นักวิทย์ฯ พยายามนำเสือแทสเมเนียที่สูญพันธุ์ไปแล้วกลับมาอีกครั้ง แต่ควรทำหรือไม่ ยังเป็นที่ถกเถียง
นักพันธุศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จอร์จ เชิร์ช (George Chruch) ผู้ก่อตั้งบริษัทชีววิทยาศาสตร์คอลอสซัส (Colossal) ร่วมมือกับกลุ่มนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประกาศความพยายามในการนำเสือแทสเมเนียที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า ‘ไทลาซีน (Thylacine)’ กลับมาจากการสูญพันธุ์ โดยเชื่อว่าจะเป็นการคืนสมดุลทางนิเวศวิทยาให้กับเกาะแทสเมเนียอีกครั้ง แต่การกลับมาครั้งนี้ควรหรือไม่นั้นถูกถกเถียงกันอย่างดุเดือด
ไทลาซีน คือสัตว์นักล่าที่มีกระเป๋าหน้าทองเหมือนจิงโจ้ เคยมีชีวิตอยู่เป็นเวลาหลายล้านปีก่อนในพื้นที่ออสเตรเลียและนิวกินีเป็นส่วนใหญ่ มันเป็นออกล่าเหยื่อขนาดเล็กถึงกลางในตอนกลางคืน แม้จะเป็นผู้ล่าสูงสุดในห่วงโซ่อาหารของระบบนิเวศนี้ มันก็เริ่มมีจำนวนลดลงจนสูญพันธุ์เนื่องจากมนุษย์
ไทลาซีนตัวสุดท้ายที่รู้จักนั้นมีชื่อว่า ‘เบนจามิน’ ซึ่งตายลงในเดือนกันยายน ปี 1936 ที่สวนสัตว์บัวมาริส (Beaumaris Zoo) ประเทศออสเตรเลีย และได้รับการประกาศในสูญพันธุ์อย่างเป็นทางการในปี 1982
ทุกวันนี้ระบบนิเวศที่มันเคยอาศัยอยู่ได้ทำให้เหยื่อของมันเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ส่งผลให้พืชพันธุ์ท้องถิ่นได้รับการจัดการไปเป็นจำนวนมากเนื่องจากไม่มีนักล่ามาคอยควบคุมจำนวนสัตว์เหล่านี้ จนเกิดความไม่มั่นคงทางนิเวศวิทยา
ในทางทฤษฎีแล้ว การนำเสือแทสเมเนียกลับมาสามารถช่วยให้ระบบนิเวศกลับคืนสู่สมดลได้ แน่นอนว่าการทำให้ได้จริงนั้นเป็นความท้าทายอีกเรื่องนึง นักวิทยาศาสตร์วางแผนที่จะใช้พันธุกรรมจากญาติที่ใกล้ชิดที่สุดของมันนั่นคือ ‘นัมแบต (Numbat)’ หรือตัวนิ่มลายแถบ สัตว์มีกระเป๋าหน้าท้องที่กินแมลงเป็นอาหาร และมีบรรพบุรุษร่วมกันเมื่อราว 40 ล้าน ถึง 35 ล้านปีก่อน
“เราสังเคราะห์ชิ้นส่วนดีเอ็นเอขนาดใหญ่ได้เก่งมาก ดังนั้นเราจึงสร้างพันธุกรรมในเซลล์นัมแบตที่มีชีวิตตอนนี้แล้วเปลี่ยนให้เป็นจีโนมของไทลาซีน จากนั้นก็เปลี่ยนเซลล์นั้นให้เป็นสัตว์ที่มีชีวิต” แอนดรูว์ แพสค์ (Andrew Pask) หัวหน้าห้องปฏิบัติการฟื้นฟูไทลาซีนแห่งมหาวิทยาลัยเมลเบิร์นกล่าว พร้อมเสริมว่า “เราได้ทำงานเกี่ยวกับการนำไทลาซีนกลับมาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว แต่ด้วยการร่วมมือกับคอลอสซัสนั้น พวกเขามีความรู้มากมายอย่างเหลือเชื่อ”
