สัตว์ป่ารุกคืบสู่เมือง เมื่อยามถิ่นอาศัยตามธรรมชาติหดหาย

สัตว์ป่ารุกคืบสู่เมือง เมื่อยามถิ่นอาศัยตามธรรมชาติหดหาย

เมื่อถิ่นอาศัยในธรรมชาติหดหาย ไคโยตี หมีแรกคูน และสัตว์ชนิดอื่น ๆ กําลังปรับตัวให้เข้ากับชีวิต ในเมืองใหญ่ด้วยวิธีอันชาญฉลาด

แวบแรกที่เห็น มันเป็นภาพที่เห็นกันทุกเมื่อเชื่อวันตามเมืองต่างๆ ทั่วอเมริกา  พนักงานไปรษณีย์สวมหมวกปีกสีนํ้าเงินลงจากรถขนส่งไปรษณีย์  แล้วก้าวยาวๆ ข้ามถนน  ในมือถือจดหมายเป็นปึก  นั่นไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร  แต่บุรษไปรษณีย์คนนี้เหมือนไม่สนใจหมีดำอเมริกาตัวใหญ่ที่นั่งจุ้มปุ๊กห่างไปแค่สองสามเมตร

ถัดไปทางซ้ายมือ  ทางหลวงระหว่างรัฐหมายเลข 240 ส่งเสียงอื้ออึงหลังรั้วตาข่ายถัก  แต่เห็นได้ชัดว่าไม่ได้สร้างความรำคาญให้เจ้าหมี  สุดท้ายมันก็วิ่งเหยาะๆ ลงไปตามทางเดินเข้าไปในย่านที่พักอาศัยแห่งนี้ซึ่งอยู่ห่างจากใจกลางเมืองแอชวิลล์  รัฐนอร์ทแคโรไลนา  ไม่ถึงหนึ่งกิโลเมตร

ริมทางหลวงสายนี้  ทีมนักวิจัยในโครงการศึกษาหมีในเขตเมืองและชานเมืองของรัฐนอร์ทแคโรไลนา  ยังประทับใจกับการค้นพบอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือโพรงลึกในต้นเมเปิลสีเงินเปลือกตะปุ่มตะปํ่าต้นหนึ่ง  หมีเพศเมียสวมปลอกคอส่งสัญญาณวิทยุหมายเลขเอ็น 209  เป็นหนึ่งในหมีกว่าร้อยตัวที่งานวิจัยนี้ติดตามอยู่  มันจำศีลอยู่ในนั้นตลอดฤดูหนาว  ทั้งๆ ที่มีรถแล่นผ่านไปมาตลอดเวลาห่างออกไปเพียงไม่กี่เมตร

ไคโยตีสวมปลอกคอส่งสัญญาณวิทยุเดินข้ามสะพานทางรถไฟในชิคาโกซึ่งเป็นที่อาศัยของไคโยตีมากถึง 4,000 ตัว  นักวิจัย ค้นพบว่า  สัตว์ป่าในเมืองมักแก้ปัญหาท้าทายด้วยความเจ้าเล่ห์มากกว่าสหายชนิดพันธุ์เดียวกันในชนบท
หมีดำโผล่ออกมาจากโพรงใต้บ้านร้างในเซาท์เลกทาโฮ รัฐแคลิฟอร์เนีย  เมืองท่องเที่ยวที่มีประชากรหนาแน่นแห่งนี้มีขยะและ อาหารอื่นมากมายให้หมีกินโดยไม่ต้องออกแรงมากเหมือนในธรรมชาติ  หมีเมืองเหล่านี้จึงมีนํ้าหนักตัวมากกว่าหมีในธรรมชาติร้อยละ 25

ปัจจุบัน  โครงการนี้ดำเนินงานมาเป็นปีที่แปดแล้ว  ถึงกระนั้น  “หมีเหล่านี้ยังคงทำให้ฉันประหลาดใจได้อีกค่ะ”  คอลลีน  โอลเฟนบิวต์เติล  นักชีววิทยาหมีดำ  ตะโกนแข่งกับเสียงอื้ออึงของการจราจร  เธอจับบันไดไว้มั่น ขณะเพื่อนร่วมงานมุดเข้าไปวัดขนาดโพรงภายในต้นไม้  โพรงไม้นี้มีขนาดใหญ่ที่สุดที่โอลเฟนบิวต์เติลเคยเห็นมาตลอด 23 ปีที่ศึกษาหมีดำ  “หมีดำปรับตัวได้ดีกว่าที่เราเชื่อว่าพวกมันทำได้มากค่ะ”  เธอว่า

