ทำไมเหล่า แรคคูน ถึงได้ชื่อว่าเป็นสุดยอดผู้รอดชีวิตแห่งชุมชนเมืองของมนุษย์

ทำไมเหล่า แรคคูน ถึงได้ชื่อว่าเป็นสุดยอดผู้รอดชีวิตแห่งชุมชนเมืองของมนุษย์

แรคคูน หรือที่เรียกกันอย่างแพร่หลายในประเทศแถบตะวันตกว่า “แพนด้าขยะ (Trash Panda)” มักเป็นที่รู้จักในฐานะนักป่วนเมืองที่มีชื่อเสียงที่ไม่ค่อยดีนัก แต่ที่น่าสนใจคือ ทำไมพวกมันถึงเก่งขนาดนั้น?

ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1900 นักวิทยาศาสตร์สาชาจิตวิทยาสัตว์ชาวอเมริกันมีแผนการใหญ่ที่จะนำ แรคคูน ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ขึ้นชื่อเรื่องความเฉลียวฉลาดและมีจำนวนมากในอเมริกาเหนือเข้าไปในห้องทดลองเพื่อทดสอบสติปัญญาของพวกมัน แต่แล้วพวกเขาก็ต้องยอมแพ้ให้กับความฉลาดเป็นกรดของพวกมันที่สามารถใช้อุ้งเท้าซึ่งมีลักษณะเหมือนสัตว์จำพวกวานรหาวิธีออกจากกรงได้อย่างคล่องแคล่ว เหล่านักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า “เราขอยอมแพ้แล้วกลับไปหาพวกหนูกับพิราบเหมือนเดิมดีกว่า” ซาร่าห์ เบนสัน แอมรัม นักนิเวศวิทยาเชิงพฤติกรรมที่มหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบียในแวนคูเวอร์หัวเราะเบาๆ ก่อนจะพูดต่อว่า “นี่เป็นสาเหตุว่าทำไมพวกเราถึงรู้เรื่องของพวกแรคคูนแค่เพียงหยิบมือเท่านั้น”

มีฝูงแรคคูนอย่างน้อย 20 ตัวที่มาร่วมชุมนุมกันในยามค่ำคืนที่นอร์ธเลคในสวนสาธารณะโกลเดนเกท (Golden Gate) แห่งซานฟรานซิสโก ผู้คนมักหยิบยื่นอาหารสุนัข ซาวครีม มันฝรั่งทอด หรือขนมอื่นๆ ให้พวกมันซึ่งถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

เจ้าสัตว์ที่หน้าตาดูเหมือนสวมหน้ากากตลอดเวลานี้เป็นที่รู้จักจนสามารถใช้เป็นสัญลักษณ์ของแบรนด์สินค้าซึ่งเป็นที่แพร่หลายเช่นแบรนด์ “Trash Panda” แต่ถึงอย่างนั้น พวกมันกลับมีชื่อเสียงที่ไม่ค่อยดีนักสำหรับผู้คนในเมืองต่างๆ ทั่วสหรัฐอเมริกา เนื่องจากพวกมันชอบรื้อและขุดคุ้ยถังขยะ บ้านเรือน หรือสิ่งก่อสร้างต่างๆ ของมนุษย์ การวิจัยของเบนสัน แอมรัม ชี้ให้เห็นว่าความฉลาดของพวกมันคือปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้เผ่าพันธุ์ของพวกมันขยายตัวเข้ามาถึงเขตชานเมืองและชุมชนทั่วทวีปอเมริกาเหนือ

เบนสันและเพื่อนร่วมทีมได้ใช้การทดลองหลายแบบเพื่อท้าทายความสามารถของแรคคูนไม่ว่าจะเป็นแรคคูนป่าหรือแรคคูนเลี้ยง เช่น การมอบภารกิจให้พวกมันเรียนรู้ที่จะดันคันโยกเพื่อรับขนม และในเกือบทุกครั้ง พวกมันแสดงการกระทำที่เหนือความคาดหมายของด้วยการใช้วิธีการแก้ปัญหาที่เหล่านักวิทยาศาสตร์คิดไม่ถึง ดังที่เบนสันกล่าวไว้ “พวกมันช่างน่าหลงใหลอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ในทุกๆ การศึกษาที่เราทำ ฉันรู้สึกตะลึงกับความอยากรู้อยากเห็นจนถึงความทะเยอทะยานของพวกมันขณะที่กำลังสำรวจสิ่งต่างๆ”