อย่างไรก็ตามนักวิทยาศาสตร์หลายคนเห็นแย้ง ทอม กิลเบิร์ต (Tom Gilbert) นักพันธุศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกนกล่าวว่า “นัมแบตไม่มีทางเป็นไทลาซีนได้ พวกเขาแค่เปลี่ยนให้มันเหมือนไทลาซีนมากขึ้น” และเมื่อข้อมูลพันธุกรรมไม่สมบูรณ์ กิลเบิร์ตกล่าวว่าเราก็จะถูกบังคับให้เลือกใส่ข้อมูลอย่างมีอคติ และที่สำคัญที่สุด การปรับเปลี่ยนข้อมูลพันธุกรรมอาจทำให้สัตว์ไม่มีความพร้อมที่จะอยู่รอดในธรรมชาติ
นับตั้งแต่เซลล์แรกไปจนถึงตัวอ่อนและพัฒนากลายเป็นสัตว์ที่มีชีวิตจริง ๆ ไทลาซีนตัวนั้นก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่เกิดและเติบโตในห้องทดลอง มันจะยังมีสัญชาตญาณในการเอาตัวรอดของสัตว์ป่าอยู่หรือไม่นั้นไม่มีใครรู้ แต่นักวิจัยยังคงเชื่อมั่น
“เปรียบเหมือนถุงมือที่ขาดหายไป และถ้าสามารถใส่ไทลาซีนกลับเข้าไปในสถานการณ์นั้นได้ มันจะกลับเข้าไปได้พอดีเหมือนถุงมือที่ไม่เคยหายไป” ไมเคิล อาร์เชอร์ (Michael Archer) นักบรรพชีวินวิทยาศาสตร์ผู้เคยพยายามนำไทลาซีนกลับมาเมื่อปี 1999 กล่าวอย่างกระตือรือร้นต่อโครงการครั้งใหม่นี้
แต่หลายคนมองว่ามีวิธีอื่นที่ง่ายกว่ามากในการคืนสมดุลของระบบนิเวศ “ถ้าเราต้องการฟื้นฟูการทำงานของระบบนิเวศออสเตรเลียแผ่นดินใหญ่ แนวทางที่ง่ายที่สุดและมีประสิทธิภาพที่สุดตามหลักฐาน คือการดูแลนักล่าชั้นนำที่เรามีในปัจจุบัน ซึ่งก็คือดิงโก” คริส จอห์นสัน (Chris Johnson) นักนิเวศวิทยาจากมหาวิทยาลัยแทสเมเนียกล่าว อีกทั้งการนำสัตว์ที่สูญพันธุ์กลับคืนมานั้นสามารถทำได้อย่างมีจริยธรรมหรือไม่ ยังคงเป็นคำถามที่ต้องมีคำตอบ
การนำสัตว์ที่เคยสูญพันธุ์ไปแล้วกลับมานั้นเป็น “การขโมยสิทธิในการพูดของชาวอบอรจินแทสเมเนียพื้นเมืองที่จะพูดเพื่อประเทศของพวกเขาอย่างน่าเกลียด” ศาสตรจารย์ เอ็มมา ลี (Prof. Emma Lee) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสวินเบิร์นในเมลเบิร์น ซึ่งเชี่ยวชาญด้านกิจการพื้นเมืองและการจัดการสิ่งแวดล้อมกล่าว หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ไม่มีการสอบถามชนพื้นเมืองว่าพวกเขาต้องการไทลาซีนกลับสู่ป่าที่พวกเขาอาศัยอยู่หรือไม่ อีกทั้งลียังเสริมว่า “วัฒนธรรมและสัตว์ของเราไม่ใช่สนามเด็กเล่นทางวิทยาศาสตร์”
แพสค์กล่าวว่า “ความพยายามในการสร้างอนาคตใหม่ทั้งหมดนั้น จะมีส่วนร่วมกับเจ้าของที่ดินพื้นเมืองในปัจจุบัน” และสำหรับเขาแล้ว การนำไทลาซีนกลับมาหลังจากถูกมนุษย์ทำให้สูญพันธุ์นั้นเป็นภาระผูกพัน “เราเป็นหนี้สปีชีส์เหล่านี้ เราจึงพยายามฟื้นฟูพวกมันกลับสู่ระบบนิเวศอีกครั้ง”
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา