เรื่อง โทนี เกอร์เบอร์
ภาพถ่าย ฮูโก ฟาน ลาวิค
“ฉันต้องขอโทษด้วย ถ้าใครเคยได้ยินเรื่องนี้มาแล้ว” เจน กูดดอลล์ บอกผู้ฟังในห้องบรรยายเมื่อปี 2015 แต่บางครั้ง “เรื่องบางเรื่องได้ยินซ้ำก็เข้าท่านะคะ” เธอเสริม ผู้คนจำเรื่องเล่าทั่วๆไปเกี่ยวกับชีวิตของเจน กูดดอลล์ ได้แทบจะในทันที เพราะความถี่ที่มีคนเขียนถึง แพร่ภาพออกอากาศ หรือเปิดเผยต่อโลกด้วยวิธีการอื่นๆ เรื่องมีประมาณว่า หญิงสาวชาวอังกฤษคนหนึ่งทำวิจัยชิมแปนซีในแอฟริกาและกลายเป็นผู้ปฏิวัติวงการไพรเมตวิทยา แต่เธอทำได้อย่างไร ผู้หญิงที่มีความหลงใหลในสิงสาราสัตว์ แต่ไม่มีพื้นฐานการทำงานวิจัยอย่างเป็นทางการใดๆ สามารถโลดแล่นในโลกวิทยาศาสตร์และโลกของสื่อที่ผู้ชายเป็นใหญ่ เพื่อสร้างการค้นพบมากมายในสายงานของเธอ และกลายเป็นคนดังระดับโลกในขบวนการเคลื่อนไหวด้านการอนุรักษ์ได้อย่างไร ต่อไปนี้คือคำตอบ
เจนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางเพราะภาพยนตร์สารคดีเรื่อง มิสกูดดอลล์กับชิมแปนซีป่า (Miss Goodall and the Wild Chimpanzees) ของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ซึ่งออกอากาศเมื่อปี 1965 เธอไม่ได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้นานมากแล้ว แต่ผมกำลังเปิดให้เธอดูบนแล็ปท็อปคอมพิวเตอร์ นักไพรเมตวิทยาวัย 83 ปีในปีนี้ กำลังพินิจพิจารณาตัวเธอเองตอนอายุ 28 ปี
สาวน้อยเจนในจอภาพกำลังเดินป่าในเขตสงวนพันธุ์สัตว์ป่ากอมเบสตรีม (Gombe Stream Game Reserve) ในดินแดนที่ปัจจุบันคือประเทศแทนซาเนีย เธอสวมรองเท้าผ้าใบหุ้มข้อสูงกับกางเกงขาสั้นสีกากี ผมสีบลอนด์มัดหางม้า ซึ่งกลายเป็นเอกลักษณ์ประจำตัว ดูเหมือนเธอกำลังทำงานวิจัยภาคสนาม แต่เจนบอกว่า ที่จริงเธอแค่แสดงการทำกิจกรรมต่างๆช่วงหกเดือนแรกในกอมเบ เพื่อให้ฮูโก ฟาน ลาวิค ช่างภาพ บันทึกภาพ หกเดือนนั้นคือช่วงเวลาแห่งความโดดเดี่ยวและการค้นพบอันน่าทึ่ง เป็นช่วงเวลาก่อนที่กล้องสารพัดจะเข้ามา และคงวนเวียนอยู่ในชีวิตเธอนับแต่นั้น
ผู้บริหารของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก กำชับฮูโกอย่างเฉพาะเจาะจงว่า ให้บันทึกภาพแบบใด เจนเล่าว่า “พวกเขาให้ลิสต์รายการเรามา มีตั้งแต่เจนนั่งเรือ เจนถือกล้องสองตา เจนดูแผนที่” เมื่อภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ออกอากาศทางสถานีซีบีเอสเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม ปี 1965 มีผู้ชมรายการดังกล่าวในอเมริกาเหนือราว 25 ล้านคน ถือเป็นจำนวนมหาศาล ทั้งในสมัยนั้นและสมัยนี้