แรคคูนที่ได้รับการช่วยเหลือ ณ เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าโซโนมาเคาน์ตี้ในแคลิฟอร์เนียสามารถเรียนรู้การเปิดกลอนล็อคบนกล่องเพื่อเข้าถึงอาหารและขนมขบเคี้ยว กล่องปริศนาเหล่านี้ยังเป็นหนึ่งในกิจกรรมเสริมสำหรับสัตว์ที่อาศัยอยู่ในกรงอีกด้วย

ด้วยเหตุนี้เอง เบนสันและเพื่อนร่วมงานจึงร่วมกันเปิดโครงการสัตว์ป่าในเมือง (Urban Wildlife Project) ของมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบียที่พวกเขาพันปลอกคอจีพีเอส 30 อันไว้กับเหล่าแรคคูน และอีก 10 อันกับหมาป่าไคโยตีทั่วแวนคูเวอร์เพื่อศึกษาว่าสัตว์เหล่านี้ปรับตัวและใช้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อมของชุมชนมนุษย์ได้อย่างไรบ้าง นอกจากนี้ ทีมงานยังติดตั้งกล้องระยะไกลทั่วเมืองเพื่อสังเกตสิ่งมีชีวิตเหล่านี้และปฏิสัมพันธ์ของพวกมันกับผู้คน

“เราหวังว่านี่จะนำไปสู่การอยู่ร่วมกันที่ดีระหว่างมนุษย์กับสัตว์ป่า” เบนสันเน้นย้ำถึงเป้าหมายของเธอ

นักชำนาญเมือง

นอกเหนือจากสติปัญญาที่เฉลียวฉลาดแล้ว เหล่าแรคคูนยังมีคุณสมบัติประจำตัวอีกหลายอย่างที่อำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตท่ามกลางชุมชนของมนุษย์ พวกมันสามารถหลบเลี่ยงผู้คน รวมถึงค้นหามื้ออาหารที่หลากหลายโดยอาศัยพฤติกรรมตามธรรมชาติจากการที่พวกมันเป็นสัตว์หากินตอนกลางคืน พวกมันสามารถจัดสรรเมนูอันหลากหลายให้กับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น แมลง กบ ผลไม้ ไปจนถึงอาหารขยะ

กองทัพแรคคูนกลุ่มเล็กๆ บุกเข้าไปรื้อถังขยะภายใต้ความมืดมิดของยามค่ำคืน ณ ทะเลสาบสโตว์ในสวนสาธารณะโกลเดนเกตของซานฟรานซิสโก พวกมันคุ้นเคยกับมนุษย์และพึ่งพากองขยะเหล่านี้เป็นแหล่งอาหารหลัก

“แรคคูนในเมืองบางตัวอาจใช้ชั่วชีวิตของมันอยู่ในรัศมีไม่ไกลจากถังขยะขนาดใหญ่ถังหนึ่งเพื่อเป็นแหล่งอาหารเทียมเพียงแห่งเดียวของพวกมัน” กล่าวโดยซูซาน แมคโนนัลด์ นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยยอร์กในโตรอนโตและนักสำรวจจากเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิค (National Geographic Explorer) ผู้ศึกษาแรคคูนในเมือง นั่นคือความแตกต่างอย่างใหญ่หลวงระหว่างวิถีชีวิตของแรคคูนเมืองกับแรคคูนป่า โดยปกติแล้ว พวกมันเป็นสัตว์ที่มีอาณาเขตการหากินอยู่ที่ประมาณ 2.5-16 กิโลเมตร “ถ้าคุณสามารถเอาชีวิตรอดจากถังขยะใบเดียวได้ มันก็ถือเป็นบ้านของคุณ สิ่งที่คุณต้องทำคือกิน ดื่ม และผสมพันธุ์” ซูซานกล่าว

เบลค มอร์ตันตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าไว้ที่ สวนอัมสเตด (Umstead Park) ในเมืองราลี รัฐนอร์ธแคโรไลนา เขาเป็นนักจิตวิทยาเปรียบเทียบแห่งมหาวิทยาลัยฮัลล์แห่งสหราชอาณาจักร และได้ทำการทดลองที่หลากหลายเพื่อวัดทักษะการแก้ปัญหาของเหล่าแรคคูนในเมือง

