอดทั้งคืน เมื่อฝูงปลากะรังเริ่มตื่นนอนอีกครั้ง ผมถ่ายภาพตัวที่รอดชีวิตไว้ได้ พวกมันมีแผลฉกรรจ์ บางตัวครีบขาด แผ่นปิดเหงือกขาดรุ่งริ่ง แต่ถึงแม้จะอยู่ในสภาพน่าอเนจอนาถเช่นนั้น พวกมันก็คงยังมุ่งมั่น ปลาเพศผู้ท้าทายกันครั้งแล้วครั้งเล่าให้มาเผชิญหน้าในการต่อสู้เพื่อชิงความเป็นใหญ่ ภายใต้อำนาจของสัญชาตญาณการสืบพันธุ์
การสำรวจครั้งล่าสุดเมื่อปีกลาย เราได้เห็นเป้าหมายสูงสุดของพวกมัน ในวันแห่งการวางไข่ ระบบนิเวศทั้งหมดจะเปลี่ยนแปลง ท้องนํ้ามีปลากล้วยแถบอยู่เต็มไปหมด ปลากะรังเพศเมียที่ท้องเป่งไปด้วยไข่ เปลี่ยนสีพรางกายนิ่งอยู่ใกล้หรือติดก้นทะเล ส่วนปลากะรัง เพศผู้ตัวสีเทาอ่อนจะเฝ้ามองจากด้านบน พวกมันว่ายลงสู่ก้นทะเลเป็นพักๆ เพื่อโฉบผ่านหน้าเพศเมียและเข้าไปบด เบียด ก่อนจะกัดท้องอีกฝ่ายเพื่อกระตุ้นให้ปล่อยไข่ออกมา
จากนั้นความโกลาหลก็บังเกิด รอบตัวพวกเรา ปลากะรังราวสิบตัวทะยานตัวขึ้นสู่ผิวนํ้าเหมือนพลุไฟ แต่ละกลุ่มมีปลาเพศผู้หลายตัวไล่ตามปลาเพศเมียเพียงตัวเดียว หมู่ปลาฉลามพุ่งเข้าหาพวกมัน แต่ส่วนใหญ่มักจะคว้านํ้าเหลวเพราะปลากะรังว่องไวเกินไป การผสมพันธุ์แต่ละครั้งใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งวินาทีซึ่งเราแทบจะมองไม่เห็นหรือแทบจะไม่เข้าใจเลยว่าเกิดอะไรขึ้น ปลากล้วยแถบเข้ามาบังภาพที่เห็น เพราะพวกมันรี่เข้าไปกินไข่ปลากะรังและนํ้าเชื้อทันทีที่ถูกปล่อยออกมา เซลล์ที่เหลือจะถูกกระแสนํ้าแรงกวนเข้าด้วยกันระหว่างพัดพาออกสู่ทะเล
การผสมพันธุ์อันอลหม่านเช่นนี้กินเวลาไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง สำหรับปลากะรังเพศผู้แล้ว มีประโยชน์อะไรในการต่อสู้กับปลาเพศผู้ตัวอื่นๆ ตลอดสี่สัปดาห์เต็ม โดยทุกๆ คืนต้องเสี่ยงกับการโดนฉลามรุมทึ้งร่างออกเป็นเสี่ยงๆ และท้ายที่สุดก็ไม่ได้แม้แต่ปลาเพศเมียมาเป็นของตัวเองเลยแม้แต่น้อย ไม่รู้ด้วยซํ้าว่านํ้าเชื้อของมันจะได้เข้าไปผสมกับไข่ของแม่ปลาไหม ดูเป็นการใช้พลังงานอย่างสูญเปล่าอย่างแท้จริง
เป็นอีกครั้งที่ยานิก ชองตีล อยู่ถูกที่ถูกเวลา กล้องของเขาจับภาพแอ็กชั่นหนึ่งวินาทีของปลากะรังคู่หนึ่งไว้ได้ ปลาเพศผู้ตัวหนึ่งที่มีสิทธิ์เข้าประกบเพศเมียและเริ่มผสมพันธุ์กับมัน เจ้าหนุ่มเบียดร่างแนบชิดกับปลาสาวไว้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ส่วนปลาหนุ่มตัวอื่นๆ ก็เข้ามาประกบทั้งคู่ เพราะที่นี่ไม่การกีดกันใดๆ รางวัลที่ได้มาอย่างแสนลำบากของปลาเพศผู้ตัวแรกที่ได้จับคู่หลังจากผจญศึกหนักมาตลอดสี่สัปดาห์คือการได้เป็นตัวแรกเท่านั้น แต่นั่นก็หมายถึงการที่มันมีโอกาสมากที่สุดในการได้ส่งผ่านยีนของตัวเอง
เรื่องและภาพ โลรอง บาเลสตา
เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนพฤษภาคม 2561