อันที่จริง  เป็นเรื่องยากที่จะนึกภาพว่าหมีดำจะปรับตัวให้ใช้ชีวิตในแอชวิลล์ได้ดีเช่นนี้  ในเมืองก้าวหน้าที่ซุกตัวอยู่ในเทือกเขาบลูริดจ์  และมีประชากรประมาณ 95,000 คนแห่งนี้  พวกหมีเดินท่องไปตามถนนย่านพักอาศัยตอนกลางวันแสกๆ  ปีนขึ้นระเบียงและชานบ้านคน  ชาวเมืองแอชวิลล์บางคนยอมรับเพื่อนบ้านชาวหมี  และเกือบทุกคนที่คุณคุยด้วยจะมีคลิป ประสบการณ์เจอหมีครั้งล่าสุดในโทรศัพท์ตัวเองทั้งนั้น

ที่สวนสาธารณะโกลเดนเกต พาร์ก  แรกคูนยืนรอรับชาวเมืองผู้นำอาหารมาให้พวกมันเป็นประจำ ทั้งที่เป็นเรื่องผิดกฎหมาย  แรกคูนที่หันมาพึ่งพาอาหารมนุษย์มีโอกาสมากกว่าที่จะแพร่โรค  ถูกรถชน  และอดตายเมื่อไม่มีการนำอาหารมาให้อีก
ลูกหมีเล่นสนุกในสวนหลังบ้านของชาวเมืองแอชวิลล์อย่างเคย์ และเดวิด  คาร์เตอร์  ผู้ติดตั้งชิงช้าทำจากยางล้อรถให้หมีเล่น  “แอชวิลล์ใจกว้างกับหมีค่ะ”  นักชีววิทยาสัตว์ป่า คอลลีน  โอลเฟนบิวต์- เติล  บอก  “แต่ที่ฉันกังวลคือ  พวกเขาจะรักพวกมันมากเกินไป

การปรากฏตัวของหมีเมืองในแอชวิลล์และที่อื่นๆเกิดจากแนวโน้มหลายประการผสมผสานกัน  รวมถึงการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินและอาหารยวนใจที่มีให้กินไม่จำกัดเมื่ออาศัยอยู่ใกล้ผู้คน  ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ประชากรหมีดำในอเมริกาเหนือพุ่งกระฉูดเป็นเกือบ 800,000 ตัว  ขณะเดียวกัน  เมือง และชานเมืองที่กำลังขยายตัวกลืนถิ่นอาศัยผืนใหญ่ๆ ของหมี  พวกมันจึงแทบไม่เหลือทางเลือก  นอกจากจะปรับตัวให้อยู่กับเพื่อนบ้านที่เป็นมนุษย์

ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในพื้นที่เมืองใหญ่ทั่วสหรัฐฯ และทั่วโลก  และไม่เฉพาะหมีดำ  สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิดที่กินอาหารได้หลากหลายก็กำลังย้ายเข้าเมืองและเปลี่ยนพฤติกรรม  เมื่อพวกมันเรียนรู้ทักษะการเอาชีวิตรอดในเมืองใหญ่

เมื่อมีนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากขึ้นหันมาศึกษาสัตว์ต่างๆ ที่เรามักมองข้าม  ก็พบประเด็นที่สอดคล้องกัน กล่าวคือ  สัตว์หลายชนิดกำลังปรับตัวให้เข้ากับชีวิตในเมืองด้วยวิธีที่ไม่เคยทำมาก่อน  เช่น  หมาป่าไคโยตีรู้จักดูรถให้ดีก่อนข้ามถนน  หมีดำรู้ว่าวันไหนเป็นวันเก็บขยะ  แรกคูนคิดหาวิธีปลดสายรัดถังขยะได้