มีการคาดคะเนว่าเหล่าแรคคูนจะขยายอาณาเขตไปทางเหนือของประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดาเนื่องจากอุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จากวิกฤติการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รวมถึงประเทศที่พวกมันถูกจัดว่าเป็นสายพันธุ์รุกราน (invasive species) เช่น ญี่ปุ่นและเยอรมนี

แรคคูนสามารถล่าเหยื่อในน้ำที่มีลำตัวลื่นโดยใช้อุ้งเท้าห้านิ้ว และประสาทสัมผัสอันดีเยี่ยมในการจับคว้าสิ่งต่างๆ “อาจเป็นเพราะเหตุนี้ เมืองที่มีอากาศอบอุ่นซึ่งอยู่ใกล้แม่น้ำอย่าง โทรอนโต แวนคูเวอร์ และชิคาโกจึงมีพวกมันอยู่เป็นจำนวนมาก” ซูซานกล่าว อุ้งเท้าที่มีอิสระในการควบคุมสูงนั้นช่วยให้พวกมันได้เปรียบในการใช้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อมของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการคืบคลานไปที่เบาะหลังรถหรือปีนป่ายบนตึกระฟ้า ซูซานพูดต่อ “เหล่าหมาป่าไคโยตีไม่สามารถอาศัยอยู่ห้องใต้หลังคาหรือโรงรถของคุณ แต่แรคคูนทำได้” แน่นอนว่าการใช้ชีวิตโดยผสมผสานระหว่างความอยากรู้อยากเห็นและความก้าวหน้าทางความคิดจะนำพวกมันไปสู่แหล่งอาหารใหม่ๆ ซึ่งยากที่จะถูกค้นพบโดยบรรดาสัตว์ชนิดอื่นๆ ที่ดูจะขี้อายกว่าพวกมัน

หนึ่งในการทดลองเกี่ยวกับแรคคูนของมอร์ตันที่ใช้ถ้วยบรรจุอาหารสัตว์เลี้ยงแขวนไว้กับต้นไม้โดยใช้เชือกต่างชนิดกัน แรคคูนสามารถดึงถ้วยบางอันจากกิ่งไม้ได้อย่างง่ายดายแต่ถ้วยที่แขวนโดยใช้เชือกนุ่มจะยืดหยุ่นกว่าและทำให้พวกมันจับได้ยากขึ้น

ในงานศึกษาปี ค.ศ.2017 ของลอเรน สแตนตัน นักศึกษาปริญญาเอกในห้องทดลองของเบนสัน แอรัม ได้นำแรคคูนเลี้ยงมาทดสอบด้วยการทดลองนิทานอีสปซึ่งถือเป็นวิธีคลาสสิคในการทดสอบระดับสติปัญญา ในการทดลองนี้ สัตว์ทดลองจะต้องนำก้อนหินหย่อนลงไปในกระบอกน้ำที่มีน้ำอยู่เล็กน้อยเพื่อเพิ่มระดับน้ำจนขนมหรือของรางวัลลอยขึ้นมาเหนือปากกระบอก ในที่นี้ เธอใช้ขนมมาร์ชเมโลในการทดลองและเจ้าแรคคูนก็สามารถทำให้มันลอยขึ้นสู่ผิวน้ำจนได้

บรรดาแรคคูนที่ถูกนำมาทดสอบสติปัญญาไม่ได้เพียงแต่หย่อนก้อนหินได้อย่างถูกต้องเท่านั้น แต่หนึ่งในสามของพวกมันยังคิดค้นวิธีแปลกใหม่ในแบบของตนเอง เช่น ใช้วิธีปัดปากกระบอกให้ตกเพื่อให้น้ำและมาร์ชเมลโลว์หกออกมา สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าพวกมันคือสัตว์ที่รู้จักคิดพลิกแพลงนอกกรอบ “พวกมันแสดงให้เห็นวิธีที่มีความยืดหยุ่นสูงและไม่เหมือนใครในการครอบครองมาร์ชเมลโลวพวกนั้น สิ่งนี้ยังไม่เคยพบเห็นในสัตว์สายพันธุ์อื่น ซึ่งผมเองก็คาดไม่ถึงเช่นกัน” สแตนตันกล่าว

 การสร้าง “นักรบแห่งเมือง”

แม้นักวิทยาศาสตร์จะเห็นด้วยว่าพวกมันมีลักษณะที่เหมาะสมกับการใช้ชีวิตในสังคมมนุษย์ แต่คำถามที่ยากไปกว่านั้นคือเราไม่รู้ว่าพวกมันกำลังวิวัฒนาการตัวเองทีละน้อยเพื่อให้ฉลาดกว่าแรคคูนตามชนบทหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น การทดลองของซูซานที่แสดงให้เห็นว่าแรคคูนกลางเมืองกรุงแวนคูเวอร์สามารถเปิดฝาถังขยะด้วยการประยุกต์ใช้เชือกยืด ในขณะที่แรคคูนนอกเมืองตามชนบทไม่สามารถทำได้

วิดีโอ: เราต่างรู้ซึ้งถึงความเจ้าเล่ห์ภายใต้ความน่ารักของแรคคูนเหล่านี้ พวกมันมีชื่อเสียงย่ำแย่จากการกระทำต่างๆ ในละแวกบ้านของพวกเราและยังฉลาดเป็นกรดอีกด้วย ดังนั้น ถึงแม้การขยายของชุมชนมนุษย์จะแทรกซึมเข้าไปในพื้นที่ของพวกมัน เหล่าแรคคูนก็ยังฉลาดพอที่จะใช้ประโยชน์จากพวกเรารวมถึงทรัพยากรของมนุษย์เพื่อประโยชน์ของพวกมันเอง

การกระทำของเราทำให้แรคคูนฉลาดขึ้นได้อย่างไร

“หากอ้างอิงตามสมมติฐานส่วนตัว ฉันคิดว่าพวกมันกำลังวิวัฒนาการและสภาพแวดล้อมในเมืองก็เข้ากันกับลักษณะทางธรรมชาติของพวกมัน เรากำลังนำสัตว์ที่สามารถปรับตัวได้อยู่แล้วมาพัฒนาให้กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญซึ่งเทียบได้กับเหล่านักรบแห่งเมืองใหญ่” ซูซานกล่าว

“ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าแรคคูนวิวัฒนาการจากการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (natural selection) โดยสภาพแวดล้อมแห่งสังคมเมือง” เบนสัน แอรัมกล่าว แต่มันก็เป็นไปได้ว่าความพยายามของพวกเราที่คิดจะเอาชนะพวกมันด้วยการสร้างนวัตกรรมอย่างถังขยะป้องกันแรคคูนจะกลายเป็น “การทำให้พวกมันกลายเป็นสัตว์ที่ฉลาดยิ่งกว่าเก่า” เพราะมันเหมือนว่าเรากำลังหยิบยื่นโจทย์ที่ยากขึ้นให้พวกมันไขปริศนา

ซูซานได้เสนอคำแนะนำในการสร้างถังขยะแบบป้องกันแรคคูนรุ่นใหม่ให้กับเมืองโทรอนโต เช่น การออกแบบฝาปิดแบบมีคันโยกที่สามารถเปิดได้เฉพาะมือที่มีนิ้วโป้งที่สามารถจับกับนิ้วอื่นอีกสี่นิ้วได้หมด (opposable Thumb) ที่มือแรคคูนไม่มี “ในแง่ความฉลาด คุณไม่สามารถชิงไหวชิงพริบกับพวกมันได้” ซูซานกล่าว “เราต้องเอาชนะด้วยการใช้สิ่งที่แรคคูนขาด ซึ่งก็คือมือของเรานั่นเอง”

ภาพจากกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าได้บันทึกภาพของแรคคูนขาประจำตัวหนึ่งที่มักแวะมาเยี่ยมเยียนสวนหลังบ้านของ กาย เบลลิงแฮม ในยามค่ำคืนที่เมืองพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรกอน เพื่อกินอาหารแมวและจับปลาในบ่อปลาคาร์ปของเขา