สารคดีเรื่องนี้ทำให้เจนโด่งดังระดับโลก และเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งที่จะกลายเป็นอาชีพในตำนานของนักไพรเมตวิทยา เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก พบว่า เจนเป็นนักวิจัยที่ขึ้นกล้องและเป็นนักเล่าเรื่องที่มีภูมิหลังเหมาะสำหรับภาพยนตร์นั่นคือเป็นผู้หญิงผิวขาวหน้าตาดี ทำงานวิทยาศาสตร์อยู่กลางป่าในแอฟริกา ซึ่งถือว่าเสียดแทงเป็นพิเศษในยุคสมัยที่ผู้หญิงทั่วไปไม่ได้รับการสนับสนุนให้ทำอาชีพด้านวิทยาศาสตร์
นับจากนั้นมา เจนเรียนจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เขียนหนังสือหลายสิบเล่ม เป็นที่ปรึกษาให้นักวิทยาศาสตร์รุ่นหลังๆ ส่งเสริมการอนุรักษ์ในประเทศกำลังพัฒนา และก่อตั้งเขตรักษาพันธุ์ชิมแปนซีหลายแห่ง ทุกวันนี้ โครงการรูตส์แอนด์ชูตส์ (Roots & Shoots Program) ของสถาบันเจนกูดดอลล์ (Jane Goodall Institute) มีอยู่ในเกือบร้อยประเทศทั่วโลก โดยมุ่งฝึกคนหนุ่มสาวให้เป็นผู้นำการอนุรักษ์ และเธอยังเดินทางปีละประมาณ 300 วันเพื่อชักจูงรัฐบาลประเทศต่างๆ เยี่ยมโรงเรียน และเดินสายบรรยาย
เจนกลายเป็นหัวข้อในภาพยนตร์กว่า 40 เรื่อง และปรากฏตัวในรายการโทรทัศน์นับไม่ถ้วน ตอนนี้เธอเป็นหัวข้อของภาพยนตร์สารคดีเรื่องใหม่ของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ซึ่งเล่าถึงชีวิตและงานของเธอ สารคดีความยาวสองชั่วโมงชื่อ เจน (JANE) มีฟุตเทจหรือวิดีโอต้นฉบับสำหรับนำมาตัดต่อเป็นภาพยนตร์ที่ไม่มีใครเคยชมมาก่อน ซึ่งจะเผยให้เห็นภาพผู้หญิงที่โด่งดังจากการอุทิศตนให้ชิมแปนซี
ตอนที่ฮูโกไปกอมเบครั้งแรกเมื่อปี 1962 เพื่อบันทึกภาพการค้นพบของเจน เขาถ่ายภาพนิ่งหลายพันภาพและถ่ายฟุตเทจภาพยนตร์ 16 มม. ไว้กว่า 65 ชั่วโมง ในจำนวนนี้เศษเสี้ยวหนึ่งกลายเป็นสารคดีในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก และรายการพิเศษทางโทรทัศน์เมื่อปี 1965 ส่วนที่บรรณาธิการภาพไม่ได้ใช้ และส่วนที่ถูกคัดออก ถูกเก็บไว้ในกระป๋องฟิล์มและใส่ลงลัง เมื่อเวลาผ่านไปก็ถูกลืมเลือน ในปี 2015 มีผู้พบฟิล์มต้นฉบับเหล่านี้ที่อาคารเก็บของใต้ดินในชนบทของ รัฐเพนซิลเวเนีย ม้วนฟิล์มล้ำค่าเหล่านี้บันทึกสิ่งที่หาได้ยาก นั่นคือมุมมองใหม่ของเจน ในภาพยนตร์ บ่อยครั้งที่พอถ่ายเสร็จ เธอจะคลายมาดเคร่งขรึมและมองมาที่กล้อง มองไปยังฮูโก ผู้กำกับของเธอ ในช่วงไม่กี่วินาทีนั้น เราเห็นคลื่นกระเพื่อมของความรักที่เธอมีให้ผู้ชายหลังกล้อง