ในชิคาโก ไคโยตีซ่อนตัวอยู่ในซอกกำแพงหิน
หมีคุ้ยขยะกินในเซาท์เลกทาโฮ  ในแซนแฟรนซิสโก

เมื่อปี 2020  การศึกษาเปรียบเทียบงานวิจัยสัตว์ป่าในเมือง 83 ชิ้นทั่วทั้งหกทวีปพบว่า  สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่กลายมาเป็น “สัตว์เมือง” ถึงร้อยละ 93 มีพฤติกรรมแตกต่างจากเพื่อนร่วมชนิดพันธุ์ในชนบท  สัตว์เหล่านี้ส่วนใหญ่  ซึ่งมีหลากหลาย ตั้งแต่กระต่ายพันธุ์ยุโรป  หมูป่า  ลิงรีซัส  และหมาไม้อกขาว  เปลี่ยนมาตื่นตัวในเวลากลางคืน  เพื่อหลีกเลี่ยงคน  พวกมันยังเพิ่มประเภทอาหารตามธรรมชาติให้รวมอาหารของมนุษย์ไว้ด้วย  และลดอาณาเขตหากินลงจนเป็นพื้นที่ที่เล็กกว่าเดิมมาก นักนิเวศวิทยากล่าวว่า  ยิ่งเราเข้าใจสัตว์ที่อาศัยอยู่ร่วมกับพวกเรามากเท่าไร  เราก็ยิ่งเข้ากับชาวเมืองหน้าใหม่เหล่านี้ได้ดีเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม  หมีเมืองร้อยละ 40 ตายในช่วงการศึกษาที่มีระยะเวลาสี่ปี  โดยมีสาเหตุหลักคือถูกรถชน นักวิจัยกล่าวว่า ในขั้นนี้ยังไม่แน่ชัดว่า  สำหรับหมีในเมืองแอชวิลล์แล้ว  การอาศัยอยู่ในเขตเมืองจะเป็นเรื่องดีหรือร้าย

การศึกษาอื่นๆ ให้ภาพที่ชัดเจนกว่า  เช่นเดียวกับหมีในแอชวิลล์  หมีในเขตเมืองอย่างดูรังโกและแอสเพน  รัฐโคโลราโด  ตลอดจนทะเลสาบทาโฮ  รัฐเนวาดา  มีนํ้าหนักตัวมากกว่าและตกลูกมากกว่า  แต่ลูกหมีแทบไม่มีชีวิตรอด ส่งผลให้ประชากรโดยรวมลดลง  การพบหมีอ้วนกับลูกหมีหลายตัวอาจให้ความรู้สึกว่า  เมืองที่เติบโตและชานเมืองที่ขยายตัวออกไปเป็นประโยชน์ต่อหมี  แต่ความจริงหาได้เป็นเช่นนั้น

สุนัขชื่อมิสโตสวมเสื้อกั๊กหนามที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันไคโยตีที่หิวโหย
แม่แรกคูนโผล่จากช่องระหว่างอาคารกว้าง 15 เซนติเมตรที่มันใช้เลี้ยงลูก

การที่มนุษย์และหมีอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขเสมอมานั้นไม่เป็นความจริง  แม้แต่ในแอชวิลล์ที่ผู้คนจิตใจเปิดกว้าง  หมีฆ่าสัตว์เลี้ยงและทำร้ายคนจนได้รับบาดเจ็บอย่างน้อยหนึ่งคนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

สตรูลส์กำลังออกแบบการทดลองเพื่อศึกษาว่า  ชาวเมืองจะอยู่ร่วมกับเพื่อนบ้านที่ไม่เชื่องเหล่านี้ให้ปลอดภัยได้อย่างไร  ย่านพักอาศัยสองย่านจะเป็นจุดหลักในการรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับโครงการแบร์ไวส์ (BearWise)  ซึ่งอีกไม่นานจะเป็นโครงการริเริ่มทั่วประเทศที่ส่งเสริมแนวทางปฏิบัติอันคำนึงถึงหมี  เช่น  การใส่สายจูงให้สัตว์เลี้ยงเสมอ การปิดถังขยะให้แน่นหนา  การย้ายที่ให้อาหารนกออกไป และการไม่เข้าหาหรือให้อาหารสัตว์  ส่วนย่านพักอาศัยอีกสองแห่งจะไม่ได้รับสื่อให้ความรู้ใดๆ  และใช้เป็นกลุ่มควบคุมในการทดลอง

