เมื่อ ผึ้งคือปลา – วันที่ 5 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา องค์คณะผู้พิพากษาแห่งศาลแคลิฟอร์เนียตัดสินให้ผึ้งเป็นสัตว์ประเภทเดียวกับปลา
สามัญสำนึกของเราคงสงสัยและต่อต้านไม่มากก็น้อยหากต้องยอมรับว่าแมลงตัวเล็กๆ ที่โบยบินอยู่ท่ามกลางมวลดอกไม้จะเป็นสัตว์ชนิดเดียวกันกับปลาที่แหวกว่ายอยู่ใต้ผืนน้ำ แม้กระทั่งในทางวิวัฒนาการ ปีกและครีบหางของพวกมันก็มิได้มีจุดร่วมใดที่จะเชื่อมโยงหากันได้ ดังนั้น การจะคิดว่า “ ผึ้งคือปลา ” โดยไม่ทำความเข้าใจถึงสาเหตุเบื้องหลังคงเป็นเรื่องพิลึกอย่างสิ้นเชิงดังที่หลุยส์ โรชา ภัณฑารักษ์แห่งมีนวิทยา (ศาสตร์การศึกษาเกี่ยวกับปลา) แห่งสถาบันวิทยาศาสตร์แคลิฟอร์เนียได้กล่าวไว้ว่า “นี่มันบ้าไปแล้ว ตามหลักชีววิทยา ผึ้งไม่มีทางเป็นปลาอย่างเด็ดขาด”
บัมเบิลบี หรือ ผึ้งหึ่ง เป็นผึ้งป่าที่เคยมีอยู่ทั่วไปในแถบอเมริกาเหนือ ทว่าข้อมูลจากบริการปลาและสัตว์ป่าของสหรัฐอเมริกา (USFWS หรือ FWS) กลับเผยว่าปัจจุบันพวกมันมีจำนวนลดลงเกือบร้อยละ 90 เหตุจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โรคระบาด ยาฆ่าแมลง และการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย
วิกฤตการเสี่ยงสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตนี้นับเป็นที่หวาดหวั่นเป็นอย่างยิ่งสำหรับอเมริกาเพราะพวกมันคือหนึ่งในผู้ช่วยสำคัญในการผสมพันธุ์ดอกไม้ป่าและพืชไร่ราว 1 ใน 3 ทั่วสหรัฐตั้งแต่บลูเบอรีจนถึงมะเขือเทศ ซึ่งรวมแล้วมีมูลค่าทางเกษตรกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ด้วยเหตุนี้เอง ผู้คนและนักอนุรักษ์จึงยื่นคำร้องแก่ศาลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 เพื่อให้ผึ้งผสมเกสรอย่างบัมเบิลบีได้รับการดูแลและคุ้มครองในฐานะสัตว์ใกล้สูญพันธ์ภายใต้พระราชบัญญัติสัตว์ใกล้สูญพันธุ์แห่งแคลิฟอร์เนีย (CESA หรือ The California Endangered Species Act)
แม้สังคมจะตระหนักและเดินหน้าเพื่ออนุรักษ์ประชากรบัมเบิลบี แต่พวกเขาก็เจอทางตันแห่งลายลักษณ์อักษร นั่นคือขอบเขตของ CESA ซึ่งระบุประเภทสิ่งมีชีวิตที่เข้าข่ายการคุ้มครองตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 ว่าจะต้องเป็น “สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ท้องถิ่น หรือชนิดย่อยของ นก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ปลา สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ สัตว์เลื้อยคลาน หรือ พืช” ที่จัดว่าใกล้สูญพันธุ์เท่านั้น แมลงอย่างผึ้งบัมเบิลบีจึงไม่เข้าข่ายสัตว์คุ้มครองของ CESA แม้พวกมันจะมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดก็ตาม