หากมองในภาพรวม คลังภาพนี้เผยมุมมองส่วนตัวของเจนในช่วงเวลาสำคัญ นั่นคือเมื่อหญิงสาวผู้รู้จักแอฟริกาแค่จากหนังสือเรื่องทาร์ซานและนายแพทย์ดูลิตเทิล ได้ใช้ชีวิตในดินแดนแห่งความฝัน และเมื่อการค้นพบของนักวิทยาศาสตร์มือใหม่หักล้างความเชื่อที่มีมายาวนานเกี่ยวกับเครือญาติใกล้ชิดที่สุดที่ยังมีชีวิตอยู่ของมนุษย์
ที่กอมเบ เจนต้องเผชิญกับภัยคุกคามตามธรรมชาติทุกรูปแบบ ทั้งไข้มาลาเรีย พยาธิ งู และพายุ แต่ในโลกภายนอกที่กว้างกว่า สิ่งท้าทายต่างๆมักทำให้เธอต้องงัดกลยุทธ์ที่แยบยลและการทูตที่นุ่มนวลออกมาใช้
ตลอดเวลาเหล่านั้น เจนดูจะยึดหลักการเดียวเหมือนกันหมด นั่นคือ เธอทนฟังคำพูดดูหมิ่น ทำตามคำขอ อดกลั้นกับคนงี่เง่า และยอมเสียสละ หากนั่นจะช่วยให้งานของเธอยืนยาวต่อไปได้ เมื่อผมสัมภาษณ์เจนในอีกหลายปีต่อมาระหว่างไปเยือนกอมเบเมื่อปี 2015 เธอมองย้อนกลับไปถึงการได้รับความสนใจราวกับเป็นเซเลบริตีในยุคนั้นอย่างเข้าใจมากขึ้น
กูดดอลล์: มีเด็กสาวสวยสะคราญคนนี้อยู่ในป่ากับสิงสาราสัตว์ที่อาจเป็นอันตราย ผู้คนชอบเรื่องเพ้อฝันและเห็นฉันเป็นเสมือนตัวแทนภาพฝันที่พวกเขาสร้างขึ้นในจินตนาการ และสมาคมก็มีส่วนในการสร้างสิ่งนั้นขึ้นมาด้วย
เกอร์เบอร์: หลายคนอาจต่อต้านและโต้กลับโดยบอกว่า นั่นไม่ใช่ตัวฉัน
กูดดอลล์: ฉันทำอะไรไม่ได้หรอกค่ะ เพราะในมุมมองของพวกเขา นั่นคือฉัน และไม่มีทางจะนำเสนอฉันในแบบที่แตกต่างจากนี้ได้ ไม่ใช่ว่ามันไม่เป็นความจริงเสียทีเดียว ก็แค่คนรับข้อเท็จจริงบางอย่างไปและแต่งเติมเสริมต่อเรื่องราวขึ้นมา
เกอร์เบอร์: แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง คุณก็ยอมรับมันใช่ไหมครับ คุณขัดเกลามัน ทำให้มันดีขึ้น
กูดดอลล์: บางครั้งฉันก็ตระหนักว่า ถ้าคนอยากจะคิดแบบนี้ แล้วยอมฟังฉัน ก็เอาเถอะ ซึ่งมันเป็นแบบนั้นจริงๆ และนั่นส่งผลดีต่อการอนุรักษ์ชิมแปนซีและการทำสิ่งอื่นๆทั้งหมดที่ฉันจำเป็นต้องทำ
อ่านเพิ่มเติม : แม่ลิงกินลูกที่ตายแล้วของตนเอง, ภาพบีบคั้นหัวใจ การต่อสู้ของแรดเพื่อความอยู่รอด