ถึงแม้ว่าเรื่องนี้จะไม่ได้ถูกต้องเสมอไป แต่แรคคูนในเมืองมักจะฉลาดกว่าเพื่อนร่วมสายพันธุ์องพวกมันในประเทศอื่นๆ เบลค มอร์ตันได้จัดทำการทดลองหลายครั้งในตัวเมืองและเขตชนบทรอบๆ เมืองราลี รัฐนอร์ทแคโรไลนาเพื่อวัดระดับความคิดสร้างสรรค์ของพวกมัน ในการทดลองหนึ่ง เขาใช้ถ้วยบรรจุอาหารสัตว์เลี้ยงแขวนไว้กับต้นไม้โดยใช้เชือกต่างชนิดกัน แรคคูนสามารถดึงถ้วยบางอันจากกิ่งไม้ได้อย่างง่ายดายแต่ถ้วยที่แขวนโดยใช้เชือกนุ่มจะยืดหยุ่นกว่าและทำให้พวกมันจับได้ยากขึ้น เบลคใช้กล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าจับภาพว่าพวกมันเอาชนะความท้าทายเหล่านี้ได้อย่างไร

“สิ่งที่เราพบคือพวกเขาทะเยอทะยานในการลองสิ่งใหม่ๆ และเป็นนักแก้ปัญหาที่ดี…จนถึงจุดหนึ่ง” เหล่าแรคคูนมักยอมแพ้ภายใน 30 วินาทีเมื่อพวกมันต้องต่อกรกับปริศนาที่ซับซ้อนมากขึ้น เบลค มอร์ตัน นักจิตวิทยาเปรียบเทียบที่มหาวิทยาลัยฮัลล์แห่งสหราชอาณาจักรกล่าว

“มันน่าประหลาดใจที่พวกมันไม่ได้หมกมุ่นในการแก้ปัญหามากนัก” ซึ่งต่างจากสัตว์ตระกูลวานรเมื่อพวกมันได้รับภารกิจให้แก้โจทย์ประเทืองปัญญาเหล่านี้ เบลคกล่าว ผลลัพธ์นี้แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้อีกอย่างหนึ่งคือพวกมันรู้ว่ายังมีแหล่งอาหารอื่นๆ ที่หาได้ง่ายกว่า ซึ่งสิ่งนี้ก็อาจแสดงให้เห็นถึงการปรับตัวที่เหนือชั้นไปอีกขั้นหนึ่ง

สิ่งที่สร้างความประหลาดใจยิ่งกว่า นั่นคือผลการทดลองปรากฎออกมาว่าแรคคูนในเมืองและแรคคูนในชนบทไม่ได้มีความแตกต่างกันแต่อย่างใดในการทดลองนี้ “การที่สัตว์อาศัยภายในเมืองไม่ได้เป็นหลักประกันว่าพวกมันจะได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ” เบลคกล่าว

การใช้ชีวิตร่วมกับ “แพนด้าขยะ”

ถึงแรคคูนจะเก่งกาจด้านการปรับตัว แต่การใช้ชีวิตในเมืองมนุษย์ก็ยังถือเป็นเรื่องยากสำหรับพวกมัน บางตัวถูกรถชนตั้งแต่ช่วงปีแรกของชีวิตที่ยังไม่ทันโตเต็มที่ แม่แรคคูนซึ่งคลอดลูกระหว่าง 2-5 ครอกในแต่ละฤดูใบไม้ผลิมักเผชิญกับความท้าทายในการหารังหลายแห่งที่จะเลี้ยงดูลูกของมัน ซึ่งรังในที่นี้หมายถึงบ้านของผู้คนสำหรับในเขตชุมชนและชานเมือง

จูเนียว คอสต้า เจ้าของบริษัทมิสเตอร์แรคคูนกำลังช่วยเหลือลูกแรคคูนจากห้องใต้หลังคาของซานฟรานซิสโก บริษัทของเขาเป็นผู้ให้บริการกำจัดสัตว์ป่าแบบไม่มีการฆ่าและเป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการกำจัดแรคคูนอย่างมีมนุษยธรรมจากสิ่งก่อสร้างของมนุษย์
เอริค มิซาเอล ฟลอเรส เซอร์ราโน ผู้ทำงานให้บริษัทมิสเตอร์แรคคูนกำลังประคองลูกแรคคูนซึ่งในภายหลังได้นำไปรวมฝูงกับแม่ของมันอีกครั้ง แรคคูนตัวเมียมีสัญชาตญาณความเป็นแม่ที่แข็งแกร่งและจะทุ่มเทอย่างเต็มที่เพื่อช่วยชีวิตลูกๆ หากพวกมันแยกจากกัน