หน่วยงานด้านการอนุรักษ์ยังคงพยายามทำลายกำแพงข้อกำหนดนี้ด้วยการหาช่องโหว่ของข้อบัญญัติเพื่อยื่นอุทธรณ์หวังพลิกคำตัดสิน พวกเขาชี้ให้เห็นว่าผึ้งมีจุดร่วมกับปลาตรงที่พวกมันเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังดังที่ CESA ได้ให้ความหมายของคำว่า “ปลา” ไว้ว่า “ปลาธรรมชาติ หอย สัตว์น้ำเปลือกแข็ง สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำและไข่ของสัตว์เหล่านั้น” อีกทั้งยังโต้แย้งว่ามีสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลหลายชนิดที่ได้รับการคุ้มครองจากพระราชบัญญัติดังกล่าวแต่หากยึดถือตามหลักชีววิทยา พวกมันเองก็มิใช่ปลาเสียด้วยซ้ำ ดังนั้น ผึ้งบัมเบิลบีที่ไม่มีกระดูกสันหลังเหมือนกับ “ปลา” ก็ควรได้รับความคุ้มครองเช่นกัน
ศาลแคลิฟอร์เนียโต้แย้งว่าสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่ถูกเขียนไว้ในนิยามคำว่า “ปลา” ของ CESA จะต้องเป็นสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลอย่างพวกดอกไม้ทะเลหรือหอยเม่นเท่านั้น สัตว์บกไม่มีกระดูกสันหลังอย่างผึ้งจึงไม่เข้าข่ายคำนิยามนี้
ทว่าในภายหลัง ศาลเองก็ตระหนักถึงความผันผวนของการจำกัดความคำว่าปลา เพราะแม้แต่หอยทากขนแปรงซึ่งเป็นสัตว์บกไม่มีกระดูกสันหลังและกบที่เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำก็ถูกจัดเป็นสัตว์คุ้มครองในหมวดปลาเช่นกัน หลังจากทบทวนข้อพิจารณาใหม่ ศาลจึงขยายขอบเขตคำว่า “ปลา” ให้ครอบคลุมถึงสัตว์บกไม่มีกระดูกสันหลังอย่างผึ้งบัมเบิลบีอีกด้วย
การตัดสินใจนี้นับเป็นก้าวสำคัญของนักอนุรักษ์ ดังที่ซารีนา เจพเซ่น สมาชิกขององค์กรอนุรักษ์สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังและเป็นหนึ่งในผู้ร่วมยื่นคำร้องเพื่อปกป้องบัมเบิลบีได้กล่าวเอาไว้ว่า “เราเฉลิมฉลองการตัดสินใจนี้เพราะจากนี้ไป แมลงและสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่นๆ จะมีสิทธิ์ได้รับความคุ้มครองจาก CESA ซึ่งการอนุมัติให้ปกป้องแมลงผสมเกสรเหล่านี้นับเป็นขั้นตอนที่จะช่วยให้ระบบนิเวศและฟาร์มท้องถิ่นของสหรัฐฯฟื้นตัวขึ้นได้” อย่างไรก็ตาม แม้การให้ผึ้งเป็นปลาอาจเป็นเรื่องแปลกประหลาด แต่หากพิจารณาถึงผลประโยชน์ของพวกมันเป็นหลัก นี่อาจเป็นเรื่องสมเหตุสมผลและยุติธรรมกับพวกมันที่สุด เพราะถึงแม้พวกมันจะไม่ได้เป็น “ปลา” ตามหลักทางชีววิทยาแต่นั่นไม่ได้หมายความว่าพวกมันจะเป็น “ปลา” ตามหลักทางกฎหมายไม่ได้
สืบค้นและเรียบเรียง : พิชามญชุ์ สุวรรณธวัช
โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย
ที่มา
https://theswaddle.com/bumblebees-are-now-classified-as-fish-in-california/
https://www.scholarship.in.th/why-bees-are-so-important/
https://www.blockdit.com/posts/629856b7434d04ceb753c55f
https://www.komchadluek.net/kom-lifestyle/268874