World Update: งานวิจัยจากญี่ปุ่นระบุ แมวจำชื่อของกันและกันได้

World Update: งานวิจัยจากญี่ปุ่นระบุ แมวจำชื่อของกันและกันได้

งานวิจัยจากญี่ปุ่นระบุ แมวจำชื่อของกันและกันได้ รวมถึงมนุษย์คนอื่นๆ ในบ้านด้วยเช่นกัน

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการทดลองทางวิทยาศาสตร์กับแมวมากมายที่ได้แสดงให้เห็นว่าสัตว์เลี้ยงที่ดูเอาแต่ใจตัวเองและทำท่าทางไม่สนใจอะไรรอบตัวนี้ กลับมีความผูกพันลึกซึ้งต่อมนุษย์และอยากที่จะสื่อสารกับเราเช่นกัน เช่นเดียวกับในงานวิจัยล่าสุดที่ระบุว่าเจ้าเหมียวนั้นจำชื่อแมวตัวอื่นๆ ในบ้านได้ รวมถึงมนุษย์คนอื่นๆ ในบ้านด้วยเช่นกัน

“สิ่งที่เราค้นพบนั้นน่าอัศจรรย์” ซาโฮ ทาคางิ (Saho Takagi) นักวิจัยด้านสัตวศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอาซาบุ (Azabu University) ประเทศญี่ปุ่นกล่าวและเสริมว่า “ผมอยากให้ทุกคนรู้ความจริงว่า แม้แมวจะดูเหมือนไม่สนใจและไม่ฟังการสนทนาของผู้คน แต่จริง ๆ แล้วพวกมันรู้” ต่างจากสุนัขที่เราทราบดีแล้วว่าพวกมันจำชื่อได้และแทบจะสนใจทุกอย่างที่มนุษย์ทำ

ในการทดลอง ทาคางิและเพื่อนนักวิจัยได้ศึกษาแมวบ้านที่อาศัยอยู่กับแมวหลายตัวเปรียบเทียบกับแมวที่อาศัยอยู่ใน ‘คาเฟแมว’ แล้วนำเสนอใบหน้าแมวตัวอื่นๆ (ที่อาศัยอยู่ในที่เดียวกัน) ผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์พร้อมกับเรียกชื่อที่เป็นทั้งของแมวตัวนั้นและชื่อที่เป็นของแมวตัวอื่น

สิ่งที่พวกเขาพบคือ แมวบ้านใช้เวลาในการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์นานขึ้นเมื่อชื่อที่เรียกนั้นไม่ตรงกับใบหน้าแมวที่ปรากฎ ทีมวิจัยเชื่อว่าแมวมีอาการสับสนหรืองุนงงเนื่องจากชื่อและใบหน้าแมวตัวอื่นไม่ตรงกัน ในขณะที่แมวจาก ‘คาเฟแมว’ ไม่ได้แสดงความล่าช้าแบบเดียวกัน

พวกเขาคาดว่าเป็นเพราะแมวอาศัยอยู่ในที่ที่มีแมวอื่น ๆ มากมายและไม่ได้สนิทคุ้นเคยกับทุกตัว จึงไม่ได้สนใจชื่อของแมวตัวอื่น สิ่งนี้เกิดขึ้นเช่นเดียวกับการฉายใบหน้าของมนุษย์พร้อมกับเรียกชื่อของคนนั้น แมวที่อยู่ในบ้านได้แสดงอาการงุนงงเช่นเดิม ในขณะที่แมวใน ‘คาเฟแมว’ ก็ไม่มีอาการล่าช้าแบบเดิม

“เฉพาะแมวในบ้านเท่านั้นที่ถูกกระตุ้นและคาดว่าจะมีใบหน้าแมวที่เฉพาะเจาะจงเมื่อได้ยินชื่อแมวที่จะบ่งบอกว่าชื่อและหน้าตรงกัน” ทาคางิกล่าว “เป็นหลักฐานแรกที่แสดงให้เห็นว่าแมวบ้านเชื่อมโยงคำพูดของมนุษย์และการอ้างอิงทางสังคมของพวกมันผ่านประสบการณ์ทุกวัน” และยิ่งแมวบ้านที่อยู่กับครอบครัวนานเท่าไหร่ การเชื่อมโยงนี้ก็จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไปอีก

อย่างไรก็ตาม ทีมงานยอมรับว่าการวิจัยนี้ศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างที่ค่อนข้างเล็ก นั่นคือแมว 48 ตัวจากบ้านและอีก 29 ตัวจากคาเฟแมว ทำให้ยังไม่อาจอ้างอิงไปยังประชากรทั้งหมด และในส่วนกลไกการเชื่อมโยงที่เกิดขึ้นนั้นยังต้องการการศึกษาอีกมาก 

นอกจากนี้ ทีมงานยังระบุปัญหาอีกอย่างหนึ่งอย่างติดตลก นั่นคือ “ความร่วมมือ” ของผู้เข้าร่วมการทดลองซึ่งก็คือแมวนั่นเอง “เจ้าเหมียวตัวหนึ่งที่ทำการทดลองครั้งแรกเสร็จ มันก็หนีออกไปจากห้องและปีนไปอยู่ในที่พ้นจากมือเราไปเลย” 

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://www.nature.com/articles/s41598-022-10261-5

https://www.sciencealert.com/cats-know-each-other-s-names-experiment-suggests

https://www.studyfinds.org/cats-remember-each-others-names/

Recommend