ด้วยเหตุนี้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้ให้บริการช่วยเหลือสัตว์ป่าจำนวนหนึ่งในสหรัฐอเมริกาได้ปรับใช้กลยุทธ์ในการนำสัตว์ออกมาจากสิ่งก่อสร้างอย่างปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็น แรคคูน ค้าว กระรอก และอื่นๆ แล้วจึงนำพวกมันไปรวมฝูงกับเหล่าลูกๆ หากพวกมันมีครอบครัวและจึงหาวิธีป้องกันไม่ให้พวกมักลับเข้ามาในอาคารเดิมได้อีก กล่าวโดย จอห์น กริฟฟิน ผู้อำนวยการอาวุโสโครงการสัตว์ป่าในเมืองของสมาคมมนุษยธรรมแห่งสหรัฐอเมริกา (Humane Society of the United States) ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี

สมาคมมนุษยธรรมมักให้ความรู้แก่ชุมชนถึงเหตุผลที่เราควรขับไล่เหล่าสัตว์อย่างมีจริยธรรมแทนการดักจับและฆ่าพวกมัน ผู้สนับสนุนความพยายามนี้ส่วนใหญ่จะได้เห็นความอุตสาหะที่แม่แรคคูนพยายามปกป้องลูกของพวกมันโดยตรง เช่น การที่พวกมันค่อยๆ ประคองตัวไต่ตามหลังคาหรือพยายามการบีบตัวผ่านช่องว่างที่มีขนาดเล็กกว่าสี่นิ้ว “เหล่าแรคคูนทำให้ฉันทึ่ง ไม่ว่าจะป็นสิ่งของที่ปีน หรือพื้นที่ที่พวกมันมันเข้าถึงได้” เมื่อผสมผสานกลยุทธ์นี้กับสติปัญญาอันชาญฉลาดเข้าด้วยกัน พวกมันจึงเป็นสัตว์ที่เรียกได้ว่าเป็น “ผู้เชี่ยวชาญในการใช้ทรัพยากรมนุษย์ให้เป็นประโยชน์” กริฟฟินกล่าว

จูเนียว คอสต้า เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนที่รู้จักกันดีในซานฟรานซิสโก ในกรณีการกำจัดเหล่าแรคคูนตัวเมีย เขาจะค้นหาจุดที่แม่แรคคูนใช้เข้าออกในอาคาร ไม่ว่าจะเป็นห้องใต้หลังคา ปล่องไฟ หรืออื่นๆ เมื่อพบจุดที่พวกสัตว์อยู่แล้วเขาจึงค่อยลำเลียงลูกๆ ของมันลงในกล่องเพื่อที่จะนำออกมาอย่างปล่อยภัย เมื่อแม่แรคคูนกลับมา มันจะนำลูกๆ ของพวกมันในกล่องไปไว้ที่รังอื่น จากนั้น คอสตาจึงทำการปิดทางเข้าเพื่อไม่ให้พวกมันกลับมาสร้างรังที่อาคารเดิมอีก อย่างไรก็ตาม หลายคนก็ยังคงเลือกวิธีการดักจับและฆ่าซึ่งมีราคาถูกกว่าบริการของเขา

“เหล่าแรคคูนเองก็พยายามเอาชีวิตรอดเหมือนคนอื่นๆ เราสามารถแบ่งปันพื้นที่ของเราได้ เราต้องเคารพพวกเขา” คอสตากล่าว

แรคคูนตัวหนึ่งแอบมองจากหลังคาอาคารอพาร์ตเมนต์ในฟอสเตอร์ซิตี แคลิฟอร์เนีย จูเนียว คอสต้า จากบริษัท Mr. Raccoon ได้ติดตั้งประตูทางเดียวบนหลังคาโดยหวังว่าแรคคูนที่อยู่ด้านในจะกลับเข้าไปไม่ได้

เรื่อง CHRISTINE DELL’AMORE
ภาพ COREY ARNOLD

แปล พิชามญชุ์ สุวรรณธวัช
โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย


อ่านเพิ่มเติม สัตว์ป่ารุกคืบสู่เมือง เมื่อยามถิ่นอาศัยตามธรรมชาติหดหาย

Recommend