ด้วยการติดตามหมีที่สวมปลอกคอส่งสัญญาณวิทยุในย่านทั้งสี่  สตรูลส์หวังจะหาคำตอบว่า  การส่งเสริมแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดของแบร์ไวส์จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของชาวเมืองและลดจำนวนรายงานปัญหาที่หมีก่อความรำคาญลงได้หรือไม่  ในดูรังโก  นักวิจัยก้าวไปอีกขั้นด้วยการแจกจ่ายถังขยะกันหมีกว่าหนึ่งพันใบ  บ้านที่ใช้ถังขยะดังกล่าวลดการเผชิญหน้ากับหมีลงได้ถึงร้อยละ 60

ไคโยตีหนุ่มหมายเลข 1288  ที่นักวิจัยติดตามศึกษา  อาศัยอยู่ด้านหลังสำนักงานไปรษณีย์ย่านกลางเมืองเลียบลำนํ้าสาขา ทิศใต้ของแม่นํ้าชิคาโก ไม่กี่เดือนหลังจากถ่ายภาพนี้  มันถูกรถชนตาย  ไคโยตีเมืองบางตัวเรียนรู้การหลีกเลี่ยงรถและแม้แต่ ดูสัญญาณไฟจราจรก่อนข้ามถนนที่รถจอแจ
เหล็กดัดหน้าต่างเป็นบันไดที่ปีนสะดวกสำหรับแม่แรกคูนและลูกสามตัวที่อาศัยอยู่บนหลังคาบ้านของมิเชลล์  แอกเคอร์แมน  ในแซนแฟรนซิสโก นักวิจัยพบว่า  แรกคูนที่กลายมาเป็นสัตว์เมืองแก้ปัญหาท้าทายที่พบในเมืองใหญ่เก่งขึ้นเรื่อย ๆ

แต่บางคนกลับอยากให้หมีมาเยี่ยมสวนหลังบ้านของตน และไม่มีใครต้องการมากเท่าเจนิซ  ฮิวส์โบ  ผู้ถือว่าหมีเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว  เธอล่อหมีที่หิวโหยด้วยเมล็ดพืชอาหารนกบนระเบียงบ้านของเธอ  ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของตัวเมืองแอชวิลล์มานาน 22 ปีแล้ว

“เพื่อนๆ เรียกฉันว่านักกล่อมหมีค่ะ”  ฮิวส์โบบอก ขณะเราเบียดเสียดกันอยู่ตรงประตูบ้านเธอ  เฝ้ามองแม่หมีกับลูกแฝดเดินไปทั่วชานบ้านอย่างสบายใจ

แต่เจ้าหน้าที่สัตว์ป่าเตือนว่า  การให้อาหารหมีเพิ่มความขัดแย้งและความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ  ซึ่งจะส่งผลให้การยอมรับสัตว์ชนิดนี้ลดน้อยถอยลง  อันเป็นเหตุผลสองประการที่อยู่เบื้องหลังเทศบัญญัติห้ามให้อาหารหมี  สตรูลส์ ผู้ตระหนักถึงสถานะความเป็นหมีแสนรักในหมู่ชาวเมืองแอชวิลล์อย่างฮิวส์โบ  หวังว่างานวิจัยของเธอจะให้แนวทางว่าด้วยวิธีที่ดีที่สุดในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับสัตว์  ทั้งเพื่อหมี และเพื่อเรา  “สัตว์ป่าเป็นของทุกคน”  สตรูลส์บอกและเสริมว่า  “แต่เราอยากให้หมีเป็นสัตว์ป่าค่ะ”

เรื่อง คริสทีน เดลลามอร์
ภาพถ่าย คอรีย์ อาร์โนลด์

ติดตามสารคดี ไฉนสัตว์ป่าต้องรุกคืบสู่เมือง ฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนกรกฎาคม 2565

สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/549797


อ่านเพิ่มเติม เหล่าหมูป่ากับการบุกมาหากินที่ใจกลางเมืองฮ่องกง

หมูป่า, ฮ่องกง, หมูป่าฮ่องกง

Recommend